เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โลกในมุมมองของ Value Investor 7 ตุลาคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เดจาวู

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นมากนับจากต้นปีที่ 1025 จุด กลายเป็น 1311 จุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 28% นั้น ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมาก เพราะถ้านับจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปีนั้น มีเพียง 4 ปีเท่านั้นที่ดัชนีตลาดปรับขึ้นมาสูงกว่านี้ และนี่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็น VI มีความรู้สึกว่าตลาดหุ้นอาจจะมีราคาที่แพงเกินพื้นฐาน และมีโอกาสที่จะปรับตัวลงแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์นั้นสูงลิ่วถึง 18 เท่า นอกจากนั้น ยุโรปและโลกเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวผมเองนั้น ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าตลาดจะปรับตัวลงแรงไหมในระยะเวลาอันใกล้ แต่โดยความสัตย์จริง ผมเองก็กลัวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะลึกๆ แล้ว ผมมีอาการบางอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า De’Ja’vu นั่นก็คือ เกิดภาพหลอนจากความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เคยพบมาก่อน เป็นสิ่งที่ฝังใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบจะล่มสลาย มาดูว่าอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น

ปรากฏการณ์แรกเลยที่ทำให้ผมนึกแบบนั้นก็คือ เรื่องของหุ้น IPO นั่นก็คือ ในช่วงที่หุ้นบูมแรงเป็นกระทิงก่อนปี 2540 นั้น มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดมากเป็นพิเศษ แน่นอนหุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรนักและมักจะมีผลประกอบการที่กระท่อนกระแท่นจนถึงปีที่จะเข้าตลาดที่ผลงานจะ “ก้าวกระโดด” และมี “อนาคต” ที่สดใส แต่หุ้น IPO เหล่านั้น เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก ราคาของมันก็ปรับตัวขึ้นมหาศาล ส่วนใหญ่ก็หลายสิบเปอร์เซ็นต์ บางบริษัทก็ปรับขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นปริมาณการซื้อขายหุ้นก็สูงมาก ส่วนใหญ่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่ขายให้กับประชาชนทั้งหมด หุ้น IPO เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้โดยที่ไม่ได้สนใจว่าบริษัททำอะไรและขายหุ้นในราคาเท่าไร อาการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และนี่ก็คือสัญญาณแรกที่บอกว่าตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินกว่าปกติ

เรื่องที่สองก็คือ การเทคโอเวอร์กิจการอื่นของบริษัทจดทะเบียน ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น บริษัทในตลาดหุ้นที่ “ก้าวหน้าและก้าวร้าว” หลายกลุ่ม ใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการอื่นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตน ซึ่งทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กิจการส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่บางทีก็เทคโอเวอร์บริษัทที่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือบางครั้งก็อาจจะแตกต่างกันไปเลยก็มีแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก

ทุกครั้งที่มีการประกาศเทคโอเวอร์ ราคาหุ้นก็ดีดตัวขึ้นมารับข่าว ตลาดเชื่อว่าการเทคโอเวอร์จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดเชื่อว่าคนที่เทคโอเวอร์นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่น การเทคโอเวอร์นั้นไม่กระทบฐานะทางการเงินมากนัก เหตุผลก็เพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้น “ไม่มากเกินไป” บางบริษัทที่เทคโอเวอร์เองก็ไม่ได้ใช้เงินสด แต่เป็นการ “แลกหุ้น” กัน นั่นก็คือ บริษัทออกหุ้นใหม่เอาไปให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกเทค หุ้นที่ออกใหม่นี้มีราคาขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกฝ่ายได้ประโยชน์ การเทคโอเวอร์จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซักระยะหนึ่งเราก็มี Takeover King หรือ “ราชันย์นักเทคโอเวอร์” ที่สร้างกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วและดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดได้ ในขณะนี้ แม้ว่าเราจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สัญญาณกระแสการเทคโอเวอร์ก็เริ่มมาและเร่งตัวขึ้นอย่างน่าจับตามอง

เรื่องที่สามซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับสองข้อแรกก็คือ ในช่วงก่อนปีวิกฤตินั้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ การเติบโตยังอยู่ในระดับ 5-6% แต่การส่งออกของประเทศก็เริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลในขณะนั้นน่าจะอยู่ที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นบ้างหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจก็คือ สินค้าไทยแข่งขันไม่ค่อยได้ นอกจากนั้นเรายังมีการนำเข้ามหาศาลเพื่อ “ลงทุน” ในเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีการแข่งกันขยายโรงงานกันมากมาย ทำให้ไทยขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ต่างก็พูดกันว่าคงไม่มีปัญหา เพราะการขาดดุลไม่ใช่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้ามาบริโภค แต่เป็นการนำเข้าสินค้าทุนที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออกที่จะทำให้ดุลการค้าของเราดีขึ้นในอนาคต พูดง่ายๆ ดูไปแล้วเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ไม่มีอะไรน่ากลัว

