VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โลกในมุมมองของ Value Investor 2 มีนาคม 2557
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

VI กับความสุข

เป้าหมายในชีวิตของ Value Investor นั้น ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่ความมั่งคั่งและการมี “อิสรภาพทางการเงิน” แต่ถ้าคิดให้ลึกขึ้นไปอีกนิดหนึ่งเราก็ต้องบอกว่าเป้าหมายสุดท้ายจริง ๆ นั้นก็คือ การมีความสุขในชีวิต ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม ลำพังแต่เงินนั้น มันอาจจะไม่สามารถสร้างความสุขได้จริง เพราะความสุขนั้น มักจะมาจากแหล่งอื่น ๆ โดยที่เงินเป็นเพียงปัจจัยที่ “อำนวย” ให้เกิดความสุข มากกว่าที่มันจะก่อให้เกิดความสุขโดยตัวของมันเอง เพราะจากการศึกษาของ Arthur Brooks ประธานของสถาบัน American Enterprise ที่มีการเผยแพร่เป็นหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พบว่าใครคือคนที่มีความสุขรวมถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร และในสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมก็จะพยายามอธิบายว่า ในฐานะของ VI เราจะเป็นคนที่มีความสุขไหม และเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด

เรื่องแรกที่พบก็คือ ยีนส์เป็นสิ่งที่มีบทบาทในการกำหนดความสุขของคนเรามาก ข้อนี้ส่วนตัวผมเองคิดว่าเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง คนบางคนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนัก แต่ชีวิตเขาก็ดูมีความสุขดีกว่าคนที่รวยกว่ามาก ประเด็นก็คือ เขามีอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ เขาไม่เป็นคนที่ “ดิ้นรน” หาเงินทองอะไรมากนักและพึงพอใจกับการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ เขาเป็นคนไม่เครียดและ “ปล่อยวาง” ในเรื่องต่าง ๆ ได้มาก ซึ่งทั้งหมดนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากยีนส์ของเขาที่กำหนดให้เขาเป็นคนอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาจากการอบรมสั่งสอนหรือจากสภาวะแวดล้อมรอบตัว ในทางตรงกันข้าม คนอีกคนหนึ่งอาจจะเกิดมาเป็นคนที่มีอารมณ์ “ร้าย” หรืออารมณ์รุนแรง มีเรื่องอะไรมากระทบก็จะตอบสนองมากกว่าปกติ เขาอาจจะเป็นคน “ขี้หงุดหงิด” หรืออาจจะเป็นคน “ขี้กังวล” หรือมองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา ดังนั้น แม้ว่าเขาอาจจะมีเงินมากเหลือเฟือ เขาก็มักจะมีความสุขน้อยกว่าคนแรก

นอกจากเรื่องของจิตใจแล้ว ยีนส์ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดสุขภาพทางกายของแต่ละคนค่อนข้างมาก คนที่เกิดมามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีภูมิต้านทานโรคสูง และไม่มีจุดอ่อนของยีนส์ที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อเช่น เบาหวาน มะเร็ง และอื่น ๆ อีกมาก นั้น ผมคิดว่าเขาน่าจะมีความสุขมากกว่าคนที่เกิดมาด้วยยีนส์ที่อ่อนแอกว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือมีโอกาสที่จะเกิดโรคความเสื่อมของร่างกายที่จะทำให้เกิดโรคร้ายโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น ในกรณีแบบนี้ คนที่มียีนส์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านอารมณ์จิตใจและทางด้านร่างกายก็น่าที่จะมีความสุขมากกว่า และดังนั้น ผมเองคิดว่าเขาเป็นคนที่โชคดีไม่แพ้คนที่ “เกิดมารวย”

ข้อสรุปเรื่องที่สองก็คือ ความยากจนนั้น จะลดความสุขในชีวิตลง แต่คนที่มีเงินถึงจุดหนึ่งแล้ว เงินที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ช่วยให้ความสุขเพิ่มขึ้นมากนัก ประเด็นก็คือ เงินเท่าไรถึงจะเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขเกือบเต็มที่? สำหรับเรื่องนี้ ผมคิดว่าคำตอบคงขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ เราจะต้องดูว่ารายจ่ายของเรานั้น เริ่ม “นิ่ง” หรือยัง? คนที่ยังไม่แต่งงานหรือยังไม่มีลูกครบจำนวนตามที่ต้องการนั้น จะไม่สามารถบอกได้เลยว่ารายจ่ายจะเป็นอย่างไรในอนาคต ดังนั้น การคำนวณว่าเราจะต้องมีรายได้เท่าไรหรือพอร์ตลงทุนเท่าไรจึงจะทำให้เรามีความสุขค่อนข้างเต็มที่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย คำแนะนำของผมก็คือ เราควรจะมีเงินมากกว่าที่เราคิดว่าจำเป็นที่จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินซักเท่าตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีความสุขค่อนข้างเต็มที่ตาม “ศักยภาพ” ของเรา

เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญมากและคนทั่วไปอาจจะไม่ตระหนักก็คือข้อสรุปที่ว่า เมื่อความต้องการทางด้านวัตถุและบริการพื้นฐานของเราได้รับการตอบสนองแล้ว งานที่เราพึงพอใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าเงิน สิ่งที่คนเราต้องการนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นความสำเร็จ แต่จะต้องเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามหรือความสามารถของเราไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดโดยโชคหรือความบังเอิญเช่น การถูกหวยหรือลอตเตอรี่หรือจากการพนัน เพราะจากการศึกษาพบว่า คนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจ็คพอตนั้น หลังจาก 6 เดือนผ่านไป ความสุขกลับลดลง ผมเองคิดว่าคนที่เป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและมีเงินมากนั้น หลังจากเลิกเล่นแล้ว แม้ว่าจะยังมีเงินแต่ความสุขน่าจะลดลงมาก สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จเองนั้น ผมก็คิดว่า ความสุขที่เกิดจากการได้เงินนั้นจะเกิดขึ้นมากในช่วงแรก ๆ แต่ในระยะยาวต่อมาที่มีเงินมากขึ้นและมากขึ้น ความสุขจากการได้เงินเพิ่มก็จะลดน้อยลงแต่จะกลายมาเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากกว่า และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีเงินมากมายเหลือเฟือแล้ว

