บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
-
Thai VI Article
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1
โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทสรุปหนึ่งของฟองสบู่ตลาดหุ้นในบทความที่แล้ว คือความน่าประหลาด ที่แม้ว่าแต่ละเหตุการณ์จะห่างกันเป็นสิบเป็นร้อยปี แต่มันก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่เสมอ ยังคงมีคนซื้อหุ้นราคาแพงเหลือเชื่อไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าและหลักการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ที่ซับซ้อนก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ก็ยังคงมีฟองสบู่เกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง นี่คือประวัติศาสตร์ตของตลาดหุ้นที่เราอาจจะเพียงแค่อ่านผ่าน ๆ ตา โดยหารู้ไม่ว่าในแต่ละฟองสบู่นั้น มันยาวนาน และสร้างบาดแผลทางความรู้สึกและความมั่งคั่งของนักลงทุนจำนวนมาก
สิ่งสำคัญอาจจะไม่ใช่ว่า “ฟองสบู่ลูกต่อไป” จะมาเมื่อไหร่ ตลาดหุ้นไทยเริ่มจะเป็นฟองสบู่แล้วหรือยัง แต่มันคือเราเรียนรู้อะไรฟองสบู่ลูกก่อน ๆ และเข้าใจเตรียมตัวไว้อย่างไรต่างหาก ซึ่งอาจจะมีมุมมองสำคัญ ๆ ดังนี้ครับ
1. ความถี่ของฟองสบู่ หากดูประวัติประเทศสหรัฐอเมริกา ฟองสบู่ขนาดใหญ่แต่ละครั้งในอดีตห่างกันเกือบช่วงชีวิตของคน เช่น ฟองสบู่ปีช่วง 1920 กว่าจะเกิดขึ้นอีกคือปี 1973 และเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2000 ซึ่งนักลงทุนในแต่ละช่วงเป็นคนละกลุ่มและต่างไม่มีประสบการณ์ของฟองสบู่ครั้งก่อน ๆ จึงทำให้ฟองสบู่ลูกใหม่ เกิดกับคนกลุ่มใหม่ ๆ ที่ไม่เคย “เจ็บตัว” จากฟองสบู่ครั้งก่อน ๆ
แต่ในระยะหลัง ๆ ฟองสบู่เริ่มถี่ขึ้น สาเหตุคงเป็นเพราะพลวัตของเศรษฐกิจ และภาคการเงิน เกิดการเชื่อมโยงของการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นฟองสบู่มุมหนึ่งของโลกก็จะกระทบอีกมุมหนึ่ง เช่นฟองสบู่จากภาคอสังหาฯหรือวิกฤต Subprime ของสหรัฐเป็นต้น และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้การประเมินมูลค่าของกิจการบางประเภทเป็นไปได้ยาก ฟองสบู่ย่อย ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรมจึงจะมีได้มากกว่าแต่ก่อน ดังนั้นในอนาคต นักลงทุนมีความเสี่ยงที่จะเจอวิกฤตมากกว่าหนึ่งครั้ง ฟองสบู่มากกว่าหนึ่งลูก และจะมีลักษณะเป็นฟองสบู่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น
2. นักลงทุนไร้เหตุผลในภาวะฟองสบู่หรือไม่? ข้อสรุปจากงานวิจัยจำนวนมากบ่งบอกว่านักลงทุนทุกคนในภาวะฟองสบู่ “ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีเหตุผล” แม้ว่าราคาหุ้นอาจจะดูแพงอย่างไร้เหตุผลในขณะนั้น อันที่จริงราคาที่แพงสุดกู่มักจะมีเรื่องราวที่มี “เหตุผล” เพียงพอที่จะทำให้การลงทุนดูสมเหตุสมผลคุ้มค่าที่จะเสี่ยง แต่ในภาวะฟองสบู่เหตุผลดังกล่าวจะถูกขยายขึ้นด้วยอคติทางการรับรู้ (Cognition Bias) กลไกที่สมองเราเลือกที่จะรับรู้ในสิ่งที่เข้าข้างความคิดตัวเอง ฟังคนที่คิดเหมือนกับตัวเอง ซึ่งทำให้คนที่คิดแตกต่างค่อย ๆ คิดเหมือนกัน จนเกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ในท้ายสุด คือเป็นเหตุการณ์ทุกคน “เชื่อ” เหมือนกันอย่างสมบูรณ์ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่พบบ่อย ๆ คือ เราคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น ในเกม “Greater Fool” เราจะคิดว่าไม่สำคัญว่าเราจะซื้อหุ้นแพงเท่าไหร่ ขอแค่เราหาคนที่ “โง่กว่า” หรือ “ยอมจ่ายแพงกว่า” เราก็จะปลอดภัย ทุกคนในเกมนี้จะคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราจะไม่ได้เป็น “คนสุดท้าย” และสามารถหนีจากฟองสบู่นี้ทัน ซึ่งผลลัพท์มักจะเป็นไปทางตรงกันข้ามเสมอ ๆ
3. อะไรคือกับดัก? เหตุผลที่เป็นข้อสนับสนุนอคตินั้น มักจะมาด้วยคำว่า “โอกาส” ใหม่ ๆ เช่น โอกาสของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนโลกได้ เช่นฟองสบู่อเมริกันหรือฟองสบู่อินเตอร์เน็ต โอกาสในภูมิภาคใหม่ ๆ เช่นฟองสบู่หุ้นในเอเชีย หรือโอกาสของตลาดใหม่ ๆ ด้วยสินค้าใหม่ ๆ โอกาสเหล่านี้จะเป็นเหตุผลชั้นดีที่บอกว่ามูลค่าหุ้นในอนาคตจะสูงมาก ธรรมชาติของตลาดหุ้นนั้นจะมี “Story” หรือ “เรื่องราวที่ Sexy” เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนเสมอ ๆ หากมองย้อนหลังกลับไปโอกาสในเชิงธุรกิจหลาย ๆ อย่างก็เป็นจริงตามที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ คืออุตสาหกรรมโตและยิ่งใหญ่มากในเวลาหลายสิบปีต่อมา แต่ส่วนที่คาดการณ์ได้ยากกว่ามากคือ “ใครจะเป็นผู้ชนะ” เพราะบางครั้งผู้ชนะอาจจะมีคนเดียวท่ามกลางความพ่ายแพ้ของคนจำนวนมาก อย่างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เช่น Intel หรืออุตสาหกรรมไอทีอย่าง Google ใครที่ลงทุนบริษัทอื่น ๆ ในเวลานั้นอาจจะเหลือแค่ใบหุ้นติดข้างฝา หรือในบางอุตสาหกรรมอาจจะไม่มีผู้ชนะเลยเพราะไม่มีใครได้เปรียบในเชิงแข่งขันกันอย่างชัดเจน เช่นธุรกิจสายการบิน แปลว่าโอกาสใหม่ ๆ บางอย่าง อาจจะเป็นโอกาสของคนอื่น แต่ไม่ใช่โอกาสสำหรับ “นักลงทุน”
4. อะไรคือสิ่งคุ้มครองนักลงทุนในสภาวะฟองสบู่? ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต เราจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อเราอยู่กันเป็นกลุ่ม มีคนคิดเหมือนกับเรา หรือเราไม่แตกแยก สำหรับการลงทุนแล้วนี่ไม่ใช่วิธีการที่ดี มันไม่สำคัญอะไรว่าคุณจะคิดเหมือนคนอื่น หรือคิดแตกต่างกัน เพราะพฤติกรรมหมู่จะนำไปสู่ความสุดโต่งทั้งสองด้าน ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นที่เป็นฟองสบู่ แต่รวมถึงสภาวะหุ้นเงียบเหงาและไร้ความหวัง ส่วนสำคัญคือความคิดเป็นเหตุเป็นผลที่เป็นอิสระต่อความคิดของผู้อื่นต่างหาก อีกทั้งเราไม่จำเป็นต้องใช้หลักวิชาการที่ซับซ้อนเพื่อคำนวณหามูลค่าหุ้น วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค วิเคราะห์กระแสเงิน หรืออะไรที่มันฟังดูยาก ๆ เลย สิ่งที่ใช้ได้ดีมาตลอดมักจะเป็นความเรียบง่าย หนังสือเล่มเดิม ๆ ความคิดพื้นฐานเดิม ๆ ตามตำราการลงทุนแบบเน้นคุณค่าซึ่งมีอายุเกือบจะร้อยปีแล้ว เป็นวิธีการที่ทำให้บัฟเฟตต์รอดพ้นจากวิกฤตใหญ่ ๆ สองครั้ง คือวิกฤตปี 1973 และวิกฤตดอตคอม และทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดูเหมือนไม่หวือหวาในแต่ละปี สร้างมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว และเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าการรอดจากวิกฤตสำคัญยิ่งกว่าผลตอบแทนในแต่ละปีครับ
