โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในบทความของท่านดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรในคอลัมน์”โลกในมุมมองของแวลูอินเวสเตอร์” ท่านดร.ได้กล่าวถึงการเติบโตของนักลงทุนแนววีไอในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอ จากตลาดหุ้นที่เติบโตจาก 400 จุดมาถึงเกือบ 1,600 จุดในปัจจุบันคิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 15 เปอร์เซนต์ต่อปี ในเวลาเดียวกันนักลงทุนวีไอจำนวนมากได้ผลตอบแทนมากกว่า 20-30 เปอร์เซนต์ต่อปี หรือหลายคนทำกำไรได้ปีละเป็นร้อยหรือสองร้อยเปอร์เซนต์ก็มีเป็นต้น
หุ้นที่เป็นที่นิยมของวีไอในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นมาก ค่าพีอีของหุ้นในกลุ่มอย่างกลุ่มค้าปลีกหรือกลุ่มโรงพยาบาลมีค่ามากกว่า 40 เท่า ขณะที่พีอีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 18 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 10 เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่นับรวมถึงหุ้นขนาดเล็กในตลาดเอ็มเอไอหรือตลาดใหม่ (MAI) ที่บางบริษัทมีค่าพีอีมากเป็นร้อยเท่า และตลาดใหม่เองมีค่าพีอีถึง 50 เท่าเลยทีเดียว
จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ท่านดร.นิเวศน์ถึงสรุปว่ายุคทองของวีไอได้จบสิ้นลงแล้ว โอกาสที่จะทำกำไรได้สูงๆเหมือนในอดีตที่ผ่านมานั้นได้หมดไป เนื่องจากหุ้นวีไอราคาเพิ่มสูงขึ้นมากรวมถึงดัชนีตลาดหุ้นเองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ท่านกล่าวว่าการที่จะทำผลตอบแทนได้มากๆนั้นน้อยลงและนักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนปีละ 10-15 เปอร์เซนต์ในอีกสิบปีข้างหน้า
สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้ว คำกล่าวของท่านดร.นิเวศน์ถือว่าเป็นคำเตือนของปรมาจารย์วีไอของประเทศไทย ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มาก โดยเฉพาะจากหุ้นเล็กๆที่มีมาร์เกตแคปไม่มากรวมถึงหุ้นเข้าข่ายหุ้นปั่นจำนวนมากที่ราคาหุ้นขึ้นได้ด้วยการสร้างข่าวหรือสร้างStoryที่ไม่รู้ว่าบริษัทจะทำได้ตามแผนในอนาคตที่วางไว้ได้หรือไม่แต่ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปรับข่าวล่วงหน้าไปแล้ว หุ้นที่เคยเป็นยอดนิยมของวีไอมีราคาสูงขึ้นมากโดยเฉพาะหุ้นที่เหล่านักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อตามเซียนหุ้นรุ่นใหญ่
ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามองในแง่ของพื้นฐานแล้วโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้นก็ยังมีอยู่แต่ไม่มากนัก แต่โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานครั้งใหญ่นั้นมีโอกาสมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีใครตอบได้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ ในช่วงที่นักลงทุนมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆได้โดยไม่มีเหตุผล ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นคือในช่วงตลาดหุ้นแนสแดคบูมในช่วงบริษัทดอดคอมปีก่อนคศ. 2000 จอร์จ โซรอสและทีมงานของเขาอย่างสแตนลี่ ดรักเกลมิลเลอร์มองว่าตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติและจะต้องตกลงอย่างรุนแรง โซรอสและทีมจึงทำการยืมหุ้นมาขายและช๊อตดัชนีของแนสแดคจำนวนมาก ปรากฏว่าตลาดหุ้นแนสแดคยังคงปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆและโซรอสขาดทุนจำนวนมาก เนื่องมาจากเขายังคงมองว่าตลาดหุ้นจะต้องตกในระยะเวลาอันสั้นทำให้เขาคงสถานะช๊อตนั้นไว้ สุดท้ายจนตลาดหุ้นขึ้นไปเกือบสูงสุด โซรอสและทีมงานจึงยอมยกธงขาวขายสถานะช๊อตทั้งหมดและขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล การขาดทุนครั้งนั้นทำให้ดรักเกลมิลเลอร์ต้องลาออกจากองทุนควอนตัมของโซรอสเพราะเก็งตลาดผิดพลาด ซึ่งในที่สุดตลาดหุ้นแนสแดกก็ตกลงอย่างมากเหมือนที่โซรอสคิดไว้แต่ใช้เวลานานกว่าที่เขาคาดไว้มาก ดังมีคำกล่าวไว้ในอดีตที่ว่า “ตลาดหุ้นนั้นอาจบ้าคลั่งได้นานกว่าการอยู่รอดของนักลงทุนเอง”
ถึงแม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมามากแล้วในปัจจุบัน แต่ในบรรยากาศที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ราคาสูงมากนั้น ยังมีหุ้นบางบริษัทที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดรวมถึงหุ้นที่นักลงทุนต่างพากันกลัวและไม่กล้าซื้อเนื่องจากมีข่าวร้ายในอุตสาหกรรมหรือข่าวร้ายของตัวบริษัทเองทั้งๆที่เป็นบริษัทที่ดีและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจึงต่ำกว่าราคาในอดีตมาก หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหรือundervalue แต่ไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะราคาหุ้นไม่ได้ขยับไปไหนมาเป็นเวลานาน นักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดว่าสู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่กำลังวิ่งๆจะได้เงินเร็วและง่ายกว่ามาซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้วคำพูดของบัฟเฟตที่จะยังใช้ได้ดีอยู่เสมอนั่นคือ “จงโลกเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ” ปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยความโลภกำลังครอบงำจิตใจของนักลงทุนไทยเป็นส่วนใหญ่