กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- little wing
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 187
- ผู้ติดตาม: 0
กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
โลกในมุมมองของ Value Investor 19 พฤษภาคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กลยุทธ์ยามหุ้นแพง
ในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาไม่ถูกแล้ว แต่ราคาหุ้นโดยทั่วไปก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น “ฟองสบู่” นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงและมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 30-40% อย่างที่เห็นในช่วงนี้ เราในฐานะของ Value Investor ควรจะทำอย่างไร? คำตอบของ VI แต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ลองมาดูกัน
มุมมองหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นแนว “VI พันธุ์แท้” หรือบางทีก็อาจจะเป็น “VI ใสซื่อ” ก็คือ “เราไม่สนใจตลาด ถ้าเราพบว่ามีหุ้นที่ยังมีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก มี Margin Of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยสูง เราก็จะซื้อ” บางคนอาจจะพูดต่อว่า เขายังพบหุ้นที่มีราคาถูกเป็นหุ้น VI อีกไม่น้อยแม้ในยามที่หุ้นในตลาดโดยทั่วไปมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจเฉพาะหุ้นเป็นรายตัว
คอมเม้นท์ของผมก็คือ แน่นอน ในยามที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาและค่า PE สูง เราก็จะยังมีหุ้นที่ “ถูก” หรือมีค่า PE ต่ำ นอกจากนั้นค่า PB ก็อาจจะต่ำด้วย รวมถึงอัตราผลตอบแทนปันผลก็อาจจะสูง ถ้าดูโดยตัวเลขก็ต้องบอกว่ามันคือหุ้นที่มีราคาถูก แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง หุ้นตัวนั้นอาจจะไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนก็ได้ เพราะมันอาจจะมีปัญหาหรือกำไรในอนาคตอาจจะถดถอยลงเนื่องจากปัจจัยทางด้านคุณภาพ เช่น มันอาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังตกต่ำลง หรือมันอาจจะเป็นหุ้นวัฏจักรที่กำลังเข้าสู่วัฎจักรขาลง ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งทำให้หุ้นมีราคาถูกอย่างที่เห็น แต่ไม่ใช่หุ้น Value ดังนั้น การที่เราบอกว่า เราสนใจเฉพาะตัวหุ้น ไม่สนใจภาวะตลาดนั้น จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยหลักการ แต่ในยามที่ตลาดหุ้นบูม เราจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษว่า หุ้นที่เราเห็นว่ามีราคาถูกโดยดูจากตัวเลขเช่น ค่า PE นั้น อาจจะเป็น “กับดัก” ที่ทำให้เรา “ติด” ได้ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องคิดว่า ถ้ามันหาง่ายอย่างนั้น คนก็คงจะเจอแล้วก็ซื้อมันและทำให้ราคามันขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว คงไม่ปล่อยให้มันมี PE ต่ำมากอยู่อย่างนั้นโดยเฉพาะในยามที่มี “VI” อยู่เต็มตลาดหุ้น
มุมมองอีกแนวหนึ่งก็คือ ในยามที่หุ้นในตลาดปรับตัวขึ้นมาก เราควรจะ Switch หรือเปลี่ยนตัวหุ้น จากหุ้นที่เราได้กำไรมากหรือหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นไปมากและราคาหุ้นเริ่มแพงแล้ว แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นที่ยังเป็น “Laggard” หรือหุ้นที่ยังไม่ค่อยได้ขึ้นไปเท่าไรและราคาอาจจะยังถูกเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ในตลาด แนวความคิดนี้อาจจะดูเหมือนว่าไม่ใช่แนว VI เพราะอาจจะไม่ได้วิเคราะห์ว่าหุ้นนั้นมี Margin Of Safety มากน้อยแค่ไหน แต่ไปดูจากการเปรียบเทียบว่าหุ้นตัวไหนราคาถูกกว่าอีกตัวหนึ่งแทนที่จะดูว่าตัวมันเองคุ้มค่าหรือไม่กับพื้นฐานของมัน อย่างไรก็ตาม VI ที่มองในแนวนี้ก็อาจจะบอกว่า หุ้นตัวใหม่ที่เขาจะซื้อนั้น จะต้องเข้าข่ายว่าเป็นหุ้น “VI” ด้วย นั่นก็คือ เขาอาจจะกำลังบอกว่า เขา Switch จากหุ้น VI ที่แพง ไปสู่หุ้น VI ที่ถูกกว่า มี Margin Of Safety สูงกว่า
คำวิจารณ์ของผมก็คือ คนที่คิดแบบนั้นอาจจะมีความคิดว่า ราคาหุ้นที่เป็น VI แต่ละตัวนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจะต้องวิ่งไปหา “มูลค่าที่แท้จริง” เช่น ราคาหุ้นปัจจุบันเท่ากับ 7 บาท มูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้อาจจะเป็น 10 บาท ดังนั้น หุ้นก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ในอนาคต ทีนี้ถ้ามีหุ้น 2 ตัวที่ต่างก็เป็นหุ้น VI ในสายตาของเขา แต่หุ้นตัวที่หนึ่งที่เขาซื้อไว้แล้วมีราคาวิ่งขึ้นไปเป็น 10 บาทอย่างรวดเร็ว เขาก็อาจจะคิดว่ามัน “เต็มมูลค่า” แล้ว ในขณะที่หุ้น VI ตัวที่สองนั้น ราคายังไม่ได้ไปไหน ซึ่งทำให้มันน่าจะมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้ในอนาคต ดังนั้น เขาจึงขายหุ้นตัวแรกและหันไปซื้อหุ้นตัวที่สอง โดยที่เขาสรุปว่าหุ้นตัวแรกนั้นไม่ได้เป็นหุ้น VI แล้วหรือเป็นหุ้น VI ที่จะมี Upside หรือโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอีกน้อยลง ในขณะที่หุ้นตัวที่สองยังเป็นหุ้น VI ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นมากกว่า
