โค้ด: เลือกทั้งหมด
ดิฉันขอสารภาพว่าไม่เคยอ่านหนังสือของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เลย แต่ได้ติดตามเรื่องราวของเขา ได้อ่านปรัชญาในการลงทุนของเขาที่มีผู้นำมาเล่าขานต่อ ซึ่งรู้สึกชอบและยังชื่นชมกับการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย รวมถึงความใจกว้างที่ยกเงินให้เป็นประโยชน์กับสาธารณะหรือที่เรียกกันว่าการลงทุนเพื่อเพื่อนร่วมโลก (Philanthropy Investment) ที่ดิฉันเลยเขียนถึงไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553
ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง Money Channel ได้กรุณาเชิญดิฉันไปฟังคุณแมรี่ บัฟเฟตต์ อดีตลูกสะใภ้ของวอร์เรน และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรนและวิธีการลงทุน รวมถึงแนวปรัชญาของเขาไว้หลายเล่ม งานสัมมนาชื่อ Exploring Buffettology with Mary Buffett
งานนี้ทำให้ดิฉันได้จับหนังสือของวอร์เรน บัฟเฟตต์มาศึกษาเป็นครั้งแรก และอยากจะแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดและวิธีการของวอร์เรนบางส่วน
แนวทางในการลงทุนของดิฉันมีบางส่วนที่คล้ายกับวอร์เรน แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เหมือนกัน แต่แนวคิดในการใช้เงิน ออมเงินและลงทุนคล้ายกันมาก ขอยกตัวอย่างมาพอสังเขปดังนี้
วอร์เรน เลือกที่จะนั่งรถเก่า แล้วเอาเงินไปลงทุนมากกว่าที่จะเอาเงินมาซื้อรถใหม่นั่ง แล้วไม่มีโอกาสลงทุน โดยให้เหตุผลว่า ยิ่งเรามีเงินก้อนตอนอายุน้อย เรายิ่งสามารถทำให้มันเติบโตเพิ่มขึ้นได้มาก เขานำเงินประมาณ 100,000 เหรียญที่คนทั่วไปจะใช้ซื้อรถใหม่ไปลงทุน และยอมนั่งรถคันเก่าๆ จนบัดนี้เงินลงทุนนั้นเติบโตเป็น สามหมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่คนที่นำเงินไปซื้อรถใหม่ขับในตอนนั้น คงได้เงินจากการขายเศษเหล็กไม่มากนัก
สมัยที่ดิฉันกับสามีเริ่มออมและลงทุนใหม่ๆก็เช่นกัน เราใช้รถเก่าๆ อยู่บ้านเล็กๆ กินอยู่อย่างธรรมดามากๆ เพื่อเอาเงินไปลงทุน จากเงินลงทุน 30,000 บาท เติบโตเป็น 3 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี สมัยนั้นเงินหนึ่งล้านบาทถือว่าเยอะมาก การได้จับเงินล้าน(ที่หามาเอง)ก่อนอายุ 30 ปีถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง
การประหยัดกลายเป็นนิสัย เราไม่ได้ประหยัดทรัพยากรของตัวเองเท่านั้น เราประหยัดทรัพยากรของประเทศและของโลกด้วย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและใช้เท่าที่จำเป็นตลอดเวลา
หลายคนทราบว่านาฬิกาประดับเพชรเรือนแรกของดิฉันเป็นนาฬิกามือสอง ซื้อตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซื้อเพราะเห็นว่าจะได้ใช้ของถูก และยังเป็นโอกาสในการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะมองว่าหลังเกิดการไหลออกของเงินทุน ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนลงไปอีก ช่วงนั้นมีคนเอาทรัพย์สมบัติออกมาขายกันเยอะที่ราคาครึ่งหนึ่งของที่ซื้อมา และอาจจะเป็นเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของราคาใหม่เมื่อคิดตามค่าเงินบาทที่อ่อนมากในสมัยนั้น
เหตุที่เราสามารถทำเงินเพิ่มได้เยอะเมื่อมีเวลาลงทุนนานเนื่องจากผลของการทบต้นค่ะ เงินออม 1,000 บาทต่อเดือน หากได้ผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี ครบ 30 ปี จะเติบโตเป็น 832,258 บาท แต่หากได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 10% เงินจะเติบโตงอกงามเป็น 2,260,488 บาท เพราะฉะนั้น “อย่าหมิ่นเงินน้อย”เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องค่ะ
อีกตัวอย่างหนึ่ง วอร์เรนชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในตัวเอง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด อันนี้ดิฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ การศึกษาหาความรู้และการฝึกฝนให้ชำนาญในสิ่งที่เราทำ เป็นทรัพย์สินที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้ ยกเว้นความตาย และที่ดีมากก็คือเรายังสามารถเพาะต้นกล้าความรู้นี้ให้กับคนอื่นๆได้โดยการถ่ายทอดต่อ ทำให้ความรู้ไม่ตายจาก แม้เราจะจากไป
ตัวเราคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด การลงทุนในตัวเราเองรวมถึงการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพจิตให้ดี การทำจิตใจให้ปลอดโปร่งสบาย มองโลกในแง่ดี มีความหวัง ใฝ่หาความรู้ ความชำนาญ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทำให้เราสดชื่น เพราะฉะนั้นจึงควรเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
ปัญหาหนึ่งของผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงเมื่ออายุยังน้อยคือ ไม่มีหัวหน้ามาดูแลส่งไปอบรม สัมมนา แนะนำว่าต้องดูแลตัวเองค่ะ ถ้าเห็นมีการอบรมสัมมนาที่มีประโยชน์ ควรจะไป แม้จะใช้เวลาขององค์กร แต่ก็จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับองค์กร หลายครั้งที่ความคิดดีๆในธุรกิจเกิดขึ้นจากการไปดูงานและเข้าสัมมนา หรือพบปะกับบุคคลไม่ว่าจะเป็นในแวดวงเดียวกันหรือต่างธุรกิจกัน โดยเฉพาะในโลกตะวันออก การรู้จักกันเป็นเพื่อนกันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจ
สำหรับสัมมนาที่เสียเงิน หรือต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเข้าร่วมสูง ผู้บริหารอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะส่งตัวเองไปร่วม วิธีการแก้ไขง่ายนิดเดียว ลาพักร้อนไปเรียนเองค่ะ เพราะเมื่อเป็นผู้บริหาร รายได้ก็จะสูงพอสมควร สามารถจ่ายค่าฝึกอบรมด้วยตนเองได้อยู่แล้ว สมัยทำงานดิฉันก็เคยใช้วิธีนี้ และหากเป็นความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยตรงก็สามารถขออนุมัติจากกรรมการของบริษัทได้
สำหรับแนวคิดในการลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์ แนะนำว่าไม่ควรลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจ เรื่องนี้เห็นด้วย หลายครั้งที่ฝรั่งเอาตราสารแปลกๆมาเสนอขายให้ เช่นพวกหนี้เกรดสองหรือซับไพร์ม โดยเฉพาะช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หากมีความสงสัยหรือไม่สบายใจ ไม่ควรลงทุนค่ะ และผู้ลงทุนไทยก็โชคดีที่ไม่ได้ลง เพราะทางก.ล.ต.ไม่อนุมัติให้เป็นสินทรัพย์ที่กองทุนหรือผู้ลงทุนบุคคลลงทุนได้
วอร์เรน บัฟเฟตต์เลือกลงทุนระยะยาว ไม่สนใจการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่สำหรับดิฉัน จะเลือกวิธีไหนต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากเป็นช่วงที่แนวโน้มขาขึ้นชัดเจน จะเลือกวิธีการ “Buy and Hold” คือซื้อแล้วถือไว้ รอจนเต็มมูลค่าแล้วจึงขายออก แต่อาจจะมีบางหลักทรัพย์ที่เรามักจะมีติดพอร์ตตลอดไป คือธุรกิจดีตลอด ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ซึ่งหาค่อนข้างยาก
หากสถานการณ์มีความผันผวน เช่นเป็นช่วงเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ซึ่งจะมีความไม่แน่นอนสูง มีความเห็นต่างมุมมองกัน เช่นในช่วงปี 2553-2556 ช่วงเวลาแบบนี้ต้องมีการซื้อขายบ้าง ถือเอาไว้อย่างเดียวอาจจะเสียโอกาส ดิฉันเชื่อว่าการจับจังหวะลงทุนโดยซื้อและขายเป็นระยะๆ (Trading) ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการซื้อแล้วถือค่ะ แต่ก็ต้องจับจังหวะให้ถูกด้วยซึ่งต้องอาศัยการศึกษาและประสบการณ์
เขียนไปเขียนมาหมดพื้นที่แล้ว ดิฉันคงต้องเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ และนำมาให้ความเห็นเพิ่มหลังจากได้อ่านแล้วนะคะ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ
ข้อคิดวันนี้ : การถ่ายทอดความรู้ ทำให้ความรู้ไม่ตายจาก แม้เราจะจากไป
การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทำให้เราสดชื่น
ตัวเราคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด