โค้ด: เลือกทั้งหมด
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกของการสื่อสารแบบใหม่ประเภทโซเชียลมีเดีย คือการขาดการกลั่นกรองข้อมูลที่ส่งต่อๆกัน ด้วยความที่ต้องการแข่งขันกันในด้านเวลา ทำให้ผู้รับสื่อไม่ได้อ่านหรือวิเคราะห์ข้อเท็จจริง ก่อนที่จะส่งต่อไป และแม้จะไม่ส่งต่อ บางครั้งก็เผลอรับข้อมูลที่ได้มาและเชื่อว่าเป็นจริงทั้งหมด
การที่เราเชื่อในสิ่งที่เราอ่าน เกิดมาจากพื้นฐานของความเชื่อมั่นในอดีตที่เรามีประสบการณ์ว่า ข้อเขียนต่างๆที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นข้อเขียนที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ หรือผู้นำมาตีพิมพ์
มาในสมัยนี้ ใครใคร่เขียนเผยแพร่ก็เขียนไป ใครมีเพื่อนเยอะก็ได้เปรียบ คนที่ปกติพูดก็ไม่ค่อยมีใครฟัง อาจจะเขียนเพื่อให้คนส่งต่อ และหาก “ถูกใจ” “ถูกเวลา” ก็จะได้รับการส่งต่อๆกันไปโดยไม่มีการกลั่นกรอง ข้อแนะนำแปลกๆจึงออกมาอยู่เสนอ เช่นแนะนำให้นวดตา เป็นต้น ได้สอบถามจักษุแพทย์แล้ว การนวดตาแบบที่ส่งเผยแพร่ต่อๆกันใน “ไลน์” นั้น น่าจะเป็นอันตรายต่อดวงตาด้วยซ้ำไป
อยากให้สังคมไทยเราฝึกแยกแยะ “ความเห็น” โดยเฉพาะ “ความเห็น”ที่ไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ ออกจาก “ความจริง” หรือข้อมูลที่ถูกต้องค่ะ
เริ่มจาก ทุกคนควรจะถือเป็นกติกาก่อนว่า หากข้อมูลที่ได้รับมา ไม่เขียนแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน เราจะไม่เผยแพร่ต่อ จนกว่าเราจะสามารถยืนยันได้ว่า ข้อมูลหรือคำแนะนั้นถูกต้อง
ส่วนสิ่งที่เป็นความเห็น ควรจะได้รับการเผยแพร่ต่อโดยอ้างด้วยว่า เป็นความเห็นของใคร เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด ก่อนการนำไปเผยแพร่ต่อ
การตั้งกติกานี้ อยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ความน่าเชื่อถือของคนเราไม่เท่ากัน” ซึ่งเป็นความจริงค่ะ หากให้ดิฉันแนะนำวิธีรักษาโรค ก็คงจะไม่น่าเชื่อถือเท่าแพทย์แนะนำ เราจึงต้องให้ความสำคัญต่อการเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือความชำนาญส่วนบุคคลด้วย
ประการที่สอง ต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แม้จะมีการอ้างที่มาของข้อมูล หากอ่านแล้ว แปลกๆ หรือขัดกับความรู้ที่เราเคยได้รับ หรือประสบการณ์ที่เราเคยมี ต้องทำการพิสูจน์ก่อนเผยแพร่ต่อ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของตัวเอง
เมื่อยึดถือกฎข้อนี้ เราจะไม่ส่งข้อความแนะนำให้คนนำน้ำหมักผักหรือผลไม้ ไปหยอดตาแน่นอน เพราะรู้ว่าสิ่งที่จะเข้าไปในตาได้ ต้องเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เท่านั้น
แน่นอนว่า การพิสูจน์ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนั้น หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ กรุณาอย่าส่งต่อข้อมูลนั้น เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น หากเขานำไปปฏิบัติ การไม่ส่งต่อข้อความที่น่าสงสัย เป็นการหยุดไม่ให้เกิดการก่อบาป และเผยแพร่ความเท็จต่อ
ประการที่สาม ทุกคนในฐานะบรรณาธิการของตัวเอง หากพิสูจน์แล้วว่าข้อความนั้นผิด ต้องแก้ไขและเผยแพร่ให้คนอื่นๆรู้ด้วย จะได้ไม่หลงเชื่อในสิ่งผิดๆค่ะ อย่าเก็บเอาไว้คนเดียว เช่น ดิฉันพยายามแจ้งคนที่ส่งเรื่องนวดตามาให้ ว่าได้เช็คกับจักษุแพทย์แล้วว่าไม่ควรทำ ดังนั้น เขาจะได้กลับไปเผยแพร่แก้ไขข้อมูลในกลุ่มที่เขาได้เผยแพร่สิ่งที่ไม่น่าจะถูกต้องไป
