โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way ฉบับวันที่ 23 กรกฏาคม 2555
โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โคตรเซียนเทคโอเวอร์
นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยคงไม่ค่อยรู้จักกับชื่อของ”คาร์ล ไอคาน” (Carl Icahn) เท่าไหร่นัก แต่สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐแล้วชื่อของไอคานถือว่าเป็นต้นแบบของนักลงทุนรุ่นใหม่หลายคนเลยทีเดียว เพียงแค่ได้ยินว่าไอคานซื้อหุ้นบริษัทไหนในตลาดหุ้นสหรัฐสามารถทำให้ผู้บริหารของบริษัทนั้นหนาวๆร้อนๆตามๆกัน เพราะไม่เพียงเขาจะเข้าถือหุ้นบริษัทนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังกดดันให้ผู้บริหารทำตามที่เขาต้องการอีกด้วย กลยุทธการลงทุนของเขาไม่ได้รับการศึกษามากนักโดยเฉพาะนักลงทุนไทย แต่การเรียนรู้จากชีวิตของไอคานทำให้เห็นอีกด้านของระบบทุนนิยมเป็นอย่างดี
คาร์ล ไอคานเกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1936 ปัจจุบันอายุ 76 ปี ในวัยเด็กเขาอาศัยกับพ่อแม่ที่เป็นชาวยิวชั้นกลางในกรุงนิวยอร์ค ด้วยความเป็นเด็กเรียนเก่งทำให้เขาเป็นคนแรกของโรงเรียนท้องถื่นที่ได้รับทุนเรียนที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน สาขาวิชาปรัชญา หลังจากจบปริญญาตรี แม่อยากให้เขาเรียนวิชาแพทย์เพื่อที่จะได้มีอาชีพหมอที่ถือว่ามีหน้ามีตาในสังคมชาวยิวในขณะนั้น แต่หลังจากเรียนที่โรงเรียนแพทย์ได้เพียงหนึ่งปี เขาก็เลิกและหันหลังให้โรงเรียนแพทย์เพราะด้วยความไม่ชอบและทนเรียนเพื่อเอาใจแม่เท่านั้น เขาสนใจในเรื่องเงินๆทองๆจึงเข้าทำงานที่บริษัทค้าหุ้นแห่งหนึ่งในวอลล์สตรีท
ในบริษัทนั้น เขาเห็นช่องทางทำเงินจากการซื้อขายอนุพันธ์ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่มีตลาดกลางรองรับ ไอคานจึงทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์คอยติดต่อลูกค้าที่คิดซื้อหรือขายอนุพันธ์อย่างการซื้อขายออปชั่นของหุ้นบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หลังจากทำงานมาสักพัก เขาจึงยืมเงินลุงที่เป็นเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 4 แสนเหรียญเพื่อซื้อใบอนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค จากนั้นเขาตั้งบริษัทแรกของเขาเองชื่อไอคานและเพื่อน (Icahn and Co)
ช่วงแรกบริษัทของเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายออปชั่นที่เขาถนัด นอกเหนือจากนั้นเขายังซื้อหุ้นให้กับลูกค้าและเข้าพอร์ตส่วนตัวของบริษัทอีกด้วย วันหนึ่งนักวิเคราะห์ประจำบริษัทบอกเขาถึงบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นมีราคาต่ำมากและน้อยกว่ามูลค่าทางบัญชีกว่าครึ่ง ไอคานและทีมวิเคราะห์บริษัทนั้นแล้วพบว่ามูลค่าของกิจการไม่ควรมีราคาต่ำมากขนาดนั้น แต่เนื่องจากผู้บริหารดำเนินงานผิดพลาดทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ ราคาหุ้นจึงตกต่ำ นอกเหนือจากนั้นยังไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทรวมถึงตัวผู้บริหารเองด้วย เขาจึงเริ่มซื้อหุ้นบริษัทในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไอคานซื้อหุ้นบริษัทนั้นเกิน 5 เปอร์เซนต์ เขาต้องรายงานกับตลาดหลักทรัพย์ว่าได้ถือครองหุ้นบริษัทนั้นต่อสาธารณะ
ในช่วงแรกผู้บริหารบริษัทต่างๆยังไม่รู้จักไอคานเลยว่าเป็นใครมาจากไหน จึงไม่สนใจว่าจะมีใครมาซื้อหุ้นของบริษัทตนเองบ้าง แต่เมื่อไอคานเริ่มติดต่อกับผู้บริหารของบริษัทและเรียกร้องของตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัท เพียงแค่นั้นก็ทำให้ผู้บริหารของบริษัทนั้นเริ่มนั่งไม่ติด เพราะถ้าไอคานเข้ามาในบอร์ดและมีอำนาจ ไอคานอาจไล่ผู้บริหารเหล่านั้นออก ตำแหน่งหน้าที่ซีอีโอและผลประโยชน์ต่างๆที่ตนเองเคยได้อาจต้องเสียไป ทำให้ผู้บริหารบริษัทนั้นเริ่มดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเต็มที่ เริ่มจากเจรจากับไอคานเพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่เมื่อไอคานเริ่มยื่นคำขาดเพื่อขอเก้าอี้ในคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารจึงฟ้องร้องไอคานเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ไอคานเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้
แต่สำหรับไอคานเองมองว่าผู้บริหารเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เพราะทุกสิ่งที่ผู้บริหารบริษัททำนั้นก็เพื่อผลประโยชน์และสวัสดิการของพรรคพวกของตนเองทั้งสิ้น ด้วยข้อแก้ต่างเช่นนี้ทำให้เขาชนะในชั้นศาลอยู่เสมอ ไอคานเริ่มซื้อหุ้นบริษัทนั้นเป็นจำนวนมากขึ้นและเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทคนอื่นๆมอบอำนาจให้เขาเข้ามาบริหารจัดการซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า“การต่อสู้ผ่านตัวแทน” (Proxy Fight) ไอคานมักใช้ประโยคลักษณะเช่นนี้ในการเชิญชวนให้ผู้ถือหุ้นเข้าข้างเขา เช่น “บริษัทนี้ขาดทุนต่อเนื่องมายาวนาน แต่ผู้บริหารกลับได้รับเงินเดือนเป็นล้านพร้อมรถประจำตำแหน่งและคนขับ ผู้ถือหุ้นควรทำอะไรสักอย่างหนึ่งได้แล้ว มอบอำนาจให้ผมจัดการกับพวกผู้บริหารพวกนี้เถอะ” เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่ผู้บริหารมักใช้เงินของบริษัทซื้อหุ้นคืนจากไอคานในราคาที่สูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ทำให้ไอคานได้รับกำไรจากการลงทุนในลักษณะนี้เกือบทุกกรณีเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของบริษัทมักปกป้องตำแหน่งหน้าที่ของตนเองก่อนผลประโยชน์ของบริษัทอยู่เสมอ ชีวิตของไอคานถูกนำไปเป็นต้นแบบของหนังฮอลลีวูดในชื่อเรื่องวอล์ทสตรีท (Wall Streets) แต่ต่างกันตรงที่ไอคานทำอะไรถูกต้องตามกฏหมายตลอดเวลาและไม่เคยถูกจำคุกสักครั้งเดียวในชีวิต