การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาทุน


โพสต์ โพสต์
duterian
Verified User
โพสต์: 41
ผู้ติดตาม: 0

การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาทุน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันนี้ผมไล่ดูสาเหตุที่ทำให้ Book value ของบริษัท KBS ลดลง แล้วพบว่าสาเหตุเกิดจากการที่บริษัทเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวรสำหรับอาคารและเครื่องจักร
โดยมิได้เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินข้างต้น ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 3 และข้อ 5 ในระหว่างงวดปัจจุบัน บริษัทฯและบริษัทย่อยได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับปรับปรุงและมาตรฐานการบัญชีใหม่ที่ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อจัดทำและนำเสนองบการเงินนี้ นอกจากนี้ บริษัทฯได้เปลี่ยนนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวรสำหรับอาคารและเครื่องจักรจากวิธีการตีราคาใหม่เป็นราคาทุน ดังนั้นงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554 และงบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 ที่แสดงเปรียบเทียบ ได้มีการปรับย้อนหลังจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีดังกล่าว
ผมอยากรู้ว่าบริษัทเค้าจะเปลี่ยนทำไมหรอครับ? ผมเข้าใจมาตลอดว่าการที่จะเปลี่ยนนโยบายทางบัญชีใดๆได้จะเป็นเพราะว่ามีมาตรฐานการบัญชีใหม่เกิดขึ้นเสมอ

แต่กรณีนี้เหมือนกับบริษัทเปลี่ยนเองตามอำเภอใจ ไม่ระบุเหตุผลให้ด้วยว่าเปลี่ยนเพราะอะไร :cry:
สรุปผมอยากรู้ 2 อย่างอ่ะครับ
1) บริษัทนี้เปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวรสำหรับอาคารและเครื่องจักรทำไม
2) การที่บริษัทใดๆ จะเปลี่ยนนโยบายการบัญชี สามารถทำได้อย่างอิสระหรือไม่ (ซึ่งตอนนี้ผมเข้าใจว่าบริษัทจะใช้มาตรฐานการบัญชีเป็น guideline แต่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลึกย่อยได้เอง)
parporn
Verified User
โพสต์: 231
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 2

โพสต์

คำถาม
1) บริษัทนี้เปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวรสำหรับอาคารและเครื่องจักรทำไม

คำตอบ
ตามทฤษฎี เหตุผลที่บริษัทเปลี่ยนนโยบายการบัญชีก็เพราะนโยบายการบัญชีใหม่แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินได้เหมาะสมกว่าวิธีเก่า บริษัทอาจเปลี่ยนโยบายการบัญชีเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือรูปแบบการเกิดค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไป ทำให้นโยบายการบัญชีที่ใช้อยู่เกิดความไม่เหมาะสมอีกต่อไป

แต่ตามความเป็นจริง บริษัทเปลี่ยนนโยบายการบัญชีเพื่อประโยชน์ในการแสดงงบการเงินให้ดูดีขึ้น ในระยะหลัง เราจะเห็นบริษัทเปลี่ยนวิธีการวัดมูลค่าที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์กลับไปเป็นวิธีราคาทุนเดิมมากขึ้น เช่น บางจาก เปลี่ยนปีที่แล้ว เหตุผลที่ซ่อนอยู่คือ ปี 2556 มาตรฐานการบัญชีเรื่องภาษีเงินได้จะถึงกำหนดบังคับใช้ มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้จะทำให้บริษัทที่มี "กำไรจากการตีราคาสินทรัพย์" (ซึ่งเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ตามวิธีที่ตีใหม่) ต้องบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเท่่ากับอัตราภาษี x มูลค่าของสินทรัพย์ที่ตีเพิ่ม นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทมีสินทรัพย์ที่มีราคาทุนเดิม 100 ลบ. ตีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 150 ลบ. ในอดีต บริษัทจะต้องบันทึกกำไรจากการตีราคาสินทรัพย์ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จซึ่งจะวิ่งไปที่ส่วนทุน 50 ลบ. แต่ในปี 2556 บริษัทจะต้องบันทึกลดกำไรจากการตีราคาเพิ่มจาก 50 ลบ. ให้เหลือ 40 ลบ. และบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี 10 ลบ. (สมมุติอัตราภาษีที่ใช้คือ 20%) ดังนั้น บริษัทที่ไม่ต้องการบันทึกหนี้สินเพิ่มขึ้น (ซึ่งอาจจะทำให้ DE ratio แย่ลง) โดยการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีกลับไปใช้ราคาทุนเดิม ซึ่งแม้จะทำให้กำไรจากการตีราคาเพิ่มหายไป แต่บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีใดๆ

นอกจากนั้น ประกาศสภาวิชาชีพบัญชียังอนุญาตให้บริษัทไม่ต้องปรับงบการเงินย้อยหลัง (ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อนักลงทุนในการวิเคราะห์งบการเงิน)

คำถาม
2) การที่บริษัทใดๆ จะเปลี่ยนนโยบายการบัญชี สามารถทำได้อย่างอิสระหรือไม่ (ซึ่งตอนนี้ผมเข้าใจว่าบริษัทจะใช้มาตรฐานการบัญชีเป็น guideline แต่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลึกย่อยได้เอง)

ตามทฤษฎี บริษัทจะเปลี่ยนนโยบายการบัญชีได้ก็ต่อเมื่อนโยบายการบัญชีใหม่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่เหมาะสมกว่าวิธีเก่า (เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไปทำให้รูปแบบการบันทึกบัญชีจำต้องเปลี่ยนตาม) และนโยบายการบัญชีที่นำมาใช้เป็นวิธีที่มาตรฐานการบัญชีอนุญาตให้นำมาใช้เป็นทางเลือกได้ เช่น วิธีราคาทุนกับวิธีราคาที่ตีใหม่ หรือวีธีเข้าก่อนออกก่อนกับวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก

ในทางปฏิบัติ บริษัทอาจเลือกวิธีที่มาตรฐานการบัญชีอนุญาตให้ใช้เป็นทางเลือกอย่างเสรี เช่น บริษัทอาจเลือกเปลี่ยนวิธีราคาทุนไปเป็นวิธีราคาที่ตีใหม่ พอวันดีคืนดีก็เปลี่ยนจากวิธีราคาที่ตีใหม่กลับไปใช้วิธีราคาทุน ก็ไม่เห็นมีใครมา challenge ว่านโยบายใหม่เหมาะสมกับวิธีเก่าอย่างไร

ฝากคุณๆ ที่เป็นนักลงทุนลอง challenge ผู้บริหารบริษัทดูว่าเขาจะตอบว่าอย่างไร
duterian
Verified User
โพสต์: 41
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณอาจารย์มากครับ ผมเข้าใจชัดเจนเลยครับว่าบริษัทเปลี่ยนทำไม

ผมสงสัยเกียวกับคำศัพท์ "หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี" ว่าคืออะไร เลยไปอ่าน "อ่านงบการเงินให้เป็น" ทำให้พอเข้าใจว่ามันคืออะไรในระดับหนึ่ง ทีนี้ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ >> "ที่บริษัทเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์" ตามที่สรุปความแตกต่างไว้ด้านล่างครับ

ใช้วิธีราคาทุน
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >>ไม่มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์

ใช้วิธีตีราคาใหม่
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >> มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์
winnermax
Verified User
โพสต์: 38
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 4

โพสต์

+1
UpvoteDownvote
ขอบคุณอาจารย์มากครับ ผมเข้าใจชัดเจนเลยครับว่าบริษัทเปลี่ยนทำไม

ผมสงสัยเกียวกับคำศัพท์ "หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี" ว่าคืออะไร เลยไปอ่าน "อ่านงบการเงินให้เป็น" ทำให้พอเข้าใจว่ามันคืออะไรในระดับหนึ่ง ทีนี้ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ >> "ที่บริษัทเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์" ตามที่สรุปความแตกต่างไว้ด้านล่างครับ

ใช้วิธีราคาทุน
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >>ไม่มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์