เรื่องที่สี่ก็คือ การศึกษาพบว่า คนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น โดยทั่วไปมักจะมีความสุขมากกว่าพวกที่เป็นนักเสรีนิยม เหตุผลนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น มักจะมีที่ “ยึดเหนี่ยว” มากกว่า พวกเขามีศรัทธาและความเชื่อต่อศาสนา ครอบครัว และขนบธรรมเนียมประเพณีโดยที่อาจจะไม่มีการ “ตั้งคำถาม” อะไรที่จะทำให้จิตใจว้าวุ่น ในขณะที่คนที่เป็นนักเสรีชนนั้น มักจะคิดมากกว่าและตั้งคำถามกับสิ่งเป็นอยู่ ซึ่งบ่อยครั้ง เขาอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและต่อต้าน - อย่างน้อยก็ในใจ และนั่นก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึก “แปลกแยก” และทำให้มีความสุขน้อยลง

การศึกษายังสรุปด้วยว่า แหล่งของความสุขนั้น อย่างน้อยมี 4 อย่างที่สำคัญและอยู่ในความควบคุมของเราเองและไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงิน นั่นก็คือ ความศรัทธา ครอบครัว เพื่อน และงาน พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเราจะมีความสุขมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเรามีหรือเราสร้างสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นในทางที่ดี ๆ ไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย คร่าว ๆ ก็คือ ถ้าเรามีศรัทธาในคำสอนหรือศาสนา มีครอบครัวที่อบอุ่น มีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาหารือได้ และมีงานที่เราพอใจและมีความสุขที่จะทำ เราก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งแล้วเมื่อเทียบกับคนที่ “ขาดตกบกพร่อง” ในประเด็นดังกล่าว ว่าที่จริงมีการศึกษาที่พบว่าคนที่เข้าโบสถ์โดยเฉลี่ยมีความสุขกว่าคนที่ไม่ไป คนที่แต่งงานมักมีความสุขมากกว่าคนโสด เช่นเดียวกับคนที่มีเพื่อนมากและคนที่พึงพอใจในงานที่มักจะมีความสุขมากกว่าคนที่มีเพื่อนน้อยและไม่ชอบงานของตนเอง

การเป็น VI นั้น ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียในแง่ของความสุข เรื่องของพื้นฐานสุขภาพใจและกายที่เป็นเรื่องของยีนส์นั้น เราเลือกไม่ได้เป็นเรื่องของ “ดวง” แต่การเป็น VI โดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จพอสมควรนั้น ผมคิดว่าจะช่วย “ปลดปล่อย” ความเครียดและความกังวลจากงานประจำและน่าจะมีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้นซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีความสุขมากขึ้น นี่เป็นข้อดีที่ผมเห็นข้อแรก เรื่องของเงินหรือความยากจนที่อาจจะทำให้ความสุขลดลงนั้น ผมก็คิดว่าการเป็น VI น่าจะช่วยได้ไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าเราลงทุนทบต้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของเราเพิ่มพูนขึ้นตามอายุของเราซึ่งจะสอดคล้องกับรายจ่ายของเราที่มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีลูกและต้องดูแลคนสูงอายุ ดังนั้น นี่ก็ส่งเสริมความสุข ประเด็นต่อมาคือเรื่องของงานหรือความสำเร็จจากการกระทำนั้น ผมเชื่อว่า VI ส่วนใหญ่น่าจะชอบการลงทุนของตนเอง พวกเขาอยากทำงานนี้ และจะมีความสุขเมื่อเห็นพอร์ตโตขึ้นอย่างมั่นคง นี่ก็เป็นความสุขที่สำคัญ สุดท้ายที่ผมคิดว่าการเป็น VI อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความสุขเพิ่มก็คือ เรื่องของแนวทางของความคิดและสังคม นั่นก็คือ VI นั้น อาจจะเป็นคนที่ “คิดมาก” กว่าปกติ หลายคนเป็น “ศิลปินเดี่ยว” มีความคิดที่อิสระและอาจจะมีเพื่อนน้อย ซึ่งไม่ส่งเสริมการมีความสุข อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ผมคิดว่า การเป็น VI นั้น น่าจะเป็นหนทางที่มีความสุขมากขึ้นและมากกว่าคนอีกหลายอาชีพ
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
theenuch
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1735
ผู้ติดตาม: 0

Re: VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบพระคุณมากค่ะ
ภาพประจำตัวสมาชิก
kotaro
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1496
ผู้ติดตาม: 0

Re: VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณ อาจารย์ครับสำหรับบทความ

นึกถึงเคยมีคนบอกผมว่า อย่าตั้งเอา "ความสุข" เป็นเป้าหมาย ครับ

Happiness is a not a destination, It is a journey.

รูปภาพ
“Laughter is timeless. Imagination has no age. And dreams are forever.” ― Walt Disney Company
seksan999
Verified User
โพสต์: 101
ผู้ติดตาม: 0

Re: VI กับความสุข/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบพระคุณครับอาจารย์
โพสต์โพสต์