ผมเองคิดว่าการ Switch หุ้นในยามที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นและหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นตามดัชนีตลาดนั้น อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีนัก เหตุผลก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นคึกคัก หุ้นที่จะ “ถูกละเลย” นั้นน่าจะมีน้อย การที่หุ้นตัวหนึ่งวิ่งได้ดีหรือมากกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้นตัวแรกมีพื้นฐานหรือคุณสมบัติดีกว่าหุ้นตัวที่สอง การวิเคราะห์เดิมของเราอาจจะผิดพลาด ที่สำคัญ มูลค่าของหุ้นตัวแรกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปในขณะที่หุ้นตัวที่สองนั้นมูลค่าของกิจการไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การ Switch นั้นอาจจะมีโอกาส “ชนะ” ไม่มากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อขายที่เราจะต้องเสีย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มันอาจจะทำให้เราต้องเสียหุ้นที่ดีและได้หุ้นที่เลวกว่ามาแทนในทำนอง “ขายหมูแล้วไปซื้อควายมา” อย่างที่พูดกันในหมู่ VI
มุมมองสุดท้ายที่หลายคนอาจจะทำก็คือ การขายหุ้นเพื่อถือเงินสดและหวังว่าจะกลับมาซื้อหุ้นคืนเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง นี่เป็นกลยุทธ์ที่คล้ายกับนักเก็งกำไรที่จะ “เล่นหุ้นเป็นรอบ” นั่นก็คือ ซื้อหุ้นเมื่อดัชนีปรับตัวลงและขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูง ปีหนึ่งอาจจะเล่นหุ้นไม่กี่ครั้ง แต่สำหรับ VI นั้น เขาอาจจะคิดว่ารอบของเขาอาจจะใหญ่หรือยาวกว่า นั่นก็คือ ถ้าหุ้นขึ้นมาสูงจนหุ้นส่วนใหญ่แพงเกินไปและอาจจะเลยพื้นฐานไปแล้ว การหาหุ้นถูกยากมาก ดังนั้น เขาก็ควรจะขายหุ้นทิ้งแล้วถือเงินสด เขาเชื่อว่าในที่สุด ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวลงมาซึ่งจะทำให้เขาสามารถซื้อหุ้นตัวเดิมหรือหุ้นตัวใหม่ในราคาที่ต่ำลง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของเขาดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาคิดว่าการถือเงินสดนั้นปลอดภัยกว่าหุ้นที่อาจจะมีการปรับตัวลงครั้งใหญ่ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งที่เขาทำได้มากและรวดเร็วต้องหายไป
ความเห็นของผมก็คือ การถือเงินสดนั้น แม้ว่าจะปลอดภัยในแง่ที่เม็ดเงินจะไม่ลดลงแต่มันก็แทบไม่ให้ผลตอบแทนเลย ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือถ้าเกิดวิกฤติหรือตลาดหุ้นตกลงมารุนแรงและทำให้หุ้น VI ที่เราสนใจมีราคาลดลงมาก เราก็จะได้ซื้อหุ้นถูกและทำให้ผลตอบแทนในอนาคตสูงขึ้น แต่เหตุการณ์นั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนเราก็ไม่รู้ หลายคนอาจจะบอกว่าเหตุการณ์ในยุโรปนั้นน่ากลัวมากน่าจะมีโอกาสสูงที่ยุโรปจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงและนั่นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยตกลงมารุนแรงได้ ประเด็นนี้ผมเองไม่อยากที่จะให้ความเห็น แต่ประสบการณ์ก็คือ วิกฤติมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีใครคาดคิด เหตุการณ์ในยุโรปนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้และรับทราบมาโดยตลอด ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ “รับข่าว” และปรับตัวลงมามากแล้ว การที่ตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติและมีการปรับตัวลงมาก ๆ ก็น่าจะน้อยลง ดังนั้น การตัดสินใจโดยอิงอยู่กับสิ่งที่ยังไม่แน่นอนจึงเป็นเรื่องของการเก็งกำไรที่มีโอกาสได้เสียเท่า ๆ กัน
สุดท้ายสำหรับตัวผมเองว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์หุ้นแพง คำตอบก็คือ ผมแทบจะไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในยามที่หุ้นยังไม่ได้เป็น “ฟองสบู่” ประเด็นต่อมาก็คือ ผมทำอะไรกับเงินสดที่อาจจะได้มาจากปันผลหรือจากแหล่งอื่น คำตอบก็คือ ผมก็อาจจะถือเป็นเงินสดไว้ หรือไม่ก็ลงทุนในหุ้นที่มั่นคงมากในแง่ผลประกอบการที่ยังให้ผลตอบแทนปันผลพอสมควร อาจจะ 4-5% เทียบกับเงินฝากที่ 1-2% ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ผมมักจะเรียกว่า “หุ้นพันธบัตร” ซึ่งหลายตัวเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนและมีการเติบโตบ้างแต่ราคาไม่แพงเท่าไรนัก
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กลยุทธ์ยามหุ้นแพง
ในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาไม่ถูกแล้ว แต่ราคาหุ้นโดยทั่วไปก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น “ฟองสบู่” นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงและมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 30-40% อย่างที่เห็นในช่วงนี้ เราในฐานะของ Value Investor ควรจะทำอย่างไร? คำตอบของ VI แต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ลองมาดูกัน
มุมมองหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นแนว “VI พันธุ์แท้” หรือบางทีก็อาจจะเป็น “VI ใสซื่อ” ก็คือ “เราไม่สนใจตลาด ถ้าเราพบว่ามีหุ้นที่ยังมีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก มี Margin Of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยสูง เราก็จะซื้อ” บางคนอาจจะพูดต่อว่า เขายังพบหุ้นที่มีราคาถูกเป็นหุ้น VI อีกไม่น้อยแม้ในยามที่หุ้นในตลาดโดยทั่วไปมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจเฉพาะหุ้นเป็นรายตัว
