โค้ด: เลือกทั้งหมด
หากอ่านข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะได้รับความเข้าใจว่านโยบายการคลังมีปัญหามากกว่านโยบายการเงิน กล่าวคือเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะก่อหนี้อีก 2 ล้านล้านบาทเพื่อนำไปลงทุนสร้างระบบรถไฟ ถนน ท่าเรือและสนามบินก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จะเกิดปัญหาในอนาคตและจะขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบของรัฐสภาทำให้เสี่ยงต่อการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวางได้
การกำกับดูแลมิให้เกิดการคอร์รัปชันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความจำเป็นที่ไทยจะต้องลงทุนเพื่อปฏิรูประบบขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสมควรที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างรีบเร่ง สำหรับการสร้างหนี้สาธารณะนั้นผมมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลกู้ยืมเงินมาลงทุนในโครงการใดๆ (ยกเว้นการกู้เงินจากองค์กรระหว่างประเทศ) มักจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาคืนหนี้อย่างชัดเจน แต่ครั้งนี้ได้กำหนดในร่างกฎหมายว่าจะใช้คืนหนี้ 2 ล้านล้านบาทภายใน 50 ปี หมายความว่าโครงการลงทุนดังกล่าวต้องสามารถสร้างรายได้มาชำระหนี้ตามที่ระบุหรือไม่รัฐบาลก็ต้องตั้งงบมาชำระหนี้ตามกำหนดซึ่งอาจจะทำให้ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการหนี้ทำได้น้อยลงแต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร สำหรับผมประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างหนี้ครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่องหรือไม่ เพราะจะทำให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะชำระหนี้ หรือทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง ต้องขอย้ำว่าตัวเลขที่สำคัญคือสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ควรเกิน 60% และควรค่อยๆ ปรับลดลงเพราะเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีเป็นหลักไม่ใช่รัฐบาลต้องกระเบียดกระเสียรเพื่อใช้หนี้คืน
หนี้สาธารณะของไทยนั้นหากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่ารัฐบาลไทยมีภาระไม่มากนัก โดยหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 43.7% ของจีดีพีนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ หนี้ของรัฐบาลที่เกิดจากการกู้ของรัฐบาลเองซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งมีสัดส่วน 20% ของจีดีพี ตามด้วยภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการกอบกู้สถาบันการเงินในช่วงวิกฤติ (ปี 1997) ประมาณ 10% ของจีดีพี ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายโอนภาระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2011 อีกส่วนคือการค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจคิดเป็น 15% ของจีดีพีซึ่งมีทั้งรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนและที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่งและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง แต่โดยรวมแล้วรัฐวิสาหกิจไทยมีสถานะทางการเงินที่ดีและมีกำไรนำส่งให้รัฐบาลปีละกว่า 100,000 ล้านบาท
จึงสรุปได้ว่าหนี้สาธารณะที่เป็นภาระโดยตรงของรัฐบาลนั้นมีไม่มากนักและไม่น่าเป็นห่วง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อกังวลเลย เพราะด้านการคลังนั้นมีจุดอ่อนอยู่ 3 เรื่องคือ
1. รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รวมถึงมาตรการประชานิยมที่ยกเลิกได้ยาก ทำให้ขณะนี้รายจ่ายประจำเกือบเท่ากับรายรับ ทำให้งบลงทุนส่วนใหญ่ต้องมาจากการกู้เงิน
2. นโยบายรับจำนำข้าวได้เพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลหลายแสนล้านบาทตั้งแต่ปี 2012 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เพราะรับซื้อข้าวมาเป็นจำนวนมากแต่ขายออกมาไม่ได้มากนัก ทำให้มีสต็อกสูงถึง 18 ล้านตันข้าวเปลือก และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกได้เพราะราคาที่รัฐบาลตั้งไว้สูงกว่าราคาตลาดโลกมากทำให้มีแรงจูงใจให้ผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหากระบายขายออกมาก็จะขาดทุนมากแต่หากไม่ขายก็จะทำให้ขาดสภาพคล่องและมีต้นทุนการเก็บรักษาและดอกเบี้ย
3. ธนาคารของรัฐขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเงินฝากอยู่ที่ 8% ของจีดีพีในปี 1996 เพิ่มเป็น 35% ของจีดีพีในขณะนี้ การบริหารจัดการธนาคารของรัฐไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสีย (เช่นกรณีธนาคารอิสลามและเอสเอ็มอี) จึงมีความสำคัญยิ่งต่อสถานะทางการคลังของรัฐบาล
แต่ผมมองว่านโยบายการเงินของไทยนั้นกำลังเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนและแก้ไขยากกว่านโยบายการคลังมาก กล่าวคือธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยของประเทศเงินสกุลหลักของโลกอย่างมาก ทำให้เงินทุนจากประเทศดังกล่าว (และจากแหล่งอื่นๆ) ไหลเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 30.5 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐในปลายปีที่แล้วมาเป็น 29.15 บาทในวันที่ 20 มีนาคม 2013 แข็งค่าขึ้น 4.5% ทั้งๆ ที่ช่วงนี้ประเทศไทยน่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งน่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า) และปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจก็ไม่น่าจะดีวันดีคืนจนทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมคิดว่าการแข็งค่านั้นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะมาจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยตัวเลขการถือครองพันธบัตรของต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 450,000 ล้านบาทต้นปี 2012 เป็น 810,000 บาทในปัจจุบัน
ทางเลือกในเชิงของมาตรการเพื่อจัดการกับค่าเงินบาทมีไม่มากนักรัฐบาลอยากให้ลดดอกเบี้ยแต่ธปท.ไม่ยอม ในอีกด้านหนึ่งธปท.อาจอยากใช้ยาแรงคือการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนแต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยเพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและบรรยากาศการลงทุน มาตรการสุดท้ายที่ตลาดคาดการณ์ว่าธปท.จะใช้คือการแทรกแซงค่าเงินบาท แต่เมื่อเห็นว่าธปท.ไม่เข้าแทรกแซง ตลาดจึงกล้าเข้าไปซื้อเงินบาท ทำให้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว
การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนั้นย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของจีดีพี ดังนั้น การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในภาวะที่ประเทศเงินสกุลหลักกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เสี่ยงต่อการส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมากได้ เพราะการที่เงินบาทแข็งค่า 4.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์นั้นอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกบางประเภทที่มีการแข่งขันสูงและกำไรต่ำ เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า และการท่องเที่ยว (ซึ่งจ้างงานเป็นจำนวนมาก) เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป คือ นโยบายการเงินของไทยเมื่อเผชิญกับสภาวการณ์ปัจจุบันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้อีก (เว้นแต่ประเทศไทยจะเกิดปัญหาทางการเมือง) ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้การส่งออกพลาดเป้าอย่างมากและเศรษฐกิจชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้ ข้อดีคือเงินเฟ้อก็จะลดลงได้ด้วย ซึ่งหากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอลงมาก คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ แต่หากสถานการณ์พลิกผันไปถึงจุดนั้นการลดดอกเบี้ยจะเป็นนโยบายเชิงรับ (reactive) มากกว่าการดำเนินนโยบายแบบเชิงรุก (pro-active) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพครับ