ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่คือนาย Mark Carney ได้ไปพบกับผู้แทนราษฎรที่รัฐสภาอังกฤษและถูกสอบถามเกี่ยวกับแนวทางของเขาในการจะเข้ามาบริหารนโยบายการเงินของอังกฤษแทนนาย Sir Mervyn King โดยนาย Carney จะมาเริ่มทำงานวันที่ 1 กรกฎาคม ถามว่าทำไมการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่จึงเป็นเรื่องที่ควรเขียนถึง?

นาย Carney ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของแคนาดาและเป็นคนแคนาดาโดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในปี 2008 มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี แต่ได้ถูกนาย George Osborne รัฐมนตรีคลังของอังกฤษทาบทามและ “ซื้อตัว” ให้มารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ โดยมีวาระยาวนานถึง 8 ปี ประเด็นคือนาย Carney จะเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษตั้งแต่สถาบันนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1694

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่านาย Carney พบนาย Osborne ครั้งแรกที่เมือง Marseille ประเทศฝรั่งเศสเมื่อกันยายน 2009 เพื่อทำความรู้จักกันและจากนั้นมานาย Osborne ก็ประทับใจในความสามารถของนาย Carney อย่างยิ่ง จนในที่สุดได้พยายามหลายครั้งให้นาย Carney มาสมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ แต่นาย Carney ตอบปฏิเสธมาโดยตลอด แม้กระทั่งเดือนสิงหาคม 2012 ก็ยังตอบสื่อมวลชนว่าเขาไม่ได้สนใจในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเพราะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาอยู่แล้ว และในที่สุดก็หมดเขตรับสมัครผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันที่ 8 ตุลาคม 2012 แต่นาย Osborne ก็ยังเพียรพยายามโน้มน้าวนาย Carney จนกระทั่งนาย Carney ยอมมาสัมภาษณ์เพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษที่กรุงลอนดอนเมื่อ 17 พ.ย. 2012 ทั้งๆ ที่มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษอีกกว่า 50 คน แต่ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจเลือกนาย Carney และนำความกราบทูลพระราชินี Elizabeth ในวันที่ 21 พ.ย. จึงเป็นที่มาของการที่นาย Carney วัยเพียง 47 ปีจะมีประวัติที่จะได้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของ 2 ประเทศคือแคนาดาและอังกฤษ (รัฐบาลแคนาดารับรู้ว่านาย Carney จะไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในปลายเดือน พ.ย. เช่นกัน)

ตามข่าวนั้นนาย Carney ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์เรียนจบปริญญาโท-เอก จาก Oxford และ Harvard จะเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีรายได้น่าจะสูงที่สุดในโลก กล่าวคือได้รับเงินเดือนเท่ากับ 755,900 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับในฐานะผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา 50% และนอกจากนั้นยังจะได้รับเงินเพิ่มพิเศษแทนบำนาญอีก 30% ของเงินเดือนพื้นฐาน (226,770 ดอลลาร์ต่อปี) บวกกับค่าเช่นบ้านอีกประมาณ 320,000 ดอลลาร์ต่อปี ทำให้นาย Carney มีรายได้รวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านดอลลาร์ต่อปี สูงกว่านายเบน เบอร์นันเก้ที่มีรายได้เพียง 199,700 ดอลลาร์ต่อปีและนายดรากี้ (ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป) ที่มีรายได้ 371,000 ยูโร (500,850 ดอลลาร์) ต่อปีรวมกัน กล่าวคือประเทศอังกฤษที่มีจีดีพีประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์จ่ายเงินเดือนให้นาย Carney มากกว่าผู้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐและยุโรป ซึ่งรวมกันแล้วมีจีดีพีสูงถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่าจีดีพีของอังกฤษ 12 เท่าตัว

คำถามต่อมาคือนาย Carney เก่งกาจอย่างไรจึงทำให้รัฐบาลอังกฤษจำต้องเชิญให้มารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษ ทั้งๆ ที่ตัวเก็งที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าวคือนาย Paul Tucker รองผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษและเป็นเจ้าหน้าที่ที่ธนาคารกลางมานานกว่า 30 ปีแล้ว ในวงการของนักการเงินและธนาคารกลางนั้นนาย Carney มีชื่อเสียงในด้านความเชี่ยวชาญในการบริหารการเงินและการธนาคารและได้รับเลือกให้เป็นประธานของ Financial Stability Board (ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาต่อกลุ่ม G20 ในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน) เมื่อปี 2011 โดยมารับตำแหน่งแทนนาย Draghi ที่ไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของยุโรป ก่อนหน้าที่นาย Carney จะมารับราชการเป็นกรรมการผู้จัดการของ Goldman Sachs ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจชั้นนำของโลกที่ผลิตรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางมาหลายคนแล้ว นาย Osborne รัฐมนตรีคลังของอังกฤษกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “คนนี้เก่งที่สุดแล้ว” (“he’s simply the best”)

แน่นอนว่านาย Carney มารับตำแหน่งโดยมีความคาดหวังในตัวเขาสูงมาก ทั้งนี้อังกฤษประสบปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังอย่าง จริงจังของรัฐบาลอนุรักษนิยม ที่ทำให้รัฐบาลต้องฝากความหวังเอาไว้กับนาย Carney ให้ดำเนินนโยบายการเงินที่ “นอกกรอบ” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือนโยบายการเงินของอังกฤษนั้นคือการยึดการตั้งเป้าเงินเฟ้อ (inflation targeting) เช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เหมือนกับไทย แต่แตกต่างกันเล็กน้อยที่มีคณะกรรมการ 9 คนในขณะที่ของไทยมี 7 คน