คอมเม้นท์ของผมก็คือ แน่นอน ในยามที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาและค่า PE สูง เราก็จะยังมีหุ้นที่ “ถูก” หรือมีค่า PE ต่ำ นอกจากนั้นค่า PB ก็อาจจะต่ำด้วย รวมถึงอัตราผลตอบแทนปันผลก็อาจจะสูง ถ้าดูโดยตัวเลขก็ต้องบอกว่ามันคือหุ้นที่มีราคาถูก แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง หุ้นตัวนั้นอาจจะไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนก็ได้ เพราะมันอาจจะมีปัญหาหรือกำไรในอนาคตอาจจะถดถอยลงเนื่องจากปัจจัยทางด้านคุณภาพ เช่น มันอาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังตกต่ำลง หรือมันอาจจะเป็นหุ้นวัฏจักรที่กำลังเข้าสู่วัฎจักรขาลง ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งทำให้หุ้นมีราคาถูกอย่างที่เห็น แต่ไม่ใช่หุ้น Value ดังนั้น การที่เราบอกว่า เราสนใจเฉพาะตัวหุ้น ไม่สนใจภาวะตลาดนั้น จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยหลักการ แต่ในยามที่ตลาดหุ้นบูม เราจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษว่า หุ้นที่เราเห็นว่ามีราคาถูกโดยดูจากตัวเลขเช่น ค่า PE นั้น อาจจะเป็น “กับดัก” ที่ทำให้เรา “ติด” ได้ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องคิดว่า ถ้ามันหาง่ายอย่างนั้น คนก็คงจะเจอแล้วก็ซื้อมันและทำให้ราคามันขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว คงไม่ปล่อยให้มันมี PE ต่ำมากอยู่อย่างนั้นโดยเฉพาะในยามที่มี “VI” อยู่เต็มตลาดหุ้น
มุมมองอีกแนวหนึ่งก็คือ ในยามที่หุ้นในตลาดปรับตัวขึ้นมาก เราควรจะ Switch หรือเปลี่ยนตัวหุ้น จากหุ้นที่เราได้กำไรมากหรือหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นไปมากและราคาหุ้นเริ่มแพงแล้ว แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นที่ยังเป็น “Laggard” หรือหุ้นที่ยังไม่ค่อยได้ขึ้นไปเท่าไรและราคาอาจจะยังถูกเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ในตลาด แนวความคิดนี้อาจจะดูเหมือนว่าไม่ใช่แนว VI เพราะอาจจะไม่ได้วิเคราะห์ว่าหุ้นนั้นมี Margin Of Safety มากน้อยแค่ไหน แต่ไปดูจากการเปรียบเทียบว่าหุ้นตัวไหนราคาถูกกว่าอีกตัวหนึ่งแทนที่จะดูว่าตัวมันเองคุ้มค่าหรือไม่กับพื้นฐานของมัน อย่างไรก็ตาม VI ที่มองในแนวนี้ก็อาจจะบอกว่า หุ้นตัวใหม่ที่เขาจะซื้อนั้น จะต้องเข้าข่ายว่าเป็นหุ้น “VI” ด้วย นั่นก็คือ เขาอาจจะกำลังบอกว่า เขา Switch จากหุ้น VI ที่แพง ไปสู่หุ้น VI ที่ถูกกว่า มี Margin Of Safety สูงกว่า
คำวิจารณ์ของผมก็คือ คนที่คิดแบบนั้นอาจจะมีความคิดว่า ราคาหุ้นที่เป็น VI แต่ละตัวนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจะต้องวิ่งไปหา “มูลค่าที่แท้จริง” เช่น ราคาหุ้นปัจจุบันเท่ากับ 7 บาท มูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้อาจจะเป็น 10 บาท ดังนั้น หุ้นก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ในอนาคต ทีนี้ถ้ามีหุ้น 2 ตัวที่ต่างก็เป็นหุ้น VI ในสายตาของเขา แต่หุ้นตัวที่หนึ่งที่เขาซื้อไว้แล้วมีราคาวิ่งขึ้นไปเป็น 10 บาทอย่างรวดเร็ว เขาก็อาจจะคิดว่ามัน “เต็มมูลค่า” แล้ว ในขณะที่หุ้น VI ตัวที่สองนั้น ราคายังไม่ได้ไปไหน ซึ่งทำให้มันน่าจะมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้ในอนาคต ดังนั้น เขาจึงขายหุ้นตัวแรกและหันไปซื้อหุ้นตัวที่สอง โดยที่เขาสรุปว่าหุ้นตัวแรกนั้นไม่ได้เป็นหุ้น VI แล้วหรือเป็นหุ้น VI ที่จะมี Upside หรือโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอีกน้อยลง ในขณะที่หุ้นตัวที่สองยังเป็นหุ้น VI ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นมากกว่า
ผมเองคิดว่าการ Switch หุ้นในยามที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นและหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นตามดัชนีตลาดนั้น อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีนัก เหตุผลก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นคึกคัก หุ้นที่จะ “ถูกละเลย” นั้นน่าจะมีน้อย การที่หุ้นตัวหนึ่งวิ่งได้ดีหรือมากกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้นตัวแรกมีพื้นฐานหรือคุณสมบัติดีกว่าหุ้นตัวที่สอง การวิเคราะห์เดิมของเราอาจจะผิดพลาด ที่สำคัญ มูลค่าของหุ้นตัวแรกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปในขณะที่หุ้นตัวที่สองนั้นมูลค่าของกิจการไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การ Switch นั้นอาจจะมีโอกาส “ชนะ” ไม่มากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อขายที่เราจะต้องเสีย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มันอาจจะทำให้เราต้องเสียหุ้นที่ดีและได้หุ้นที่เลวกว่ามาแทนในทำนอง “ขายหมูแล้วไปซื้อควายมา” อย่างที่พูดกันในหมู่ VI
