[นักลงทุนวีไอมือใหม่ หัดทำการบ้านหุ้นด้วยตนเอง ต้องดูอะไรบ้าง ?]

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Introverted investor
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 68
ผู้ติดตาม: 1

[นักลงทุนวีไอมือใหม่ หัดทำการบ้านหุ้นด้วยตนเอง ต้องดูอะไรบ้าง ?]

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ตลอดช่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็นแห่งหนใดบนโลกใบนี้ก็ตาม ต่างมีผู้คนมากมายหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านกันเดินเข้ามา และเดินหันหลังจากไป ทั้งนี้ล้วนเพื่อจุดประสงค์เดียวกันนั่นคือ “การแสวงหาผลกำไร” การช่วงชิงเงินตราเพื่อสร้างความมั่งคั่งไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีการใดก็ตาม บางคนกล่าวว่า ตลาดหุ้นคือสถานที่แห่งความยุติธรรม เป็นเกมส์ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน หากคุณเตรียมตัวมาดีพอ ความสำเร็จจะยืนอยู่เคียงข้างคุณ หากแต่บางคนก็โต้แย้งว่า ตลาดหุ้นคือดินแดนพิศวง สถานที่ลึกลับและชั่วร้ายแห่งโลกการเงินที่หากคุณไม่มีความได้เปรียบ ต่อให้คุณฉลาดและทุ่มเทพยายามมากเพียงใดก็ไม่มีวันเป็นผู้ชนะ ความยุติธรรมไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้
......................

มีผู้คนที่ยังอยู่ และมีผู้คนที่เดินจากไปจากสถานที่แห่งนี้ ผู้คนที่ยังอยู่ รวมถึงผู้คนที่กำลังเดินทางเข้ามาในตลาดหุ้น ไม่มากก็น้อยต่างมีความเชื่อว่าหากเคี่ยวกรำฝึกฝนเตรียมตัวมาดีพอ โชคชะตาจะสังเกตเห็นพวกเขา และหากพวกเขา “มีความรู้” ที่มากพอ “ความได้เปรียบจะยืนอยู่ในฝั่งพวกเขา” สำหรับนักลงทุนผู้มุ่งมั่นและศรัทธา พวกเขาต่างเชื่อว่า การทุ่มเทพัฒนาตนเอง ฝึกฝนฝีมือ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักการ กระบวนการ และทัศนคติที่ดีด้านการลงทุน คืออาวุธอันทรงพลังมหาศาลที่สร้าง “ความได้เปรียบ” ให้พวกเขายืนอยู่เหนือค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป
........................

“การทำการบ้านหุ้น” คือหนึ่งในขั้นตอน วิธีการ กระบวนการที่สำคัญและจำเป็นเกือบจะที่สุดในชีวิตนักลงทุน หากจะให้อธิบายความหมายของคำนี้ คงจะคล้ายๆ กับ “กระบวนการค้นหาหุ้นที่น่าสนใจโดยอาศัยข้อมูลแวดล้อมต่างๆ ประกอบการตัดสินใจเพื่อเข้าซื้อลงทุน” สำหรับนักลงทุนมืออาชีพผู้แก่กล้าในวิชา กระบวนการดังกล่าวนี้คงไม่ต้องมานั่งพูดกันให้เสียเวลาอีกแล้ว เหล่ามืออาชีพล้วนต่างหลอมรวมกระบวนการทำการบ้านหุ้นให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างลื่นไหล และมีความสุขกับกระบวนการที่ว่านั้นในทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะมันคือชีวิตประจำวันที่พวกเขาเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ ซึ่งนี่คือ “ข้อได้เปรียบ” อันแข็งแกร่งของผู้ที่ได้ชื่อเรียกว่า “นักลงทุนมืออาชีพ”
.........................

แต่สำหรับผู้คนที่เพิ่งก้าวเท้าเข้ามาในโลกแห่งการลงทุน ยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรงกับตลาดหุ้นดินแดนสุดพิศวง ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายจนรับมือไม่ไหว นักลงทุนมือใหม่เหล่านี้กำลัง “เสียเปรียบ” กลุ่มคนด้านบนอยู่หลายช่วงตัวยิ่งนัก เป็นที่รู้และเข้าใจกันดีมานานแสนนานแล้วว่า “ตลาดหุ้นคือสถานที่ที่คนเก่งๆ ทั่วโลก มารวมตัวกันเพื่อหาเงิน” จากประโยคข้างต้นนี้อาจทำให้เราสรุปประเด็นของตลาดหุ้นได้อีกหนึ่งประโยคคือ “ตลาดหุ้นคือสนามรบ และมันไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้” แน่นอนว่าหากคุณกำลังเสียเปรียบในตลาดหุ้น ผู้แพ้จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากตัวคุณเอง
.........................

