ตลาดหุ้นญี่ปุ่น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ผมได้ไปเยี่ยมเยือนมาหลายครั้งย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีเศษ ๆ ความรู้สึกในภาพรวมทั่ว ๆ ไปก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ “เจริญมาก” ในทุก ๆ ด้านทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจซึ่งส่งผลให้สังคมของญี่ปุ่นที่ผมมองเห็นจากภายนอกนั้นดู “สมบูรณ์” ไปหมด ประเด็นก็คือ มันดีแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่ผมไปญี่ปุ่น ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงการ “เติบโต” หรือ “อัตราการพัฒนา” ให้ดีขึ้นนั้น อาจจะไม่สูงเลย ว่าที่จริงในช่วงกว่า 10 ปี หรืออาจจะใกล้ ๆ 20 ปีมาแล้วที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะ “ไม่ไปไหนเลย” สาเหตุใหญ่นั้นผมคิดว่าน่าจะมาจากการที่อัตราการเกิดของพลเมืองญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก และคนก็มีอายุที่ยืนยาวมาก ดังนั้นอายุเฉลี่ยของคนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจน กลายเป็นสังคมของ “คนแก่” และญี่ปุ่นเองก็ไม่ต้องการที่จะรับคนต่างชาติเข้าเมืองเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สังคมของญี่ปุ่น “ด้อยลง” นอกจากประเด็นเรื่องคนแก่ตัวลงแล้ว ผมคิดว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันยาวนานอาจจะเป็นเพราะนิสัยหรือแนวความคิดของคนญี่ปุ่นเองนั้น ค่อนข้างที่จะอนุรักษ์นิยมมาก หรือเป็นคนที่มีวินัยสูง ทุกคนต่างก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัด ไม่ใคร่มีใคร “แหกกฎ” หรือ “คิดแตกต่าง” ซึ่งนี่อาจจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลงไป ซึ่งในอดีตนั้น อาจจะไม่มีปัญหาในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากนัก แต่ในระยะหลังเป็นสิ่งจำเป็น และนี่อาจจะทำให้ญี่ปุ่นมีปัญหาพอสมควรทีเดียวในโลกยุคปัจจุบัน

สิ่งที่ผมพูดข้างต้นนั้นก็เป็นเรื่องของการพรรณนาที่เราต่างก็ได้รับรู้จากการได้สัมผัส จากสื่อและหนังสือที่มีการเผยแพร่มาต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นนักลงทุน ผมเองอยากที่จะ “อ่าน” ข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่สะท้อนออกมาจากตลาดหุ้นนั่นก็คือ ดัชนีนิกเกอิที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นหลักของญี่ปุ่นเพื่อที่จะดูหรือยืนยันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นเป็นจริงตามที่มีการพูดกันแค่ไหน และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ พยายามทำนายว่ามันจะไปอย่างไรต่อไป

มองย้อนหลังไป 30 ปี ตั้งแต่ปี 1983 นั้น ดัชนีนิกเกอิเริ่มต้นประมาณ 10,000 จุดเศษ ๆ และนั่นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลัง “ขึ้นสุดยอด” ผมยังจำได้ถึงสถานะและบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ไล่ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเนชั่นแนล เครื่องเสียงของโซนี่ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของเจมส์บอนด์ รถยนต์ของโตโยต้าและนิสสันที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทย และชิ้นส่วนสินค้าไฮเท็คจำนวนมากที่แม้แต่บริษัทชั้นนำของอเมริกันหรือนาซ่าก็ต้องพึ่งพิง นอกจากนั้น ความรู้และแนวความคิดในการบริหารงานแบบญี่ปุ่นเช่น ระบบการควบคุมสินค้าคงคลังแบบเป็นศูนย์หรือการบริหารงานแบบ Just in Time และแนวความคิดอื่น ๆ อีกมากต่างก็ได้รับการขานรับว่าเป็นวิธีการบริหารงานที่ทำให้ญี่ปุ่น “ครองโลก” ในทางธุรกิจ หนังสือ How To หรือการพัฒนาตนเองทางธุรกิจบนแผงหนังสือต่างก็เป็นเรื่องของญี่ปุ่น

