โค้ด: เลือกทั้งหมด
ปีนี้ราคาหุ้นผันผวนอย่างมาก โดย 4 เดือนแรกของปีปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ปรับตัวลงแรงเช่นกันผมได้รวบรวมสถิติราคาหุ้นในตลาดหุ้นหลักและตลาดหุ้นไทยมาเปรียบเทียบกัน (ตารางประกอบ) ซึ่งผมมีข้อสรุปดังนี้
1. ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น-ลงอย่างสอดคล้องกัน กล่าวคือใน 16 ตลาดที่ได้นำมาเปรียบเทียบกันนั้น ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้วไปสู่จุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคมอย่างพร้อมเพรียงกัน เว้นแต่ตลาดหุ้นจีน ฮ่องกงและเกาหลี ซึ่งหุ้นปรับลงมาเกือบตลอดทั้งปี 2013 นี้
2. ตลาดหุ้นหลักมีความสอดคล้องกันสูงมาก กล่าวคือตลาดหุ้นหลักได้แก่ S&P500 ของสหรัฐ DAX ของเยอรมัน CAC ของฝรั่งเศส FTSE ของอังกฤษ และ Nikkei ของญี่ปุ่นต่างปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดในวันที่ 21-22 พฤษภาคมอย่างพร้อมเพรียงกัน ตลาดเล็กๆ เช่น SET ของไทยและ STI ของ สิงคโปร์ก็เช่นกันคือปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อ 21 พฤษภาคมและ 22 พฤษภาคมตามลำดับ
3. แต่หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ย่อมมีความผันผวนมากกว่า โดยเฉพาะหุ้นไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นตอนปรับขึ้นจากต้นปีก็ปรับขึ้นแรงคือไทยขึ้น 18.1% ถึงจุดสูงสุดของปี ส่วนอินโดนีเซียก็ปรับขึ้น 20.8% และฟิลิปปินส์ขึ้น 27.2% แต่เมื่อเป็นขาลงก็ปรับลดลงอย่างน่าใจหายเช่นกันคือกรณีของไทยนั้น ดัชนีอยู่ที่ 1392 ตอนปลายปีที่แล้ว ต่อมาปรับตัวสูงถึง 1643 ในวันที่ 21 พฤษภาคมและในวันที่ 13 มิถุนายนก็ปรับลดลงมาเหลือ 1403 ซึ่งเกือบจะไม่แตกต่างตอนปลายปีเลย
4. ตลาดหุ้นที่ผันผวนมากที่สุดคือตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการ คิวอีของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้ปรับตัวขึ้น 50% จากปลายปี 2012 มาถึงจุดสูงสุดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2013 แล้วก็ปรับตัวลงมา 20% ณ วันที่ 13 มิถุนายน ทำให้ทั้งปียังปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.7%
5. ตลาดหุ้นของสหรัฐและยุโรปโดยรวมมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นเอเชียและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้สรุปได้ว่าการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ
ข้อสรุปที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยนั้น มิได้เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเป็นหลักอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจไทยมิได้ “ดีขึ้น” 18% ในช่วง มกราคม-พฤษภาคมและมิได้ “แย่ลง” 14% ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนเช่นกัน แต่ปัจจัยภายในประเทศคงจะมีส่วนบ้าง ซึ่งผมประเมินว่าปัจจัยที่สำคัญซึ่งกระทบต่อตลาดหุ้นคือ
๐ ความกังวลของนักลงทุนว่าคิวอี (การที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร) จะต้องถูกลดทอนลง และแม้จะมีการถกเถียงกันว่าการลดทอนจะเริ่มเดือนกันยายนปีนี้หรือเมษายนปีหน้าก็จะต้องมีการลดทอนในที่สุด ทำให้เกิดการขายพันธบัตรออกมาส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือเมื่อราคาพันธบัตรลดลงก็ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงด้วย เช่นในกรณีของไทยนั้นดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทย (10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในปีนี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ 3.3% เป็น 3.98% ในวันที่ 12 มิถุนายน การปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาวถึง 0.7% นี้ย่อมทำให้การลงทุนในหุ้นมีความ “คุ้มค่าความเสี่ยง” ลดลงเพราะการลงทุนในพันธบัตรที่เสี่ยงน้อยนั้นได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
๐ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ได้ปรับลดคิวอีเลยสักเหรียญเดียว แต่ความกังวลของตลาดว่าจะลดทอนลงก็ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนได้อย่างมาก แบงก์ ออฟ อเมริกาเก็บตัวเลขการกล่าวถึง tapering (ลดทอน) คิวอีในสื่อต่างๆ พบว่าจำนวนครั้งที่ใช้คำ tapering เพิ่มขึ้นจาก 600 ครั้งในช่วงมกราคมถึงเมษายนมาเป็น 2,250 ครั้งในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้บางคนอาจจำได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายเบอร์นันเก้ถูกซักไซ้ไล่เลียงอย่างยืดเยื้อ เมื่อเขาต้องไปตอบตำถามที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม หากตีความอีกด้านหนึ่งก็อาจพูดได้ว่าตลาดทุนกำลังกดดันให้นายเบอร์นันเก้แก้คำพูดของตนว่าคิวอีจะเพิ่มก็ได้หรือลดก็ได้ (มิฉะนั้นราคาหุ้นและราคาพันธบัตรจะตกต่ำลงไปอีกเพราะนักลงทุนจะเทขายต่อไป)
๐ ในส่วนของประเทศไทยนั้นผมเห็นว่าการที่ทางการไทยลดดอกเบี้ยลงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมและออกมาตรการส่งเสริมให้คนไทยเอาเงินออกได้โดยง่าย แต่ขู่ว่าอาจควบคุมไม่ให้เงินไหลเข้ามาเมื่อใดและอย่างไรก็ได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงและดอกเบี้ยระยะยาวของไทยสูงขึ้น ซึ่งย่อมจะเป็นตัวแปรทำให้ต่างชาติอยากขายหุ้น
๐ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยนั้นมีตัวเลขยืนยันให้เห็นชัดเจนขึ้นเมื่อสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสหนึ่งและปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาที่ 4.2-5.2% ในเดือนพฤษภาคม ตามด้วยดัชนีเศรษฐกิจในเดือนเมษายนที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าจะปรับคาดการณ์การขยายตัวลงจาก 5.1% ในกลางเดือนกรกฎาคมเช่นกัน
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 17/6/56