หากคุณเชื่อมั่นและศรัทธาในกระบวนการศึกษาหาความรู้ การมุ่งมั่นทุ่มเทความพยายามทั้งหมดไปยังการฝึกฝนพัฒนาแนวคิดการลงทุน หากเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือการ “สร้างความได้เปรียบ” ให้เกิดแก่วิถีชีวิตของนักลงทุนแล้วล่ะก็ แน่นอนว่า “การทำการบ้านหุ้น” คือหนึ่งในกระบวนการพัฒนาความรู้ และขั้นตอนสำคัญในการค้นหาหุ้นเพื่อเข้าลงทุน หากไม่มีอะไรผิดพลาด ความสำเร็จคงรออยู่ในระยะที่พอจะเอื้อมถึงอย่างไม่เหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก ยึดมั่นไว้เสมอว่า “การทำการบ้านหุ้นคือข้อได้เปรียบของคุณในตลาดหุ้น” ที่เหนือกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ หากคุณต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่าง คุณก็ไม่ควรทำในสิ่งเดิมๆ อีกนัยความหมายหนึ่งก็คือคุณควรลงมือทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดที่จะทำ หรือเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะทำ ผมเชื่อเสมอว่า “การทำการบ้านหุ้น” คือหนึ่งในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในตลาดนั้นไม่ได้สนใจที่จะทำมันอย่างจริงจัง
.........................
คำถามสำคัญของนักลงทุนมือใหม่ก็คือ “ฉันรู้แล้วล่ะว่าการจะหาหุ้นที่สร้างผลตอบแทนดีๆ ให้เจอเพื่อซื้อลงทุน ฉันต้องทำการบ้านหุ้นด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะทำให้ฉันประสบความสำเร็จได้ แล้วมันทำอย่างไรล่ะ เริ่มต้นอย่างไร ต้องดูอะไรบ้าง?” หากการเริ่มต้นชีวิตนักลงทุนมือใหม่ของคุณนั้นเกิดคำถามเช่นที่ว่านี้ผุดขึ้นมาในหัวระหว่างวันแล้วล่ะก็ คุณอาจเดินมาถูกทางแล้วก็เป็นไปได้ การตั้งคำถามคือส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ในบทความนี้เราจะนำพาเหล่านักลงทุนมือใหม่เดินทางไปพบกับ “กระบวนการทำการบ้านหุ้น” อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับมือสมัครเล่นที่อยากจะพัฒนาตนเองขึ้นไปอีกขั้นโดยเฉพาะ รวมไปถึงคำแนะนำต่างๆ ในบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาวิเคราะห์ข้อมูล ซื้อขายหุ้น การถือครองและจัดพอร์ตการลงทุน ซึ่งถูกพิสูจน์แล้วทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หากแต่สำหรับนักลงทุนมือเก่าที่มีประสบการณ์มากแล้ว ให้บทความนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรื้อฟื้นความทรงจำ หรือจัดระเบียบความคิดกันอีกสักครั้งก็คงไม่เลวเลยนะครับ หรือจะอ่านเพื่อสร้างความบันเทิงต่อยอดความคิดก็ไม่ว่ากัน เรามาเริ่มออกเดินทางกันเลยครับ 😊
.............................................................................

