🕐“กว่าจะเป็นวีไอ” ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร🕣

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Introverted investor
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 68
ผู้ติดตาม: 1

🕐“กว่าจะเป็นวีไอ” ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร🕣

โพสต์ที่ 1

โพสต์

....................................................................................

🕙ปี ค.ศ. 2002 : “หนังสือหุ้นเปลี่ยนชีวิต”
.............................
ก่อนหน้านี้ผมก็ได้มีการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้มาบ้างแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญแว่วเสียงได้ยินญาติมิตรพูดคุยสนทนากันเรื่อง “หุ้น” จึงเกิดความสนใจขึ้นมา ญาติคนนั้นแนะนำให้ผมลองอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “ตีแตก” (ตีแตก : กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต / ผู้เขียน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร) ตลาดหนังสือหุ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังเผชิญหมอกฝุ่นตลบอบอวลไม่จางหายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง (Tom Yum Kung Crisis, 1997 [Asian financial crisis]) นั้นไม่คึกคักเหมือนสมัยนี้ ผมออกเดินทางไปตามหาหนังสือเล่มดังกล่าวตามคำแนะนำ ณ ช่วงเวลานั้น บนชั้นวางหนังสือภายในร้าน มีหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นอยู่เพียงเล่มเดียว นั่นก็คือหนังสือเล่มที่ผมกำลังตามหา...
..............

📖โดยปกติแล้ว ผมเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะขี้เกียจ ในช่วงวัยเด็กแม้แต่หนังสือการ์ตูนยังไม่คิดที่จะหยิบมาอ่านเลย หนังสือ “ตีแตก” เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผมหลงใหล และอ่านรวดเดียวจนจบเล่ม ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย มันจุดประกายให้ผมเกิดความรู้สึกรักการอ่าน ต่อจากนั้นผมมีโอกาสได้สัมผัสหนังสือที่อาจส่งอิทธิพลต่อชีวิตเช่นกันนั่นคือ “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad, Robert T. Kiyosaki) ผมอ่านจนครบทุกเล่มในซีรีส์
..............

ด้วยความหมกมุ่น หลงใหล แรงบันดาลใจเอ่อล้น หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมเกิดความใฝ่ฝัน อยากเป็นนักลงทุนในหุ้นที่ประสบความสำเร็จ แต่หนทางมันไม่ได้ง่ายดายดั่งใจคาดหวัง ผมเริ่มต้นโดยการเดินไปบอกกล่าวความต้องการกับคุณพ่อ ว่าเราศึกษามาแล้ว “การลงทุนในหุ้น คือการลงทุนในธุรกิจ” ผลตอบรับกลับกลายเป็นว่าคุณพ่อไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง เหตุเพราะเขาเคยลงทุนมาก่อน ผลลัพธ์คือการบาดเจ็บอย่างหนักท่ามกลางวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง “เป็นประสบการณ์อันเลวร้าย” เขากล่าวอย่างเด็ดขาดว่าอย่าเข้าไปข้องแวะกับวงการนี้เลย มันสุดแสนจะอันตราย
..............

ผมยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่นพยายาม เข้าไปพูดคุยอธิบายกับคุณแม่ นี่คือโอกาสสุดท้าย ครอบครัวผมทำธุรกิจ และประสบปัญหาค่อนข้างหนักเมื่อต้องเผชิญกับวิฤตทางการเงินระดับภูมิภาคดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จนกิจการถึงขั้นกลายเป็นหนี้เสียกับธนาคาร สถานะทางการเงินของครอบครัวในช่วงเวลานั้นจึงไม่ได้มีเงินเก็บสะสมอยู่มากมายนัก “ถ้าหากอยากลงทุนจริงๆแล้วล่ะก็ เรายังมีใบหุ้น ปตท. เก็บไว้อยู่ เอาไปขายสิ แล้วจากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปลงทุนเสีย” คุณแม่กล่าว
..............

