ราคาน้ำมัน : ลดลงเพราะอุปทาน?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ราคาน้ำมัน : ลดลงเพราะอุปทาน?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

มีคนตั้งคำถามหลายคนว่าเวลาราคาน้ำมันปรับขึ้นก็บอกว่าไม่ดีเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลงไปกว่า 50% ก็ไม่เห็นรู้สึกว่าอะไรๆ จะดีขึ้น ตรงกันข้ามดูเสมือนว่าราคาหุ้นจะปรับลงตามการลดลงของราคาน้ำมัน เศรษฐกิจไทยก็ไม่เห็นจะค่อยดีขึ้นแม้ทางการจะบอกว่าราคาน้ำมันลดลงจะส่งผลดีต่อประเทศไทยแน่นอนเพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันมูลค่าสูงถึง 10% ของจีดีพี ดังนั้น เมื่อน้ำมันราคาลดลง 50% เปรียบเหมือนคนไทยได้รับการ “ลดภาษี” จากต่างประเทศประมาณ 5% ของจีดีพี สำหรับเศรษฐกิจโลกนั้นการปรับลดลงของราคาน้ำมัน 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็เสมือนกับการได้ “ลดภาษี” ประมาณ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.26% ของจีดีพีโลก (75 ล้านล้านดอลลาร์) นั่นเอง ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญเพราะเศรษฐกิจโลกนั้นคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.5% ในปีนี้ ดังนั้น หากมี “ตัวช่วย” สูงถึง 2.26% ก็น่าจะทำให้แนวโน้มในปีนี้สดใสอย่างมากหากราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี ดังนั้นบางคนจึงให้เหตุผลว่าที่ยังไม่แน่ใจก็เพราะมีความเสี่ยงว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับต่ำเช่นนี้ไปอีกเพียง 5-6 เดือนแล้วปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของปีนี้

โดยรวมแล้วนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มั่นใจว่าราคาน้ำมันลดลงมากๆ ย่อมเป็นเรื่องดีจึงให้ความมั่นใจว่าความเป็นห่วงและ/หรือความไม่แน่นอนในปัจจุบันน่าจะเป็นความกังวลชั่วคราว กล่าวคือรอไปก่อนเดี๋ยวก็จะดีเอง ทั้งนี้เพราะในใจเชื่อว่าราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นเพราะอุปทานเพิ่มขึ้นจากการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยการขุดเจาะแบบทแยงทำให้สามารถผลักเอาน้ำมันและก๊าซที่ติดอยู่ตามโพรงหิน (หรือ Shalegas Shale oil) ออกมาใช้ได้ในต้นทุนประมาณ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเด็นสำคัญคือการประเมินว่าเป็นผลจากการขยับไปทางขวาของเส้นอุปทาน (S1 –> S2) ดังปรากฏในรูปที่ 1

กล่าวคือปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาลดลง ซึ่งเถียงไม่ได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีเพราะได้วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตในจำนวนมากขึ้นที่ราคาต่ำลง

แต่ผมขอมองต่างมุมว่ารูปที่ 1 นี้อาจมิได้สะท้อนความเป็นจริงก็ได้เพราะรูปดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่โอเปกประชุมกันตอนปลายเดือนตุลาคม 2014 แล้วตัดสินใจจะไม่ลดการผลิต (กล่าวคือซาอุดีอาระเบียไม่ยอมลดการผลิตแม้จะถูกล็อบบี้อย่างหนักก็ตาม) และเมื่อผลการประชุมประกาศออกมา ราคาน้ำมันก็ปรับลดลงทันที 5% และปรับลดลงต่อเนื่องอีก 15% จนถึงปัจจุบัน โดยที่โอเปกหรือผู้ผลิตนอกโอเปกก็มิได้ปรับเพิ่มการผลิตแต่อย่างใดและโดยข้อเท็จจริงนั้น เศรษฐกิจโลกก็มิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใดชั่วข้ามคืนของวันประชุมและเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมาจนทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงไป 20%

กล่าวคือรูปดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ราคาน้ำมันลดลงเป็นสิ่งที่ดีนั้นใช้อธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้จริงหรือไม่ และหากอธิบายไม่ได้คำอธิบายที่ถูกต้องควรจะเป็นอะไร คำตอบหนึ่งคือตลาดน้ำมันนั้นมีตลาดอนาคตที่สามารถเก็งราคา/กำไรได้โดยง่ายและมีการเก็งกันว่าจะมีการลดกำลังการผลิตของโอเปกอยู่พักหนึ่งก่อนหน้าการประชุม ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับสูงเกินจริง แต่เมื่อพบว่าการเก็งกำไรดังกล่าวผิดพลาด ราคาน้ำมันจึงหล่นลงมาอยู่ที่ระดับซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาด แต่หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการปรับลงของราคาน้ำมัน (แม้ว่าปริมาณการผลิตจะไม่ได้เปลี่ยนแปลง) เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างแท้จริงว่าอุปสงค์ได้ปรับลงไปอย่างมากดังเห็นจากรูปที่ 2

หรืออีกนัยหนึ่งคืออุปสงค์โลกนั้นอ่อนแอกว่าที่คาดและการปรับลดลงของราคาน้ำมันเป็นการสะท้อนให้เห็นความจริงของความอ่อนแอดังกล่าว (ก่อนหน้านั้นการใช้ตลาดล่วงหน้าเก็งราคาน้ำมันทำให้มองไม่เห็น “ราคาจริง”) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็มีนัยสำคัญต่อนโยบายอย่างยิ่ง เช่น ผมเห็นรายงานข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าการปรับลงของราคาน้ำมันเป็นเรื่องของอุปทาน (supply) แต่นโยบายการเงินเป็นเรื่องของการบริหารอุปสงค์ (demand) ดังนั้น นโยบายการเงินจึงไม่จำเป็นจะต้องจัดการอะไรกับการปรับลดลงของราคาน้ำมัน

กล่าวโดยสรุป คือ หากการปรับลดลงของราคาน้ำมันเป็นผลจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (อุปทานเพิ่ม) ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยและในเวลาไม่ช้า (อีกประมาณ 6 เดือน) เศรษฐกิจก็จะขยายตัวดีและราคาน้ำมันก็จะขยับตัวสูงขึ้นเพราะเส้นอุปสงค์จะขยับออกไปทางขวา แต่เนื่องจากช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับลงจาก 100 ดอลลาร์เมื่อกลางปีที่แล้วมาเหลือครึ่งหนึ่งในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ในขณะที่ผมไม่ได้เห็นตัวเลขการปรับขึ้นของการผลิตน้ำมันแต่อย่างใด ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการปรับลงของราคาน้ำมันเป็นการสะท้อนความอ่อนแอเศรษฐกิจโลก (อุปสงค์ตกต่ำ) ทั้งนี้ เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงทั่วโลกและหากเป็นเช่นนั้นจริงเศรษฐกิจโลกก็จะ “ซึมยาว” ไปพร้อมกับราคาน้ำมันที่จะไม่กระเตื้องขึ้นไปอีกปีครับ
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: ราคาน้ำมัน : ลดลงเพราะอุปทาน?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
LionLamb
Verified User
โพสต์: 6
ผู้ติดตาม: 0

Re: ราคาน้ำมัน : ลดลงเพราะอุปทาน?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณสำหรับโพสด์ดีๆครับ
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 0

Re: ราคาน้ำมัน : ลดลงเพราะอุปทาน?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

น้ำมันเริ่มกลับตัวแล้วเพราะมีบางเจ้าลดการผลิตลงเพราะทนแบกขาดทุนไม่ไหว
โพสต์โพสต์