อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การลงทุนในตลาดหุ้นแบบระยะยาวจริง ๆ คือถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีขึ้นไปนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ยังมีอายุน้อยและมีความหวังที่จะ “รวย” จากการลงทุนในเวลาอันสั้น เหตุผลที่สำคัญก็คือ คนจำนวนมากคิดว่าการลงทุนระยะสั้นนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วไม่ขาย พวกเขาคิดว่าการ “ซื้อแล้วเก็บ” นั้น ผลกำไรหรือผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะเป็นไปตามผลกำไรของบริษัทในระยะยาว ซึ่งก็มักจะ “ไม่สูง” นั่นคืออย่างมากก็ประมาณ 15% ต่อปี แต่ถ้า “เล่นสั้น” ก็จะมีโอกาส “ทำกำไร” ปีละหลายรอบ บางทีรอบละ 10%-20% ปีหนึ่งก็อาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จริงอยู่ ในบางครั้งอาจจะพลาด แต่โดยรวมแล้วเขาคิดว่ากำไรจะมากกว่าขาดทุน ดังนั้น คนส่วนใหญ่ แม้แต่ที่เป็น VI จึงนิยมลงทุนค่อนข้างสั้นไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่ใช่ VI ก็อาจจะสั้นขนาดเป็นวัน ที่เป็น VI ก็อาจจะเป็นเดือนหรืออาจจะหลายเดือน สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คนเล่นสั้นนั้นมีหลากหลายและต่อไปนี้ก็คือ “สิ่งยั่วเย้า” ที่ทำให้คนเข้ามาซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ

สำหรับคนที่เป็น “เทรดเดอร์” หรืออาจจะเป็น “นักลงทุนรายวัน” สิ่งที่ “ยั่ว” ให้เขาเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นนั้นก็คือ ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น นี่คือการเล่นหุ้นตามแนวเทคนิคที่เน้นการซื้อขายหุ้นตามความผันผวนของราคาและความคึกคักของหุ้น หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ภายในเวลาเพียงชั่วอึดใจราคาอาจจะปรับขึ้นไปเป็น 10% หรือในช่วงไม่กี่วันราคาขยับขึ้นไปต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ อาการแบบนี้ทำให้นักเล่นหุ้นระยะสั้นแนวเทรดเดอร์ “อดทนไม่ไหว” ต้องเข้าไปเล่นโดยหวังว่าหุ้นจะวิ่งต่อไปและตนเองสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น คนที่เข้าไปเล่นหุ้นตามแนวทางนี้เมื่อได้กำไรในระดับหนึ่ง เช่น อาจจะ 5%-6% ก็มักจะรีบขายทำกำไรเพราะอาจจะกลัวว่าหุ้นจะ “ปรับตัวลง” เช่นเดียวกัน บางคนเข้าไปซื้อ “ช้าเกินไป” และหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุน บางทีเข้าก็อาจจะขายทิ้งเหมือนกัน

“สิ่งยั่วเย้า” ต่อมาที่มักทำให้คนเข้าไปซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาบริษัทอย่างลึกซึ้งก็คือ “ข่าวดี” ของบริษัท เช่น บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้โดดเด่น เช่น ขายคอนโดหมดได้อย่างรวดเร็ว บริษัทได้รับงานใหม่ที่มีขนาดหรือรายได้สูง เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างประมูลงานได้ หรือบริษัทชนะประมูลแข่งในกิจการสัมปทานหรืองานจากหน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ เป็นต้น ข่าวดีเหล่านั้นถึงจะทำรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคตและอาจจะช่วยทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามากขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นเรื่องที่ “เกิดขึ้นครั้งเดียว” หรือไม่ถาวร ดังนั้นผลกระทบในแง่ของมูลค่าของบริษัทก็อาจจะไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่อง “ระยะยาว” แต่ใน “ระยะสั้น” คนก็น่าจะเข้ามาเก็บหุ้นและราคาก็จะปรับตัวขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราคิด และนั่นทำให้เรา “อดไม่ได้” ที่จะต้องซื้อหุ้น เราคิดว่านี่คือเงินที่จะได้มาง่าย ๆ หรือเป็น “Easy Money”