เอาล่ะ ยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว ผมนำใบหุ้น ปตท. [บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)] ไปโอนหุ้นเข้าบัญชีหลักทรัพย์ จากนั้นจึงขายทันที เพื่อนำเงินที่ได้รับไปซื้อหุ้นตามแผนการที่วาดไว้ เป็นเงินจำนวน 1 ล้านบาท “และนี่คือประสบการณ์ขายหมูครั้งแรก ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นลงทุนเลย” กล่าวคือ หุ้น ปตท. นั้นถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายครั้งแรก (IPO) ณ ราคา 35 บาทต่อหุ้น หากคำนวณภายหลังการแตกพาร์ จะมีราคาหุ้นเท่ากับ 3.50 บาท ผมขายหุ้น ณ ราคาที่เกือบถึงจุดต่ำสุดตลอดกาล ตั้งแต่ ปตท. เข้าตลาดมา ประมาณ 3 บาท ซึ่งถ้าหากอดทนถือมาจนถึงปัจจุบัน (2021) ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากว่า 12 เท่าจากราคา IPO และ 14 เท่า นับจากราคาที่ผมขายไป
..............

🕙ปี ค.ศ. 2003 : “ไทยวีไอ จุดเริ่มต้นวิถีนักลงทุนเน้นคุณค่า”
.............................
วันธรรมดาวันหนึ่ง ผมเดินทางไปต่างจังหวัด และบังเอิญซื้อหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจติดมือไปด้วย ระหว่างที่กำลังพลิกหน้าหนังสือพิมพ์ไปมา สายตาพลันเหลือบไปปะทะกับคอลัมน์หนึ่ง บังเอิญเหลือเกินที่ ดร.นิเวศน์ คือผู้เขียนบทความนั้น ภายในกลุ่มตัวอักษรอันอัดแน่นเรียงราย มีอยู่วรรคตอนหนึ่งที่อาจารย์กล่าวพาดพิงถึง “เว็บบอร์ดไทยวีไอ” (https://board.thaivi.org/) ซึ่งต่อมาได้เกิดพัฒนาการจากเว็บบอร์ดธรรมดาๆ จนเติบโตแปรเปลี่ยนมาเป็น “สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” ในปัจจุบัน

สถานที่แห่งนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตนักลงทุนของผมไปตลอดกาล ผมเริ่มต้นปรับทัศนคติด้านการลงทุน โดยมี ดร.นิเวศน์ เป็นแรงบันดาลใจ ศึกษาอย่างเจาะลึกว่าเขาลงทุนอย่างไร ถือหุ้นใดอยู่บ้าง วิเคราะห์หาคำตอบว่าอาจารย์ซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านี้เพราะอะไร ทั้งนี้ก็เพื่อเรียนรู้ด้านธุรกิจ และค้นหาแนวทางการลงทุน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายขอบเขตไปศึกษานักลงทุนไทยเก่งๆ ท่านอื่น เช่น คุณพีรนาถ โชควัฒนา เป็นต้น
..............

กระบวนการลงทุนในช่วงแรกของผมนั้นเป็นไปตามตำราอย่างตรงไปตรงมา มุ่งเน้นไปยังหุ้นซึ่งมีอัตราส่วนทางการเงินที่ดี ราคาถูก มีประวัติการจ่ายเงินปันผลยาวนาน เรียกได้ว่าสนใจแต่ “ปัจจัยเชิงปริมาณ” อย่างสุดโต่ง มันใช้ได้ผลดีเกินคาด ประกอบกับตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นเป็นขาขึ้น ภายหลังจากการทรุดตัวลงอย่างหนักของดัชนีตลาดในช่วงต้มยำกุ้งก่อนหน้านี้ โอกาสของการเลือกหุ้นถูกตัวนั้นมีมากมายนัก ความมั่งคั่งของผมเติบโตอย่างก้าวกระโดด📈
..............