มุมมองสุดท้ายที่หลายคนอาจจะทำก็คือ การขายหุ้นเพื่อถือเงินสดและหวังว่าจะกลับมาซื้อหุ้นคืนเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง นี่เป็นกลยุทธ์ที่คล้ายกับนักเก็งกำไรที่จะ “เล่นหุ้นเป็นรอบ” นั่นก็คือ ซื้อหุ้นเมื่อดัชนีปรับตัวลงและขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูง ปีหนึ่งอาจจะเล่นหุ้นไม่กี่ครั้ง แต่สำหรับ VI นั้น เขาอาจจะคิดว่ารอบของเขาอาจจะใหญ่หรือยาวกว่า นั่นก็คือ ถ้าหุ้นขึ้นมาสูงจนหุ้นส่วนใหญ่แพงเกินไปและอาจจะเลยพื้นฐานไปแล้ว การหาหุ้นถูกยากมาก ดังนั้น เขาก็ควรจะขายหุ้นทิ้งแล้วถือเงินสด เขาเชื่อว่าในที่สุด ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวลงมาซึ่งจะทำให้เขาสามารถซื้อหุ้นตัวเดิมหรือหุ้นตัวใหม่ในราคาที่ต่ำลง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของเขาดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาคิดว่าการถือเงินสดนั้นปลอดภัยกว่าหุ้นที่อาจจะมีการปรับตัวลงครั้งใหญ่ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งที่เขาทำได้มากและรวดเร็วต้องหายไป
ความเห็นของผมก็คือ การถือเงินสดนั้น แม้ว่าจะปลอดภัยในแง่ที่เม็ดเงินจะไม่ลดลงแต่มันก็แทบไม่ให้ผลตอบแทนเลย ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือถ้าเกิดวิกฤติหรือตลาดหุ้นตกลงมารุนแรงและทำให้หุ้น VI ที่เราสนใจมีราคาลดลงมาก เราก็จะได้ซื้อหุ้นถูกและทำให้ผลตอบแทนในอนาคตสูงขึ้น แต่เหตุการณ์นั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนเราก็ไม่รู้ หลายคนอาจจะบอกว่าเหตุการณ์ในยุโรปนั้นน่ากลัวมากน่าจะมีโอกาสสูงที่ยุโรปจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงและนั่นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยตกลงมารุนแรงได้ ประเด็นนี้ผมเองไม่อยากที่จะให้ความเห็น แต่ประสบการณ์ก็คือ วิกฤติมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีใครคาดคิด เหตุการณ์ในยุโรปนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้และรับทราบมาโดยตลอด ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ “รับข่าว” และปรับตัวลงมามากแล้ว การที่ตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติและมีการปรับตัวลงมาก ๆ ก็น่าจะน้อยลง ดังนั้น การตัดสินใจโดยอิงอยู่กับสิ่งที่ยังไม่แน่นอนจึงเป็นเรื่องของการเก็งกำไรที่มีโอกาสได้เสียเท่า ๆ กัน
สุดท้ายสำหรับตัวผมเองว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์หุ้นแพง คำตอบก็คือ ผมแทบจะไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในยามที่หุ้นยังไม่ได้เป็น “ฟองสบู่” ประเด็นต่อมาก็คือ ผมทำอะไรกับเงินสดที่อาจจะได้มาจากปันผลหรือจากแหล่งอื่น คำตอบก็คือ ผมก็อาจจะถือเป็นเงินสดไว้ หรือไม่ก็ลงทุนในหุ้นที่มั่นคงมากในแง่ผลประกอบการที่ยังให้ผลตอบแทนปันผลพอสมควร อาจจะ 4-5% เทียบกับเงินฝากที่ 1-2% ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ผมมักจะเรียกว่า “หุ้นพันธบัตร” ซึ่งหลายตัวเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนและมีการเติบโตบ้างแต่ราคาไม่แพงเท่าไรนัก
-
- Verified User
- โพสต์: 390
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 3
ขอบคุณ ท่านเจ้าของกระทู้ และ ท่าน ดร. นิเวศน์ ฯ ครับ
-
- Verified User
- โพสต์: 20
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 5
ผมคิดว่า ถ้าพอร์ตไม่ใหญ่หรือมีเงินก้อนเดียวควรจะมีการปรับพอร์ตบ้างในยามที่ราคาหุ้นวิ่งสูงเกินมูลค่าเพื่อนำกำไรมาซื้อหุ้นในยามที่หุ้นปรับตัวลงและเพื่อสร้างการเติบโตให้พอร์ต เพราะบางครั้งการถือหุ้น 100 % ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเสมอไปครับ
แต่สำหรับคนพอร์ตใหญ่การอาจจะไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้เพราะเงินปันผลจากหุ้นก็ทำให้พอร์ตมีกระแสเงินสดเข้ามาอยู่แล้ว และสามารถนำเงินไปลงทุนต่อได้อย่างไม่มีปัญหา
แต่สำหรับคนพอร์ตใหญ่การอาจจะไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้เพราะเงินปันผลจากหุ้นก็ทำให้พอร์ตมีกระแสเงินสดเข้ามาอยู่แล้ว และสามารถนำเงินไปลงทุนต่อได้อย่างไม่มีปัญหา
-
- Verified User
- โพสต์: 1426
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 6
แนวคิดหนึ่งของนักลงทุนหุ้นคุณค่าไม่ว่าจะสายไหนก็ตามคือ เชื่อมั่นว่าการลงทุนในหุ้นคือ
การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแนวทางการลงทุนอื่น ๆ ในระยะยาว
ดังนั้นการอยู่กับหุ้นตลอดเวลาหรือมากที่สุดนานที่สุดจึงเป็นหนทางสร้างความมั่งคั่งที่ดีที่สุด
ยิ่งพอร์ตเล็กยิ่งต้องอยู่ในหุ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของพอร์ต
การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแนวทางการลงทุนอื่น ๆ ในระยะยาว
ดังนั้นการอยู่กับหุ้นตลอดเวลาหรือมากที่สุดนานที่สุดจึงเป็นหนทางสร้างความมั่งคั่งที่ดีที่สุด
ยิ่งพอร์ตเล็กยิ่งต้องอยู่ในหุ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของพอร์ต
- thaloengsak
- Verified User
- โพสต์: 2716
- ผู้ติดตาม: 1
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 8
ถูกใจคำว่า VIใสซื่อ มาก
ลงทุนเพื่อชีวิต
-
- Verified User
- โพสต์: 2690
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 9
ของเก่าคล้าย กัน..เรื่อง switch หุ้น
..