สิ่งยั่วเย้าให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานของบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า “Financial Engineering” ในความหมายที่ไม่ได้ตรงกับชื่อจริง ๆ แต่ในความหมายของผมก็คือ การออกตราสารการเงินทั้งที่เป็นหุ้นหรืออนุพันธ์ที่ให้ฟรีหรือเกือบฟรีกับผู้ถือหุ้น หรือการปรับแต่งตัวเลขทางการเงินเช่นการปรับพาร์หรือแตกหุ้นต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งในพื้นฐานจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของการพิมพ์หรือปรับตัวเลขบนกระดาษเพื่อส่งให้ผู้ถือหุ้น แต่ผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนคิดว่าบริษัทกำลังจ่ายปันผลหรือให้สิทธิต่าง ๆ ที่มีค่า ดังนั้นพวกเขาก็เข้ามาเก็งกำไรโดยการซื้อหุ้นเพื่อหวังปันผลหรือสิทธินั้นโดยอาจจะไม่เข้าใจว่ามูลค่าของหุ้นเดิมจะต้องถูกลดทอนลงหรือเกิด “Dilution” ราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น นักลงทุนที่เห็นประกาศการทำ “Financial Engineering” ก็มักจะอดไม่ไหวที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างง่าย ๆ

นอกจาก “Financial Engineering” แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่แพ้กันก็คือ “Business Engineering” ในความหมายของผมอีกเช่นกันที่ผมหมายถึงการดัดแปลงหรือหาธุรกิจใหม่ที่ “หวือหวา” ที่เป็นธุรกิจที่ “มีกำไรดี” และ “ทำได้ง่าย ๆ” เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นธุรกิจ “แห่งอนาคต” เช่น พลังงานทดแทน มาทำแทนหรือเสริมธุรกิจเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ผลที่เกิดมักเกิดขึ้นก็คือ บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มีกำไรและเติบโตมหาศาลจากเดิมที่เป็นบริษัทที่น่าเบื่อและไม่มีอนาคต นักลงทุนจะเข้ามาซื้อหุ้นและให้มูลค่าเท่า ๆ หรือมากกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้ง ๆ ที่บริษัทยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ ผลก็คือ ราคาหุ้นพุ่งพรวดและนักลงทุนจำนวนมากก็ “อดไม่ได้” ที่จะ “ร่วมขบวน” การ “หาเงินง่าย ๆ” นี้

ในยามที่ตลาดหุ้นบูมหนักอย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะทำกำไรแบบ Easy Money มากเท่ากับหุ้น IPO หรือหุ้นเข้าตลาดครั้งแรก นี่เป็นการเก็งกำไรที่ได้เสียเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่งเพราะราคาหุ้นผันผวนเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แม้แต่ชั่วนาทีก็อาจจะทำกำไรหรือขาดทุนได้หลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ แน่นอน คนที่เข้าไปเล่นในวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้นต่างก็หวังกำไรทั้งนั้นและพวกเขาก็อดกลั้นไม่ไหวที่จะอยู่เฉย ๆ และมอง “กำไรที่หายไปต่อหน้าต่อตา” ดังนั้น พวกเขาก็เข้าไปเล่นโดยไม่ได้สนใจพื้นฐานของกิจการ

การสนองตอบต่อสิ่งยั่วเย้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะต่อนักลงทุนที่ “ไม่รอบรู้” เท่านั้น แม้แต่คนที่เก่งกาจและเป็น VI ผู้มุ่งมั่นเองก็ประสบกับมันเช่นกัน ความต้องการกำไรที่มากและรวดเร็วหรือเป็น Easy Money นั้น ทำให้หุ้นประเภทที่มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นมากและรวดเร็วเป็นที่สนใจของ VI จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อายุยังไม่มากและพอร์ตยังไม่ใหญ่นัก นั่นก็คือหุ้นที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว หรือหุ้น Cyclical หรือหุ้นวัฎจักร หุ้นสองกลุ่มนี้คือหุ้นที่พื้นฐานหรือผลการดำเนินงานกำลังเปลี่ยนจากบริษัทใกล้ล้มละลายหรือตกต่ำอย่างหนักจากภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรม กลายเป็นบริษัทที่ “เกิดใหม่” และจะมีกำไร หรือกลายเป็นบริษัทที่กำลังจะมีกำไรดีต่อเนื่องไปในอนาคตหลังจากตกต่ำมาช่วงเวลาหนึ่ง ภาวะที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้นนั้นมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “Euphoria” หรือเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างเคลิบเคลิ้มจนลืมไปว่าผลประกอบการในอนาคตนั้นอาจจะไม่ได้สวยสดต่อเนื่องยาวนาน และดังนั้นพวกเขาก็มักจะให้มูลค่าที่สูงเทียบกับผลกำไรของบริษัทที่กำลังดีขึ้นแต่อาจจะไม่คงทน ผลก็คือ ราคาหุ้นถูก “ดัน” ขึ้นไปมากเนื่องจากนักลงทุน “ทนไม่ไหว” ที่จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นที่เห็นว่าอาจจะโตขึ้นไปได้อาจจะอีกหลายเท่า

