โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความในสัปดาห์นี้เขียนส่งมาจากเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น คิวชูเป็นเกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ประกอบด้วย 7จังหวัด คือฟุกุโอกะ ซะกะ นางาซากิ คุมะโมโตะ โออิตะ มิยะซะกิ และคาโกะชิมะ
ถ้าท่านยังนึกไม่ออก ดิฉันจะเรียนว่า จำซีรีย์ทีวี "เจ้าหญิงอัตสึ" ได้ไหมคะ เจ้าหญิงแห่งแคว้นซัทสึมะ หรือ จังหวัดคาโกะชิมะ นั่นเอง
แม้จะเคยไปญี่ปุ่นมาเกือบ 20 ครั้งแล้ว แต่ดิฉันก็ยังไม่เคยไปเกาะคิวชู เมื่อปีที่แล้วได้รับทราบว่าการรถไฟของคิวชูเริ่มให้บริการรถไฟหรูหราชื่อ "ดาวเจ็ดดวงแห่งคิวชู"(Seven Stars of Kyushu Cruise Train) โดยมีตู้รถไฟในขบวนทั้งหมด 7 ตู้ ถือเป็นสัญลักษณ์แทนของจังหวัดทั้งเจ็ดของเกาะคิวชู
คิวชูพยายามหาสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็นเพิ่งเริ่มเปิดเส้นทางมาคิวชูเมื่อสามปีที่แล้ว คือในปี 2554 นี่เอง และการรถไฟของคิวชูก็สร้างสรรค์การเดินทางด้วยรถไฟหรูหราเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวเมืองต่างๆบนเกาะได้สะดวก โดยโปรแกรม 4 วัน 3 คืน ได้ไปเที่ยว 5 จังหวัด ขาดเพียง นางาซากิและซะกะ แต่ก็ได้ลิ้มลองอาหารทะเลสดๆจากจังหวัดซะกะ ซึ่งเชฟนำมาทำซูชิบนรถไฟให้รับประทานเป็นมื้อแรก
หลังจากออกแบบรถไฟและสร้างพร้อมตกแต่งเสร็จ การรถไฟของคิวชูจึงเริ่มจัดเดินรถเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 หรือในปีที่แล้ว โดยจัดทั้งการเดินทางแบบ สองวันหนึ่งคืน และ สี่วันสามคืน โดยโปรแกรมสี่วันสามคืนนั้น จะนอนบนรถไฟสองคืน และนอนพักที่โรงแรมแบบญี่ปุ่นหรือเรียวกังอีกหนึ่งคืน
การจองเข้าร่วมขบวนรถไฟไม่ได้จองกันง่ายๆค่ะ ดิฉันทราบข่าวเมื่อปีที่แล้วและติดต่อเข้าไป ปรากฏว่าเขาปิดรับสมัครของช่วงฤดูใบไม้ผลิแล้ว จึงต้องรอสมัครร่วมทัวร์ของฤดูใบไม้ร่วง ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งประกาศผลในเดือนเมษายน และออกเดินทาง 14-17 ตุลาคมปีนี้ ซึ่งได้สมัครไปและได้รับการจัดสรรให้เข้าร่วมทริป โดยปกติเขาจะจัดสรรห้องให้ชาวต่างชาติ 2 ห้องต่อทริป ส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้กับคนญี่ปุ่น โดยโอกาสได้รับการจัดสรรของคนญี่ปุ่นคือ 1 ใน 33 ค่ะ
เนื่องจากรถไฟมีตู้โดยสารเพียง 7 ตู้ และเป็นหัวรถจักรกับห้องอาหารรวมสามตู้ จึงเหลือตู้โดยสารที่จัดเป็นห้องพักบนรถไฟได้เพียง 4 ตู้ จึงรับผู้โดยสารจำนวนสูงสุดได้เพียง 30 คนต่อขบวน การได้รับการจัดสรรจึงใช้วิธีจับสลาก
กลุ่มที่ดิฉันเจ้าร่วมเดินทางถือเป็นกลุ่มพิเศษ เพราะเดินทางใกล้เคียงกับวันเริ่มเมื่อปีที่แล้ว ทางการรถไฟคิวชูจึงเลื่อนการจัดงานฉลองวันครบรอบ 1ปี มาจัดเร็วขึ้นหนึ่งวันเพื่อให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้เข้าร่วม และเป็นการส่งผู้โดยสารออกเดินทางไปในตัว
ถือเป็นเรื่องโชคดีที่ได้พบประธานของการรถไฟคิวชู สถาปนิกผู้ออกแบบรถไฟ และบุคคลสำคัญของคิวชูในงานเดียวกัน
การออกแบบและตกแต่งมีความพิถีพิถันมาก มีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เพื่อพยายามให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด อ่างล้างหน้าเป็นเซรามิควาดลายด้วยมือโดยฝีมือศิลปินแห่งชาติที่เพิ่งจากไปก่อนหน้าขบวนรถจะเริ่มเดินไม่นากนัก นับว่างานเขียนอ่างเซรามิคชุดนี้เป็นการฝากฝีมือไว้เป็นครั้งสุดท้าย
ถ้าถามว่าประทับใจอะไรที่สุด ต้องเรียนว่าอาหารและบริการค่ะ การรถไฟคิวชูจะสรรหาพ่อครัวที่มีชื่อเสียงในแต่ละท้องถิ่นมาปรุงอาหารบนรถไฟเพื่อเสริฟให้กับผู้โดยสาร และหลังจากนั้นพ่อครัวและทีมงานก็จะนั่งรถกลับเมืองของตน
ในบางมื้อก็จะเป็นอาหารที่สั่งจากภัตตาคารในท้องถิ่นให้มาส่ง หากเป็นอาหารที่ปรุงบนรถไฟ เช่นอาหารเช้า วัตถุดิบที่ใช้จะมาจากท้องถิ่นที่รถไฟแล่นไป เช่น พ่อค้าแม่ค้าจะนำ ผัก ไข่ อาหารทะเล มาส่งถึงขบวนรถในยามที่รถเข้าจอดที่สถานีรายทาง