“ทำการบ้านหุ้นด้วยตนเองอย่างนักลงทุนวีไอ”
..............................
1. [ค้นหาสิ่งที่คุณสนใจในตลาดหุ้น ผ่านการวิเคราะห์ทั้งแบบ “Top Down” และ “Bottom Up” เพื่อคาดการณ์ว่าธุรกิจใดจะเติบโตได้ดีในระยะยาว]

•“Top Down” : การวิเคราะห์จากบนลงล่าง

คือการเริ่มต้นค้นหาธุรกิจหรือบริษัทที่น่าสนใจผ่านการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในระดับภูมิภาค ประเทศ หรือแม้กระทั่งหมวดอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน โครงสร้างประชากร สังคม และการเมือง ส่วนในระดับอุตสาหกรรม คือการมองหาอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโต มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น มีความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยการวิเคราะห์ว่าคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันและอนาคตต้องการสินค้าหรือบริการแบบใด

o วิเคราะห์ปัจจัยมหภาคด้วย “PESTEL” (จากหนังสือ Stock Lecture : ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว โดยลงทุนศาสตร์)


P : Politic / “ความสัมพันธ์กับการเมือง” ประเทศหรืออุตสาหกรรมที่คุณสนใจมีความสัมพันธ์กันอย่างไรกับการเมือง ลองพิจารณาให้รอบด้านทั้งตัวธุรกิจ ธุรกรรมของบริษัท และตัวผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน

E : Economy / การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)

S : Society / โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และประชากร

T : Technology / ปัจจัยคุกคามหรือส่งเสริมทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค

E : Environment / ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้ยากทางทำเลที่ตั้ง ทรัพยากร และนโยบายของรัฐ

L : Law / ข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่สามารถเอื้อประโยชน์หรือแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
.....................

o วิเคราะห์อุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจด้วย “5 Forces Model”

คู่แข่ง : ความสามารถในการรักษาอัตรากำไรสุทธิ การแข่งขันด้านราคาสินค้าหรือบริการ บริหารต้นทุนได้ดี

ผู้เล่นหน้าใหม่ : ความยากง่ายของการเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว

คู่ค้า : ความสามารถในการต่อรองกับคู่ค้า มีอำนาจควบคุมผู้ผลิต

ลูกค้า : กลุ่มลูกค้าเป็นใคร มีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการหรือไม่ อำนาจการต่อรองของลูกค้าต่ำ

สินค้าทดแทน : สินค้าหรือบริการนั้นมีสิ่งมาทดแทนได้ยาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดขึ้นได้ยากหรือใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงนาน

..........................

“Bottom Up” : การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน

เริ่มต้นการวิเคราะห์เจาะลึกจากบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจที่เราสนใจซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว ปัจจัยระดับมหภาคเป็นเพียงข้อมูลสนับสนุนรองลงมา

วิเคราะห์ธุรกิจด้วย “Business Model Canvas : BMC” เป็นการมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยเชิงคุณภาพของกิจการ การทำความรู้จักบริษัทและโครงสร้างทางธุรกิจ
.............

วิเคราะห์กิจการด้วย “SWOT” โดยเป็นการ Scan จาก BMC ที่เราทำไว้เรียบร้อยแล้ว

จุดแข็ง : ปัจจัยบวก / ข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าบริษัทอื่น (ปัจจัยภายใน)

จุดอ่อน : ปัจจัยลบ / ข้อด้อยที่ทำให้สถานการณ์แข่งขันต่ำ (ปัจจัยภายใน)

โอกาส : สถานการณ์ใดทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ (ปัจจัยภายนอก)

ภัยคุกคาม : สถานการณ์ใดทำให้บริษัทเสียประโยชน์ (ปัจจัยภายนอก)

 ควรศึกษา BMC และ SWOT ของบริษัทต่างๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
 ควรวิเคราะห์ SWOT หลังจากการวิเคราะห์ผู้บริหารเรียบร้อยแล้วเพราะอาจมีข้อมูลใหม่ๆ มาเพิ่มเติม
..............

o อัตราส่วนทางการเงิน ที่เข้าเกณฑ์การลงทุนของตนเอง

เราอาจเริ่มต้นทำการบ้านหุ้นโดยการคัดเลือกจากอัตราส่วนทางการเงินหลักๆ ที่เราตั้งเกณฑ์ส่วนตัวไว้ เช่น P/E, ROE, PB/V, D/E, ROIC, เงินปันผล ฯลฯ จากนั้นจึงเลือกนำบริษัทที่เข้าเกณฑ์การลงทุนของเรามาวิเคราะห์ในส่วนอื่นๆ ต่อไป
.........

