โค้ด: เลือกทั้งหมด
ผีเสื้อ DIY - จากดักแด้มาเป็นผีเสื้อ (2) / โดย คนขายของ
คำนำก่อนอ่านบทความ: ในบางส่วนของบทความชุดนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆอาจเปลี่ยนไปมากแล้ว ณ ปัจจุบัน นักลงทุนควรพิจารณาข้อมูลล่าสุด พร้อมปัจจัยพิ้นฐานต่างๆ ประกอบการลงทุน
กรณีศึกษาที่สอง: กว่าจะมาเป็น HOMEPRO
เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงกิจการค้าปลีกของตกแต่งบ้านแบบ “Do it yourself (DIY)” หลายคนคงยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่ ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับคนไทย แต่มีนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งมองเห็นการณ์ไกล ได้ร่วมลงขันกันจัดตั้งกิจการค้าปลีกของตกแต่งบ้านของไทยชื่อ โฮมโปร เมื่อปี 2538 หลังจากนั้นหกปี จึงได้นำกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนตุลาคม 2544 การเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนทำให้ HMPRO สามารถได้เงินทุนมาใช้ในการสร้าง”โครงสร้างพื้นฐาน” ในการขยายกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์การเจริญเติบโตของธุรกิจค้าปลีกที่เป็นที่คุ้นเคยกันนั้นคือการขยายสาขาเพื่อเป็นการเพิ่มยอดขายและยึดทำเลที่ดีก่อนคู่แข่ง แต่การขยายสาขาอย่างเดียวย่อมไม่พอ เพราะถ้าไม่พัฒนาประสิทธิภาพการบริหาร สินค้าคงคลังและลดต้นทุนอื่นๆไปด้วย กิจการอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าสิบปีถึงจะคืนทุน ทั้งนี้เพราะว่าธุรกิจค้าปลีกนั้น Net Profit Margin บางมากๆ ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 6%ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือของต่างประเทศ
ในปี 2547 เป็นปีแรกที่โฮมโปรเริ่มใช้ “ศุนย์กระจายสินค้า” (Distribution Center หรือเรียกย่อๆว่า DC) ของตัวเองซึ่งสร้างบนพื้นที่ 75 ไร่ ณ อำเภอวังน้อย อยุธยา การมี DC เป็นของตัวเองทำให้การบริหาร สินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นทางโฮมโปรได้ตัดสินใจใช้ระบบ VDSL ในการบริหารระบบคลังสินค้า และ เป็นระะบบที่เชื่อมระหว่างสาขากับศูนย์กระจายสินค้าทำให้ การรับส่งข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสังเกตุได้จากระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยจาก 100 วันในปี 2546 ลดลงเหลือ 84 วันในปี 2548
ในปี 2548 โฮมโปรเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสร้างศูนย์การขายแบบมีพื้นที่ให้เช่าแห่งแรกที่หัวหิน บริษัทเริ่มทำการจดทะเบียน บริษัท มาร์เก็ต วิลเลจ จำกัด เพื่อรองรับธุรกิจใหม่นี้ ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เป็นธุรกิจใช้เงินลงทุนสูงแต่ว่ามีรายได้สม่ำเสมอ และมี Net Profit Margin ที่สูงกว่าธุรกิจค้าปลีก หากเราสังเกตุดู NPM ของธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของโลกจะพบว่ายังไม่มีใคร ทำได้เกินกว่า 10% แต่ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เช่น บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาทำ NPM ได้ถึง 20% ดังนั้นการเพิ่มธุรกิจให้เช่าของโฮมโปรในอัตราส่วนที่ไม่มากเกินไปนัก จะสามารถเพิ่ม NPM ของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากผลของการขยายสาขา, การสร้างศูนย์กระจายสินค้า และ การเข้าสู่ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทำให้ตัวเลขต่างของโฮมโปร มีการเปลี่ยแปลงไปในทางที่ดีขึ้น (เทียบระหว่างปี 2546 ซึ่งเป็นปีก่อนการเปลี่ยนแปลงกับ 2548ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลง) รายได้เพิ่มขึ้น จาก 6,866 ล้านเป็น 12,622 ล้านบาท กำไรเพิ่มจาก 206 ล้านบาท มาาเป็น 504 ล้านบาท NPM เพิ่มจาก 3.00% เป็น 3.99% และที่สำคัญที่สุดคือ เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน เพิ่มจาก 694 ล้านบาท เป็น 1,600 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการรับรู้ค่าเช่าล่วงหน้า)
การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2457 และ 2548 ทำให้โฮมโปรมีความมั่นใจใน Business Model นี้ บริษัทได้ประกาศเพิ่มทุนในปี 2549 และขยายสาขามากขึ้นถึง 6 สาขาในปีเดียวกันนั้น ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ทีมบริหารที่ทุ่มเท และ ความมุ่งมั่นที่จะลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องจากตัวเลขของรายงานประจำปี 2554 โฮมโปร ทำยอดขายได้ถึง 28,363 ล้าน กำไร 2,005 ล้าน NPM 6.57% และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานกว่า 3,418 ล้านบาท กลายเป็นผีเสื้อที่สวยงามที่สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ร่วมลงทุนกันมาตั้งแต่ยังเป็นดักแด้