[/size]
-
ลูกหิน
- Verified User
- โพสต์: 1217
- ผู้ติดตาม: 0
ขอบคุณมากครับ
-
Vchai
- Verified User
- โพสต์: 36
- ผู้ติดตาม: 0
ขอบคุณที่ช่วยเตือนสติ จะได้กลับมายึดหลักการลงทุนไว้ให้มั่น
-
whiteknight_p
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 315
- ผู้ติดตาม: 1
ขอบคุณมากครับ
-----------------------------------------
เกิดเหตุอะไร อย่าตื่นใจ ไปตามเขา
ปัญญาเรา มีหน้าที่ พิพากษา
ต้องดูน้ำ ดูลม ระดมมา
พิจารณา เชิงชั้น หมั่นตริตรอง
-----------------------------------------
ท่านพุทธทาสภิกขุ
-
Seattle
- Verified User
- โพสต์: 1119
- ผู้ติดตาม: 0
ฟองสบู่ตลาดหุ้น ตอนแรก
Thursday, 9 October 2014
ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ตลาดหุ้นไทยจะพลิกจากสภาพที่เงียบเหงาช่วงต้นปี มาสร้างความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดกระแสคำถามว่าหุ้นไทยกำลังเป็นฟองสบู่หรือไม่ ผมจึงใช้โอกาสนี้ทบทวนฟองสบู่ตั้งแต่มีตลาดหุ้นในโลก ซึ่งก็มีจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าให้ผมเลือก ห้าฟองสบู่ต่อไปนี้ คงเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และสร้างความเจ็บปวดให้กับนักลงทุนในวงกว้าง
1. ฟองสบู่ South Sea และฟองสบู่ Mississippi Company (คศ.1720) ฟองสบู่ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ราวสามร้อยปีก่อนอย่าง South Sea เป็นฟองสบู่ที่เกี่ยวข้องกับการยุคทองของการเดินเรือ และครั้งนั้นก็มีบุคคลสำคัญอย่างเซอร์ไอแซค นิวตัน ขาดทุนไปกับความบ้าคลั่งของตลาดหุ้นครั้งนั้นด้วย หุ้นถูกสร้างข่าวลือในเชิงบวกสำหรับโอกาสในทะเลใต้ เช่นเดียวกับ Mississippi Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกสร้างข่าวลือเชิงบวกกับขุมทรัพย์ที่มีอยู่ในอาณานิคม (รัฐหลุยส์เซียน่า)ของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ นักลงทุนไม่เคยรู้จักทั้งทะเลใต้ และรัฐหลุยส์เซียน่า แต่ก็มาซื้อหุ้นจนจนราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นมากกว่าสิบเท่าในระยะเวลาไม่กี่เดือน เมื่อฟองสบู่แตกราคาหุ้นก็กลับไปที่เดิม ไม่เพียงแต่นักลงทุนจะล้มละลายจำนวนมาก แต่ฟองสบู่ครั้งนี้ก็จุดฉนวนความล่มสลายทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส และเป็นสาเหตุหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
2. ฟองสบู่อเมริกัน (1920s) เป็นฟองสบู่ของเทคโนโลยียุคต้นศตวรรษที่ 20 คือเทคโนโลยีจำพวกรถยนต์ รถไฟ การบิน ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน บริษัทผลิตรถยนต์ Ford มีการคิดค้นระบบสายพานการผลิตรถยนต์จำนวนมาก ๆ อย่าง “Model T” ในช่วงปี 1907 ซึ่งทำให้การมีรถยนต์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป พี่น้องตระกูล Wright คิดค้นเครื่องบินลำแรกในปี 1903 แม้จะใช้อีกหลายสิบปีกว่าจะมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ส่งผลต่อเนื่องให้หุ้นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ รวมถึงหุ้นโภคภัณฑ์อย่างเหล็ก น้ำมัน ถูกซื้อขายกันอย่างร้อนแรง ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบนความคาดหวัง และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ Great Depression ในปี 1930s