🕙ปี ค.ศ. 2008 : “วิกฤตแห่งความสั่นคลอน”
.............................
👩‍❤️‍👨ผมเข้าพิธีแต่งงานเมื่อปี 2007 เจรจาต่อรอง โน้มน้าวจิตใจภรรยาด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ใช้เวลาอยู่นาน เพื่อให้เธอตกลงปลงใจ ยินยอมยกเงินค่าซองที่ได้รับจากงานแต่งงานทั้งหมด นำมาลงทุนในหุ้น “การลงทุนในหุ้นมันไม่ได้เสี่ยงอย่างที่เธอคิด มันคือการลงทุนในธุรกิจ” ผมพยายามอธิบายเหตุผลให้เธอฟัง ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ตามดั่งความฝัน วันเวลาผ่านล่วงเลยมาจนถึงกลางปี 2008 ภรรยาให้กำเนิดลูกคนแรก ผมเพิ่มเงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญก็เพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขา ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Crisis, 2008) เพียงไม่กี่เดือน
..............

📉“วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์” ส่งผลกระทบให้ความมั่งคั่งจากกำไรที่บากบั่นสะสมมาตลอด 6 ปี มลายหายไปในพริบตาเดียว จาก 25 ล้านบาท เหลือเพียงไม่ถึง 2 ล้านบาท สภาพจิตใจมันห่อเหี่ยวเหลือเกิน ครอบครัวพยายามทักท้วงว่าควรขายหุ้นล้างพอร์ตไปให้หมดก่อนดีไหม อย่างน้อยก็ยังเหลือเงินทุนอยู่บ้าง แต่พอตั้งสติให้ดีผมคิดว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ต่อการประกอบกิจการของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เลย มันเป็นเรื่องของ “กระแสเงินที่ไหลออกไปจากตลาดหุ้น” (Capital flight) ไม่ได้กระทบต่อตัวธุรกิจซึ่งอยู่เบื้องหลัง การทำมาหากินทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนการที่บริษัทกำหนดไว้ อีกทั้งหุ้นที่ถืออยู่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องต่ำ หากเร่งขายหุ้นออกไป ราคายิ่งร่วง มีแต่จะเป็นการทำร้ายตัวเอง ช่วงนั้นทำอะไรไม่ได้เลย เราคิดว่าราคาหุ้นในเวลาเช่นนี้ ถ้ามีเงินเหลือควรจะต้องซื้อหุ้นเพิ่มอีกด้วยซ้ำ จึงอธิบายกับครอบครัวว่าจะขอสู้ต่อ
..............

ภายหลังสภาวการณ์ต่างๆ ความรู้และประสบการณ์ค่อยๆสั่งสม ส่งผลให้ผมปรับเปลี่ยนวิถีทาง มุ่งเน้นกระบวนการลงทุนไปยังการค้นหา “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) เริ่มต้นจากการผลักนำตนเองไปสู่การเป็น “นักสังเกตการณ์” เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกอย่างที่บริษัทจดทะเบียนจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานนำเสนอบริษัท (Roadshow), บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day), การเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) ไปจนถึงการลงพื้นที่เพื่อสำรวจกิจการจริง (Scuttlebutt) ตามหลักการลงทุนของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher)” ซึ่งได้รับการขนานนาม ยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนในหุ้นเติบโต
..............

ผมเปลี่ยนแปลงมุมมองมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” มากขึ้นกว่าสมัยก่อนที่สนใจเพียงแค่ตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งในยุคสมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจในประเด็นเรื่องการเติบโตของบริษัทในอนาคต ส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพสูงๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏให้เห็นในเชิงตัวเลข ไม่แพงจนเกินไป การลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี เราควรเข้าลงทุนในช่วงที่ภาพแห่งอนาคตยังเลือนลาง พร่าเลือน และไม่ชัดเจน เหตุเพราะว่าเมื่อใดที่ภาพมันแจ่มชัด ทุกอย่างจะสะท้อนไปยังราคาหุ้น ทุกคนรับรู้หมดสิ้นแล้ว มันไม่มีวันเป็นการลงทุนที่ดีอีกต่อไป
..............