อาหารทุกมื้อมากด้วยปริมาณและคุณภาพ และเนื่องจากคนญี่ปุ่นไม่กินทิ้งกินขว้าง ทุกๆคนจึงรับประทานอย่างอิ่มอร่อยมากๆทุกมื้อค่ะ
ที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ การต้อนรับของผู้คนในท้องถิ่น ถือว่าการรถไฟคิวชูทำหน้าที่ได้ดีมากในการประชาสัมพันธ์เวลาที่รถไฟขบวนนี้จะไปถึงสถานีหรือจุดต่างๆ เมื่อขบวนรถไฟไปถึง ผู้คนจะพากันออกมาโบกไม้โบกมือ บางครั้งคุณครูก็พาเด็กๆมาทัศนศึกษาและโบกมือให้นักท่องเที่ยว 30 คนที่มากับขบวนรถ มองออกไปจากหน้าต่างจะรู้สึกถึงความอบอุ่นในการต้อนรับเป็นอย่างดี บางจุด ผู้คนจะออกมายืนบนสะพานกลางแม่น้ำเป็นหลักร้อยคนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ในบางเมือง จะมีอาสาสมัครของเมืองมาแสดงการแสดงของท้องถิ่น หรือมาแจกของที่ระลึกของท้องถิ่น มีอยู่เมืองหนึ่งลงทุนมาตั้งโต๊ะขายสินค้าท้องถิ่นแบบโอทอปที่ชานชาลาให้ผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อสูงกลุ่มนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดความประทับใจแล้ว ยังช่วยให้สินค้าของเมืองนั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย และก็ได้ผลค่ะ กลุ่มสามสิบคนซื้อของที่ระลึกและของฝากมูลค่าประมาณเท่าๆกับนักท่องเที่ยวปกติ 300 คน
การรถไฟคิวชูได้ทำรถบัสดาวเจ็ดดวงแห่งคิวชูด้วยค่ะ เมื่อถึงสถานีหลักที่เป็นจุดท่องเที่ยว รถบัสจะมาคอยรับผู้โดยสารไปยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ สะดวกและคล่องตัวมากเลยทีเดียวทั้งยังได้ประชาสัมพันธ์รถไฟขบวนนี้ด้วย เพราะออกแบบรถบัสให้เข้าชุดกับรถไฟ
ผู้โดยสาร 30 คน ดูแลโดยพนักงาน 10 คน กับ คนขับ 2 คน พนักงานทั้ง 10 คนนี้ เป็นทั้งนักดนตรี ช่างภาพ คนเสริฟอาหาร ชงชา เช็ดโต๊ะ ทำเตียง ปูที่นอน ล้างห้องน้ำ เป็นไกด์ เป็นพยาบาล เป็นบาร์เทนเดอร์ เป็นคนเก็บจาน ล้างจาน และเป็นคนขายของที่ระลึก
นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องทำให้ได้ คือต้องสามารถทำงานหลายๆอย่างได้ในคนๆเดียว (Multi tasking) เพราะจำนวนประชากรของไทยในอนาคตจะลดลง และเราจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพและคุณสมบัติของทรัพยากรมนุษย์ของเรา
ได้รับทราบมาว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องการจับนักท่องเที่ยวตลาดบนที่มีกำลังซื้อสูง หากเราต้องการจับตลาดนี้ เราต้องสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ที่รวมของดีของท้องถิ่น ให้มีมุมของวัฒนธรรมและชุมชน ผสมผสนเข้ากับความสะดวกสบาย บริการที่ดี และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญคือ"คน"ค่ะ
อย่านิ่งนอนใจและคิดว่าเรามีดีอยู่แล้ว ใครๆก็อยากมาเที่ยวนะคะ มนต์ขลังอาจจะหมดได้ในไม่ช้าหากเราไม่ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นค่ะ
ท่านที่สนใจสัมผัสประสบการณ์ชั้นเลิศสามารถศึกษาหาข้อมูลได้จากเว็ปไซต์ http://www.cruisetrain-sevenstars.jp/en/entry.html ทราบมาว่ากำลังเปิดรับสมัครผู้โดยสารสำหรับเดือนมีนาคมถึงกันยายนปีหน้าค่ะ และทางเจ้าหน้าที่ฝากแจ้งมาว่า หากมีชาวต่างชาติสนใจเดินทางในช่วงธันวาคมปีนี้ ถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า ยังพอมีที่ว่างอยู่บางช่วงค่ะ อาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงหน้าหนาว นักท่องเที่ยวจึงอาจไม่สนใจเท่ากับช่วงใบไม้ผลิหรือใบไม้ร่วง
เราเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านบริการอยู่แล้ว เชื่อว่าหากเราต้องการจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆสำหรับนักท่องเที่ยว เชื่อว่าไทยเราจะไม่น้อยหน้าใครค่ะ สำคัญคือต้องทำให้ได้มาตรฐานของสถาบัน ไม่ใช่มาตรฐานของตัวเอง
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