..
http://api.settrade.com/blog/nivate/2008/11/24/417
เลือกราคาหรือคุณภาพ/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Monday, 24 November 2008
ในยามวิกฤติ ที่หุ้นส่วนใหญ่และตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักนั้น นักลงทุนที่ยังมีเงินสดอยู่มักจะเตรียม “ช้อน” หุ้น โดยเฉพาะที่มีราคาตกลงมามาก ส่วนนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เต็มมือและไม่มีเงินสดเหลือนั้น บางคนก็ “สวิทซ์” หรือขายหุ้นตัวที่มีราคาตกลงมาน้อยแล้วไปซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากกว่า
คน ชอบซื้อหุ้นที่มีราคาตกลงมามากกว่า เพราะเขาคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นฟื้น หุ้นที่ตกลงมามากกว่าจะขึ้นแรงกว่าหุ้นที่ตกลงมาน้อยกว่า และด้วยเหตุผลเดียวกัน เขาเหล่านั้นแทบจะไม่สนใจหุ้นที่ราคาไม่ลงเลย เขาอาจจะคิดว่าหุ้นพวกนี้ ถึงแม้ว่าตลาดฟื้นตัว ราคาของมันก็คงจะไม่ค่อยขึ้นไป สู้พวกที่ราคาตกลงมามาก ๆ ไม่ได้ และนี่ก็คือความคิดแบบเทคนิคหรือนักเล่นหุ้นทั่ว ๆ ไปที่มักใช้ “สามัญสำนึก” ว่า อะไรที่ตกลงมามากก็จะกระเด้งขึ้นไปมาก
สำหรับ Value Investor แล้ว กลยุทธ์การซื้อหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แตกต่างกับนักลงทุนโดยทั่วไป แต่เหตุผลนั้นแตกต่างกัน นั่นคือ พวกเขาจะเปรียบเทียบราคาและความถูกความแพงของหุ้นบริษัทหนึ่งเทียบกับ อีกบริษัทหนึ่ง เขาคิดว่า ในเมื่อหุ้น A เดิมทีมีราคา 10 บาทและมีค่า PE เท่ากับ 12 เท่า บัดนี้มีราคาลดลงมาครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 5 บาทและค่า PE เหลือเพียง 6 เท่า ในเวลาเดียวกัน หุ้น B เคยมีราคา 10 บาทและค่า PE เท่ากับ 12 เท่าเหมือนกัน แต่หลังจากวิกฤติ ราคาลดลงเพียงเล็กน้อยเหลือ 9 บาท ซึ่งทำให้ค่า PE เหลือ 10.8 เท่า เช่นนี้ ถ้าเขาเลือก เขาจะซื้อหุ้นตัวไหน?
เขา จะซื้อหุ้น A เพราะเขาคิดว่าหุ้น A คงมีศักยภาพพอ ๆ กับหุ้น B ค่าที่ว่ามันเคยมีค่า PE เท่า ๆ กันก่อนเกิดวิกฤติ เขาเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว หุ้นก็จะกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับราคาเดิม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น การซื้อหุ้น A ก็จะทำกำไรได้ 100% ในขณะที่หุ้น B จะทำกำไรได้เพียง 11% และในทางตรงกันข้าม ถ้าตลาดหุ้นยังตกลงไปอีก หุ้น A คงตกลงไปได้อีกไม่มากแล้ว ในขณะที่หุ้น B อาจจะตกลงไปได้อีกมาก เรียกว่าหุ้น A มี Upside Gain หรือโอกาสทำกำไรในช่วงขาขึ้นมาก แต่ Downside Risk หรือความเสี่ยงที่จะขาดทุนในช่วงขาลงน้อย ในขณะที่หุ้น B มี Upside Gain น้อยแต่ Downside Risk มาก
ส่วน ตัวผมเองนั้น ผมคิดว่าเหตุผลดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้อง การพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นนั้น ควรต้องวิเคราะห์ถึงศักยภาพของธุรกิจใน “อนาคตหลังจากวิกฤติ” มากกว่าที่จะอิงอยู่กับราคาและค่า PE ของหุ้นใน “อดีตก่อนวิกฤติ” เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การสรุปว่ากิจการ A กับ B นั้นมีศักยภาพเท่ากันเพราะมีค่า PE เท่ากันก่อนที่หุ้นจะตกนั้น ผมคิดว่าอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง การที่ราคาหุ้น A ลดลงมาครึ่งหนึ่งแต่หุ้น B ราคาลดลงมาเพียง 10% ในท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ถ้าหุ้นทั้งสองตัวมีสภาพคล่องและคุณลักษณะของผู้ถือหุ้นใกล้เคียงกัน ( เช่นมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศพอ ๆ กัน ) มันก็น่าจะสะท้อนว่า พื้นฐานของหุ้น B เหนือกว่าหุ้น A มาก ทำให้คนไม่ยอมขายหุ้น B ในขณะที่ทิ้งหุ้น A
บาง คนอาจจะเถียงว่าหุ้น B อาจจะไม่ได้เหนือกว่าหุ้น A เพียงแต่หุ้น B อาจจะเป็นหุ้น “Defensive” นั่นคือเป็นกิจการที่มีรายได้และกำไรไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ ถูกกระทบน้อยในขณะที่กิจการของหุ้น A นั้นอ่อนไหวต่อวัฎจักรเศรษฐกิจสูง ดังนั้น เวลาเกิดวิกฤติ หุ้น B จึงทำผลงานได้ดีกว่า
ข้อ นี้ ผมเองอยากจะเถียงกลับโดยใช้เหตุผลเดียวกันว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณสมบัติของสองบริษัทไม่เหมือนกัน นั่นคือ หุ้น B มีคุณสมบัติที่สามารถทนทานต่อภาวะยากลำบากได้ ในขณะที่ A นั้น อาจจะดีเฉพาะในยามปกติ ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญมาก เพราะเศรษฐกิจนั้นมีช่วงเวลาที่ดี ช่วงเวลาปกติ และช่วงเวลาที่เลวร้าย จะมีเฉพาะบางกิจการเท่านั้นที่สามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้ในทุกสภาพ ดังนั้น หุ้นที่ยังรักษาระดับราคาหุ้นได้ในยามที่เศรษฐกิจเลวร้ายและมีราคาสูงในยาม ปกติต้องถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยม โดยนัยนี้ เราอาจจะต้องทบทวนความคิดใหม่ว่า หุ้น A อาจเป็นแค่หุ้นดีธรรมดา ในขณะที่หุ้น B เป็นหุ้นดีเยี่ยมหรือเป็น Super Stock
