กองทุนรวมปีหมูไฟ ตบเท้าโชว์ผลงานโดด
โดย สรวิศ อิ่มบำรุง
ปีหมูไฟที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ดีสำหรับธุรกิจกองทุนรวมของไทย โดยกองทุนรวมทั้งระบบมีสินทรัพย์สุทธิรวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 1.61 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2549 ที่ 1.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31.80%
ไม่เพียงการเติบโตของสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารของธุรกิจกองทุนรวมเท่านั้น ในส่วนของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในปีที่ผ่านมา กองทุนรวมแต่ละประเภทยังสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างงดงามไม่น้อย
ในขณะที่เงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.87% และเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 0.75% นั้น
กองทุนรวมตราสารตลาดเงินที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยเปรียบเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.60% และกองทุนรวมตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.23%
ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นมา 26.22% นั้น กองทุนรวมหุ้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 37.21% และกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 23.28% ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์ดี
Fundamentals สัปดาห์นี้ มีบทสรุปผลการดำเนินงานของกองทุนรวมแต่ละประเภทจาก Lipper มานำเสนอ
........................................................
"กสิกร" แชมป์กองหุ้น-กองทุนทอง "ทหารไทย" แรง
การสรุปผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในครั้งนี้ได้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากทาง Lipper โดยจัดแบ่งตามประเภทของกองทุนรวมนั้น ซึ่งในปี 2550 ที่ผ่านมา กองทุนรวมแต่ละประเภทมีผลการดำเนินงานดังต่อไปนี้
@กองทุนหุ้น
ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2550 ปรับตัวขึ้นมาทั้งปี 26.22% กองทุนหุ้นโดยรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 37.21% ต่อปี ชนะดัชนีอยู่ 10.99% โดยกองทุนหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดให้ผลตอบแทนสูงถึง 47.35% ในขณะที่กองที่แย่ที่สุดมีผลตอบแทน 10.05% แตกต่างกันอยู่ 37.3%
"แม้ตัวเลขผลตอบแทน 10.05% จะเป็นผลตอบแทนที่ไม่น้อยในสายตาของคนทั่วไป แต่การที่เราจะเลือกกองทุนใดกองทุนหนึ่งควรจะได้มีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นกับดัชนีมาตรฐาน(Benchmark)และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนที่เหมือนกันด้วย"
กองทุนหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรมในปี 2550 นั้นให้ผลตอบแทนสูงเกิน 45% ทุกกองนำมาโดยอันดับ 1 "กองทุนเปิดเค หุ้นปันผล(K-Value)" ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 47.35% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน(B-INFRA)" ของบลจ.บัวหลวง ให้ผลตอบแทน 47.04% อันดับ 3 "กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เพิ่มผลมั่นคง(SCBPMO)" ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยผลตอบแทน 46.92% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล(BTP)" ของบลจ.บัวหลวง ให้ผลตอบแทน 45.56% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดทีแฟมเอควิตี้(TFEQ)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 45.50%
"กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 35.46% ชนะดัชนี 9.24% โดยกองทุนที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 46.68% และกองทุนที่แย่ที่สุดให้ผลตอบแทน 16.47% มีผลตอบแทนของกองดีที่สุดและแย่ที่สุดต่างกัน 30.21%"
กองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 5 อันดับแรก อันดับ1 ได้แก่ "กองทุนเปิดทิสโก้หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(TEGRMF)" ของ บลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทน 46.68% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิด JUMBO 25 เพื่อการเลี้ยงชีพJB25RMF)" ของบลจ.ทหารไทย ผลตอบแทน 42.67% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน เพื่อการเลี้ยงชีพ(SCBRM4)" ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ผลตอบแทน 41.16% ,อันดับ4 "กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(BERMF)" ของบลจ.บัวหลวง ด้วยผลตอบแทน 39.68% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(INGERMF)" ของบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) ให้ผลตอบแทน 39.05%
"ด้านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมานั้น ทำผลงานได้ค่อนข้างดีโดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 34.25% ชนะดัชนีหุ้นไทยไป 8.03% โดยกองทุน LTF ที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 45.43% และกองที่แย่ที่สุดให้ผลตอบแทน 15.22% หรือมีผลตอบแทนต่างกันอยู่ 30.21%"
กองทุน LTF ที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด 5 อันดับแรก นำมาโดยอันดับ 1 "กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวเอ็มเอไอ(SCBLT3)" ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ผลตอบแทน 45.43% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดทิสโก้หุ้นระยะยาว(TISCOLTF)" ของบลจ.ทิสโก้ ผลตอบแทน 44.44% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดเค หุ้นระยะยาวปันผล(KDLTF)" ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 44.44% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดเคหุ้นระยะยาว(KEQLTF)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 44.02% และอันดับ 5 "กองทุนเปิด JUMBO 25 ปันผลหุ้นระยะยาว(JB25LTF)" ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 42.54%