ปัจจัยที่จะทำให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดคือ “ความเข้าใจในพื้นฐานกิจการอย่างถ่องแท้” อย่างน้อยที่สุดคุณจำเป็นต้องอ่านรายงานประจำปี ต้องเข้าใจในสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ให้ลึกซึ้งก่อน “จินตนาการแห่งอนาคตอันพร่าเลือน จะค่อยๆแจ่มชัดขึ้นมา” เปิดโอกาสให้เราค้นพบหุ้นเติบโตในอนาคต และเข้าซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป “คุณต้องซื้อหุ้นเติบโต ในตอนที่มันยังไม่โต คนยังไม่สนใจ ไม่เป็นกระแสนิยม” ส่วนใหญ่เวลาตลาดเป็นขาขึ้น ผมจะไม่ค่อยได้ซื้อหุ้นสักเท่าไหร่ และหลักการบริหารพอร์ตการลงทุนในภาพรวมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ควรชั่งน้ำหนักให้ดี หุ้นของบริษัทที่ผมมั่นใจ มีความรู้ความเข้าใจมากพอก็จะถือในสัดส่วนเยอะหน่อย ส่วนหุ้นที่ยังไม่มั่นใจแต่น่าติดตามก็มีไว้ครอบครองในปริมาณน้อย อย่าถือหุ้นน้อยตัวจนเกินไป ทั้งนี้การจัดพอร์ตควรคำนึงถึงความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก

..............
💰หลักการลงทุนให้สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตมีเพียง 5 ข้อ💰
..............
1⃣ ลงทุนในธุรกิจที่เรามีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต หลีกเลี่ยงหุ้นซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยม แต่เราไม่เข้าใจมันเลย
...
2⃣ ซื้อหุ้นในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป มีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic value) กับราคาตลาดที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง นี่คือวิธีการจำกัดความเสี่ยงซึ่งดีที่สุด
...
3⃣ กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ถือหุ้นมากหรือน้อยบริษัทจนเกินไป โดยส่วนตัวแล้วผมมีหุ้นหลักในพอร์ตประมาณ 7 บริษัท ซึ่งคิดเป็น 80% ของพอร์ตรวม ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และความสบายใจ ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นของบริษัทที่เรากำลังติดตามอยู่ แต่ยังไม่มั่นใจนัก ก็ซื้อติดพอร์ตไว้นิดหน่อย จริตการลงทุนของผมมักจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ไม่ค่อยถือเงินสด และไม่เคยใช้เงินกู้ยืมเพื่อมาลงทุนเลย (Margin account) ทำไม่เป็น
...
4⃣ อดทนถือครองหุ้นที่เราคัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว ให้นานที่สุด ติดตามผลประกอบการ ความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีกำหนดเวลาในการขายหุ้นที่แน่นอน ตราบใดที่สถานการณ์รอบด้านยังดีอยู่ ราคารับได้ ก็ถือต่อไป
...
5⃣ ลงทุนอย่างมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ การลงทุนในหุ้นคือการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งเราควรลงทุนในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องของสุขภาพ ครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคม
.............................................................

🖋ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร
...
อดีตกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)


.............................................................
ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลบางส่วนจาก
...
📎ถามมือเก๋า VI - EP.8 แก่นการลงทุน, Thai vi media.
.............................................................

📌Recap. 2023📌
...
ปัจจุบัน “ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร” ครอบครองพอร์ตการลงทุนในหุ้นไทย (ไม่รวมเงินสด อสังหาฯ กองทุน หุ้นต่างประเทศ หุ้นที่ไม่ติดอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก และสินทรัพย์อื่นๆ นอกตลาดหุ้น หรือในนามบุคคลอื่น) มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 ของ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) : CPANEL (ข้อมูลจาก Inno Radar by Innovest X, 26/02/2023)
Try to be : Full Time Investor, Reader, Writer, Learner & Cultural observer.
......................................
I have a passion for keeping things simple.
......................................
https://www.facebook.com/Introverted.investor
โพสต์โพสต์