โค้ด: เลือกทั้งหมด
1-9 มีนาคม เป็นเทศกาลสัปดาห์กิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ มีกิจกรรมอยู่หลายมุมของประเทศ แม้จะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ดิฉันคิดว่าหากท่านสนใจและอยากทราบแนวโน้มกิจการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ท่านควรจะสละเวลาไปร่วมกิจกรรมค่ะ
เริ่มต้น ดิฉันขอปูพื้นก่อนนะคะว่ากิจการเพื่อสังคม คืออะไร แตกต่างกับมูลนิธิการกุศล หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างไร และจะมีประโยชน์อย่างไรกับประเทศของเรา ทำไมประเทศอื่นๆจึงตื่นตัวกันเรื่องนี้มาก
กิจการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่อยู่ระหว่างโลกขององค์กรไม่แสวงหากำไร กับโลกของธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคนทั้งหลายมองเห็นว่า มนุษย์เรานี้ใช้ทรัพยากรในโลกกันอย่างฟุ่มเฟือยและไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ และทำให้ประชากรในอนาคตของโลกเสี่ยงต่อการขาดแคลนทรัพยากร
นอกจากนี้ ทุนนิยมสุดโต่งทำให้เกิดช่องว่างทางฐานะระหว่างคนมีกับคนไม่มีกว้างขึ้น รวมถึงการละเลยไม่ดูแลและให้เกียรติผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส โดยหลายๆกลุ่มมีแนวคิดว่า การให้โอกาสแก่กลุ่มคนเหล่านี้ จะช่วยลดช่องว่าง และจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
กิจการเพื่อสังคมอาจมีได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบบริษัท หรือรูปแบบมูลนิธิ หรือกิจการของชุมชนหรือชาวบ้าน ที่รวมตัวกัน ซึ่งอาจจะเริ่มจากไม่ต้องการกำไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป สามารถขายสินค้าหรือบริการได้ในราคาที่ทำให้มีกำไร ก็ไม่เสียโอกาสนั้นไป สามารถมีกำไรและนำกำไรมาต่อยอด เพื่อใช้ในกิจการอื่นๆที่เป็นประโยชน์ได้
เรื่องการแบ่งปันกำไรของกิจการออกมาได้หรือไม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ หลายค่ายมองว่าหากมีการแบ่งกำไรออกมาก็จะทำให้ขาดคุณสมบัติความเป็นกิจการเพื่อสังคม แต่อีกหลายค่ายก็มองว่าเจ้าของทุนควรจะได้รับผลตอบแทนพื้นฐานจากการลงทุนส่วนหนึ่ง แต่ส่วนเกินจากนั้น สามารถนำไปต่อยอดหรือนำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมหรือกิจการเพื่อสังคมอื่นๆได้
ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมที่เป็นต้นแบบของประเทศไทยคือ “ดอยตุง” โครงการต่างๆบรรลุวัตถุประสงค์หลายอย่าง ตั้งแต่ทำให้ชาวเขาเลิกปลูกพืชเสพติด เลิกรุกล้ำแผ้วถางป่าสงวน และหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเกษตรกรรมแปรรูป และผลิตภัณฑ์อื่นตามความต้องการของตลาด มีการจัดการเป็นระบบ ทำให้มีความยั่งยืน สามารถขยายกิจการไปทำให้มีเกษตรกรและชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องในเครือข่ายเพิ่มขึ้น
ในต่างประเทศ มีร้านอาหารที่ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ของผู้พิการทางสายตา คือทั้งร้านจะมืดไปหมด พนักงานเสิร์ฟจะเป็นผู้พิการทางสายตา ลูกค้าต้องรับประทานอาหารอยู่ในความมืด ซึ่งหลายคนที่เข้าไปทดลองใช้บริการมาแล้ว บอกว่าทำให้เข้าใจและเห็นใจผู้พิการทางสายตามากขึ้น และทำให้รู้ตัวว่าตนเองโชคดีเพียงใดที่สามารถมองเห็นได้
ในอังกฤษ(และคิดว่าในหลายๆประเทศในโลกนี้) มีปัญหาผู้พ้นโทษจากเรือนจำ(คุก)หางานไม่ได้ และจะมีชีวิตวนเวียนอยู่กับการเข้าคุก ออกจากคุก จนกว่าจะละสังขารจากโลกนี้ไป เมื่อนักธุรกิจเพื่อสังคมเห็นปัญหานี้ จึงมีการก่อตั้งกิจการที่ใช้ผู้เคยถูกต้องขังในเรือนจำมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงงานเฟอร์นิเจอร์ หรือทำงานบริการต่างๆ และพบว่า ส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ก่ออาชญากรรมจนต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีก