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพต่างๆ ข้างต้นนี้ทั้งหมดแล้ว เราควรจะได้ธุรกิจหรือหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ พร้อมด้วยบริษัทที่เข้าเกณฑ์การลงทุนส่วนตัวมากลุ่มหนึ่ง

2. [การวิเคราะห์ผู้บริหาร]

ประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงานย้อนหลัง ลักษณะนิสัย ความสามารถ ความซื่อสัตย์โปร่งใส สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท อัตราค่าจ้างที่ได้รับ บริษัทต้องพึ่งพาบุคคลเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ประวัติการซื้อขายหุ้นของบริษัทตัวเองเป็นอย่างไร มีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณะมากแค่ไหน รวมถึงประวัติการทุจริตต่างๆ การใช้จ่ายเงินของบริษัท สุดท้ายคือเมื่อผู้บริหารพูดอะไรเอาไว้ในอดีต เมื่อเวลาผ่านไปสามารถทำได้สำเร็จอย่างที่พูดไว้หรือไม่
...................

3. [วิเคราะห์บริษัทอย่างละเอียดรอบด้าน หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด]


การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ แผนการเติบโตและแนวโน้มความต้องการสินค้าหรือบริการของบริษัทในอนาคต ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนของบริษัททั้งทางด้านอุตสาหกรรม และคู่แข่งภายในอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจคล้ายกัน ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร (รายได้มาจากไหน? ค่าใช้จ่ายคืออะไร? ใครคือคู่แข่ง?) เลือกบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โฟกัสธุรกิจที่ถนัด ไม่พึ่งพิงลูกค้าน้อยราย เติบโตได้ด้วยระบบที่ดี ธุรกิจเปลี่ยนแปลงช้าและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีแผนการเติบโตที่ชัดเจน มีนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ มีตลาดขนาดใหญ่รองรับ หากสามารถเติบโตข้ามไปในตลาดอื่นได้ยิ่งดี

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รายงานประจำปี รายงาน 56-1 เลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ธุรกิจไม่ใช้เงินลงทุนมหาศาลในอนาคต

ภาพรวมของอุตสาหกรรมนั้นๆ มีขนาดใหญ่แค่ไหน? เติบโตได้อีกแค่ไหน? เติบโตปีละเท่าไหร่? จากนั้นวิเคราะห์บริษัทที่เราสนใจว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดเท่าไหร่? จะเพิ่มได้อีกแค่ไหน? เลือกบริษัทที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม
................................................................................

"ขั้นตอนการทำการบ้านหุ้น Step by Step"
.............

ในบทความนับจากนี้ไป จะเป็นการสรุปขั้นตอนการคัดเลือกหุ้น การวิเคราะห์บริษัท การประเมินมูลค่า การบริการพอร์ตการลงทุน การถือครองหุ้นและการติดตามการลงทุนด้วยตนเอง อย่างกระชับและรวบรัด โดยอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “Stock Lecture : ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว” โดยลงทุนศาสตร์ เมื่อคุณได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ในเชิงคุณภาพตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว คุณอาจจะได้กลุ่มประเทศ อุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งตัวบริษัทที่คุณสนใจมากลุ่มหนึ่ง ส่วนจะมากหรือน้อยก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่หากคุณยังคงสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก ยังไม่รู้ ยังไม่แน่ใจว่าจะเดินทางไปต่ออย่างไรดี เราลองมาเริ่มกันที่หัวข้อต่อไปนี้ครับ ทำตามลำดับขั้นตอนไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่า คุณมีความพร้อม และความสามารถมากกว่าที่ตนเองคิด ในข้อแม้ที่ว่า “คุณต้องมีความทุ่มเท และพยายามให้มากพอ”

1. [มาทำความรู้จักกับบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดหุ้นกันไปเลย (กรณีศึกษาตลาดหุ้นไทย)]

• อ่านหุ้นรอบที่ 1 : เป็นการทำความรู้จักบริษัทในตลาดหุ้นแบบคร่าวๆ ทั้งตลาด คุณสามารถเข้าไปหาข้อมูลใน Website ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( https://www.set.or.th/th/home ) ในการอ่านหุ้นรอบแรกนี้ขอเพียงแค่ให้คุณรู้จักชื่อบริษัท ทำมาหากินอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมใด มีแบรนด์สำคัญคืออะไรเท่านั้น

