ส่งออกส่อเดี้ยงรับทักษิณ2 > เครื่องไฟฟ้า-อิเล็กฯขีดแข่งขันวูบฉุดทั้งขบวน
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หัวขบวนส่งออกส่ออาการแผ่วแต่ไก่โห่ เผยบาทแข็ง-ต้นทุนผลิตพุ่งส่วนใหญ่ปรับราคาขายกันแล้ว 5-10% ยอมรับแม้กระทบขีดแข่งขันเต็มๆ แต่จำเป็นต้องปรับเพื่อความอยู่รอด จับตาลูกค้าแห่ซื้อจากจีน และมาเลเซียคู่แข่งสำคัญแทน ขณะที่หวั่นเศรษฐกิจโลก-ศก.มะกันชะลอถล่มซ้ำ ทำเป้าส่งออกโต 15% ไม่ถึงฝั่ง หลังข้าว มัน ยางวูบแน่ๆ
นายสุรพร สิมะกุลธร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการแข็งค่าของเงินบาทมาอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันจากการที่เวลานี้วัตถุดิบในการผลิตหลายรายการได้ปรับราคาขึ้นที่สำคัญคือ เหล็กซิลิคอนที่ใช้ในการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้ปรับราคาขึ้นไปแล้วตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เหล็กซิลิคอนมีแนวโน้มขาดแคลน นอกจากนี้วัตถุดิบสำคัญอื่นๆ อาทิ ทองแดง พลาสติก รวมถึงน้ำมันก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
จากเงินบาทที่แข็งค่าผนวกกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำการปรับราคาสินค้าขึ้นจากเดิมกันแล้วในเวลานี้เฉลี่ย 5-10% เนื่องจากหากไม่ปรับราคาจะทำให้รายได้และกำไรที่เคยได้รับลดน้อยลง ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นไม่สามารถอยู่รอดได้ แม้จะทราบดีว่าการปรับราคาจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันก็ตาม
จากการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 5-10% ในเวลานี้ นายสุรพร กล่าวว่า จะทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีนและมาเลเซียคู่แข่งสำคัญได้เปรียบในการแข่งขันทันที เพราะสองประเทศนี้ผูกติดค่าเงินโดยไม่ปล่อยให้ผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินหยวนของจีนตรึงไว้ที่ 8.28 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ และเงินริงกิตของมาเลเซียตรึงไว้ที่ 3.8 ริงกิต/ดอลลาร์ การตรึงค่าเงินไม่ให้ผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์ทำให้สินค้าจากทั้งสองประเทศมีราคาถูกกว่าไทย
"ผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สัดส่วนมากกว่า 80% คงอยู่ยากหากไม่ปรับราคาขาย ขณะที่บางรายที่มีกำไรมากในปีที่ผ่านมาอาจตรึงราคาไว้ได้ในเรื่องนี้ขอให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้เพราะจะกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างรุนแรง"
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯกล่าวว่า การปรับราคาขึ้นของสินค้ากลุ่มนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 48 ในภาพรวม เนื่องจากปี 47 ที่ผ่านมาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการส่งออกรวมกันมูลค่าถึง 33,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 34% ของการส่งออกในภาพรวมของประเทศ(เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออก 13,381 ล้านดอลลาร์ และอิเล็กทรอนิกส์ 19,690 ล้านดอลลาร์)
อย่างไรก็ตามในการประชุมตัวแทนของกลุ่มร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการส่งออกเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางกรมฯได้สอบถามว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 48 จะขยายตัวกลุ่มละ 20% ได้หรือไม่ ซึ่งตัวแทนกลุ่มได้ตอบไปว่าคงไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากโดยเฉพาะค่าเงินบาท ราคาน้ำมันและเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งนี้อัตราที่สอดคล้องกับความเป็นจริงน่าจะขยายตัวระหว่าง 10-15%
ด้านแหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการส่งออกกล่าวว่า หากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้า อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกปี 48 ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายขยายตัวจากปี 47 ที่ 15% (ปี 47 ไทยส่งออก 97,701 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ จากที่เวลานี้กลุ่มสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มส่งออกลดลง อาทิ ข้าว มันสำปะหลังและยางพารา โดยข้าวจากปัญหาภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลง ส่วนมันสำปะหลังและยางพารา เป็นผลจากต้องการของตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง
ขณะเดียวกันหลายองค์กรได้ออกมาคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 48 จะขยายตัวลดลงจาก 47 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2548 จะขยายตัว 4.3% จากปี 47 ขยายตัว 5.0% และธนาคารโลกคาดขยายตัว 5.8% จากปี 47 ขยายตัว 6.4% และยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐตลาดผู้บริโภครายใหญ่จะขยายตัวลดลงจาก 4.3% ในปี 47 ลดลงเหลือ 3.5% ในปีนี้ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม
(ไม่แน่ใจแหล่งที่มาแต่เพื่อนเข่าส่งข้อมมูลมาให้อ่าน)