โค้ด: เลือกทั้งหมด
โดยทั่วไปแล้วเราจะได้รับข้อมูลจากสื่อว่าปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ
1. ปัญหาหน้าผาทางการคลัง คือการที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องต่ออายุมาตรการลดภาษีและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ภายในปีนี้ การรัดเข็มขัดทางการคลังจะฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยได้
2. ดังนั้นปัจจุบันจึงต้องติดตามการเจรจาระหว่างฝ่ายบริหารนำโดยประธานาธิบดีโอบามาซึ่งได้แต่งตั้งรัฐมนตรีคลังคือนายไกธ์เนอร์เป็นหัวหน้าเจรจาโดยคู่เจรจาหลักคือประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันคือนายเบนเนอร์ และประเด็นที่ต้องเจรจาคือประธานาธิบดีโอบามาเน้นการเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่สูงขึ้น แต่ฝ่ายรีพับลิกันต้องการปฏิรูประบบภาษีโดยรวมไม่ใช่ขึ้นอัตราภาษีและเน้นการลดรายจ่ายโดยเฉพาะรายจ่ายด้านรัฐสวัสดิการ (entitlements) คือเงินที่รัฐบาลสหรัฐจ่ายให้ประชาชนตามสิทธิ์ภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการ
3. ข่าวสารที่เสนอออกไปมักจะกล่าวว่า ปัญหาระยะยาวทางการคลังสหรัฐ คือการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีหรือ 9% ของจีดีพี โดยในปี 2012 ขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 7% ของจีดีพี ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐมีหนี้สาธารณะ 16 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีเท่ากับ 15.8 ล้านล้านดอลลาร์ แปลว่าหนี้สาธารณะเท่ากับจีดีพีและจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะหากต้องการหลีกเลี่ยงเรื่องหน้าผาทางการคลังรัฐบาลก็จะต้องใช่จ่ายเกินตัวต่อไป
แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นพูดได้ว่าเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของปัญหาการคลังของสหรัฐ ซึ่งได้มีการศึกษาปัญหาและกล่าวตักเตือนโดยนักวิชาการมานานเกือบ 20 ปีแล้ว ล่าสุดมีบทความใน Wall Street Journal ลงวันที่ 28 พ.ย. 2012 เขียนโดยนาย Chris Cox และ Bill Archer อดีตนักการเมืองอาวุโสของสหรัฐ ซึ่งผมขอสรุปประเด็นหลักดังนี้
1. ภาวะทางการคลังที่หนักหน่วงคือรายจ่ายรัฐสวัสดิการในอนาคต ได้แก่ รายจ่ายที่คำนวณได้จากโครงสร้างประชากรและอายุขัยที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในอนาคต ซึ่งรัฐบาลสหรัฐจะมีรายจ่ายที่ยังหารายได้มารองรับไม่ได้ ที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนคือรายจ่ายส่วนเกินของระบบประกันสุขภาพมูลค่าทั้งสิ้น 42.8 ล้านล้านดอลลาร์และรายจ่ายส่วนเกินของระบบประกันสังคมมีมูลค่าทั้งสิ้น 20.5 ล้านล้านดอลลาร์ แปลว่าผู้รู้และนักวิชาการรับรู้มานานแล้วว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีปัญหารายจ่ายเกินรายรับในอนาคตรวมทั้งสิ้น 63.3 ล้านล้านดอลลาร์
2. ปัญหารายจ่ายเกินตัวอีกปัญหาหนึ่งคือ รายจ่ายเกี่ยวกับบำนาญและผลประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลต้องจัดหาให้กับข้าราชการของรัฐบาลกลาง ซึ่งคำนวณว่าในอนาคตจะเป็นภาระกับรัฐบาลอีกประมาณ 23.5 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐคือจะต้องหารายได้รวมทั้งสิ้นอีก 86.8 ล้านล้านดอลลาร์ในอนาคต ซึ่งเท่ากับประมาณ 550% ของจีดีพี ไม่ใช่หนี้สาธารณะซึ่งปัจจุบันเท่ากับ 100% ของจีดีพี
3. ปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดน่าจะเป็นรายจ่ายด้านประกันสุขภาพและประกันสังคม ซึ่งในปี 2011 นั้น คำนวณรายจ่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ดังที่กล่าวข้างต้นรายจ่ายดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รายจ่ายรวมของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 9 เท่าในอนาคตเป็น 63.3 ล้านล้านดอลลาร์ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเจรจาปัญหาวินัยทางการคลังของสหรัฐตามที่สื่อต่างๆ รายงานนั้น แทบจะไม่เคยเห็นการยกปัญหาดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาเจรจาแต่อย่างใดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทราบปัญหาแต่ไม่มีใครอยากไปแตะต้องรายจ่ายที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง จะมีแต่นาย Paul Ryan ส.ส.พรรครีพับลิกันที่เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งพยายามผลักดันข้อเสนอเพื่อลดการจ่ายในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้รับคะแนนสนับสนุนที่เพียงพอ
4. รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษีที่เรียกว่า Payroll tax ซึ่งทั้งผู้ว่าจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินคำนวณจากรายได้ของลูกจ้างทุกปีเพื่อให้มีรายได้ในการจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพ โดยในหลักการนั้นคนทำงานปัจจุบันจ่ายภาษีดังกล่าวให้กับคนสูงอายุปัจจุบัน (ซึ่งเป็นคนรุ่นพ่อ-แม่ของผู้ทำงานปัจจุบัน) โดยมีความคาดหวังว่าคนที่ทำงานปัจจุบันเมื่อแก่ตัวลงใน 20-30 ปีข้างหน้าก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากัน แต่ปัญหาคือเงินที่นำเข้ากองทุนจากภาษีดังกล่าวกำลังถูกนำไปใช้ไม่เหลือเก็บเอาไว้บรรเทาภาระให้กับชนรุ่นหลังเลย ซ้ำร้ายมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจปัจจุบันคือ การยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว ดังนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังก็อาจต้องยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าวต่อไปอีกในปีหน้า แต่ก็จะยิ่งทำให้กองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
5. บทความของ Cox และ Archer สรุปว่าหากต้องการแก้ปัญหาการขาดทุนของกองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพในทันที รัฐบาลสหรัฐจะต้องเก็บภาษีปีละ 8 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันเก็บภาษีประมาณ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ แปลว่าต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 30% ของจีดีพี ซึ่งเป็นไปไม่ได้และสูงกว่าเป้าการเก็บภาษีเพิ่มของประธานาธิบดีโอบามาคือ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์อย่างมาก ดังนั้นข้อสรุปของ Cox กับ Archer คือการแก้ปัญหาต้องมุ่งเน้นการลดรายจ่ายรัฐสวัสดิการดังกล่าว แต่จนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่มีข้อเสนอเฉพาะเจาะจงเพื่อลดรายจ่ายดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพราะจะเป็นมาตรการที่ถูกต่อต้านจากผู้ที่เสียผลประโยชน์หลายล้านคน
นักวิชาการและอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐบางคนเคยกล่าวว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐนั้นอาจมองได้ว่ารัฐบาลสหรัฐเข้าสู่สภาวะล้มละลายแล้ว ทำให้ผมนึกถึงรายการทีวีของบลูมเบอร์กที่จัดสัมมนาเรื่องปัญหาการคลังสหรัฐ และถามผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (กองทุนเก็งกำไร) ว่าเมื่อรู้แล้วว่ารัฐบาลสหรัฐถังแตกแล้วทำไมกองทุนจึงไม่เก็งกำไรค่าเงินสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐโดยขายล่วงหน้าเงินเหรียญและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ผู้บริหารคนนั้นตอบว่าเขายังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวต่อไปได้แตกต่างจากยุโรปซึ่งพยายามรักษาวินัยทางการคลังโดยการรัดเข็มขัดทางการคลังทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและจะมีแนวโน้มซึมยาว แต่ที่สำคัญคือเขาบอกว่าอเมริกาได้เปรียบประเทศอื่นที่ธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินใช้เองได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะเงินสหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก ขณะที่ยุโรปไม่พิมพ์หรือไม่กล้าพิมพ์เงินยูโรอย่างไม่จำกัด ผู้ดำเนินรายการจึงถามต่อไปว่าไม่กลัวปัญหาเงินเฟ้อ (และค่าเงินดอลลาร์ด้อยค่า) หรือ เขาตอบว่าไม่กลัวเพราะเงินเฟ้อทำให้มูลค่าหนี้ของสหรัฐลดลง ดังนั้นเงินเฟ้อจึงเป็นภาระของเจ้าหนี้ไม่ใช่ของลูกหนี้
กล่าวโดยสรุปคือผู้ที่จะต้องรับกรรมจากการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐคือผู้ที่ถือเงินเหรียญสหรัฐและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่คือธนาคารกลางของประเทศเอเชียและทุกประเทศที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเก็บรายได้ส่วนเกินเอาไว้เป็นทุนสำรองในรูปของเงินดอลลาร์ครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 10 ธค.55