เลือกหุ้นคุณภาพดี แบบ “จอห์น เทมเพิลตัน”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

เลือกหุ้นคุณภาพดี แบบ “จอห์น เทมเพิลตัน”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2556
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
เลือกหุ้นคุณภาพดี แบบ “จอห์น เทมเพิลตัน”
   ในการซื้อสินค้า ถ้าเลือกได้ใครๆก็ย่อมมองหา “ของดีราคาถูก”
   ในด้านของการลงทุนก็เช่นกัน เซียนหุ้นชื่อดังของโลกอย่าง “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” แนะนำนักลงทุนไว้ว่า “เมื่อไรก็ตามที่จะซื้อหุ้น จงเลือกหุ้นคุณภาพดีราคาถูก”
   คำถามที่ตามมาก็คือ อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นหุ้น “คุณภาพดี” ?
   ในหนังสือ “บทเรียนจากนักลงทุนชั้นนำของโลก” ซึ่ง คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข แปลและเรียบเรียงจาก “Lessons from the Legends of Wall Street” ของ “Nikki Ross” ได้ขยายความถึงคุณสมบัติของบริษัทที่มี “คุณภาพดี” ในทัศนะของ “เทมเพิลตัน” ไว้ดังนี้
   บริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดซึ่งกำลังเติบโต : บริษัทที่เป็นผู้นำในตลาด หรือ Dominant Firm จะเป็นผู้ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าบริษัทอันดับรองๆลงมา จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงกว่า ในขณะที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่า “เทมเพิลตัน” เน้นด้วยว่าบริษัทดังกล่าวจะต้องเป็นผู้นำใน “ตลาดซึ่งกำลังเติบโต” ไม่ใช่ผู้นำในตลาดที่กำลังถดถอย หรือตลาดที่ไม่มีการเติบโต นอกจากนี้ “เทมเพิลตัน” ยังหมายความครอบคลุมถึงบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับนวัตกรรมด้วย เพราะถือว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขันเช่นเดียวกัน
   บริษัทที่มีทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งและมีประวัติความสำเร็จมายาวนาน : นักลงทุนชั้นเซียนจะให้ความสำคัญกับผู้บริหารของกิจการที่จะลงทุนเป็นอย่างมาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” กล่าวว่า “เราไม่เพียงแค่ซื้อกิจการชั้นยอดเท่านั้น แต่มันต้องดำเนินงานโดยผู้บริหารชั้นเยี่ยม ที่เปี่ยมความสามารถ และเป็นที่ชื่นชอบอีกด้วย” ผู้จัดการกองทุนอย่าง “แอนโทนี โบลตัน” แนะนำว่า “คุณควรลงทุนกับผู้บริหารซึ่งคุณไว้วางใจ...หากผมตั้งข้อสงสัยในทีมผู้บริหาร ผมจะมองข้ามหุ้นตัวนั้นๆไป มันยังมีบริษัทที่มีผู้บริหารดีๆให้เลือกลงทุนอีกเยอะแยะ”
   บริษัทที่เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในอุตสาหกรรม : การที่บริษัทมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งคนอื่นๆที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถือว่าเป็น Cost Advantage หรือความได้เปรียบทางด้านต้นทุน เมื่อมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โอกาสสร้างกำไรก็ย่อมมีมากกว่า
   บริษัทที่มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง : เงินทุนถือว่าเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ถ้าบริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง ย่อมทนทานต่อสภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าบริษัทที่มีปัญหาทางการเงินหรือบริษัทที่มีหนี้สินมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น
   บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและสร้างผลกำไรได้ในอัตราที่สูง : ถ้าตราสินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับและอยู่ในใจของลูกค้า แม้ราคาสินค้าจะสูงกว่าของคู่แข่ง แต่ลูกค้าก็ยินยอมที่จะจ่าย เพราะมีความชื่นชอบและเชื่อถือในตราสินค้า หรือที่เรียกว่า Brand Awareness กรณีเช่นนี้มักจะสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่บริษัทได้ในอัตราที่สูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆในการที่จะทำให้ตราสินค้าเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และไม่ใช่ว่าทุกๆแบรนด์จะสามารถทำได้ นี่จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจอีกประการหนึ่ง
   อย่างไรก็ตามการพิจารณาคุณสมบัติต่างๆข้างต้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่เพียงพอ “เทมเพิลตัน” แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาหลายๆด้านประกอบกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัทที่มีต้นทุนต่ำแต่มีผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของลูกค้า จะไม่ใช่การลงทุนที่ดี ในลักษณะเดียวกัน การเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีจะไม่มีความหมาย หากบริษัทไม่มีเงินลงทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายงานและการทำตลาด
   การพิจารณาถึงคุณภาพของบริษัทนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้บริษัทที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยควรจะอยู่ในระดับที่เหนือกว่าเฉลี่ย และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ราคาที่จะซื้อต้องเป็นราคาที่ถูก หรือราคาที่ยุติธรรม
   การซื้อหุ้นของบริษัทคุณภาพดีในราคาที่แพงเกินไป ย่อมไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่า
[/size]
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 0

Re: เลือกหุ้นคุณภาพดี แบบ “จอห์น เทมเพิลตัน”/ประภาคาร ภราดรภ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับ

--------------------------------
ปฏิบัติการปลดหนี้ สู่วิถีพอเพียง
http://thorfun.com/#chanchai/story/5159 ... bd24001056
โพสต์โพสต์