3. ฟองสบู่หุ้น Nifty Fifty (1970s) หรือฟองสบู่หุ้นเกรด A เป็นยุคที่นักลงทุนมุ่งหา Great and Growth Company เพื่อลงทุนยาว ๆ แบบ “ถือลืม” หรือว่า “ออมไว้ในหุ้นแบบไม่ต้องดู” ตัวอย่างกลุ่มบริษัท Nifty Fifty ได้แก่ บริษัทชั้นนำที่กำลังเติบโตไปต่างประเทศอย่าง McDonald, IBM, Texas Instrument, Coca-Cola, Eastman Kodak ซึ่ง PE ของ S&P500 ในยุคนั้นประมาณ 19 เท่า แต่หุ้นเหล่านี้ซื้อขายด้วย PE 40-80 เท่า ผลการลงทุนในหุ้นชั้นเยี่ยมเหล่านี้กลับเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง นี่เป็นประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งที่บอกว่า การซื้อหุ้นไม่ว่าจะคุณภาพดีแค่ไหนก็เป็นการลงทุนชั้นแย่ได้ ถ้าซื้อในราคาแพงเกินไป และหุ้นไม่ใช่สินทรัพย์ที่สามารถซื้อแล้วถือทิ้งไว้ได้โดยไม่ต้องทบทวน
4. ฟองสบู่อินเตอร์เน็ต (1990s) จุดเริ่มต้นของฟองสบู่ดอตคอม เกิดจากการเติบโตอย่างร้อนแรงของหุ้นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ตำราสูตรสำเร็จของดอตคอมทุกเล่ม พูดถึงการสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก ๆ บริษัทต่าง ๆ จึงมองการขยายตัวรายได้ก่อนกำไร ดังนั้นทุกบริษัทจะไม่มีกำไรเลยหลาย ๆ ปีในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งทำให้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นแบบดั้งเดิม ใช้กับแนวคิดเหล่านี้ได้ค่อนข้างลำบาก นักลงทุนจึงหันไปให้น้ำหนักแนวโน้มการเติบโตและ Business Model มากไปกว่าการประเมิน “กำไร” ด้วยวิธีดั้งเดิมอย่าง PE, P/BV นอกจากนั้นช่วงฟองสบู่ดอตคอมมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมาก นักลงทุนรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะพักเงินไว้ในธนาคารเฉย ๆ จุดท้ายสุดของดอตคอม คือการล้มหายตายจากของบริษัทจำนวนมากที่ไม่ใช่ของจริง ซึ่งไม่เคยทำกำไรได้เลย และมีแต่การขายฝันให้นักลงทุน รวมไปถึงดัชนี Nasdaq ที่ลดลงจากจุดสูงสุด 5,408.60 จุด มาอยู่ที่ 1,000 กว่าจุด แม้ว่าจะมีหุ้นจำนวนหนึ่งเช่น Google, Amazon ซึ่งทำกำไรให้นักลงทุนได้ในหลาย ๆ ปีต่อมา แต่นี่คือผู้ชนะบนความล้มเหลวของบริษัทดอตคอมจำนวนมาก
5. ฟองสบู่หุ้นตลาดเกิดใหม่ (เช่น ไต้หวัน, ญี่ปุ่น 1980s, ไทย 1990s, จีน 2000s) เอเชียคือจุดมุ่งหมายใหม่ของการลงทุนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดการย้ายฐานการผลิต เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจชนชั้นกลางอย่างต่อเนื่อง ราคาอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู ในช่วงฟองสบู่ตลาดหุ้นไต้หวันเทรดกันที่ PE เกือบ 100 เท่า สาเหตุของฟองสบู่หลายแห่งแตกต่างกัน แต่หลายแห่งเกิดขึ้นจากภาคการเงินธนาคาร ที่ทำให้สภาพคล่องทั้งจากภายในและต่างประเทศสูงจนเกินไป การลงทุนไม่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เคยเกิดเป็นฟองสบู่ตลาดหุ้นขนาดใหญ่ก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง และล่าสุดก็คือดัชนีหุ้นจีนในช่วงปี 2008 ซึ่งยังคงไม่ฟื้นจนถึงปัจจุบัน
เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เหล่านี้บ้าง ? พบกันต่อในสัปดาห์หน้าครับ