ยังมีสิ่งยั่วเย้าอีกมากมายในตลาดหุ้นที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในระยะสั้น ตัวอย่างเช่น การที่หุ้นถูกซื้อโดย “เซียน” หรือนักลงทุน “รายใหญ่” ในตลาดหุ้น หรือถูกซื้อโดยผู้บริหารในจำนวนมาก หรือเรื่องราวต่าง ๆ อีกร้อยแปดที่อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรงและทำให้นักลงทุนที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นโดยหวังที่จะทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพราะเขา “อดกลั้นไม่ได้”

ผมเองไม่ได้บอกว่าการเข้าซื้อหุ้นบ่อย ๆ เพราะเราอดกลั้นไม่ได้ต่อสิ่งยั่วเย้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันคงเป็นประสบการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน และคงขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือไม่และบางทีก็เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ทำ ส่วนตัวผมเองเชื่อว่า การทำหรือซื้อหุ้นบ่อย ๆ ซึ่งก็แปลว่าต้องขายบ่อยด้วยนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ และนั่นทำให้การรู้จักอดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้านั้น เป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งของ VI
iamtherang
Verified User
โพสต์: 337
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณ ดร. ครับที่เตือนสติ
zephyr
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 962
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ยิ่งซื้อขายบ่อยยิ่งเหนื่อย เพราะพอขายตัวนึงก็ต้องหาว่าจะต้องซื้อตัวไหนดี
บางครั้งการไม่ซื้อขายเลยกลับได้ผลตอบแทนมากว่าซื้อๆขายๆซะอีก

ผมเคยซื้อขายตามอารมณ์ และข่าวมาแล้วตอนช่วงปี 2011 ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่แพ้ตลาด
แต่ผมลองเทียบกับพอร์ทตอนต้นปี หากผมไม่ซื้อขายเลยปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ปรากฏว่าแพ้กระจาย ไม่ทำอะไรเลยกลับผลตอบแทนมากกว่า แถมมากกว่าแบบทิ้งไม่เห็นฝุ่น

ปีนี้ผมก็ซื้อขายเยอะพอควร เมื่อสัปดาห์ที่แล้วลองนำพอร์ทปลายปี 2013 ที่เซฟเก็บไว้มาคำนวนดู
ปรากฎว่าผลตอบแทนในปัจจุบันเทียบกับไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่ต้นปีต่างกันน้อยมาก

นี่สินะที่เป็นความยากลำบากอีกอย่างหนึ่งของ VI
ภาพประจำตัวสมาชิก
Nevercry.boy
Verified User
โพสต์: 4641
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

เวลาที่เราเป็นนักลงทุนและอยู่ในสังคมนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่จะพบง่ายคือบาดแผลในใจเรา เพราะเรารู้ดีว่าหุ้นตัวไหนไม่ขึ้น ซึ่งจะกดดันพอร์ต และจะน่าเบื่อมาก ควรค่าแก่การขายออกไปที่สุด แล้วเราจะถืออยู่ทำไมในเมื่อมันไม่ขึ้น บอกใครหรือไม่บอกใครมันก็รู้สึกแย่ คนนั้นกำไรคนนี้กำไร เราทรง ๆ หรือขาดทุนนิด ๆ เพราะคนก็คิดเช่นนี้ เหมือน ๆ กัน

หุ้นไม่วิ่งขายเหอะ ไปเข้าตัวอื่น ตรรกะง่าย ๆ แต่ไม่ควรทำหากคุณรักจะเป็นนักลงทุน ผมเชื่อในคำพูดของ ลินซ์