นาย Carney ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะ “รื้อ” นโยบายตั้งเป้าเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษ แต่เขาให้ความเห็นว่าจะต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เกินเลยจากมาตรการปกติเพื่อดึงให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากวงโคจรแห่งความตกต่ำ (escape velocity) โดย “ไปไกล” ถึงกับเปรยว่าการนำเอาระดับของจีดีพีที่รวมเงินเฟ้อมาเป็นเป้าหมายของนโยบาย (nominal GDP) ซึ่งเป็นแนวคิดที่อาจจะมีข้อดี (merits) และเป็นประโยชน์ เงินเฟ้อของอังกฤษนั้นสูงกว่า 2% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของนโยบายปัจจุบัน แต่จีดีพีไม่ขยายตัวเลย ดังนั้น จีดีพี ซึ่งรวมเงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในขณะที่ดอกเบี้ยถูกปรับลดลงมาใกล้ศูนย์แล้ว ทำให้ต้องหามาตรการอื่นๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางอังกฤษก็ได้พิมพ์เงินซื้อพันธบัตรไปแล้ว 375,000 ล้านปอนด์หรือ 25% ของจีดีพี กล่าวคือได้ทำมาตรการคิวอีเช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐมา 2-3 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่กระเตื้องมากนักจึงอาจต้องทำอะไรที่ก้าวหน้าไปกว่าคิวอีเสียอีก

ข้อคิดของนาย Carney เกี่ยวกับการตั้งเป้าจีดีพีรวมเงินเฟ้อ (nominal GDP targeting) จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวได้เคยมีการนำเสนอโดยนักวิชาการอเมริกันคือ Michael Woodford แห่งมหาวิทยาลัย Columbia โดยหลักการของ nominal GDP targeting คือการที่ธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าจะพิมพ์เงินออกมาในจำนวนและระยะเวลาที่ไม่มีข้อจำกัดจนกว่าจีดีพีจะขยายตัวไปถึงเป้าที่วางไว้ เช่น นิตยสาร Economist ยกตัวอย่างว่าจีดีพีอังกฤษปัจจุบันเท่ากับ 1.5 ล้านล้านปอนด์ ดังนั้น ธนาคารกลางอังกฤษอาจตั้งเป้าว่าจะดำเนินมาตรการคิวอีจนกว่าจีดีพีจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 10% หรือ 1.65 ล้านล้านปอนด์ ทั้งนี้โดยจะไม่สนใจว่า 10% ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นการเพิ่มขึ้นจริงเป็นสัดส่วนเท่าใดและเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเท่าใด เช่น จีดีพีจริงอาจเพิ่มขึ้นเพียง 2% แต่เป็นเงินเฟ้ออีก 8% ธนาคารกลางอังกฤษก็จะยอมรับได้ 

นาย Carney มิได้สรุปว่าเขาจะยกเลิกนโยบายตั้งเป้าเงินเฟ้อ โดยกล่าวชมว่าเป็นกรอบนโยบายที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่เขาเสนอว่าภายใต้ภาวการณ์ปัจจุบันที่เห็นปัญหาในทางปฏิบัติก็สามารถนำประเด็นปัญหามาถกเถียงกันได้ ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกได้เปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินแบบพิมพ์เงินไม่อั้นไปหมดแล้ว สหรัฐก็ให้คำมั่นว่าจะกดดอกเบี้ยใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินออกมาเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์อีกอย่างน้อย 2 ปี (เท่ากับ 7% ของจีดีพีต่อปี) อังกฤษก็กำลังจะเพิ่มคิวอีจนล้ำหน้าสหรัฐก็ได้ ธนาคารกลางยุโรปก็ดำเนินการเช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐไปแล้วและสัญญาว่าจะทำเพิ่มอีกได้หากได้รับการร้องขอจากประเทศที่อาจมีปัญหาเช่นสเปน สำหรับญี่ปุ่นนั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้ว่าการธนาคารกลางนาย Shirakawa ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ เพราะถูกกดดันจึงเป็นการเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีอาเบะ หาผู้ว่าคนใหม่ที่จะเพิ่มมาตรการคิวอีเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น 

จึงสรุปได้ว่าจะมีการพิมพ์เงินดอลลาร์ ยูโร เยนและปอนด์ออกมาเป็นจำนวนมหาศาลใน 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้ประเทศไทยและประเทศเกิดใหม่หลายประเทศต้องเสี่ยงกับการไหลเข้าของเงินทุนที่หวังจะแสวงหาผลตอบแทนระยะสั้น ในโลกที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ แต่ประเทศไทยยังคงดอกเบี้ยสูง เป็นสภาวการณ์ที่ท้าทายผู้ดำเนินนโยบายการเงินของไทยอย่างยิ่งครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 11 กพ.56
[/size]
champ412
Verified User
โพสต์: 949
ผู้ติดตาม: 0

Re: ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษคนใหม่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ ตอนแรกผมอ่านหัวข้อแล้วงง

นึกว่า ดร แกได้ไปเป็นซะอีก
โพสต์โพสต์