โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2555
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
เด็ดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช
“แอนโทนี่ โบลตัน” ผู้จัดการกองทุนชื่อดังของประเทศอังกฤษได้กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับ “พฤติกรรมของนักลงทุน” ไว้ประการหนึ่งว่า นักลงทุนนั้นมักจะขายทำกำไรง่ายเกินไป แต่ขายตัดขาดทุนยากเกินไป
“ขายทำกำไรง่ายเกินไป” หมายถึงว่า เมื่อซื้อหุ้นมา แล้วราคาของหุ้นนั้นปรับตัวสูงขึ้นไป นักลงทุนมักจะขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่ราคาหุ้นนั้นยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก
“ขายตัดขาดทุนยากเกินไป” หมายถึง เมื่อซื้อหุ้นมา แล้วราคาของหุ้นร่วงลงต่ำกว่าราคาที่ซื้อ นักลงทุนมักจะไม่ยอมขายขาดทุน แต่เก็บหุ้นนั้นเอาไว้ เพื่อรอให้ราคาหุ้นกลับขึ้นมาแล้วจึงค่อยขายทิ้งไป
พฤติกรรมที่ว่านี้ “ปีเตอร์ ลินซ์” เปรียบเทียบว่าเป็นการ “เด็ดดอกไม้ แล้วรดน้ำวัชพืช” คือแทนที่จะเก็บหุ้นที่มีแนวโน้มที่ดีและมีโอกาสทำกำไรสูงๆเอาไว้ กลับรีบขายออกไป เปรียบเหมือนการ “เด็ดดอกไม้” ทิ้ง ทั้งๆที่ควรจะปล่อยให้มันเติบโตงอกงาม ส่วนหุ้นที่แย่ๆและขาดทุนซึ่งน่าจะขายทิ้งไป กลับยังถือเก็บไว้ในพอร์ต เปรียบเหมือนการ “รดน้ำวัชพืช” ทั้งๆที่มันไม่ได้ให้ประโยชน์หรือสร้างผลตอบแทนใดๆให้เลย “ปีเตอร์ ลินซ์” กล่าวว่า ในการลงทุนนั้น “คุณจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี จากการเด็ดดอกไม้และรดน้ำวัชพืช”
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ประสบความสำเร็จสูงในการลงทุนก็คือ เขาทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนักลงทุนคนอื่นๆที่มัวแต่ “เด็ดดอกไม้ แล้วรดน้ำวัชพืช” เขากล่าวถึงหลักการลงทุนของเขาไว้ว่า “หากเราได้เป็นเจ้าของธุรกิจชั้นยอดซึ่งบริหารโดยผู้บริหารที่โดดเด่น เราก็ต้องการจะถือมันไว้ตลอดไป เราเป็นพวกตรงข้ามกับนักลงทุนที่รีบร้อนขายทำกำไรในบริษัทที่มีผลประกอบการดีๆ แต่มักจะกอดธุรกิจที่มีผลงานย่ำแย่เอาไว้อย่างเหนียวแน่น”
พฤติกรรมที่นักลงทุนมักจะขายหุ้นตัวที่ได้กำไรเร็วเกินไป และเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้ในพอร์ตนั้น ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Disposition Effect” ซึ่งเป็นพฤติกรรมในการ “หลีกเลี่ยงความเสียใจ” และ “เสาะหาความภาคภูมิใจ”
การที่นักลงทุนชอบ “ขายทำกำไร” มากกว่าที่จะ “ขายขาดทุน” ก็เพราะการขายหุ้น “ทำกำไร” ได้ เป็นเหมือนการยืนยันว่า สิ่งที่เขาตัดสินใจทำลงไปนั้นถูกต้องและประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ
แต่การ “ขายขาดทุน” นั้นเท่ากับเป็นการยอมรับว่า สิ่งที่เขาตัดสินใจทำลงไปนั้นผิดพลาดและล้มเหลว ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงโดยการเลื่อนเวลาขายหุ้นออกไปก่อน ด้วยความคิดที่ว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” และจะรอขายเมื่อราคาของหุ้นตัวนั้นกลับขึ้นมาในระดับเดิม
ในกรณีเช่นนี้ “แอนโทนี่ โบลตัน” ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า นักลงทุนควรจะลืมราคาต้นทุนของหุ้นที่ซื้อมา เพราะราคาหุ้นจะส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนโดยเฉพาะเมื่อราคาหุ้นตก สิ่งที่นักลงทุนควรทำก็คือการหมั่นตรวจสอบกิจการที่ลงทุนเป็นระยะๆ ถ้าพื้นฐานของกิจการนั้นเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ก็ควรจะขายหุ้นนั้นออกไป ไม่ว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่าต้นทุนหรือไม่ก็ตาม
สำหรับนักลงทุนที่กำลัง “รดน้ำวัชพืช” คือเก็บหุ้นแย่ๆไว้ในพอร์ต โดยไม่ยอมขายขาดทุน และได้แต่เฝ้ารอให้ราคาหุ้นกลับขึ้นมาแล้วจึงค่อยขายทิ้งไป “โบลตัน” ให้ข้อคิดไว้ว่า “การพยายามเอาเงินคืนจากหุ้นที่คุณขาดทุนเพียงเพราะคุณต้องการพิสูจน์ว่า เหตุผลเริ่มแรกของคุณถูกต้องเป็นเรื่องอันตราย กฎทั่วไปในแวดวงการลงทุนก็คือ อย่าพยายามเอาเงินคืนจากหุ้นที่คุณขาดทุน”
ลองสำรวจพอร์ตโฟลิโอซึ่งเป็นเสมือน “สวนแห่งการลงทุน” ของคุณดูนะครับ ว่ามี “ดอกไม้” อยู่มากแค่ไหน และมี “วัชพืช” บ้างหรือไม่ ถ้าพบว่ามี “วัชพืช” ปะปนอยู่ก็ให้เด็ดทิ้งไปซะ เอาเวลาที่มีค่าของคุณมาดูแลและรดน้ำ “ดอกไม้” ดีกว่าครับ