โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2555
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
82 ปี วอร์เรน บัฟเฟตต์
“วอร์เรน บัฟเฟตต์” สุดยอดนักลงทุนระดับโลก มีอายุครบ 82 ปีในวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา
ชื่อของ “บัฟเฟตต์” เริ่มเป็นที่รู้จักและถูกจับตาในวงกว้างเมื่อเขาได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในทำเนียบ 400 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด โดยนิตยสาร Forbes เมื่อปี ค.ศ.1982 ซึ่งในปีนั้นเขาอยู่ในอันดับที่ 82
สิ่งน่าสนใจที่ทำให้ “บัฟเฟตต์” ถูกจับตามองก็คือ ในบรรดาผู้ที่มีรายชื่อขึ้นทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยอันดับต่างๆนั้น ส่วนใหญ่จะร่ำรวยจากการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ “บัฟเฟตต์” ร่ำรวยจากการซื้อหุ้น และเป็นการสร้างความร่ำรวยด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ได้อาศัยมรดกตกทอดแต่อย่างใด
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีต่อๆมา บุคคลที่ “รวยด้วยหุ้น” ผู้นี้ยังสามารถสั่งสมความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งขึ้นทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอันดับที่ 1 ในปี ค.ศ.1993 ก่อนที่จะถูก “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้ง “ไมโครซอฟท์” แซงหน้าในปีถัดไป แต่ชื่อของ “บัฟเฟตต์” ก็ยังคงติดอันดับต้นๆของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ในฐานะที่ “บัฟเฟตต์” สร้างความมั่งคั่งจากการลงทุน ทำให้มีการสืบค้นกันว่า เขามีวิธีการลงทุนอย่างไรจึงได้ร่ำรวย คำตอบที่ได้โดยสรุปก็คือ “บัฟเฟตต์” เน้นการลงทุนในธุรกิจที่ดี มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน มีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ ซื้อในราคาที่สมเหตุผล และถือเอาไว้ตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดี ทั้งนี้เขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของ “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น และมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยในการลงทุน ผนวกกับแนวคิดการลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่มีการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาวของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ผสมผสานจนกลายเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล โดย “บัฟเฟตต์” จะลงทุนผ่าน “เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์” บริษัทที่เขาเป็นประธานและผู้ถือหุ้นรายใหญ่
แม้จะร่ำรวยในระดับอภิมหาเศรษฐี แต่วิถีการดำเนินชีวิตของ “บัฟเฟตต์” กลับเรียบง่ายจนน่าทึ่ง เขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่ซื้อมาด้วยราคา 30,000 เหรียญ ชอบรับประทานอาหารง่ายๆอย่างแฮมเบอร์เกอร์และโค้ก เขาเดินทางไปทำงานด้วยรถยนต์คันเดิมที่ใช้มาเป็นสิบปี โดยไม่มีบอดี้การ์ดหรือผู้ติดตาม
สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นก็คือ ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2006 “บัฟเฟตต์” ตัดสินใจ “คืนความมั่งคั่งให้กับสังคม” ด้วยการบริจาค 85% ของหุ้นส่วนทั้งหมดที่เขาถืออยู่ในบริษัท “เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์” ให้กับการกุศลโดยผ่าน 5 มูลนิธิ คือ มูลนิธิ “Bill and Melinda Gates” ของ “บิล เกตส์” เป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญ โดยจะทยอยบริจาคให้ปีละ 5% ต่อเนื่องไปทุกๆปี นอกจากนี้ “บัฟเฟตต์” ยังบริจาคให้กับมูลนิธิของภรรยาผู้ล่วงลับ “Susan Thompson Buffett” เป็นมูลค่า 3 พันล้านเหรียญ และบริจาคให้กับมูลนิธิของลูก 3 คนคือ ซูซาน, โฮเวิร์ด และ ปีเตอร์ คนละ 1 พันล้านเหรียญ รวมมูลค่าการบริจาคทั้งสิ้น 3 หมื่น 7 พันล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ “บัฟเฟตต์” ยังร่วมกับ “บิล เกตส์” ออกเดินสายเพื่อรณรงค์ให้มหาเศรษฐีทั่วโลกช่วยกันบริจาคทรัพย์สินให้กับการกุศล รวมทั้งยังเป็นผู้เสนอแนวความคิดให้มีการจัดเก็บภาษีคนรวยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นด้วย
และล่าสุด ในวาระที่มีอายุครบ 82 ปีในวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา “บัฟเฟตต์” ตกลงใจที่จะบริจาคหุ้นเพิ่มเติมให้กับมูลนิธิของลูกๆทั้งสาม ด้วยเหตุผลว่า เขารับรู้ถึงความทุ่มเทแรงกายและสติปัญญาของลูกๆในการใช้เงินทุนที่เขามอบเป็นของขวัญให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งลูกๆสามารถทำได้ดีกว่าที่เขาคาดหวัง โดยในครั้งนี้ “บัฟเฟตต์” จะบริจาคหุ้นให้กับมูลนิธิของลูกๆเพิ่มอีกคนละ 12.2 ล้านหุ้น รวมเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านเหรียญ
“วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่ได้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่น่าชื่นชมและน่านับถือมากที่สุดอีกด้วย เขาแบ่งปันความมั่งคั่งซึ่งมีมูลค่ามหาศาลของเขาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกที่กำลังยากลำบาก เจ็บป่วย หรือต้องการความช่วยเหลือ และยังใช้ภาวะผู้นำของเขาในการกระตุ้นให้เศรษฐีคนอื่นๆหันมาทำเช่นเดียวกับเขา”
นั่นคือส่วนหนึ่งของบทความที่ประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” เขียนสดุดีในวาระที่ “บัฟเฟตต์” ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร TIME ให้เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2012
“เขาย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า ชีวิตไม่ได้เป็นแค่การแสวงหาคุณค่าเท่านั้น แต่ยังต้องยืนหยัดเพื่อสิ่งที่มีคุณค่าด้วย”