ผู้รู้บอกว่า การจะเรียกว่าเป็น”กิจการเพื่อสังคม” หรือไม่นั้น อยู่ที่ว่ากิจการนั้นสามารถตอบโจทย์ของสังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เช่น การแก้ปัญหาการขาดแคลนแคลเซียมและวิตามินด้วยการผลิตนมและโยเกิร์ตราคาถูกออกขายในบังกลาเทศ เพื่อให้คนยากจนสามารถซื้อหามารับประทานได้ หรือการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ครอบครัวละ 5,000 บาท ผ่อนชำระคืนสัปดาห์ละ 100 บาท เป็นต้น
คนเร่ร่อนในอังกฤษ สามารถทำงานขายนิตยสาร Big Issue ได้เงินมาเลี้ยงตัว องค์กรการกุศลหลายแห่งรับของบริจาคทั้งใหม่และใช้แล้วมาขายเพื่อหาเงินไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น Salvation Army ของสหรัฐอเมริกา หรือ “ปันกัน” ของไทย
การเผื่อแผ่แบ่งปัน ทำให้โลกงดงาม แต่องค์กรต่างๆก็ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการรอรับบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในสมัยนี้ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เงินรายได้ของหลายๆองค์กรไม่พอใช้ การดิ้นรนหาวิธีการเพิ่มรายได้ เพื่อทำให้องค์กรสามารถอยู่รอดอย่างยั่งยืนจึงเป็นโจทย์สำคัญ
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้มีดังนี้ค่ะ
1-4 มีนาคม มีคอร์สอบรมและ workshop สำหรับผู้ต้องการมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงคลินิคเพื่อเสริมให้คนพิการสามารถรับการจ้างงานได้
3 มีนาคม 9.00-17.30 น. Asian Social Investment Forum ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีงานสัมมนาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนเพื่อกิจการเพื่อสังคมจากองค์กรต่างๆทั่วโลก อาทิUnLtd (Unlimited)และ Oxfam ของอังกฤษ Oyori ของเกาหลี มูลนิธิอโชก้า (Ashoka Foundation) Grameen Capital มาแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหา และอุปสรรคในการทำงาน ค่าร่วมงาน 1,000 บาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้กิจการเพื่อสังคมมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ
4 มีนาคม 9.00-18.00 น. Asian Social Impact Forum ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค ถนนสุขุมวิท มีงานสัมมนาแบ่งปันประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจเพื่อผลทางสังคม มาดูตัวอย่างว่า เขาดำเนินการกันอย่างไร มีการสนับสนุนจากภาคธุรกิจอย่างไร มีทั้งตัวอย่างของประเทศไทยคือ ดอยตุง Dairy Home สถาบันพัฒนาประชากรศาสตร์ ของอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ UnLtd และ Rubies in the Rubble ของอังกฤษ Beautiful Store ของเกาหลี Orange Life ของบราซิล ค่าร่วมงาน 1,000 บาท
Workshop 2 รายการ ในวันที่ 5 มีนาคมช่วงเช้าที่ TCDC และ 7 มีนาคม ช่วงบ่ายที่สมาคมธรรมศาสตร์
5-7 มีนาคม มีกิจกรรม “เข้าใจ เข้าถึง กิจการเพื่อสังคม” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำพาท่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมที่สามารถแก้ปัญหาและสร้างผลกระทบทางบวกอย่างยั่งยืนต่อสังคม มีการไปเยี่ยมกาแฟอาข่า อ่ามา สหกรณ์เกษตรยั่งยืนแม่ทา กลุ่มออมทรัพย์พัฒนาบ้านไร่กองขิง สมาคมนวดแผนโบราณโดยคนตาบอด หมู่บ้านแม่กำปอง
8 มีนาคม มีทริปย้อนรอยอดีต เรียนรู้วิถีกุฎีจีน
9 มีนาคม ปั่นจักรยาน กุฎีจีน-คลองสาน
“เทศกาลหนังเปลี่ยนสังคม” ซึ่งจะฉายภาพยนตร์สารคดีสร้างแรงบันดาลใจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 5 เรื่อง คือ No Impact Man, Urbanized, Google and the World Brain, Design & Thinking และ Money & Life ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 6 และ 7 และที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ในวันที่ 9 มีนาคม
มีการออกร้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ร้านกรีน) กิจกรรมหนังสือแบ่งปันและเสวนา มีคอร์สอบรมการตลาด ไอที ออกแบบ
ดิฉันไม่สามารถบรรยายกิจกรรมได้ครบ สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.tseo.or.th และ facebook: สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) TSEO หรือ โทร.0-2619-8440 ค่ะ