โค้ด: เลือกทั้งหมด
ช่วงที่ผ่านมาผมได้อ่านหนังสือเรื่อง The Power of Habit ของ Charles Duhigg ทำให้เห็นเห็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนมากทีเดียว เพราะการสร้างนิสัยที่ถูกต้อง จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ทุกเรื่อง รวมถึงการลงทุน และไม่น่าเชื่อว่านิสัยแค่ 1% อาจจะสร้างผลต่างในการลงทุนมากเป็นเท่า ๆ ตัว
Charles ยกตัวอย่างการทดลองของนักวิจัยสถาบัน MIT ที่น่าสนใจอันหนึ่ง ที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่าง “สมอง” “นิสัย” และ “ผลสำเร็จในการแก้ปัญหา” ด้วยการนำเอาหนูเข้ามาวิ่งในเขาวงกตแบบง่าย ๆ โดยมีจุดหมายปลายทางเป็น “ชีสหอม ๆ” เป็นรางวัล ทุกครั้งที่ปล่อยหนูออกวิ่ง จะมีสัญญาณเสียงกริ๊ก และที่กั้นก็จะถูกยกออก หลังจากนั้นหนูก็จะพยายามขวนขวาย ดมกลิ่น และลองผิดลองถูก จนถึงจุดมุ่งหมาย นักวิจัยทำการทดลองซ้ำแต่ละครั้งหนูก็เรียนรู้วิธีเดินผ่านเขาวงกตได้อย่างรวดเร็วขึ้นทุก ๆ ครั้ง
ที่น่าสนใจคือ นักวิจัย MIT ได้นำเอาเครื่องวัดการทำงานของสมองมาวัด “คลื่นสมอง” ของหนูตลอดเวลา และพบว่า สมองหนูกลับทำงานน้อยลง ทั้ง ๆ ที่หนูใช้เวลาน้อยกว่าเดิมในการทดลองครั้งหลัง ๆ กระบวนการที่สมองกำหนดให้เกิดพฤติกรรมแบบอัตโนมัตินี้เอง เป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง “นิสัย” ซึ่งถ้าสร้างตัวแปรก็จะพบว่ามี 3 สิ่งคือ ตัวกระตุ้น (ในที่นี้คือเสียงกริ๊ก) มีรางวัล (ในที่นี้คือชีส) และมีกิจวัตร (คือการเดินในเขาวงกต) และผู้เขียนก็เรียกสิ่งนี้ว่า “วงจรแห่งนิสัย”
วงจรแห่งนิสัย มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา และบ่งบอกถึง “เส้นทาง” ในชีวิตของคนทุกคน วงจรแห่งนิสัยในภาพใหญ่จะประกอบด้วย “นิสัยเล็ก ๆ” จำนวนมาก ตั้งแต่การตื่นนอน แปรงฟัน กินข้าว ทำงาน จนเราหลับนอน นิสัยกำหนดให้เราเลือกที่จะตัดสินใจบนเส้นทางที่แตกต่างกันโดยเราไม่รู้ตัว เพราะนี่คือ “พฤติกรรมแบบอัตโนมัติในชีวิต” อันที่จริงนักการตลาดก็ใช้นิสัยของมนุษย์มาสร้างธุรกิจจำนวนมาก Life Style หลายอย่างที่เราเห็น ก็ถูกสร้างจากวงจรแห่งนิสัยนี้นับไม่ถ้วน
ผมนำแนวคิดวงจรแห่งนิสัยนี้มาเปรียบเทียบกับการลงทุน การลงทุนในทุก ๆ เช้าวันธรรมดาเวลาสิบโมงตรง ก็จะเริ่มมีตัวกระพริบเป็น “ชื่อหุ้น” พร้อม ๆ กับ “สี” แดงบ้าง เหลืองบ้าง เขียวบ้าง ซึ่งมันคือ “ตัวกระตุ้น” นั่นเอง และรางวัลของนักลงทุน คือ “ส่วนต่างกำไร” หรือ “เงินปันผล” ส่วนกิจวัตรของนักลงทุนก็คือการซื้อ ขาย และการวิเคราะห์หาข้อมูล
นักลงทุนส่วนมาก จะเริ่มต้นการลงทุนจากการมอง “รางวัล” เป็นที่ตั้งก่อน เช่นการอยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากรวย แต่สิ่งที่ควรจะระวังไว้คือ “รางวัล” มักจะนำมาซึ่งอารมณ์ “ความโลภ” ที่อยากจะได้ผลตอบแทนมาก ๆ และนำมาซึ่ง “ความกลัว” ที่จะสูญเสียรางวัลนั้นไปตลอดกาล เพราะเหตุนี้รางวัลจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักที่จะสร้างความสำเร็จในการลงทุน