มองในภาวะปัจจุบัน ตัวเลขการเติบโตของการส่งออกของเราก็ดูเหมือนว่าจะลดลงมากจากที่ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปี ภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุโรปก็ยังมีโอกาสที่จะกลายเป็นวิกฤติได้อีก อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เราก็ยังมีข้อ “ปลอบใจ” ตัวเองว่า เศรษฐกิจภายในของเราน่าจะดีเนื่องจากเรามีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาอย่าง “มโหฬาร” ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศคึกคัก นอกจากนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการทุ่มเงินมหาศาลในการลงทุนโดยเฉพาะในสาธารณูปโภคซึ่งรวมถึงการป้องกันน้ำท่วมและการคมนาคม น่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นดีแม้ว่าภาคการส่งออกจะย่ำแย่

พูดมาถึงจุดนี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตลาดหุ้นไทยในขณะนี้น่ากลัวพอสมควรในแง่ของตลาดหุ้น เพราะเรารู้ว่าตลาดหุ้นในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 นั้น หลังจากที่ขึ้นไปสูงลิ่วแล้วก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนถึงวิกฤติในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็น “ตัวช่วย” ที่จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในครั้งนี้ได้ก็คือ เรื่องของฐานะทางการเงินของบริษัทต่างๆ รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีเงินและเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นในขณะนี้ นั่นก็คือ ในช่วงก่อนวิกฤตินั้น บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่างก็มีหนี้สินมหาศาลอันเป็นผลจากการขยายงานที่ “เกินตัว” ไปมากเนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีและความต้องการของสินค้าจะเพิ่มขึ้นมากซึ่งทำให้เมื่อเกิดปัญหาบริษัทต่างก็แทบเอาตัวไม่รอด ในขณะที่ในปัจจุบัน ฐานะทางการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้มแข็งและต่างก็ป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องของค่าเงินที่อาจจะเป็นอันตรายได้

ในส่วนของนักลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น ในช่วงก่อนวิกฤติ พวกเขามักเป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือไม่ก็เป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก ส่วนกลุ่มที่เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศเองก็ยังมีอยู่ไม่มาก ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติ พวกเขาก็มีปัญหาทางการเงินและต่างก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดหุ้น แรงซื้อนั้นแทบไม่มี มีแต่แรงขาย ดังนั้น หุ้นจึงตกลงมาแรงและซบเซาไปนาน ในขณะที่ในปัจจุบันนั้น ดูเหมือนว่าเราจะมีนักลงทุนที่ “มีเงินและไม่มีหนี้” อยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนักลงทุนสถาบัน และมากขึ้นเรื่อยๆ เม็ดเงินของพวกเขาพร้อมที่จะเข้ามา “ช้อนหุ้น” ทุกครั้งที่หุ้นมีการปรับตัวลง พูดง่ายๆ ตลาดหุ้นเราไม่ “เปราะบาง” เหมือนในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น “เดจาวู” ของผมก็อาจจะเป็นแค่ “ภาพหลอน” ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
Kapookomsin
Verified User
โพสต์: 5
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

การขาดดุลการค้าที่เกิดจากการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออก จะทำให้ดุลการค้าของเราดีขึ้นในอนาคต ซึ่งก็ต้องพยุงให้อัตราการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องจริงๆ... การขยายตัวของการผลิต สั่งซื้อเครื่องจักรเข้ามาใหม่ นำเครื่องจักรเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยเงินกู้ทั้งนั้น หากการส่งออกไม่ได้โตอย่างที่คิดไว้ ก็จะไม่มีกำไรเพียงพอที่จะใช้คืนหนี้

อีกประเด็นที่น่าจะต้องเฝ้าจับตามอง คือ การก่อหนี้ต่างประเทศ... หากเงินบาทอ่านค่าขึ้นมาแบบรวดเร็ว จะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ยิ่งรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะมากมายเกินตัว ก็จะยิ่งเป็นภาระของประเทศชาติในอนาคต เราต้องไม่ลืมว่า.. เศรษฐกิจมีขึ้น มันต้องมีลงแน่นอน ขึ้นกับว่า... เมื่อไหร่เท่านั้นเอง... ก็ภาวนาว่า ให้เร่งใช้หนี้ต่างๆให้เหลือน้อยที่สุดก่อนจะเกิดวิกฤติของประเทศรอบต่อไป
ศิษย์เซียน007
Verified User
โพสต์: 1252
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณคับ ผมยังชอบคำพูดนี้ของท่านอ.อยู่คับที่เคยพูดประมาณว่า "ตลาดหุ้นมักชอบไต่กำแพงของความกังวลขึ้นไป" เพื่อตอบคำถามของท่านวิทยากรซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นอ.ไพบลูย์ หรือ อ.ถาวรในงานสัมมนางานหนึ่ง

