โค้ด: เลือกทั้งหมด
ชนชั้นกลาง หรือ Middle Class เป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย แต่ชนชั้นกลางทั่วโลกกำลังถูกท้าทายมาโดยตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่าคน “กำลังรวยขึ้น” จากชนชั้นรากหญ้าสู่ชนชั้นกลาง แต่ตำแหน่งชนชั้นกลาง กำลังมีชีวิตที่ “ยากลำบาก” ลงเรื่อย ๆ
นิยามของชนชั้นกลางนั้น พูดโดยกว้าง ๆ มักจะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาพอสมควร อาจจะจบปริญญา หรืออนุปริญญา มีวิชาชีพติดตัว ชีวิตอยู่สะดวกสบายแต่ไม่สามารถฟุ่มเฟือยได้มากนัก ส่วนมากจะมีบ้านเป็นของครอบครัว มีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว อาจจะชอบทานกาแฟ ร้านอาหาร ชอบท่องเที่ยว เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รวมไปถึงว่ามีความเชื่อที่เหมือน ๆ กับ “คนกลุ่มใหญ่” ในสังคม เช่นช่วงหนึ่งมีความเชื่อว่า การประสบความสำเร็จต้องหางานทำดี ๆ มั่นคง เป็นเจ้าคนนายคน เป็นต้น
ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศจะมีลักษณะคล้ายกันคือ มีการขยายตัวของคนชั้นกลาง เช่นในประเทศจีน ชนชั้นกลางขยายตัวจาก 15% สู่ 62% ในช่วงเวลาแค่สิบกว่าปี (จาก The Economist) เพราะพ่อแม่ของคนกลุ่มนี้จะส่งเสียลูก ๆ ให้มีการศึกษาสูง ๆ และประเทศก็กำลังต้องการแรงงานจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ คนจึงขาดแคลน และกลุ่มคนกลุ่มนี้ก็เข้ามาสู่ระบบแรงงานพอดีในช่วงพัฒนาประเทศ จึงสามารถ “ไต่เต้า” ขึ้นมาตำแหน่งสูง ๆ ในองค์กรได้ ระบบสวัสดิการยุคแรกก็ยังคงแข็งแรงเนื่องจากยังไม่มี “ตัวหาร” หรือคนที่เกษียณก่อนหน้า กลุ่มคนที่เกษียณในชนชั้นกลางกลุ่มแรก ๆ แม้ไม่ได้ “ร่ำรวย” มาก แต่ก็ “มีความสุข” ได้รับสวัสดิการที่ยอดเยี่ยม และอยู่ได้อย่างสบาย ๆ ตลอดชีวิต
แต่มายุคหลัง ๆ พอที่ประเทศเริ่มพัฒนาก้าวขึ้นมาถึงจุดหนึ่ง ดูเหมือนกลยุทธ์ “เรียนสูง ๆ” นี้จะใช้ได้ลำบากขึ้น เนื่องจาก “การศึกษา” ไม่ได้เป็นปัจจัยที่การันตีความสำเร็จอีกต่อไป เพราะคนทุกคนใช้กลยุทธ์เดียวกัน จึงมีคนจบปริญญาจำนวนมาก ดังนั้นปิรามิดของแรงงานยุคใหม่จึงมีฐานกว้างกว่าเดิม คนกลุ่มใหม่ ๆ จึงต้องใช้ “เวลา” มากกว่าเดิมในการก้าวสู่ระดับสูงในบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น ระบบสวัสดิการก็เริ่มยากลำบากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่คิดไว้แต่แรกมาก ดังนั้นทำงานจนเกษียณและมีองค์กรเลี้ยงดูจึงเป็นภาพในอดีต ตัวอย่างบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่านี้ คือ Kodak Eastman นอกจากปัญหาเรื่องการแข่งขันในธุรกิจกล้องดิจิตอลที่ทดแทนฟิล์มแล้ว ส่วนหนึ่งคือต้นทุนการดูแลพนักงานเกษียณของ Kodak สูงมากจนไม่สามารถอยู่รอดในธุรกิจได้
ในเชิงสถิติแล้ว มีการศึกษาเรื่องคนชั้นกลางในอเมริกาซึ่งเคยมีสัดส่วนแบ่งรายได้ของทั้งระบบเศรษฐกิจ 62% ตั้งแต่ยุค 1960 และลดลงมาเหลือ 45% ช่วงทศวรรษ 2000 (จาก Business Insider) ทั้ง ๆ ที่จำนวนคนชั้นกลางมีสัดส่วนสูงขึ้นมาก และรายได้ก็สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในแง่การรักษาระดับมาตรฐานการครองชีพ แม้ว่า “สินค้า” บางอย่างจะมีราคาถูกลงกว่าแต่ก่อน เพราะการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกจากประเทศกำลังพัฒนา แต่ค่าใช้จ่ายในบางหมวดก็สูงขึ้น เช่น ต้นทุนเรื่องการศึกษา การแพทย์ ในอดีตเราอาจจะเคยเห็น Babysitter หรือ “พี่เลี้ยงเด็ก” ในอเมริกา แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก นอกเสียไปกว่านั้น ที่อยู่อาศัยก็มีราคาสูงขึ้น คนรุ่นใหม่ในอเมริกาจึงมีแนวโน้มอยู่กับพ่อแม่ และไม่มีลูก เนื่องจากแรงกดดันเหล่านี้
ภาพประเทศไทยมีแนวโน้มเดียวกัน และอาจจะยิ่งหนักกว่าเนื่องจากประเทศกำลังติดกับดัก Middle Income Trap เพราะขาดนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน พร้อม ๆ ไปกับการเข้าสู่สังคมวัยชรา คนรุ่นใหม่อาจจะต้องแบกรับภาษีมากขึ้นไปอีกซึ่งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันระยะยาวลงไป อีกเรื่องที่สำคัญคือโลกในยุคใหม่ เลือกวิธีการที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการฉีดเงินเข้าระบบ (เช่นการทำ QE) ทำให้ “มูลค่า” ของเงิน หรือ หมายถึงเงินเดือนเราลดลงทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ราคาธุรกิจ (หรือราคาหุ้น) หรือราคาที่ดิน ซึ่งแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นมีราคา PE เฉลี่ยสูงขึ้นจาก 10 เท่า ขึ้นไปสู่ 20 เท่า และดูเหมือนหุ้นอาจจะมีโอกาสแพงได้อีกยาวนาน ในอดีตเราอาจจะได้ยินสำนวน “ที่ดิน” เท่าแมวดิ้นตาย ตอนนี้อาจจะกลายเป็นคอนโดกลางอากาศห้องเล็ก ๆ ที่แมวอาจจะดิ้นไม่พอ และราคาก็จะสูงหลายล้านบาท ด้วยเงินเดือนเฉลี่ยปัจจุบันอาจจะทำให้ “ชนชั้นกลาง” ต้องผ่อนหนี้บ้านตลอดชีวิต เราจะเห็นการใช้เงินเดือนชนเดือน การเอาเงินล่วงหน้ามาใช้ เช่นผ่อนบัตรเครดิต และคิดหนักเรื่องการมีลูก
ทางรอดของชนชั้นกลางจะเป็นอย่างไร และโอกาสซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างติดตามต่อตอนหน้าครับ