โค้ด: เลือกทั้งหมด
สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมจัดการธุรกิจไทย หรือ TMA (Thailand Management Association) ได้จัดสัมมนาการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเชิญวิทยากรจากหลายประเทศ รวมถึงวิทยากรของประเทศไทยมาให้ความรู้ แสดงความเห็น และแบ่งปันประสบการณ์ โดยในปีนี้ใช้หัวข้อว่า “มีสูตรสำเร็จหรือไม่”ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดิฉันจะไม่นำเนื้อหาการสัมมนามาเล่าในวันนี้ แต่อยากจะอ้างอิงถึงหัวข้อสัมมนา หัวข้อสุดท้าย เรื่อง “Branding Thailand” หรือการสร้างแบรนด์ของประเทศ ซึ่งวิทยากรได้อ้างอิง 6 องค์ประกอบของแบรนด์ประเทศ จากงานของ Simon Anholt ที่เขียนไว้ในหนังสือ Nation Branding Index เมื่อปี 2005
องค์ประกอบ 6 อย่างที่ก่อให้เกิดแบรนด์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง คือ การจัดการภาครัฐ (Governance), คน (People), วัฒนธรรม (Culture), การส่งออก (Export), การลงทุน (Investment), และ การท่องเที่ยว (Tourism)
ที่ดิฉันชอบใจมากคือ วิทยากรกล่าวว่า มีแนวโน้มประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับคนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหกขององค์ประกอบ ในการมีทัศนคติแบบวัตถุนิยม คอร์รัปชั่น เซ็กซ์และยาเสพติด ความเห็นแก่ตัว (และยกตัวอย่าง”มนุษย์ป้า”) ความก้าวร้าว และการทำลายสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในประเด็นที่ต้องนำมาแก้ไขคือเรื่องการเงินของคนไทย
เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินคนในเวทีอื่น พูดเรื่องการแก้ไขลักษณะนิสัยที่ไม่ดีในเรื่องการเงินของคนไทย และรู้สึกดีใจมากจนต้องนำมาเขียนในวันนี้
นิสัยไม่ดีในเรื่องการเงินที่มีการรวบรวมมามี 5 ประการหลักๆ คือ
รายรับไม่พอรายจ่าย
ฟุ่มเฟือยเกินตัว
วัตถุนิยม ไม่ประหยัด ใช้เงินไม่มีเหตุผล
ไม่มีแผนการใช้จ่าย
ชอบสร้างหนี้ เห็นหนี้เป็นเรื่องปกติ
โอ้โฮ! ตรงใจดิฉันมากเลยค่ะ หนังสือ 5 ใน 7 เล่มที่เขียน ก็พร่ำเขียนแต่เรื่อง การทำงานหาเงินอย่างสุจริต การประหยัด การเก็บออม การใช้จ่ายอย่างพอดีๆ การลงทุนเพื่ออนาคต การบริหารจัดการหนี้สิน ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน และเมื่อการเงินมั่นคงแล้ว ชีวิตก็จะมีความมั่นคงด้วย
วิทยากรถึงกับกล่าวว่า หากเปรียบเทียบหลักการตลาดแล้ว ปัญหาของการทำแบรนด์ของประเทศอยู่ที่ “สินค้า” หรือ Product ซึ่งในที่นี้คือ “คน” เพราะเรามีประชากรคุณภาพไม่ดีพอสำหรับการแข่งขัน ต้องแก้ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนไทย (ให้ดีขึ้น น่ารักมากขึ้น)
วิทยากรได้ยกแนวทางปฏิรูป 11 ประการ และค่านิยม 12 ประการ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางเอาไว้ ว่าหากปฏิบัติได้ คนไทยจะน่ารักขึ้นและสังคมไทยจะน่าอยู่ แบรนด์ไทยก็จะดีขึ้นในทัศนคติของชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน ลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจากเรา
เขียนถึงเรื่องการเงินแล้ว ก็อยากจะฝากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า การทำให้คนไทยเข้าใจ มีทัศนคติทางการเงินที่ดี และมีทักษะทางการเงินเพิ่มขึ้น รวมถึงมีพฤติกรรมทางการเงินที่พึงปรารถนา ที่เรียกเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Financial Literacy หรือ บางท่านก็จะเรียกว่า “อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน” น่าจะถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ
เนื่องจาก ประชากรที่มีคุณภาพ มีความเข้าใจและทัศนคติทางการเงินที่ดี มีทักษะและพฤติกรรมทางการเงินที่พึงปรารถนา จะช่วยลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจได้มากมาย อาทิ ลดปัญหาครบครัวแตกแยก ลดปัญหาอาชญากรรมและการฆ่าตัวตายเนื่องจากหนี้ท่วมตัว ลดปัญหาการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น ลดปัญหาการถูกหลอกลวงทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ ลดปัญหาการพนัน ลดปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว การฟุ่มเฟือย (เพราะรู้ว่าเงินเป็นของมีค่า)ฯลฯ มีอีกมากค่ะ
มาดูทางด้านสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อประชากรมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินดีขึ้น รู้จักหา รู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระของรัฐ(ในยามเจ็บป่วย ยามชรา หรือในยามตกยาก) มีการศึกษา มีอาชีพการงานที่ดี มีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกง่ายๆ มีเงินเก็บออม ซึ่งประเทศสามารถนำมาใช้ลงทุนพัฒนาประเทศ ฯลฯ มีอีกมากมาย จาระไนไม่หมด
สหรัฐอเมริกาเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังมีประชากรที่มีความเข้าใจและทัศนคติรมถึงพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องอีกมาก จากการสำรวจเมื่อปี 2012 คนอเมริกันหนึ่งในสี่ ไม่มีเงินเก็บออมเลย และสามในสี่ (รวมถึงกลุ่มไม่มีเงินเก็บด้วย)อยู่ได้แบบเดือนชนเดือนหรือสัปดาห์ชนสัปดาห์ คือเงินจะหมดพอดีก่อนรับค่าจ้างงวดใหม่
แม้ในสหรัฐอเมริกาจะมีหน่วยงาน Financial Literacy and Education Commission สังกัดกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ปี 2003 โดยพัฒนาขึ้นมาจากการต้องการปกป้องประชาชนจากการใช้สินเชื่อแบบผิดๆ แต่ก็มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี 2006 ได้มีการระดมสมองจาก 20 กระทรวง/หน่วยงาน เพื่อวางกลยุทธ์ระดับชาติในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน
กลยุทธ์หนา 254 หน้าชื่อ “Taking Ownership of the Future” (http://www.treasury.gov/about/organizational-structure/offices/Domestic-Finance/Documents/Strategyeng.pdf) นี้ ประกอบด้วยการวางกลยุทธ์ด้านต่างๆ เช่น การออม การมีบ้านของตัวเอง การออมเพื่อเกษียณ การมีหนี้/เครดิต การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิของผู้เสียภาษี เครดิต รายงานเครดิต คะแนนเครดิต การคุ้มครองผู้ลงทุน การเงินนอกระบบ การให้ความรู้ทางการเงินตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสูงกว่ามัธยม การประเมิน รายงานการวิจัย การประสานงานของหน่วยงานต่างๆ และท้ายสุดเป็นการเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ
หนึ่งในกลยุทธ์คือการรวบรวมข้อมูลมาไว้ในเว็บไซต์ชื่อ mymoney.govเพื่อให้ประชาชนเข้าไปหาข้อมูลในการจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินของตัวเองในเบื้องต้น 5 ด้านคือ การหารายได้ การใช้จ่าย การออมและการลงทุน การปกป้อง(ความมั่งคั่ง) และการกู้ยืม
แม้จะมีกลยุทธ์แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินปี 2008 ประชาชนจำนวนมากก็ยังเดือดร้อน เขาจึงมีการปรับนโยบาย ทบทวน สร้างกลยุทธ์ใหม่ ในปี 2009-10 และส่งมอบแผนกลยุทธ์ที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2011 (http://www.treasury.gov/resource-center/financial-education/Documents/NationalStrategyBook_110211FINAL.pdf)
ในประเทศไทย ได้มีหลายหน่วยงานทำการศึกษาและเสนอแนะไว้มากมาย แต่ยังขาดการประสานงานให้สอดคล้องกัน เพื่อความรวดเร็ว ดิฉันเสนอแนะว่า เราสามารถจะนำเอกสารกลยุทธ์ของสหรัฐอเมริกามาศึกษาเพื่อจัดหมวดหมู่ของกลยุทธ์ของเรา เริ่มทำงานได้ทันที เพราะเราศึกษากันมามากแล้วค่ะ
อยากเห็นคนไทยมีการจัดการการเงินที่ดีขึ้นเร็วๆค่ะ