โค้ด: เลือกทั้งหมด
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ตลาดหุ้นไทยจะพลิกจากสภาพที่เงียบเหงาช่วงต้นปี มาสร้างความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดกระแสคำถามว่าหุ้นไทยกำลังเป็นฟองสบู่หรือไม่ ผมจึงใช้โอกาสนี้ทบทวนฟองสบู่ตั้งแต่มีตลาดหุ้นในโลก ซึ่งก็มีจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าให้ผมเลือก ห้าฟองสบู่ต่อไปนี้ คงเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และสร้างความเจ็บปวดให้กับนักลงทุนในวงกว้าง
1. ฟองสบู่ South Sea และฟองสบู่ Mississippi Company (คศ.1720) ฟองสบู่ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ราวสามร้อยปีก่อนอย่าง South Sea เป็นฟองสบู่ที่เกี่ยวข้องกับการยุคทองของการเดินเรือ และครั้งนั้นก็มีบุคคลสำคัญอย่างเซอร์ไอแซค นิวตัน ขาดทุนไปกับความบ้าคลั่งของตลาดหุ้นครั้งนั้นด้วย หุ้นถูกสร้างข่าวลือในเชิงบวกสำหรับโอกาสในทะเลใต้ เช่นเดียวกับ Mississippi Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกสร้างข่าวลือเชิงบวกกับขุมทรัพย์ที่มีอยู่ในอาณานิคม (รัฐหลุยส์เซียน่า)ของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ นักลงทุนไม่เคยรู้จักทั้งทะเลใต้ และรัฐหลุยส์เซียน่า แต่ก็มาซื้อหุ้นจนจนราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นมากกว่าสิบเท่าในระยะเวลาไม่กี่เดือน เมื่อฟองสบู่แตกราคาหุ้นก็กลับไปที่เดิม ไม่เพียงแต่นักลงทุนจะล้มละลายจำนวนมาก แต่ฟองสบู่ครั้งนี้ก็จุดฉนวนความล่มสลายทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และเป็นสาเหตุหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
2. ฟองสบู่อเมริกัน (1920s) เป็นฟองสบู่ของเทคโนโลยียุคต้นศตวรรษที่ 20 คือเทคโนโลยีจำพวกรถยนต์ รถไฟ การบิน ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน บริษัทผลิตรถยนต์ Ford มีการคิดค้นระบบสายพานการผลิตรถยนต์จำนวนมาก ๆ อย่าง “Model T” ในช่วงปี 1907 ซึ่งทำให้การมีรถยนต์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป พี่น้องตระกูล Wright คิดค้นเครื่องบินลำแรกในปี 1903 แม้จะใช้อีกหลายสิบปีกว่าจะมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ส่งผลต่อเนื่องให้หุ้นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ รวมถึงหุ้นโภคภัณฑ์อย่างเหล็ก น้ำมัน ถูกซื้อขายกันอย่างร้อนแรง ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบนความคาดหวัง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ Great Depression ในปี 1930s
3. ฟองสบู่หุ้น Nifty Fifty (1970s) หรือฟองสบู่หุ้นเกรด A เป็นยุคที่นักลงทุนมุ่งหา Great and Growth Company เพื่อลงทุนยาว ๆ แบบ “ถือลืม” หรือว่า “ออมไว้ในหุ้นแบบไม่ต้องดู” ตัวอย่างกลุ่มบริษัท Nifty Fifty ได้แก่ บริษัทชั้นนำที่กำลังเติบโตไปต่างประเทศอย่าง McDonald, IBM, Texas Instrument, Coca-Cola, Eastman Kodak ซึ่ง PE ของ S&P500 ในยุคนั้นประมาณ 19 เท่า แต่หุ้นเหล่านี้ซื้อขายด้วย PE 40-80 เท่า ผลการลงทุนในหุ้นชั้นเยี่ยมเหล่านี้กลับเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง นี่เป็นประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งที่บอกว่า การซื้อหุ้นไม่ว่าจะคุณภาพดีแค่ไหนก็เป็นการลงทุนชั้นแย่ได้ ถ้าซื้อในราคาแพงเกินไป และหุ้นไม่ใช่สินทรัพย์ที่สามารถซื้อแล้วถือทิ้งไว้ได้โดยไม่ต้องทบทวน
4. ฟองสบู่อินเตอร์เน็ต (1990s) จุดเริ่มต้นของฟองสบู่ดอตคอม เกิดจากการเติบโตอย่างร้อนแรงของหุ้นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ตำราสูตรสำเร็จของดอตคอมทุกเล่ม พูดถึงการสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก ๆ บริษัทต่าง ๆ จึงมองการขยายตัวรายได้ก่อนกำไร ดังนั้นทุกบริษัทจะไม่มีกำไรเลยหลาย ๆ ปีในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งทำให้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นแบบดั้งเดิม ใช้กับแนวคิดเหล่านี้ได้ค่อนข้างลำบาก นักลงทุนจึงหันไปให้น้ำหนักแนวโน้มการเติบโตและ Business Model มากไปกว่าการประเมิน “กำไร” ด้วยวิธีดั้งเดิมอย่าง PE, P/BV นอกจากนั้นช่วงฟองสบู่ดอตคอมมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมาก นักลงทุนรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะพักเงินไว้ในธนาคารเฉย ๆ จุดท้ายสุดของดอตคอม คือการล้มหายตายจากของบริษัทจำนวนมากที่ไม่ใช่ของจริง ซึ่งไม่เคยทำกำไรได้เลย และมีแต่การขายฝันให้นักลงทุน รวมไปถึงดัชนี Nasdaq ที่ลดลงจากจุดสูงสุด 5,408.60 จุด มาอยู่ที่ 1,000 กว่าจุด แม้ว่าจะมีหุ้นจำนวนหนึ่งเช่น Google, Amazon ซึ่งทำกำไรให้นักลงทุนได้ในหลาย ๆ ปีต่อมา แต่นี่คือผู้ชนะบนความล้มเหลวของบริษัทดอตคอมจำนวนมาก
5. ฟองสบู่หุ้นตลาดเกิดใหม่ (เช่น ไต้หวัน, ญี่ปุ่น 1980s, ไทย 1990s, จีน 2000s) เอเชียคือจุดมุ่งหมายใหม่ของการลงทุนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดการย้ายฐานการผลิต เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ราคาอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู ในช่วงฟองสบู่ตลาดหุ้นไต้หวันเทรดกันที่ PE เกือบ 100 เท่า สาเหตุของฟองสบู่หลายแห่งแตกต่างกัน แต่หลายแห่งเกิดขึ้นจากภาคการเงินธนาคาร ที่ทำให้สภาพคล่องทั้งจากภายในและต่างประเทศสูงจนเกินไป การลงทุนไม่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เคยเกิดเป็นฟองสบู่ตลาดหุ้นขนาดใหญ่ก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง และล่าสุดก็คือดัชนีหุ้นจีนในช่วงปี 2008 ซึ่งยังคงไม่ฟื้นจนถึงปัจจุบัน
เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เหล่านี้บ้าง ? พบกันต่อในสัปดาห์หน้าครับ