• อ่านหุ้นรอบที่ 2 : เริ่มดูงบการเงินแบบคร่าวๆ เน้นไปที่อัตราส่วนทางการเงินสำคัญ และในการอ่านหุ้นรอบที่สองนี้ คุณจำเป็นต้องตัดสินใจคัดหุ้นแย่ๆ ทิ้งไป โดยวิเคราะห์ตัดสินใจจากอัตราส่วนการเงินที่ดี อุตสาหกรรมที่ดี หรือกิจการมีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด ในครั้งนี้คุณอาจคัดเลือกหุ้นที่ชอบมาเก็บไว้สัก 30 บริษัท อย่าลืมว่าหุ้นที่คัดเลือกมานั้นต้องเป็นหุ้นที่ดีพอจะเข้าลงทุนได้ และคุณสามารถทำความเข้าใจโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทนั้นได้ดีพอ สุดท้ายควรจดสรุปข้อมูลโครงสร้างธุรกิจและงบการเงินสั้นๆ ของแต่ละบริษัทเอาไว้ด้วย

• อ่านหุ้นรอบที่ 3 : เริ่มอ่านรายงานประจำปีหรือรายงาน 56-1 แบบคร่าวๆ ไม่จำเป็นต้องละเอียดมาก โดยเลือกอ่านเฉพาะหุ้น 30 บริษัทที่คุณคัดเลือกมาเก็บไว้ในขั้นตอนที่แล้ว รายงานประจำปีสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้จาก website ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน ในการอ่านหุ้นรอบนี้คุณจำเป็นต้องรู้ลักษณะการประกอบธุรกิจโดยละเอียด โครงสร้างผู้ถือหุ้น คณะผู้บริหาร เป้าหมายแผนการของบริษัทที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต จากนั้นก็จดบันทึกเพิ่มเติมลงไปในบันทึกสรุปที่คุณทำไว้แล้วก่อนหน้านี้

• ในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากจนเกินไป ควรใช้เวลาไม่นาน บริหารจัดการเวลาและให้เวลาส่วนใหญ่กับการวิเคราะห์เจาะลึกเฉพาะบริษัทที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าน่าสนใจลงทุนเท่านั้น เพื่อประหยัดเวลาในการทำการบ้าน แต่พยายามทำกระบวนการในส่วนนี้ให้เป็นกิจวัตรที่ใช้เวลาไม่นานแทน ผสานรวมไปกับชีวิตประจำวัน เปิดหูเปิดตารับข่าวสารใหม่ๆ อยู่เสมอ
.................................................
2. [ประเมินมูลค่าหุ้นเบื้องต้น]

• นำหุ้นเฉพาะ 30 บริษัทที่คัดเลือกไว้มาประเมินมูลค่าแบบคร่าวๆ โดยคุณอาจเลือกใช้วิธีการนำอัตราส่วน P/E (ที่คิดว่าเหมาะสม) มาคูณกับกำไรต่อหุ้น ณ ปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่าการประเมินมูลค่าในขั้นตอนนี้ เลือกใช้กำไรสุทธิในปัจจุบันก่อน เพื่อประเมินความถูกแพงของหุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าในปัจจุบัน

• แยกหุ้น 30 บริษัทซึ่งผ่านการประเมินมูลค่าเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วเป็น 3 กลุ่มคือ ถูก - แพง - ไม่มั่นใจ

• เลือกหุ้นที่ชอบมา 20 บริษัท โดยพิจารณาจากผลลัพธ์การประเมินมูลค่าเบื้องต้น เลือกกลุ่ม “หุ้นถูก” ไว้ก่อน หากมีน้อยไม่เพียงพอจึงเลือกหยิบ “หุ้นกลุ่มไม่มั่นใจ” มาเติมจนครบตามจำนวนที่ตั้งใจ ระหว่างทางหากตรวจพบหุ้นที่คิดว่าไม่น่าลงทุนหรือเข้าใจยากให้ตัดทิ้งไปได้เลย เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าในขั้นตอนต่อไปเราต้องวิเคราะห์หุ้นอย่างเจาะลึก จำเป็นต้องใช้เวลามาก จึงจำเป็นต้องมั่นใจว่าหุ้นที่เราจะเริ่มต้นวิเคราะห์เป็นหุ้นที่ดีและราคายังไม่แพง ประหยัดเวลาเราไปได้อีกมาก
......................................................

