โค้ด: เลือกทั้งหมด
ข่าวบริษัทย่อยของปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในบริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ในสัดส่วนร้อยละ 30.01 ถึง 34.4 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดร้านซีพีฟู๊ตมาร์เก็ต ซีพีเฟรซมาร์ทและโครงการตู้เย็นชุมชน และบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซื้อกิจการร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์พร้อมข่าวความสนใจในกิจการค้าส่งสมัยใหม่แห่งเดียวของไทยนั้น ล้วนเป็นสิ่งยืนยันถึงกลยุทธ์ธุรกิจที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องการมีช่องทางจำหน่ายของตนสู่ผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากกิจการค้าปลีกสมัยใหม่มีบทบาทและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน มาดูกันว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกมีความเปลี่ยนแปลงจากอดีต ปัจจุบันและอนาคตอย่างไร
ค้าปลีกเกี่ยวกับบ้าน ก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ผู้ประกอบการหลักได้แก่ ห้าง HomePro (HMRPO) ห้าง HomeWork ร้านไทวัสดุ ห้างโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ร้านดูโฮม ห้างอุบลวัสดุ ร้านบุญถาวร ร้านไดนาสตี้เซรามิค (DCC) ปัจจุบันผู้ประกอบการแต่ละรายพยายามเร่งขยายสาขา ยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อาจพอสรุปได้ว่า ผู้ประกอบการยังเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจอีกมาก
ค้าปลีกด้านแฟชั่น ได้แก่ ห้างเซนทรัล ห้างโรบินสัน (ROBINS) ห้างพารากอน ห้างเอ็มโพเรียม ห้างเดอะมอลล์ แม้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มการเติบโตและขยายสาขาไปยังต่างจัดหวัดมากขึ้น
ค้าปลีกร้านสะดวกอิ่ม สะดวกซื้อ ได้แก่ ร้าน 7-11 (CPALL) ร้านโลตัส เอกซ์เพรส ร้าน Family Mart ร้าน 108 Shop และร้านมินิ บิ๊กซี ผู้ประกอบการแต่ละรายยังมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องแทบทุกชุมชน ล้วนแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ร้านสะดวกซื้อเข้ามาทดแทนร้านค้าปลีกดั้งเดิมมากขึ้นอย่างแท้จริง
ค้าปลีก – ส่ง สินค้าอุปโภค บริโภค ได้แก่ ห้างเทสโก้ โลตัส ห้างบิ๊กซี (BIGC) ห้างแมคโคร (MAKRO) ต่างแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทั้งด้านราคา การขยายสาขาและพัฒนารูปแบบสาขา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทุกรายก็พร้อมแข่งขันและยังต้องการขยายสาขาให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมี ห้าง Foodland ห้างวิลล่า มาร์เกต ห้างแมกซ์แวลลู ห้างท๊อปมาร์เกตและท๊อปเดลี่ ที่เน้นของใช้จำเป็นและอาหารสด ซึ่งก็เร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ค้าปลีกอาหารที่สำคัญได้แก่ ร้านสุกี้ MK ร้านอาหารญี่ปุ่น Fuji, Oishi, Ishitan ร้าน Hot Pot ร้าน BBQ Plaza ร้าน S&P หรือร้านอาหารในเครือของ CENTEL และ MINT รวมทั้งร้านค้าปลีกเฉพาะด้าน ได้แก่ ร้านหนังสือซีเอ็ด (SE-ED) ร้านหนังสือนายอินทร์ ร้านไอที ซีตี้ (IT) ร้านโทรศัพท์มือถือเจมาร์ท (JMART) ร้านเพชรยูบิลี่ (JUBILE) ร้านสุขภาพและความงาม Boots และร้าน Watson ต่างเร่งขยายสาขาธุรกิจของตนผ่านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ บริษัทเซนทรัลพัฒนา (CPN) บริษัทสยามฟิเจอร์ (SF) บริษัทเอ็มบีเค (MBK) รวมถึงพื้นที่เช่าของห้างเทสโก้ ห้างบิ๊กซี ห้างโรบินสัน ห้างกลุ่มเดอะมอลล์ หรือศูนย์การค้าต่างๆ อีกด้วย
แนวโน้มการเติบโตและการขยายสาขาจำนวนมากเหล่านี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า อนาคตค้าปลีกไทยของประเทศจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (Mega Trend) นี้เกิดขึ้นทั่วโลก หากศึกษาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่ากิจการค้าปลีกแบบดั้งเดิมลดน้อยอย่างมากและถูกแทนที่ด้วยร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สำหรับประเทศไทย แม้เริ่มมีพัฒนาการมามากว่าสิบปีแล้ว แต่หากพิจารณาแผนการขยายสาขาของผู้ประกอบการแล้ว จะพบว่าประเทศไทยน่ายังอยู่ในวงจรการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีก่อนอัตราการขยายสาขาจะเริ่มลดลง
คำถามต่อมาก็คือ แม้มีการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่ราคาหุ้นค้าปลีกในไทยยังซื้อขายที่ระดับ P/E สูงมากเมื่อเทียบกับหุ้นค้าปลีกในต่างประเทศเช่น ห้างวอล์มาร์ท (WMT) คำตอบก็คือ ราคาหุ้นมักสะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจและผลประกอบการในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็คือ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีมั่นใจถึงการเติบโตและผลประกอบการของหุ้นค้าปลีกไทยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องคำนึงถึงส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) ก่อนเข้าลงทุนด้วย
คำถามถัดมาก็คือ ใครจะเป็น “ผู้ชนะ” ในอุตสาหกรรมนี้ คำตอบก็คือ ผู้ประกอบการที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนอยู่ในกลุ่มผู้ชนะและอยู่รอดจากการแข่งขันในอดีตถึงปัจจุบัน แต่สำหรับการเป็น “ผู้ชนะอย่างถาวร” อย่างยั่งยืนในอนาคตและมีผลประกอบการยอดเยี่ยมนั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างได้แก่ หนึ่ง ทำเลที่ตั้งของกิจการ สอง ขนาด เพื่อประโยชน์จาก Economy of Scale และสาม การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency & Effectiveness) สูงสุด นักลงทุนจึงต้องพิจารณาศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย
แม้สงครามค้าปลีกไทยยังระอุและแข่งขันรุนแรง แต่ราคาหุ้นค้าปลีกได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามผลประกอบการที่ดีในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 14 กันยายน 2555 จะพบว่า ราคาหุ้นหมวดพาณิชย์ยังปรับตัวสูงขึ้นถึง 45% เทียบกับการปรับตัวขึ้น 24% ของตลาดโดยรวมและเป็นรองเพียงหมวดไอซีทีที่ 49% ในฐานะ Value Investor พันธุ์แท้ ควรใช้เป็นกรณีศึกษาในการพิจารณาลงทุนในหุ้น “ผู้ชนะ” ที่อยู่ใน “Mega Trend” ณ ราคาที่มี “Margin of Safety” ถึงวันนั้น นักลงทุนที่ซื้อหุ้นดังกล่าวก็จะมีความสุขถ้วนหน้าเช่นกัน