คุณไม่ได้ถูกเพียงเพราะคุณซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้น และคุณไม่ได้ผิดเพียงเพราะคุณซื้อหุ้นแล้วมันลง
เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้
http://nevercry-boy.blogspot.com/
ninehong
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 303
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ส่วนตัวแล้วชอบหุ้น turn around
แต่จะรอให้ผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ไตรมาส
แล้วจึงเข้าซื้อ โดยยอมซื้อแพงกว่าสักหน่อย
ผลที่ทำมา..ได้ผลดีพอสมควร
PLUSLOVE
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1523
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณ ท่านอาจารย์ครับ สำหรับบทความโดนๆที่ เขียนแบบเห็นภาพจริงๆ
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
RnD-VI
Verified User
โพสต์: 5620
ผู้ติดตาม: 1

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบพระคุณมากครับอาจารย์
วินัย + แผนการ + ลงรายละเอียด => ขุดหุ้น
fb fanpage : https://www.facebook.com/stockinvestigator
yakuza
Verified User
โพสต์: 6
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 9

โพสต์

Nevercry.boy เขียน:เวลาที่เราเป็นนักลงทุนและอยู่ในสังคมนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่จะพบง่ายคือบาดแผลในใจเรา เพราะเรารู้ดีว่าหุ้นตัวไหนไม่ขึ้น ซึ่งจะกดดันพอร์ต และจะน่าเบื่อมาก ควรค่าแก่การขายออกไปที่สุด แล้วเราจะถืออยู่ทำไมในเมื่อมันไม่ขึ้น บอกใครหรือไม่บอกใครมันก็รู้สึกแย่ คนนั้นกำไรคนนี้กำไร เราทรง ๆ หรือขาดทุนนิด ๆ เพราะคนก็คิดเช่นนี้ เหมือน ๆ กัน

หุ้นไม่วิ่งขายเหอะ ไปเข้าตัวอื่น ตรรกะง่าย ๆ แต่ไม่ควรทำหากคุณรักจะเป็นนักลงทุน ผมเชื่อในคำพูดของ ลินซ์

คุณไม่ได้ถูกเพียงเพราะคุณซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้น และคุณไม่ได้ผิดเพียงเพราะคุณซื้อหุ้นแล้วมันลง
เยี่ยมยอดจริงๆครับ
เป็นแนวคิดที่สำคัญจริงๆ
โดยส่วนตัวผมคิดว่า
แนวคิดดีๆที่เราเชื่อ
ต้องให้เวลามันโชว์ผลงานบ้าง
imerlot
Verified User
โพสต์: 2690
ผู้ติดตาม: 0

Re: อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ก่อนอื่น.ขอบคุณ ..ดร. สำหรับ..บทความดีๆ

...................

“Euphoria”
"เป็นความรู้สึกที่ดีอย่างเคลิบเคลิ้ม"
"จนลืมไปว่าผลประกอบการในอนาคตนั้นอาจจะไม่ได้สวยสดต่อเนื่องยาวนาน"

..
ตรงข้าม
คือ
Panic
.....

คุณ
Tobias Levkovich แห่ง Citi
เป็นผู้คิดค้น
Panic/Euphoria Model
ที่โด่งดัง

.....
Panic/Euphoria Model:
ไป more at
ตามดูได้ที่
1.Panic/Euphoria Model Now At Higher Level..
http://www.valuewalk.com/2014/01/panice ... isis-citi/
2.Citi’s Proprietary Panic/Euphoria S&P 500 Model Nears 5 Year High ..
http://www.valuewalk.com/2013/11/sp-500-paniceuphoria/

....

ส่วนใหญ่
เวลา
mr. market
“Euphoria” mode
อาาจะ..มักจะ..มีองค์ประกอบ...นี้.
1. ราคา positive ต่อเนื่องยาวนาน
2. unanticipated ไม่ค่อยมี
3. liquidity สูง
4. sentiment เปลี่ยนจาก ลบ เป็น บวก
5. earning เปลี่ยนจาก แย่ เป็น ดีขึ้น
6. fund flow จากขายหนัก กลับมาซื้อต่อเนื่อง
...

(ถูกหรือไม่..ไม่ยืนยัน..ไว้สำหรับลองไปอ่านเพิ่มดู)
...


:D
โพสต์โพสต์