ความผันผวนของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ความผันผวนของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมขอเลื่อนการเขียนเกี่ยวกับความเสี่ยงของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไปหนึ่งสัปดาห์เพื่อเขียนเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจไทยในวันนี้ครับ

อย่างที่ทราบกันดีว่าราคาหุ้นในตลาดโลกโดยรวมปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคม โดยตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงก่อนหน้าและรุนแรงที่สุดคือตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งปรับตัวลดลงมาประมาณ 20% โดยล่าสุดเป็นผลมาจากความผิดหวังของตลาดที่ธนูดอกที่สามของนายกรัฐมนตรีอาเบะนั้นมีสาระและรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นแก่นสารน้อยเกินไป

แต่ประเด็นหลักที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นห่วงคือเรื่องของการลดทอนคิวอี (tapering) หรือความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มลดการพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรคุณภาพดีในเร็ววันนี้ โดยกรรมการของธนาคารกลางสหรัฐบางคนพูดว่าอาจเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปและแม้ว่านายเบอร์นันเก้ผู้ว่าการธนาคารกลางเองจะออกมาพูดว่าการดำเนินการนั้นจะต้องดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักและเศรษฐกิจก็ยังมิได้ฟื้นตัวอย่างหนักแน่น จนทำให้มั่นใจได้ แต่ดูเหมือนว่าตลาดจะปักใจเชื่อแล้วว่าการลดทอนคิวอีจะมาถึงในเร็ววันนี้

แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ พันธมิตรของภัทรมองต่างมุมว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะอ่อนตัวลงใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะการรัดเข็มขัดทางการคลังและการบริโภคของประชาชนและการว่างงานก็ไม่ได้กระเตื้องมากขึ้นนัก มีเพียงแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคพลังงานเท่านั้นที่เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ดังนั้น เมอร์ริลลินช์จึงคาดว่าความกลัวเรื่องการลดทอนคิวอีจะจางหายไปภายในไตรมาส 3 แต่ทั้งนี้ต้องขอย้ำว่าความเห็นของเมอร์ริลลินช์นั้นเป็นเสียงส่วนน้อย นักลงทุนจึงต้องระมัดระวังให้มาก

ผมเห็นว่าการถกเถียงกันว่าการลดหย่อนคิวอีจะเริ่มขึ้นเมื่อใด (จะเริ่มกลางปีนี้หรือต้นปีหน้า) ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องพยายามประเมินคือ เงื่อนไขของการลดทอนคิวอี กล่าวคือหากธนาคารกลางสหรัฐรีรอให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ลดการพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรเพียงเล็กน้อย นักลงทุนก็จะมองว่าราคาหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นได้มาก แต่หากเป็นทางตรงกันข้ามคือตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐลดการพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรลงอย่างมาก ก็จะทำให้นักลงทุนสรุปได้ว่าราคาหุ้นจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เลย ซึ่งการปรับลดของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นสะท้อนความเชื่อประการหลังมากกว่าประการแรก

ที่สำคัญคือการมองว่าราคาหุ้น “ถูก” หรือ “แพง” นั้น แทนที่จะดูพีอีเพียงอย่างเดียวก็ต้องหันมาดูส่วนต่างของผลตอบแทนหุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตร กล่าวคือดู 1/PE ลบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีหรือ Earnings yeild gap ซึ่งในช่วงประมาณ 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นไปอย่างมาก เช่น พันธบัตร 10 ปีรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มจากเฉลี่ยประมาณ 0.5% มาเป็น 0.9% และพันธบัตร 10 ปีรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 1.5% มาเป็น 2.1% 

ความผันผวนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างที่เห็นกันอยู่คือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลงจากจุดสูงสุดที่ 1640 จุดในกลางเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 1500 จุดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งหมายความได้ว่าความมั่งคั่งของนักลงทุนวัดจากมูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ (market capitalization) ได้ปรับลดลงไปถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคงจะกระทบความมั่นใจและกำลังซื้อในเชิงลบไปบ้างไม่มากก็น้อย และจะเพิ่มความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงได้ในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้เมื่อดูประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่ดูไม่ดีนัก บวกกับการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งน่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวไม่ได้มากดังที่สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกใน 4 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับการขยายตัวภายในประเทศนั้น แม้จะมองว่ายังขยายตัวได้ดี (หากดูจากการว่างงานเพียง 0.6% และการขยายตัวของสินเชื่อบุคคลที่สูงถึง 20%) แต่ผมมีความเห็นว่าการขยายตัวภายในประเทศน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงและในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของรัฐบาล (โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่) นั้นผมเชื่อว่าคงจะมีการใช้จ่ายจริงน้อยมากในปีนี้