ในช่วงประมาณ 6 ปี คือถึงสิ้นปี 1989 ดัชนีนิเกอิได้ปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแทบไม่สะดุดเลยขึ้นไปเป็นประมาณ 39,000 จุดหรือขึ้นไปเป็นเกือบ 4 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณปีละ 25% และนี่น่าจะเรียกว่าเป็น “ทศวรรษทอง” ของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ราคาของหุ้นญี่ปุ่นนั้นสูงจนนักวิชาการหลายคนบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” ค่า PE ของตลาดสูงเป็นหลายสิบเท่า ผมจำได้ว่ามากกว่า 50 เท่า แต่นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากที่เห็นดัชนีขึ้นเอา ๆ ต่างก็เถียงว่าญี่ปุ่นนั้น “ไม่เหมือนสหรัฐ” หรือประเทศอื่นในโลก หุ้นของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถือโดยสถาบันหรือบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันล็อกกันไว้หมดและไม่ขาย แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยของญี่ปุ่นต่ำมากแค่ 1-2% ต่อปี ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่มีค่า PE 50 เท่าก็ไม่แพง เพราะเท่ากับมีผลตอบแทนของกำไรปีละประมาณ 2% เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ราคาที่ดินของญี่ปุ่นเองก็สูงมาก อาจจะยิ่งกว่าหุ้น มีการคำนวณกันว่า ราคาที่ดินทั้งประเทศของญี่ปุ่นนั้น ถ้าคิดตามราคาตลาดแล้ว มีค่ามากกว่าราคาที่ดินทั้งหมดของสหรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าไม่รู้กี่สิบเท่า ที่ดินเฉพาะในโตเกียวก็สูงกว่ารัฐใหญ่ที่สุดหลาย ๆ รัฐของอเมริการวมกัน

สิ้นปี 1989 สำหรับผมก็คือ “ยอดดอยฟูจี” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเริ่มถล่มทะลาย ภายในเวลาหนึ่งปี ดัชนีตกลงไปเหลือประมาณ 24,000 จุด หรือลดลงประมาณ 38% แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพังทะลายของความเชื่อเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ว่าหุ้นของญี่ปุ่นไม่มีวันตกเพราะมันถูกถือโดยคนที่จะไม่ขาย มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความคิดที่ว่าญี่ปุ่นคือ “ราชัน” ทางเศรษฐกิจที่จะยึดกุมโลก มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความเชื่อที่ว่าสินค้าญี่ปุ่นนั้นจะครองใจคนทั้งโลกโดยที่คู่แข่งไม่มีทางตามทันเพราะญี่ปุ่นมีคนที่ดีและฉลาดที่สุดและมีตลาดภายในที่ใหญ่พอที่จะสร้าง Economies of Scale ที่เป็นฐานให้กับกิจการทุกชนิดได้ มีแต่อเมริกาเท่านั้นที่อาจจะเป็นคู่แข่ง ประเทศเล็กอย่างเกาหลีในเอเซียหรือฟินแลนด์ในยุโรปไม่ได้อยู่ในสายตาที่จะก้าวเข้ามาแข่งขันได้

ดัชนีนิกเกอิตกลงมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีจนถึงเดือนมีนาคม 2003 เหลือเพียงประมาณ 8,000 จุด หรือลดลงมาประมาณ 80% ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของวิกฤติอย่างแท้จริงซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก หลายประเทศรวมถึงไทยนั้นพบว่าเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ดัชนีหุ้นมักจะลดลงต่อเนื่องประมาณ 3 ปี และดัชนีจะตกลงมาเหลือเพียง 10% ถึง 20% จากจุดสูงสุด หลังจากนั้นดัชนีนิกเกอิก็เริ่มฟื้นตัว ดัชนีปรับขึ้นไปเป็นเวลากว่า 4 ปีเป็นประมาณ 18,000 จุด ในปี 2007 แต่แล้วในปี 2008 ก็เกิดวิกฤติซับไพรม์ในอเมริกาและลามไปทั่วโลกซึ่งทำให้ดัชนีนิกเกอิตกลงไปถึงเกือบ 60% เหลือเพียงประมาณ 7,500 จุดในช่วงต้นปี 2009