ใช้วิธีตีราคาใหม่
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >> มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์
ผมขอตอบแทน อ ภาพร นะครับ ความแตกต่างสำหรับการใช้วิธีราคาทุน กับวิธีตีราคาใหม่ เกี่ยวกับการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ตามผังที่สรุปนั้นถูกต้อง แล้วครับ แต่การภาระการจ่ายภาษีเงินได้ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายจริง แล้วเกิดกำไร ที่เป็นผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุนเดิมหลังจากหักค่าเสื่อมราคาสะสมที่คิดจากราคาทุนเดิม ครับ เนื่องจาก การตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น (ยกเว้นสินค้าคงเหลือ) สรรพากรถือว่าส่วนที่ตีเพิ่มหรือลดลงนั้นไม่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีครับ ดังนั้นประเด็นที่ควรทำความเข้าใจให้กระจ่างคือ ความแตกต่างระหว่าง หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี กับ ภาษีเงินได้ค้างจ่าย ครับ หนี้สินภาษีเงิินได้รอการตัดบัญชี เกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างเกณฑ์ที่ใช้บันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีกับเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้ของกรมสรรพากร สังเกตได้ว่า หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จะแสดงในงบการเงินเป็นรายการไม่หมุนเวียน สำหรับภาษีเงินได้ค้างจ่าย นั้นเป็นภาษีเงินได้ที่บริษัทมีภาระจะต้องเสียให้กรมสรรพากร ซึ่งรายการนี้คำนวณขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร และแสดงไว้ในงบการเงินเป็นหนี้สินหมุนเวียนครับ ดังนั้น การรับรู้หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ไม่น่าจะเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนนโยบายการบัญชี
parporn
Verified User
โพสต์: 231
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 5

โพสต์

อยากทราบเรื่องภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ช่วยอ่านกระทู้ "หลายบริษัทจะขาดทุน defer tax ใน q4"
sun_cisa2
Verified User
โพสต์: 121
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ที่อาจารย์ทั้งสองท่านกล่าวมาในด้านบัญชีถือได้ว่าให้รายละเอียดได้มากครับ คาดว่าน่าจะสร้างความเข้าใจที่มาทีไปได้ชัดเจน แต่ขอฝากแนวคิดเพิ่มเติมในการตัดสินในวิเคราะห์ด้านการลงทุน คือควรพิจารณาผลกระทบที่จะมีต่ออัราส่วนทางการเงินระยะยาวด้วยครับ เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี แม้จะสอบถามหาเหตุผลจากผู้บริหาร ก็มักจะได้สารพัดเหตุผลดูดีทั้งนั้น บางทีผู้บริหารอาจเพียงแค่ตัดความยุ่งยากในการตีราคาใหม่เพราะอยากประหยัดการประเมินมูลค่าก็ได้ ในความคิดจริงๆเราไม่อาจรู้ได้ แต่ถึงจะตัดสินอย่างไร output ทางรายงานการเงินจะบอกว่า logic ใช้ได้หรือไม่ทางหลักการหรือทฤษฎี
การตีราคาเพิ่ม ดังที่อาจารย์ภาพรบอกไว้คือ D/E ratio จะดีขึ้น ถ้ากำไรเติบโตดี ROE จะไม่กระทบมาก (ตีเพิ่ม ฐาน Equity เพิ่ม) ถ้าตีที่ดินเพิ่มต้นทุนผลิตและค่าใช้จ่าย ค่าเสื่อมราคาไม่เพิ่ม profit margin ไม่กระทบแต่ถ้าเกิดจากการตีราคาโรงงาน อาคาร เครื่องจักร จะกระทบ profit margin
การย้อนกลับไปใช้ราคาทุนเดิมก็จะกลับกันทั้งหมด D/E จะกระทบ แต่ถ้าบริษัทมีกำไรสะสมสูงขึ้นจนไม่มีผลต่ออัตรส่วนนี้ในการกู้เงิน บริษัทอาจกลับมาใช้ราคาทุนเดิม เพิ่อทำให้ profit margin ดูดีขึ้นก็ได้ (ถ้าเป็นการตีราคาจากอาคารดรงงาน เครื่องจักร)
สรุปแลวการเปลี่ยนนโยบายบัญชีหากไม่ได้เกิดจากมาตรฐานการบัญชีกำหนดไว้ต้องทำ แต่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ส่วนตัวผมเองไม่ชอบและไม่ให้มุมมองด้านบวก เพราะบริษัทมักเลือกวิธีสร้างให้กิจการมีภาพตัวเลขที่ดี
parporn
Verified User
โพสต์: 231
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 7