ด้วย เหตุผลดังกล่าว การซื้อหุ้น B อาจจะดีกว่าหุ้น A นั่นก็คือ มีโอกาสที่หุ้น A จะตกต่อไปในขณะที่หุ้น B ยังยืนอยู่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจยังตกต่ำลงต่อไป และในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจฟื้น หุ้น B อาจจะขึ้นไปมากเท่า ๆ กับหรือมากกว่าหุ้น A ก็ได้เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็น Great Company หรือเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนักก่อนหน้านั้น
ที่ เขียนมาทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้เป็นการเชียร์ว่าควรซื้อหุ้นแบบไหน หุ้นที่ตกลงมามากหรือหุ้นที่ไม่ตกหรือตกลงมาน้อย เพียงแต่อยากจะบอกว่า มันไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะซื้อหุ้นเพียงเพราะมันตกลงมามากเหลือเกินและไม่ ซื้อหุ้นที่ราคาไม่ลงเลยแม้ในยามวิกฤติ สิ่งที่จะต้องตระหนักสุดท้าย ก็คือ เมื่อเกิดวิกฤติ ธาตุแท้ของหุ้นมักจะปรากฏขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤติมักทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของบริษัทต่าง ๆ บางบริษัทตกต่ำลง ในขณะที่บางบริษัทโดดเด่นขึ้น อย่างถาวร หุ้นจำนวนมากแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแล้วก็อาจจะไม่กลับมาเท่าเดิมอีก แต่หุ้นที่ดีเยี่ยมนั้น เมื่อเวลาผ่านไปและภาวะกลับเป็นปกติ ราคามักจะขึ้นไปสูงกว่าเดิมมาก
-
- Verified User
- โพสต์: 184
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 11
ขอบคุณ ครับ
บทความนี้โดนมากๆเลยครับ ผมเคยคิดว่า คนพอร์ทใหญ่ กับ เล็ก เวลาเจอวิกฤติจะต่างกัน
เช่น จาก 40 ล้าน เหลือ 20 ล้าน ก็ยังมีปันผล มีทุนอยู่เยอะ
แต่ จาก 1 ล้าน เหลือ 5 แสน ทุนมันเหลือน้อยเหลือเกิน
ดังนั้น ผมเคยคิดจะถือเงินสดไว้ก่อน รอหมอกควันจางลง แล้วค่อยลงทุนต่อ
แต่ พอมาคิดอีกที จริงๆแล้ว การลงทุนที่ถูกต้อง มันไม่ควรเปลี่ยนแปลงตามเวลาแบบนั้น
ถ้า ณ วันนี้พอร์ทเล็ก ผมเลือกที่จะถอย วันหน้าพอร์ทใหญ่ ผมจะถือ
คำถามในใจคือ แล้ววันที่พอร์ทใหญ่จริงๆ ผมจะกล้าถือมั้ย
ถ้าวันนี้ผมเดาตลาด โชคดีถูก วันหน้าผมจะเดาตลาดอีกจนติดเป็นนิสัย
ดังนั้นผมจึงตัดสินใจว่า จะถือต่อไป
ถ้ายังมั่นใจว่าบริษัทยังกำไรดีอยู่
บทความนี้โดนมากๆเลยครับ ผมเคยคิดว่า คนพอร์ทใหญ่ กับ เล็ก เวลาเจอวิกฤติจะต่างกัน
เช่น จาก 40 ล้าน เหลือ 20 ล้าน ก็ยังมีปันผล มีทุนอยู่เยอะ
แต่ จาก 1 ล้าน เหลือ 5 แสน ทุนมันเหลือน้อยเหลือเกิน
ดังนั้น ผมเคยคิดจะถือเงินสดไว้ก่อน รอหมอกควันจางลง แล้วค่อยลงทุนต่อ
แต่ พอมาคิดอีกที จริงๆแล้ว การลงทุนที่ถูกต้อง มันไม่ควรเปลี่ยนแปลงตามเวลาแบบนั้น
ถ้า ณ วันนี้พอร์ทเล็ก ผมเลือกที่จะถอย วันหน้าพอร์ทใหญ่ ผมจะถือ
คำถามในใจคือ แล้ววันที่พอร์ทใหญ่จริงๆ ผมจะกล้าถือมั้ย
ถ้าวันนี้ผมเดาตลาด โชคดีถูก วันหน้าผมจะเดาตลาดอีกจนติดเป็นนิสัย
ดังนั้นผมจึงตัดสินใจว่า จะถือต่อไป
ถ้ายังมั่นใจว่าบริษัทยังกำไรดีอยู่
Reborn
- The Kop 71
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 271
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 13
ขอบคุณ ดร. นิเวศน์ ที่มาได้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจเสมอครับ
เวลาแบบนี้พิสูจน์
ความเชื่อมั่น... ความนิ่ง... ความโลภ... ความหลง... ความกลัว... ได้ดีนัก
เวลาแบบนี้พิสูจน์
ความเชื่อมั่น... ความนิ่ง... ความโลภ... ความหลง... ความกลัว... ได้ดีนัก
เพราะสังคม..ประเมินค่า..ที่จนรวย
คนจึงสร้าง..เปลือกสวย..ไว้สวมใส่
หากสังคม..วัดค่า..ที่ภายใน
คนจะสร้าง..แต่จิตใจ..ที่ใฝ่ดี
คนจึงสร้าง..เปลือกสวย..ไว้สวมใส่
หากสังคม..วัดค่า..ที่ภายใน
คนจะสร้าง..แต่จิตใจ..ที่ใฝ่ดี
-
- Verified User
- โพสต์: 31
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 14
ผมก็คิดแบบนี้นะครับPossible เขียน:ขอบคุณ ครับ
บทความนี้โดนมากๆเลยครับ ผมเคยคิดว่า คนพอร์ทใหญ่ กับ เล็ก เวลาเจอวิกฤติจะต่างกัน
เช่น จาก 40 ล้าน เหลือ 20 ล้าน ก็ยังมีปันผล มีทุนอยู่เยอะ
แต่ จาก 1 ล้าน เหลือ 5 แสน ทุนมันเหลือน้อยเหลือเกิน
ดังนั้น ผมเคยคิดจะถือเงินสดไว้ก่อน รอหมอกควันจางลง แล้วค่อยลงทุนต่อ
แต่ พอมาคิดอีกที จริงๆแล้ว การลงทุนที่ถูกต้อง มันไม่ควรเปลี่ยนแปลงตามเวลาแบบนั้น