ถ้าปัญหายุโรปเอาไม่อยู่จริง ผมเชื่อว่าอียูก็ยังมีทัพหลักไว้รับมืออยู่อย่างอียูบอนด์ซึ่งถ้าเวลานั้นมาถึงแล้วก็ยังเอาไม่อยู่อีกก็น่าจะที่ถึงเวลาที่จะต้องเดจวูกันได้แล้วคับ
ศิษย์เซียน007
Verified User
โพสต์: 1252
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

[quote="ศิษย์เซียน007"]ขอบคุณคับ ผมยังชอบคำพูดนี้ของท่านอ.อยู่คับที่เคยพูดประมาณว่า "ตลาดหุ้นมักจะชอบไต่กำแพงของความกังวลขึ้นไป" เพื่อตอบคำถามของวิทยากรท่านหนึ่งซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นอ.ไพบลูย์ หรือ อ.ถาวรในงานสัมมนางานหนึ่ง

ถ้าปัญหายุโรปเอาไม่อยู่จริง ผมเชื่อว่าอียูก็ยังมีทัพหลักอย่างอียูบอนด์ไว้รับมืออยู่ซึ่งถ้าเวลานั้นมาถึงแล้วก็ยังเอาไม่อยู่อีกก็อาจจะถึงเวลาที่จะต้องเดจาวูแล้วก็เป็นได้คับ[/quote]

แก้ไขคำที่ผิดพลาดหน่อยคับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
ake3004
Verified User
โพสต์: 511
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

I guess he wrote this article after last Sat from his student's question to him kab.

His student asked him to compare current situation with SET index 1700
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

เดฌาวูว์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางมาจาก เดจาวู)
ไปที่: ป้ายบอกทาง, ค้นหา

บทความนี้มีเนื้อหาที่สั้นมาก ต้องการเพิ่มเติมเนื้อหาหรือพิจารณารวมเข้ากับบทความอื่นแทน

เดฌาวูว์ (ฝรั่งเศส: déjà vu, แปลว่า เคยเห็น) เป็นคำที่ เอมีล บัวรัก (Emile Boirac) ใช้ในหนังสือ ลาเวอนีร์เดซีย็องส์ฟีซีกส์ (L'Avenir des sciences psychiques) เป็นคนแรก หมายความถึง อาการที่รู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เพิ่งพบเจอนั้นคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยพบเจอมาแล้ว เป็นประสบการณ์ทางจิต เกิดได้กับทุกคนและทุกเวลา ไม่ว่าหลับหรือตื่น
อาการที่เกี่ยวข้อง

ฌาเมวูว์ (ฝรั่งเศส: jamais vu แปลว่า ไม่เคยเห็น) เป็นอาการตรงกันข้ามกับ เดฌาวูว์ คือ เคยพบเจอเหตุการณ์นั้นมาแล้ว แต่จำไม่ได้
แพร็สก์วูว์ (ฝรั่งเศส: presque vu แปลว่า เกือบเห็น) หรือ ติดอยู่ที่ปลายลิ้น (tip of the tongue, TOT) เป็นอาการที่รู้สึกว่ามีประสบการณ์หนึ่งที่คุ้นเคย แต่ไม่สามารถเรียกขึ้นมาจากความทรงจำและพูดออกมาได้ โดย "ติดอยู่ที่ปลายลิ้น"
TLSS
Verified User
โพสต์: 616
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณครับ
pakhakorn
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 957
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

บทสรุปตอนท้าย "" ดังนั้น “เดจาวู” ของผมก็อาจจะเป็นแค่ “ภาพหลอน” ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ""

ช่างแหลมคม และทิ้งปริศนา ให้ชวนคิดต่อจริงๆ ทำไมสรุปเช่นนี้ ?

ขอบคุณท่าน ดร. มากๆ ครับ
kraikria
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ผมรู้สึกได้ว่า ดร. เริ่มที่จะเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังมากขึ้นในหลายๆบทความและคำสัมภาษณ์

ไม่มีใครเดาตลาดได้ แต่เราระมัดระวังตัวเราเองได้
seksan999
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 101
ผู้ติดตาม: 0

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอบคุณครับอาจารย์
ภาพประจำตัวสมาชิก
akindle
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 178
ผู้ติดตาม: 1

Re: เดจาวู/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ให้สติเตือนใจ ในช่วงเวลากระทิง
โพสต์โพสต์