โพสต์

duterian เขียน:ขอบคุณอาจารย์มากครับ ผมเข้าใจชัดเจนเลยครับว่าบริษัทเปลี่ยนทำไม

ผมสงสัยเกียวกับคำศัพท์ "หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี" ว่าคืออะไร เลยไปอ่าน "อ่านงบการเงินให้เป็น" ทำให้พอเข้าใจว่ามันคืออะไรในระดับหนึ่ง ทีนี้ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ >> "ที่บริษัทเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์" ตามที่สรุปความแตกต่างไว้ด้านล่างครับ

ใช้วิธีราคาทุน
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >>ไม่มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์

ใช้วิธีตีราคาใหม่
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >> มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์
ข้อสรุปของคุณว่า บริษัทเปลี่ยนนโนบายการบัญชีเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีนั้น ไม่ถูกต้องค่ะ
เพราะการนำเงินไปจ่ายภาษีนั้นต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร ส่วนการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทรับรู้กำไรจากการตีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ แต่ยังไม่ได้นำกำไรนั้นไปจ่ายภาษี บริษัทจึงต้องบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อไรที่บริษัทรับรู้กำไร บริษัทก็มีภาระด้านภาษีอยู่ (แทนที่กำไรทั้งหมดจะไหลไปรวมอยู่กับส่วนทุน)

ดังนั้น การบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจึงเป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีซึ่งมีผลกระทบกับงบการเงิน อาจารย์คิดว่า บริษัทอาจจะอยากหลีกเลี่ยงการบันทึกหนี้สิน บริษัทจึงเปลี่ยนนโยบายการบัญชี แต่ความจริงเป็นอย่างไร คุณอาจต้องลองทำการค้นคว้าดูว่า ถ้าบริษัทไม่เปลี่ยนนโยบายการบัญชีแล้ว debt/equity ratio จะเป็นอย่างไรเมื่อบริษัทต้องลดส่วนทุนลงเท่ากับอัตราภาษี x กำไรในการตีราคาสินทรัพย์ เพื่อนำไปเพิ่มให้กับหนี้สิน (เรื่องนี้ อาจารย์วิเชษฐ์ winnermax คิดว่าไม่น่าเป็นแรงจูงใจให้บริษัทเปลี่ยนนโยบายการบัญชี ซึ่งก็อาจเป็นจริงตามนั้น บริษัทอาจอยากเปลี่ยนนโยบายการบัญชีด้วยเหตุผลอื่น)

ข้อสรุปของคุณเกี่ยวกับวิธีราคาทุนเดิมนั้น ถูกต้อง (ยกเว้นเรื่องการจ่ายภาษี) สิ่งที่ต้องระวังคือ สำหรับวิธีราคาทุนเดิมนั้น บริษัทไม่สามารถรับรู้ capital gain ที่เกิดจากสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้ขาย (เรียก กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น) เมื่อยังไม่รับรู้กำไร หนี้สินภาษีเงินได้ก็ยังไม่เกิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะไม่ต้องจ่ายภาษีเมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ออกไป เพราะอย่างไรๆ เมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ได้กำไร (กำไรที่เกิดจริง) บริษัทยังคงต้องจ่ายภาษีเท่าเดิมไม่ว่าบริษัทจะรับรู้หนี้สินในงบการเงินหรือไม่

สุดท้าย ข้อสรุปของคุณเกี่ยวกับราคาที่ตีใหม่นั้นถูกต้อง ยกเว้นเรื่องการจ่ายภาษี เพราะอย่างที่บอก ไม่ว่าบริษัทจะใช้วิธีบันทึกบัญชีอย่างไร (รับรู้กำไรพร้อมหนี้สินภาษีเงินได้ หรือไม่รับรู้กำไรทำให้ยังไม่ต้องรับรู้หนี้สินภาษี) บริษัทก็ยังคงต้องจ่ายภาษีเท่าเดิม (ตามประมวลรัษฎากร)

อย่าลืมอ่านกระทู้ "หลายบริษัทจะขาดทุน defer tax ใน q4" นะคะ
duterian
Verified User
โพสต์: 41
ผู้ติดตาม: 0

Re: การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร : วิธีการตีราคาใหม่ VS ราคาท

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณทุกคนมากครับที่เข้ามาช่วยตอบ ทำให้ผมเข้าใจขึ้นเยอะเลยครับ :D
แล้วเดี๋ยวผมจะอ่านแล้วพยายามทำความเข้าใจ "หลายบริษัทจะขาดทุน defer tax ใน q4" นะครับอาจารย์
โพสต์โพสต์