3. [ถึงเวลาวิเคราะห์เจาะลึกอย่างจริงจัง]


• ขั้นตอนนี้คือการวิเคราะห์หุ้นที่คุณคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว 20 บริษัท ด้วยวิธีการและแนวทางที่กล่าวไปในตอนต้นของบทความนี้นั่นคือ การวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค การวิเคราะห์อุตสาหกรรม การวิเคราะห์ปัจจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การวิเคราะห์ผู้บริหาร และการวิเคราะห์การเติบโตของบริษัทในอนาคต

• วิเคราะห์โดยละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ คุณควรให้เวลากับการวิเคราะห์ในส่วนนี้มากที่สุดจากกระบวนการทำการบ้านหุ้นทั้งหมด และจดบันทึกข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่คุณคิดเห็นเกี่ยวกับมันเพิ่มเติมในบันทึกสรุปที่เคยทำเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทบทวน เปรียบเทียบ และคัดเลือกลงทุน

• แหล่งข้อมูลที่จำเป็นต้องศึกษาในขั้นตอนนี้ก็มีมากมาย ที่พลาดไม่ได้เลยเช่น รายงานประจำปี แบบรายงาน 56-1 รายงานงบการเงินฉบับเต็ม ข่าวสารของบริษัท Opportunity Day, บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี Website ของตัวบริษัทเอง ไปจนถึงการแกะรอยกิจการ ลงพื้นที่จริง ฯลฯ

o Opportunity Day : https://classic.set.or.th/streaming/vdos-oppday
o รวมบทวิเคราะห์ : https://portal.settrade.com/C17_ResearchList.jsp

• มองหาตัวเร่ง : ความหมายคือการมองหาปัจจัยที่จะส่งผลผลักดันให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตสูงขึ้นไปได้ในอนาคต แน่นอนว่าเมื่อบริษัทมีผลประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นตามไปได้เช่นกัน การมองหาตัวเร่งดังกล่าวนี้จะอยู่ในกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ทั้งรูปแบบ Top Down (PESTEL, Mega trend, อุตสาหกรรม) และรูปแบบ Bottom Up (งบการเงิน ข่าวสาร บทวิเคราะห์ การแกะรอยกิจการ)

• การวิเคราะห์หุ้นโดยละเอียด 20 บริษัทดังกล่าวนี้ ควรเป็นบริษัทที่ผ่านกระบวนการพิจารณามาอย่างดีแล้ว มีแนวโน้มที่จะสามารถลงทุนได้ทุกบริษัท ควรวิเคราะห์หุ้นที่มีราคาถูก และหุ้นกลุ่มที่ไม่มั่นใจก่อน ส่วนกลุ่มหุ้นแพงก็ไม่ต้องรีบร้อน ควรรอให้ราคาหุ้นลดลงจนมาอยู่ในโซนที่ไม่มั่นใจแล้วค่อยกลับมาวิเคราะห์ก็ยังไม่สาย มิเช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ “เสียเวลาไปกับการวิเคราะห์แต่ไม่ได้ซื้อ” เวลาของเราทุกคนมีอยู่อย่างจำกัด
..................................................

4. [มาประเมินมูลค่าหุ้นโดยละเอียดกันเถอะ]


• ข้อมูลทั้งหมดจากการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจอย่างรอบด้านจะถูกนำมาประมวลผลและสังเคราะห์ออกมาเป็นค่าตัวเลขต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกหยิบตัวเลขนั้นมาใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น อย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวไว้ว่า การประเมินมูลค่าเป็นเรื่องง่ายดาย ก็ต่อเมื่อคุณสามารถนำตัวเลขที่ถูกต้องมาใส่ได้นั่นเอง เอาล่ะถึงแม้ว่าหลักการประเมิลมูลค่าเกือบทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาการคาดการณ์อนาคตเป็นอย่างมาก แต่มันก็คงดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย แล้วหลับตาเดินดุ่มฝ่าดงเสือเข้าไปในสมรภูมิตลาดหุ้นเป็นไหนๆ บัฟเฟตต์กล่าวไว้อีกครั้งว่า “ผมเลือกที่จะถูกอย่างคร่าวๆ มากกว่าผิดอย่างแม่นยำ”

• ในขั้นตอนนี้คุณจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อเดินทางเข้าสู่กระบวนการประเมินมูลค่าหุ้น แน่นอนว่าคุณต้องฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือทำด้วยตนเอง ค่อยๆ สลัดทิ้งหุ้นแย่ๆ และหุ้นราคาแพงทิ้งไป คุณสามารถเรียนรู้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นอย่างละเอียดได้ทาง

https://facebook.com/102968325657245/po ... wtaiHZ4Ul/

• สุดท้ายแล้วหลังจากกระบวนการประเมินมูลค่า เลือกหุ้นซึ่งมีราคาถูกที่สุด มีส่วนต่างระหว่างมูลค่าพื้นฐานและราคาหุ้น ณ ปัจจุบันมากที่สุดมา 10 บริษัท เพื่อพิจารณาเข้าซื้อลงทุน และจัดการพอร์ตการลงทุนรวมต่อไป
.........

5. [ติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ]


• ติดตามข่าวสารหรือบทวิเคราะห์ด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัทซึ่งคุณถือครองอยู่เสมอ ควรประเมินมูลค่าหุ้นใหม่อีกครั้งทุกไตรมาส เมื่อบริษัทประกาศงบการเงินออกมา

• เมื่อราคาหุ้นของบริษัทที่คุณถือครองอยู่มีราคาแพงกว่ามูลค่าที่ประเมินได้ก็จงขายหุ้นออกไป และหาหุ้นของบริษัทใหม่มาทดแทน
........................................................

6. [การจัดการพอร์ตการลงทุน (Portfolio management)]


• Market risk : ปัจจัยระดับมหภาคที่กระทบทั้งตลาด ความผันผวนของตลาดการเงิน เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงต่างๆ กำจัดความเสี่ยงของตลาดได้ด้วยวิธีการกระจายการลงทุนไปยังตลาดและประเภทของสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน

• Business risk : ปัจจัยระดับบริษัท เช่น การบริหารงานที่ผิดพลาด การทุจริต การล้มละลาย กำจัดความเสี่ยงของบริษัทได้โดยการเลือกลงทุนเฉพาะบริษัทพื้นฐานดีตามการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น และกระจายการลงทุนไปในหลายๆ บริษัท อย่าถือหุ้นรวมในพอร์ตมากหรือน้อยจนเกินไป

o นักลงทุนมือใหม่ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า 2 ปี อาจถือหุ้นประมาณ 8 – 12 บริษัท
o นักลงทุนที่มีประสบการณ์มากขึ้น อาจถือหุ้นประมาณ 5 – 10 บริษัท

• Liquidity risk : ปัจจัยสภาพคล่อง เมื่อคุณมีขนาดพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่มากขึ้น และต้องการลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก ก็อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของราคาหุ้นในตลาดเมื่อจำเป็นต้องซื้อขาย กำจัดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้โดยการวางแผนทยอยซื้อและขายหุ้น

• Industry risk : ปัจจัยอุตสาหกรรม ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบเฉพาะกับทุกบริษัทซึ่งอยู่ภายในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกัน คุณจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าปัจจัยใดบ้างที่สามารถเข้ามากระทบอุตสาหกรรมที่คุณกำลังลงทุนอยู่บ้าง กำจัดความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมได้โดยการกระจายการลงทุนไปยังหมวดอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

• Specificity risk : ปัจจัยเฉพาะเจาะจง คือปัจจัยบางอย่างที่บางบริษัทสามารถได้รับผลกระทบร่วมกันได้ แม้จะอยู่ต่างอุตสาหกรรมกัน เช่น การเมือง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มผู้ถือหุ้น กลุ่มลูกค้า หรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า ปัจจัยความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงเช่นนี้มีหนทางเดียวที่จะจำกัดให้เหลือน้อยที่สุดได้นั่นคือการ ศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจบริษัทที่คุณลงทุนให้มากที่สุด
......................................................