ถ้า ณ วันนี้พอร์ทเล็ก ผมเลือกที่จะถอย วันหน้าพอร์ทใหญ่ ผมจะถือ
คำถามในใจคือ แล้ววันที่พอร์ทใหญ่จริงๆ ผมจะกล้าถือมั้ย
ถ้าวันนี้ผมเดาตลาด โชคดีถูก วันหน้าผมจะเดาตลาดอีกจนติดเป็นนิสัย
ดังนั้นผมจึงตัดสินใจว่า จะถือต่อไป
ถ้ายังมั่นใจว่าบริษัทยังกำไรดีอยู่
- chukieat30
- Verified User
- โพสต์: 3531
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 19
ประเด็นนี้ผมเองไม่อยากที่จะให้ความเห็น แต่ประสบการณ์ก็คือ วิกฤติมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีใครคาดคิด
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ
ถ้าคุณตีลูกตามไทเกอร์ คุณก้ไม่มีทางจะเหนือกว่า ไทเกอร์ จงนำวงสวิงของไทเกอร์มาปรับใช้ให้เหมาะกับคุณ
หวิ่งชุนหวอซาน หวิ่งชุนยิปมันจีทคุดโด้ พื้นฐานก้มาจากหวิ่งชุน แม้ชื่อจะต่าง
แต่หวิ่งชุนก้คือ หวิ่งชุน
ทำวันนี้ให้ดี ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่า และทำวันข้างหน้าให้ดีที่สุด
หวิ่งชุนหวอซาน หวิ่งชุนยิปมันจีทคุดโด้ พื้นฐานก้มาจากหวิ่งชุน แม้ชื่อจะต่าง
แต่หวิ่งชุนก้คือ หวิ่งชุน
ทำวันนี้ให้ดี ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่า และทำวันข้างหน้าให้ดีที่สุด
- chukieat30
- Verified User
- โพสต์: 3531
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 20
สุดท้ายสำหรับตัวผมเองว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์หุ้นแพง คำตอบก็คือ ผมแทบจะไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในยามที่หุ้นยังไม่ได้เป็น “ฟองสบู่” ประเด็นต่อมาก็คือ ผมทำอะไรกับเงินสดที่อาจจะได้มาจากปันผลหรือจากแหล่งอื่น คำตอบก็คือ ผมก็อาจจะถือเป็นเงินสดไว้ หรือไม่ก็ลงทุนในหุ้นที่มั่นคงมากในแง่ผลประกอบการที่ยังให้ผลตอบแทนปันผลพอสมควร อาจจะ 4-5% เทียบกับเงินฝากที่ 1-2% ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ผมมักจะเรียกว่า “หุ้นพันธบัตร” ซึ่งหลายตัวเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนและมีการเติบโตบ้างแต่ราคาไม่แพงเท่าไรนัก
ขอบคุณท่านอาจารย์ครับ
ขอบคุณท่านอาจารย์ครับ
ถ้าคุณตีลูกตามไทเกอร์ คุณก้ไม่มีทางจะเหนือกว่า ไทเกอร์ จงนำวงสวิงของไทเกอร์มาปรับใช้ให้เหมาะกับคุณ
หวิ่งชุนหวอซาน หวิ่งชุนยิปมันจีทคุดโด้ พื้นฐานก้มาจากหวิ่งชุน แม้ชื่อจะต่าง
แต่หวิ่งชุนก้คือ หวิ่งชุน
ทำวันนี้ให้ดี ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่า และทำวันข้างหน้าให้ดีที่สุด
หวิ่งชุนหวอซาน หวิ่งชุนยิปมันจีทคุดโด้ พื้นฐานก้มาจากหวิ่งชุน แม้ชื่อจะต่าง
แต่หวิ่งชุนก้คือ หวิ่งชุน
ทำวันนี้ให้ดี ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่า และทำวันข้างหน้าให้ดีที่สุด
- iamakik
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 86
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 23
บทความนี้ตรงใจกับที่ผมเจออยู่ตอนนี้เลยครับ อาจารย์เขียนเหมือนอ่านใจได้เลย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก port ที่เล็ก บางครั้งการที่ไม่ขายเลยอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดนะครับ เพียงแต่ต้องมั่นใจอย่างหนักแน่นว่า ตัวที่เราจะย้ายไปนั้นต้องดีกว่าตัวเดิมในทุกๆด้าน ไม่งั้น อาจจะจบลงที่ปัญหาอย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ในบทความครับ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก port ที่เล็ก บางครั้งการที่ไม่ขายเลยอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดนะครับ เพียงแต่ต้องมั่นใจอย่างหนักแน่นว่า ตัวที่เราจะย้ายไปนั้นต้องดีกว่าตัวเดิมในทุกๆด้าน ไม่งั้น อาจจะจบลงที่ปัญหาอย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ในบทความครับ
- KGYF
- Verified User
- โพสต์: 399
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 24
ขอบคุณ คุณ little wing และ ดร. นะครับ
ดร.เขียน เหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจเลยครับ
ดร.เขียน เหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจเลยครับ
" สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ = การให้ธรรมะเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง "
" ทุกข์มี เพราะยึด ทุกข์ยืด เพราะอยาก ทุกข์มาก เพราะพลอย ทุกข์น้อย เพราะหยุด ทุกข์หลุด เพราะปล่อย"
" ทุกข์มี เพราะยึด ทุกข์ยืด เพราะอยาก ทุกข์มาก เพราะพลอย ทุกข์น้อย เพราะหยุด ทุกข์หลุด เพราะปล่อย"
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 154
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 26
"วิกฤติมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีใครคาดคิด"
ผมขอเพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประโยคข้างต้นนิดนึงครับ ผมเห็นว่าเรื่องวิกฤตินั้นมีอีกสองกรณีที่อาจเกิดขึ้นคือ
กรณีแรกวิกฤติเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นซึ่งตลาดหุ้นก็ตอบสนองในทิศทางขาลงอยู่แล้วเพียงแต่ในระยะแรกลงยังไม่หนักซึ่งนักลงทุนก็คาดว่าคงไม่มีอะไร แต่แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจู่ๆวิกฤติก็หนักกว่าที่คิดไว้มากทำให้ตลาดหุ้นลงอย่างหนัก ตย.ก็เช่นซับไพรม์ที่ผ่านมาที่ตอนเริ่มแรกดูเหมือนไม่มีอะไรตลาดหุ้นก็ลงเล็กน้อยเท่านั้น
กรณีสองคือวิกฤติเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดไว้หมดอยู่แล้วแต่ในใจลึกๆแล้วทุกคนมักจะคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นจริงนะซึ่งตลาดหุ้นช่วงแรกอาจตอบสนองในทางลงแต่ไม่มากเท่าไรซึ่งมีนักลงทุนคอยช้อนตั้งรับเป็นระยะๆ แต่ปรากฏในภายหลังว่าวิกฤติมันเกิดขึ้นจริงอย่างกะทันหันในทางเลวร้ายทำให้นักลงทุนตกใจเทขายราคาหุ้นทรุดลงอย่างรวดเร็วรุนแรงทันที(แต่กรณีนี้ราคาหุ้นคงทรุดไม่นาน)
ผมหวังว่าวิกฤติกรีซ สเปน และอาจลามไปที่อื่นๆอีก คงไม่เป็นอย่างกรณีที่สองนะครับ
ผมขอเพิ่มเติมความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประโยคข้างต้นนิดนึงครับ ผมเห็นว่าเรื่องวิกฤตินั้นมีอีกสองกรณีที่อาจเกิดขึ้นคือ
กรณีแรกวิกฤติเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นซึ่งตลาดหุ้นก็ตอบสนองในทิศทางขาลงอยู่แล้วเพียงแต่ในระยะแรกลงยังไม่หนักซึ่งนักลงทุนก็คาดว่าคงไม่มีอะไร แต่แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจู่ๆวิกฤติก็หนักกว่าที่คิดไว้มากทำให้ตลาดหุ้นลงอย่างหนัก ตย.ก็เช่นซับไพรม์ที่ผ่านมาที่ตอนเริ่มแรกดูเหมือนไม่มีอะไรตลาดหุ้นก็ลงเล็กน้อยเท่านั้น
กรณีสองคือวิกฤติเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดไว้หมดอยู่แล้วแต่ในใจลึกๆแล้วทุกคนมักจะคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นจริงนะซึ่งตลาดหุ้นช่วงแรกอาจตอบสนองในทางลงแต่ไม่มากเท่าไรซึ่งมีนักลงทุนคอยช้อนตั้งรับเป็นระยะๆ แต่ปรากฏในภายหลังว่าวิกฤติมันเกิดขึ้นจริงอย่างกะทันหันในทางเลวร้ายทำให้นักลงทุนตกใจเทขายราคาหุ้นทรุดลงอย่างรวดเร็วรุนแรงทันที(แต่กรณีนี้ราคาหุ้นคงทรุดไม่นาน)
ผมหวังว่าวิกฤติกรีซ สเปน และอาจลามไปที่อื่นๆอีก คงไม่เป็นอย่างกรณีที่สองนะครับ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 154
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 27
ข้อความข้างบนนั้นผมพยายามอธิบายว่า
ในวิกฤติที่คาดคิดไว้แล้วอาจแฝงไว้ด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ หรือ
ในวิกฤติที่คาดคิดไว้แล้วแต่ในใจนักลงทุนอาจโกหกตัวเองหรือยังไม่ยอมรับความจริงทำให้ไม่ทันตั้งรับกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นอยู่ก็ได้ครับ
ในวิกฤติที่คาดคิดไว้แล้วอาจแฝงไว้ด้วยสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ หรือ
ในวิกฤติที่คาดคิดไว้แล้วแต่ในใจนักลงทุนอาจโกหกตัวเองหรือยังไม่ยอมรับความจริงทำให้ไม่ทันตั้งรับกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นอยู่ก็ได้ครับ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 154
- ผู้ติดตาม: 0
Re: กลยุทธ์ยามหุ้นแพง/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 28
เมื่อมาอ่านข้อความข้างบนซ้ำผมพบว่าอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจเจตนาผิดว่าผมชักชวนให้ขาย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น
ผมเพียงแต่มีเจตนาอยากให้เพื่อนนักลงทุนอย่าได้ประมาทหรือวางใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ควรที่จะต้องมีแผนสำรองไว้ กรณีถ้ามีสิ่งใดผิดจากสิ่งที่เราคาดคิดไว้
โดยส่วนตัวผมถือไว้เต็มพอร์ตและไม่คิดที่จะขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน แต่ก็ได้มีการคิดเพื่อหาเตรียมเงินสำรองไว้ซื้อหุ้นด้วยกรณีถ้าตลาดหุ้นตกลงมาอย่างรุนแรงครับ
ผมเพียงแต่มีเจตนาอยากให้เพื่อนนักลงทุนอย่าได้ประมาทหรือวางใจกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ควรที่จะต้องมีแผนสำรองไว้ กรณีถ้ามีสิ่งใดผิดจากสิ่งที่เราคาดคิดไว้
โดยส่วนตัวผมถือไว้เต็มพอร์ตและไม่คิดที่จะขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน แต่ก็ได้มีการคิดเพื่อหาเตรียมเงินสำรองไว้ซื้อหุ้นด้วยกรณีถ้าตลาดหุ้นตกลงมาอย่างรุนแรงครับ