@กองทุนรวมผสมและผสมแบบยืดหยุ่น
ถือเป็นรูปแบบของกองทุนรวมที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนค่อนข้างมากเพราะมีพอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานระหว่าง "หุ้น" และ "ตราสารหนี้" เข้าไว้ด้วยกัน แม้ความเสี่ยงจะลดลงมาแต่ผลตอบแทนในปี 2550 ที่ผ่านมาของกองทุนรวมประเภทนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยกองทุนผสมแบบยืดหยุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 23.28% กองที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 44.09% ในขณะกองที่แย่ที่สุดมีผลตอบแทน 2.41% แตกต่างกันอยู่ 41.68%
"ทั้งนี้ผลตอบแทนของกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นกับนโยบายของกองทุนผสมนั้นว่าเน้นลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้เป็นสำคัญ ผลตอบแทนก็จะสะท้อนออกมาตามลักษณะของพอร์ตการลงทุนของกองทุนด้วยเช่นกัน"
กองทุนผสมแบบยืดหยุ่นที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุด 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรม อันดับ 1 ได้แก่ "กองทุนเปิดทีซีเอ็ม พลทรัพย์(TCMCSF)" ของบลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทน 44.09% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดเคหุ้นทุนบริพัตร(K-FEQ)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 43.71% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดแอสเซท พลัส กำไรปันผล(ASP-GDF)" ของบลจ.แอสเซท พลัส ด้วยผลตอบแทน 40.93% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดทิสโก้ แอ็กเกรสซีฟ โกรท ฟันด์(TISCOAGF)" ของบลจ.ทิสโก้ ผลตอบแทน 40.02% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี-บีที อินคัมโกรทฟันด์(M-BT)" ของบลจ.เอ็มเอฟซี ด้วยผลตอบแทน 39.55%
"ส่วนกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนแบบผสมและผสมแบบยืดหยุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 28.0% โดยกองที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 44.23% และกองที่แย่ที่สุดให้ผลตอบแทน 7.21% ต่างกันอยู่ 37.02% "
กองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนผสมแบบยืดหยุ่นที่มีผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก อันดับ1 ได้แก่ "กองทุนเปิดเค หุ้นทุนบริพัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ(KFLRMF)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 44.23% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดทิสโก้พลทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ(TFPRMF)" ของบลจ.ทิสโก้ ให้ผลตอบแทน 42.46% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ(BFLRMF)" ของบลจ.บัวหลวง ผลตอบแทน 40.25% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดกรุงไทย วางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ 1(RMF1)" ของบลจ.กรุงไทย ผลตอบแทน 39.06% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดแอสเซท พลัสหุ้นผสมตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ(ASP-MRF)" ของบลจ.แอสเซท พลัส ด้วยผลตอบแทน 38.83%
@กองทุนตราสารหนี้
ปี 2550 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนของเงินฝากอายุ 1 ปีของ 3 ธนาคารใหญ่ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.87% ซึ่งใช้เป็นดัชนีมาตรฐาน แต่กองทุนตราสารหนี้โดยรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.23% ต่อปี สูงกว่าผลตอบแทนของเงินฝากแบงก์อายุ 1 ปี อยู่ 1.36% และเป็นผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.21% อยู่ 2.02% โดยกองที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 8.21% ส่วนกองที่แย่ที่สุดมีผลตอบแทนติดลบ 17.20%
ในปีหมูไฟนี้กองทุนตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 4 อันดับแรกเป็นกองทุนปิดที่มีอายุโครงการประมาณ 5 ปี เกือบทั้งหมดนำมาโดยอันดับ 1 "กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร3(RKI3)" ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 8.21% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดทรัพย์บริบูรณ์ตราสารหนี้4(PF4)" ของบลจ.ยูโอบี(ไทย) ให้ผลตอบแทน 7.63% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร8(RKI8)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 7.5% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดรวงข้าวคืนกำไร5(RKI5)" ของบลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทน 7.15% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ(ABFTH)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 6.97%
แต่ถ้าจะมองผลตอบแทนจากกองทุนตราสารหนี้ ที่เป็นกองทุนเปิดแล้ว เชื่อว่ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีในการสะท้อนการลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดในปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้กองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.97% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ยที่ 2.87% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2.21% โดยกองที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 6.96% และกองที่แย่ที่สุดก็ยังให้ผลตอบแทน 2.40% ต่างกันอยู่ 4.56%
กองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 5 อันดับแรก อันดับ1 ได้แก่ "กองทุนเปิดกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ 2(RMF2)" ของบลจ.กรุงไทย ให้ผลตอบแทน 6.96% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ 3(RMF3)" ของบลจ.กรุงไทย ผลตอบแทน 6.33% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย พันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ(INGGBRMF)" ของบลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) ผลตอบแทน 4.96% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดแอสเซท พลัส ตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ(ASP-FRF)" ของบลจ.แอสเซท พลัส ให้ผลตอบแทน 4.94% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ(NFRMF)" ของบลจ.ธนชาต ผลตอบแทน 4.65%
@กองทุนตราสารตลาดเงิน
ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของ 3 ธนาคารใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.87% นั้น ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.75% กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารตลาดเงินให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.6% สูงกว่าดัชนีอ้างอิงซึ่งเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ยที่ 2.87% อยู่ 0.73% และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2.21% อยู่ 1.39% โดยกองทุนตราสารตลาดเงินที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 4.46% และกองที่แย่ที่สุดให้ผลตอบแทน 2.89% แตกต่างกันอยู่ 1.57%
กองทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 5 อันดับแรก เป็นของบลจ.ทหารไทย ซึ่งเป็นกองทุนปิดที่มีอายุโครงการประมาณ 1 ปี ทั้งหมด ได้แก่ "กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตร 1 ปี" รุ่นที่ 1 ,รุ่นที่ 12 ,รุ่นที่ 10 ,รุ่นที่ 9 และรุ่นที่ 2 โดยให้ผลตอบแทน 4.46% ,4.46% ,4.45% ,4.29% และ 4.29% ตามลำดับ
กองทุน RMF ที่เป็นกองทุนตราสารตลาดเงินนั้น ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.52% สูงกว่าดัชนีอ้างอิงซึ่งเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ยที่ 2.87% อยู่ 0.65% และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2.21% อยู่ 1.31% โดยกองทุนตราสารตลาดเงินที่มีผลงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 4.01% และกองที่แย่ที่สุดให้ผลตอบแทน 3.08% แตกต่างกันอยู่ 0.93%
จากกองทุน RMF ตราสารตลาดเงินทั้งหมด 6 กองทุน ทุกกองทุนล้วนมีผลการดำเนินงานดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด โดยกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนตราสารตลาดเงินที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด 5 อันดับแรก อันดับ1 ได้แก่ "กองทุนเปิดธนชาตตลาดเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ(NMRMF)" ของ บลจ.ธนชาต ให้ผลตอบแทน 4.01% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิด ตราสารการเงินคุณค่า เพื่อการเลี้ยงชีพ(M-RMF)" ของบลจ.วรรณ ด้วยผลตอบแทน 3.71% ,อันดับ3 "กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อการเลี้ยงชีพ(SCBRM1)" ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ผลตอบแทน 3.60% ,อันดับ4 "กองทุนเปิดเค บริหารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ(KMMRMF)" ของบลจ.กสิกรไทย ผลตอบแทน 3.49% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ(AYFCASHRMF)" ของบลจ.อยุธยา ด้วยผลตอบแทน 3.24%
@กองทุน FIF
ในส่วนของกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ(FIF)นั้น แม้จะเจอค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากว่า 15.58% แต่ยังสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยกองทุน FIF ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.72% สูงกว่าดัชนีมาตรฐานของหุ้นคือ ดัชนี MSCI AC World ที่บวก 2.52% และสูงกว่าดัชนีมาตรฐานของตราสารหนี้คือ ดัชนี UBS Global Covertible ที่บวก 3.63% อยู่ 2.2% และ 1.09 ตามลำดับ โดยกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดให้ผลตอบแทน 24.61% และกองที่แย่ที่สุดมีผลการดำเนินงานติดลบ 11.70%
กองทุน FIF ที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยม 5 อันดับแรก อันดับ1 ได้แก่ "กองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ฟันด์(TMBGOLD)" ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 24.61% ,อันดับ 2 "กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มโกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เอควิตี้ ฟันด์(1AM-GEM)" ของบลจ.วรรณ ผลตอบแทน 22.70% ,อันดับ 3 "กองทุนเปิดอเบอร์ดีน เอเชีย แปซิฟิค เอควิตี้ ฟันด์(ABAPAC)" ของบลจ.อเบอร์ดีน ผลตอบแทน 21.49% ,อันดับ 4 "กองทุนเปิดธนชาตอินฟราสตรัคเจอร์ แอนด์ แน็ชเชอรัลรีซอร์ส ฟันด์ ออฟ ฟันด์(T-INFRA)" ของบลจ.ธนชาต ผลตอบแทน 14.42% และอันดับ 5 "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล สมาร์ท ฟันด์(MGS)" ของบลจ.เอ็มเอฟซี ผลตอบแทน 11.95%
ทั้งหมดนี้คือ ผลงานของกองทุนรวมแต่ละประเภทในปีหมูไฟที่ผ่านมา หวังว่าอย่างน้อยจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในปีนี้ของบรรดานักลงทุน
BangkokBizNews
กองทุนรวมปีหมูไฟ ตบเท้าโชว์ผลงานโดด
-
- Verified User
- โพสต์: 362
- ผู้ติดตาม: 0