จนถึงสิ้นปี 2012 ดัชนีนิกเกอิก็ยังอยู่ที่เพียงประมาณ 10,400 จุด ห่างไกลจากจุดสูงสุดก่อนซับไพรม์ที่ 18,000 จุด มากในขณะที่ตลาดหุ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียที่ดัชนีวิ่งเกินไปมากแล้ว ญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนว่ามีปัญหาทางด้าน “พื้นฐาน” ของเศรษฐกิจประเทศและบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่หลายบริษัทใกล้ล้มละลายและไม่สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะในสินค้าไฮเท็คยุคใหม่ แม้แต่สินค้าธรรมดา ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ถูกแย่งชิงตลาดไปมาก คนญี่ปุ่นเองแม้ว่าจะยังฉลาดและมีวินัยสูงแต่ด้วยวัยที่สูงขึ้นมากก็ยากที่จะเติบโตต่อไป การเติบโตทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะนิ่งมาเป็นสิบ ๆ ปี เรียกว่าเป็น Loss Decade หรือเป็น “ทศวรรษที่หายไป” อย่างไรก็ตาม การตกต่ำของดัชนีนิกเกอินั้นก็ทำให้หุ้นของญี่ปุ่นกลายเป็นหุ้นที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีต ว่าที่จริงหลาย ๆ บริษัทนั้นถูกกว่าหุ้นของบริษัทในเมืองไทยที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กันด้วยซ้ำ

สังคมญี่ปุ่นเองคงถึงจุดที่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ประเทศ “ติดหล่ม” มานาน และนี่ก็เป็นที่มาของการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีนโยบาย “ก้าวร้าว” และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ นายอาเบะกล้าที่จะพิมพ์เงินเพื่อ “สร้างเงินเฟ้อ” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ เขากล้าแม้กระทั่งยอมให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เขายังทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่มีใครเคยคิดทำในสังคมแบบญี่ปุ่น และนี่ทำให้ดัชนีนิกเกอิของปีที่แล้วปรับตัวขึ้นถึง 57% เป็นประมาณ 16,300 จุด เป็นการปรับตัวสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และน่าจะดีที่สุดในโลกสำหรับตลาดหุ้นหลัก ๆ ประเด็นต่อจากนี้ก็คือ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะไปได้ต่อไหมและมากน้อยแค่ไหน จริงอยู่ แนวความคิด วัฒนธรรม และวิธีการนั้นสามารถเปลี่ยนได้โดยเฉพาะในคนญี่ปุ่นที่ฉลาด มุ่งมั่นและมีวินัยสูงรวมถึงการเป็นคนที่มีสุขภาพดีเลิศ แต่การที่คนแก่ตัวลงและโอกาสหรือความตั้งใจที่จะเพิ่มคนนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย มองในระยะยาวแล้ว ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นนั้นจะฟื้นได้จริง ๆ มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้ว ผมคิดว่าผมคงอยากที่จะเลือกเป็นรายตัวมากกว่าการซื้อกองทุนรวมที่อิงอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น
ReRedrum
Verified User
โพสต์: 198
ผู้ติดตาม: 0

Re: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
MaiFuen
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 385
ผู้ติดตาม: 1

Re: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

สุดยอดครับ

ขอบคุณอาจารย์นิเวศน์และทีมงานครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
kabu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2149
ผู้ติดตาม: 0

Re: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ต้นปี 57 นี้ ญี่ปุ่นปรับภาษี capital gain จาก 10% เป็น 20% ครับ ขึ้นมาเท่าตัวเลยทีเดียว ผมเคยคุยกับคนญี่ปุ่น พอบอกว่าประเทศไทยไม่มี capital gain tax เค้าหูผึ่งเลยครับ ^^"

http://www.reuters.com/article/2013/11/ ... UN20131113
โพสต์โพสต์