และกับดักนักลงทุนที่สอง คือ “ตัวกระตุ้น” ซึ่งเหมือนมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงหุ้นได้จำนวนมากพร้อม ๆ กับข่าวสารที่ถาโถมเข้ามา ตัวกระตุ้นชั้นดีในทุกยุคทุกสมัยคือ “ข่าวลือ” หรือหุ้นจำพวก “Top Gainer” หรือ “Most Active” เพราะนี่คือเสียง “กริ๊ก” ให้เราซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น ซึ่งมันก็ถูกขยายให้มากขึ้นไปอีก ด้วยเครื่องมือจำพวก Social Media เช่น Line, Facebook เพราะเรามักจะเห็นสนามหญ้าคนอื่นเขียวกว่าตัวเอง และเรามักจะรู้สึกบ่อย ๆ ว่า หุ้นในพอร์ตคนอื่น “เขียว” กว่าพอร์ตหุ้นตัวเองเช่นเดียวกัน
ที่จริงแล้วความสำเร็จในการลงทุนต้องสร้างจาก “นิสัย” และตัดตัวกระตุ้นทั้งหลายออกไป หากให้ผมเลือก “สามนิสัย” ที่สำคัญที่สุด นิสัยที่ดีที่สุดในการลงทุน คือ “การอ่าน” เพราะนี่คือการหาวัตถุดิบ ซึ่งก็คือความรู้ และข้อมูล เพื่อนำหุ้นมาวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง จนสร้างผลสำเร็จคือการ “มองเห็น” อนาคตได้ไกลกว่านักลงทุนคนอื่น ๆ ยิ่งเราสามารถมองได้ไกล (วิสัยทัศน์) มองได้ทั่ว (รู้จักหุ้นจำนวนมาก) เราก็ยิ่งประสบความสำเร็จได้มากเท่านั้น
นิสัยที่สอง คือ “การคิด” โดยเฉพาะการคิดหลาย ๆ ชั้น คิดในหลาย ๆ มุม การอ่านจำนวนมากจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก ถ้าไม่สามารถนำความคิดมาต่อยอด สังเคราะห์ และตกผลึกออกมาเป็นผลลัพท์ชั้นยอด การคิดสองชั้นอย่างง่าย ๆ คือ ถ้าเราคิดอะไรได้ เราต้องคิดต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งชั้นว่า ทำไมคนอื่นถึงคิดไม่ได้เหมือนเรา หรือมีอะไรผิดปกติตรงไหนที่เราลืมคิดไป
นิสัยที่สามคือ “การรอ” เป็นนิสัยที่ดูขัดแย้งกับความสำเร็จในมุมมองของงานทั่ว ๆ ไป ว่า “ทำมากได้มาก” แต่สำหรับการลงทุน “ทำน้อยอาจจะได้ มากกว่า” เสียอีก บัฟเฟตต์บอกว่าการลงทุนดี ๆ แค่ 20 ครั้ง ก็เพียงพอสำหรับเปลี่ยนชีวิตคุณได้แล้ว “การรอ” คือนิสัยที่ทำได้ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการรอจังหวะซื้อหุ้นที่ราคาดี ๆ และ รอคอย “เวลา” ที่หุ้นจะเติบโตไปถึงจุดที่ดีที่สุดของมัน ทั้งสามนิสัยนั้นนักลงทุนต้องฝึกให้เป็น “พฤติกรรมอัตโนมัติ” และคุณจะโชคดีมาก ถ้านิสัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณชอบอยู่แล้ว เพราะนั่นคือชีวิตที่มีความสุขโดยไม่ต้องฝึกฝนเลย
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดถึงนิสัยไว้ว่า “นิสัยที่ดีต่อเนื่อง มักจะเบาเกินกว่าที่เราจะรู้สึกถึงมัน จนกระทั่งนิสัยนั้นถูกสร้างให้หนักแน่นจนเกินกว่าที่มันจะแตกหักได้” ดังนั้น จงสร้างนิสัยที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพราะนี่คือสิ่งที่ทำลายคุณไม่ได้ แม้ว่าพอร์ตหุ้นจะลดลง 50% แต่นิสัยที่หนักแน่น จะพาคุณกลับมา และไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จพิสูจน์มานักต่อนักแล้ว