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทแกว่งตัวจาก 30.5 ต่อ 1 ดอลลาร์ตอนต้นปีมาเป็น 28.5 บาทในเดือนเมษายน และอ่อนตัวกลับลงมาที่ 30.5 บาทในสัปดาห์ที่แล้ว ความผันผวนดังกล่าวนั้นส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเงินทุนเข้า-ออก 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกฎกระทรวงให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อดูแลและควบคุมการนำเงินเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง นอกจากนั้นก็ได้ออกเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการให้เอาเงินออกนอกประเทศ (เช่นคนไทยสามารถถอนเงิน 10 ล้านเหรียญไปซื้อบ้านที่ต่างประเทศได้) ซึ่งหากมองจากภาพรวมจะตีความได้ว่ามีเงื่อนไขชัดเจนที่จะเอาเงินออกได้ แต่มีความเสี่ยงว่าการนำเงินเข้าอาจมีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขต่างๆ ได้ ซึ่งก็ได้มีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา เช่น อาจกำหนดให้นักลงทุนต่างประเทศต้องให้รายละเอียดและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ หรืออาจกำหนดให้ต้องทำการประกันความเสี่ยงหรืออาจกำหนดให้ต้องตั้งสำรองหรืออาจเก็บค่าธรรมเนียม (ภาษี) ฯลฯ หรืออาจ “โดน” ข้อจำกัดดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้มิได้จำกัดว่าจะใช้กับการลงทุนในพันธบัตรหรือในตลาดหุ้นด้วย กล่าวโดยสรุปคือทางการไทยอาจออกกฎเกณฑ์ใหม่อะไรก็ได้ เพื่อลดแรงจูงใจของต่างชาติที่จะนำเงินทุนเข้ามาประเทศไทยเพื่อมิให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

เหตุการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็วใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือเงินต่างชาติที่ลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรกำลังไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการถือครองพันธบัตรธปท. (ซึ่งต่างชาติเห็นว่าได้มีการลดดอกเบี้ยและมีความเสี่ยงที่จะถูกควบคุมการถือครอง) กล่าวคือการถือครองพันธบัตรธปท.ลดลงไปประมาณ 50,000 ล้านบาทในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาเหลือ 210,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรระยะยาวนั้น การถือครองของต่างชาติมิได้ลดลง แต่ยังอยู่ที่ระดับ 600,000 ล้านบาท กล่าวคือหากต่างชาติจะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและขายหุ้นออกมาอีกในอนาคตก็จะสามารถทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อไปได้อีก โดยนักค้าเงินบางรายมองว่าเงินบาทอาจจะไหลลงไปที่ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ก็ได้ 

ประเด็นคือค่าเงินจะผันผวนได้อย่างมากและจะไม่เป็นผลดีเลยต่อภาคการส่งออกและการนำเข้า เพราะผู้ประกอบการจะวางแผนการผลิตได้ยากและต้องเผชิญความเสี่ยงสูง หากจะประกันความเสี่ยงต้นทุนการประกันก็ย่อมจะต้องสูงอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งตั้งเป้าเงินเฟ้อเช่นที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้จะไม่ได้ “ตอบโจทย์” ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก อาจมองได้ว่าผู้ประกอบการก็จะต้องรับความเสี่ยงเองและหากเสี่ยงมากก็ควรแสวงหาลู่ทางอื่นๆ มาทดแทน ทำให้ภาคการส่งออกและธุรกิจที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าจะต้องลดสัดส่วนต่อจีดีพีลงไปในที่สุดครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 10/6/56
[/size]
naijan
Verified User
โพสต์: 5011
ผู้ติดตาม: 0

Re: ความผันผวนของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากๆครับสำหรับบทความดีๆ

----------------------------------
บุญอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว ขอเชิญบริจาคคลิก ไลค์และแชร์ เพื่อทุนการศึกษาได้ที่นี่..

http://thorfun.com/#chanchai/story/51ba ... 050c004b8c
imerlot
Verified User
โพสต์: 2690
ผู้ติดตาม: 0

Re: ความผันผวนของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

quote
"ดำเนินการนั้นจะต้องดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก"

มารู้จักกับ...Federal Reserve Beige Book

What is the Federal Reserve Beige Book?
http://agbeat.com/finance/why-you-shoul ... eige-book/
The Federal Reserve Beige Book serves as a snapshot of economic conditions across the twelve U.S. districts and is released eight times each year.


...
ล่าสุด
Fed’s Beige Book Shows ‘Modest to Moderate’ Growth in U.S.
http://www.bloomberg.com/news/2013-06-0 ... -u-s-.html

ต้นฉบับ
http://www.federalreserve.gov/monetaryp ... 130605.pdf


...
โพสต์โพสต์