7. [Tip เพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุน]

• กำหนดสัดส่วนว่าจะลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่จากเงินลงทุนทั้งหมด นอกจากนั้นให้กระจายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น (เงินฝาก ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ)

• ควรกระจายหมวดอุตสาหกรรมประมาณ 3 -4 หมวดเป็นอย่างน้อย

• อาจถือหุ้นที่มีปันผลสูงรวมอยู่ในพอร์ตการลงทุนรวมบ้างก็ได้สัก 1–2 บริษัท เพื่อสร้างกระแสเงินสดมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

• ไม่ควรถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งจนมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของพอร์ตรวม สัดส่วนการลงทุนที่มากเกินไปนั้นหากผิดพลาดจะสร้างความเสียหายอย่างหนักในภาพรวม

• ไม่ควรถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของพอร์ตรวม หากสัดส่วนการลงทุนน้อยเกินไปจนไม่มีนัยสำคัญกับภาพรวมก็อาจไม่คุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไปกับการทำการบ้านอย่างหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ และความมั่นใจของคุณเอง

• ไม่ควรถือหุ้นซึ่งอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันจนเกินกว่า 40% ของพอร์ต การกระจุกตัวนั้นส่งผลต่อความผันผวนในภาพรวมมากจนเกินไป

• อย่าลงทุนจนหมดหน้าตัก เก็บเงินสดสำรองไว้สัก 10-20% คำนวณจากมูลค่ารวมของพอร์ตการลงทุน ฝากไว้ในบัญชีหุ้นก็ได้ เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม

• อัตราส่วน P/E เฉลี่ยของพอร์ตการลงทุนรวมไม่ควรเกิน 10-15 เท่า (แล้วแต่มุมมองเรื่องความถูกแพงส่วนตัวของนักลงทุน)

• พึงระลึกถึงความเสี่ยงก่อนผลตอบแทนเสมอ

• การจัดพอร์ตลงทุนแบบมุ่งเน้น (Focus) ถือหุ้นน้อยบริษัท จงทำเมื่อมีความรู้เพียงพอเท่านั้น การกระจายความเสี่ยงที่มากเกินไปย่อมทำให้ผลตอบแทนลดลง (เดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย)
..............................................

“เป้าหมายที่ชัดเจน เป็นแรงผลักดันให้เราลงมือทำต่อไปเรื่อยๆ จนพบกับความสำเร็จในที่สุด” สุดท้ายบทความนี้คงไม่อาจรับประกันได้เลยว่าคุณจะประสบความสำเร็จในการลงทุนเมื่ออ่านมันจนจบ ในโลกแห่งการลงทุนนั้นมีปัจจัยและตัวแปรมากมายเกินกว่าที่เราจะควบคุมและคาดการณ์ได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดคือทัศนคติ แนวคิด และหลักการที่คุณเชื่อมั่นและศรัทธา หากคุณมีความเชื่อต่อบางสิ่ง มันจะนำพาคุณไปยังสถานที่ใหม่เสมอ และผมเชื่อว่าสถานที่แห่งนั้นคือความภาคภูมิใจในตัวของคุณเอง คุณไม้ฟืน (พะเนียง พงษธา) เคยพูดว่า เราจะรับรู้ได้ว่าเราพัฒนาตนเองไปอีกขั้นเมื่อพบเจอกับปัญหาและเกิดคำถามขึ้นมาในหัว แล้วเราสามารถตอบคำถามนั้นได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปถามใคร

วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือความพยายามที่จะกระตุ้นเหล่านักลงทุนมือใหม่ เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น “นักลงทุนหุ้นมือใหม่ที่มีความรู้และความเข้าใจ สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ด้วยตนเอง”
“ถามตนเองเสมอว่า สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มีคุณค่าเพียงพอต่อเป้าหมายและความฝันแล้วหรือยัง?” เสี่ยยักษ์ (วิชัย วชิรพงศ์) มักกล่าวประโยคนี้เสมอ เมื่อมีใครสักคนถามเขาว่า อยากจะฝากสิ่งใดแก่นักลงทุนมือใหม่บ้างหรือเปล่า ประโยคดังกล่าวนี้ทรงพลังสำหรับผมมากครับ หวังว่าประโยคนี้จะเป็นแรงผลักดันและแรงบันดาลใจให้แก่คุณได้เช่นกัน
........................

ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆ วันนะครับ 😊
Try to be : Full Time Investor, Reader, Writer, Learner & Cultural observer.
......................................
I have a passion for keeping things simple.
......................................
https://www.facebook.com/Introverted.investor
โพสต์โพสต์