แต่ข้อมูลที่เราแย้งกลับนั้น ต้องไม่ใช่ข้อมูลที่ผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือผิดต่อกฎหมายอื่นนะคะ
หลายครั้งเรื่องที่เผยแพร่เป็นเรื่องที่มีบางคนสร้างขึ้นมาเอง แล้วส่งต่อๆกัน พอแหล่งข่าวมาแก้ไขข่าว ก็จะเงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็จะมีคนที่ไม่เคยเห็นข้อมูลนั้น มาเห็นแล้วนำไปส่งต่ออีก เรียกได้ว่า กว่าจะกำจัดข้อมูลผิดๆออกไปจากวงจร ใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียวค่ะ
ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตรวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆพึงระวังว่า ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีการระบุการทำความผิด เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อผู้หนึ่งผู้ใด รวมถึงการส่งต่อหรือแชร์เรื่องเหล่านี้ต่อๆกันในสื่อสังคมออนไลน์ หรือโชเชียลมีเดีย ถือเป็นการทำทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือแม้กระทั่งเข้าไปโจมตีหรือโต้แย้งข้อมูลดังกล่าว ก็ผิดค่ะ เพราะกลายเป็นไปทำให้มีการแสดงหรือเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ยังไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการตัดต่อภาพของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสียหาย คือบางทีอาจจะดูตลก แต่คนที่เสียหายเขาไม่ตลกด้วยค่ะ
โทษมีตั้งแต่จำคุก 6 เดือน ไปถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับค่ะ
ศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร www.mict.go.th
ท้ายนี้ดิฉันอยากจะแนะนำหนังสือเล่มเล็กที่เป็นประโยชน์ ไม่เฉพาะในเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังแนะนำการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ แทปเล็ต ทั้งในด้านการระมัดระวังความปลอดภัย การตั้งค่าความปลอดภัย การเลือกแพคเกจการใช้ให้เหมาะสม การรู้จักป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ ทั้งภัยจากการหลอกลวง จากไวรัส จากแอพพลิเคชั่นบางอย่าง จากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จากการใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม รวมถึงค่าใช้จ่ายออนไลน์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เวลาเดินทางไปต่างประเทศ หรือการซื้อของในเกมส์ออนไลน์ หรือสั่งซื้อของในลักษณะการช้อปปิ้งออนไลน์
หนังสือชื่อ “คู่มือ Cyber Security สำหรับประชาชน” จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) หนา 208 หน้า พิมพ์ออกมาแจกจ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 นี่เองค่ะ สามารถดาวน์โหลดออนไลน์ได้ที่
http://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect/f6493980470690859bd2df7fffc38b76/เอกสารแนบ.pdf?MOD=AJPERES&CACHEID=f6493980470690859bd2df7fffc38b76
ในตอนท้ายของหนังสือมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต 10 ข้อ คือ 1.ออนไลน์แต่พอดีไม่มีโทษ 2.เก็บเรื่องส่วนตัวไว้ไม่ต้องบอกใคร 3.รหัสผ่านควรเป็นความลับ 4.ไม่นัดพบกับคนแปลกหน้า 5.โพสต์สิ่งใดให้ทำด้วยความระมัดระวัง 6.แชร์ต่ออย่างมีสติ 7.ไม่หลงผิดไปกับสิ่งผิดกฎหมาย 8.เสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณ 9.ระวังร้านออนไลน์ที่ไม่ซื่อสัตย์ และ 10.ระวังการละเมิดลิขสิทธิ์