โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความครั้งที่แล้วกล่าวถึงพัลลภ คนสวนแรงงานต่างด้าวเงินเดือนหมื่นต้นๆที่ทำงานเก็บเงินมา 6-7 ปีจนสามารถมีเงินเก็บถึง 1 ล้านบาท นอกเหนือจากวินัยในการเก็บเงินแล้ว แนวคิดการลงทุนของคนสวนคนนี้ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เรามาดูว่าเขาต่างจากพนักงานคนอื่นๆทั่วไปอย่างไร
หนึ่ง พัลลภยังคงทำงานเป็นคนสวนและประหยัดเช่นเดิม ถึงแม้เขาจะมีเงินเก็บเป็นล้านแล้วก็ตาม เขายังคงเลือกที่จะทำงานเป็นคนสวนที่ต่ำต้อยต่อไป เงินเดือนแต่ละเดือนเขาแทบจะไม่ใช้จ่ายและยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานพร้อมทั้งเก็บเงินต่อไปอย่างขะมักเขม้น เขาไม่ได้เอาเงินเก็บมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาเก็บนั้นก็เพื่อนำไปลงทุนต่อยอด ทุกวันเขายังทำงานกลางแดดเพื่อปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้และเปิดปิดร้านเป็นประจำทุกวันโดยไม่เรียกร้องอะไรเพิ่มเติมจากนายจ้าง ได้รับเพียงเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมเดือนละไม่กี่พันบาท ผิดกับพนักงานคนอื่นๆรวมถึงคนทำงานกินเงินเดือนทั่วไป พอมีเงินเก็บเรามักจะคิดอยากใช้เงินที่เรามีซื้อความสุขให้กับตัวเราเอง เช่น ไปเที่ยวเมืองนอก หรือไม่ก็ซื้อของ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าหรือแม้แต่รถยนต์คันใหม่ การนำเงินเก็บไปใช้ในช่วงแรกจะทำให้เป้าหมายการออมไม่บรรลุจุดประสงค์เพราะเหมือนเป็นการเอาเงินต้นไปใช้จ่ายแทนที่จะนำดอกผลของการลงทุนไปใช้เมื่อเงินต้นมีมากพอ ทำให้พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่รู้สึกว่าทำงานมาตั้งหลายปีแต่เก็บเงินไม่ได้สักที
สอง พัลลภไม่ยอมนำเงินไปปลูกบ้าน มีเพื่อนมาแนะนำให้เขานำเงินไปปลูกบ้านในแผ่นดินเกิด เพราะการมีบ้านที่ทันสมัยถือว่าครอบครัวนั้นมีหน้ามีตาในประเทศเพื่อนบ้าน บ้านคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้นจะเป็นบ้านไม้เก่าๆเหมือนในชนบทประเทศไทย แต่ถ้าบ้านไหนมีเงินมากหน่อยจะสร้างบ้านใหม่เป็นบ้านตึกสองชั้นเพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคมและการเงินที่เหนือกว่าเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน เพื่อนๆของพัลลภต่างส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ของตนเพื่อที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ ทุกคนทำเช่นเดียวกัน แต่พัลลภกลับไม่เห็นด้วยและบอกว่าการสร้างบ้านไม่ใช่การลงทุน เพราะเงินที่มีจะจมไปกับบ้านหมดกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ เขาจึงนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นแทนการสร้างบ้านเหมือนคนอื่นๆ ถ้าเทียบกับพัลลภแล้วจะเห็นว่าพนักงานออฟฟิศทั่วไปหลังจากที่เก็บเงินมาก้อนหนึ่งแล้ว ก็อยากจะมีบ้านหรือคอนโดเป็นของตนเอง เงินที่มีส่วนใหญ่มักจะเพียงพอแค่ค่าดาวน์บ้านเท่านั้น จึงต้องกู้ธนาคารเพื่อนำมาซื้อบ้านแล้วก็ผ่อนต่อไปอีกเป็นสิบปี การทำเช่นนี้อาจเป็นการบั่นทอนพลังงานในการเก็บเงินเพื่อต่อยอดการลงทุนของเราในช่วงแรก เพราะบ้านหรือคอนโดที่ซื้อมานั้นกลายเป็นหนี้สินที่ต้องหาเงินมาจ่าย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่สร้างรายได้ให้กับเราแต่อย่างใด ข้อแตกต่างอย่างมากระหว่างคนรวยและคนชั้นกลางคือมุมมองต่อทรัพย์สินและหนี้สินนี่เอง คนชั้นกลางชอบกู้เงินซื้อบ้านและคิดว่าเป็นทรัพย์สิน ขณะที่คนรวยมองว่าบ้านคือหนี้สินต่างหาก ทำให้คนชั้นกลางเต็มไปด้วยทรัพย์สินที่มาพร้อมภาระหนี้จนไม่สามารถหยุดทำงานได้เพราะถ้าไม่มีรายได้หมายถึงทรัพย์สินที่มีต้องถูกธนาคารยึดไปจนหมด ข้อนี้จะเห็นว่าพัลลภมีความคิดในการลงทุนมากกว่าพวกเราหลายๆคนเลยทีเดียว
สาม พัลลภนำเงินไปลงทุนในบ้านเกิด หลังจากที่เขาเก็บเงินได้มากพอแล้ว เขาได้ส่งเงินที่มีไปให้กับแม่ของเขาที่ประเทศเพื่อนบ้านโดยบอกกับแม่ของเขาให้นำไปลงทุนในแบบที่พัลลภวางเอาไว้ เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้าน การธนาคารยังไม่แพร่หลาย หลายหมู่บ้านไม่มีสาขาของธนาคาร การกู้เงินยังทำได้ยากเพราะไม่มีระบบเครดิต ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องกู้เงินนอกระบบถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เงินซึ่งส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยสูงมาก ผู้ปล่อยกู้บางรายคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันสูงถึงร้อยละสองต่อวันหรือเดือนละ 60 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว พัลลภมองเห็นช่องว่างของธุรกิจนี้จึงบอกให้แม่ของเขานำเงินที่เก็บได้ไปปล่อยกู้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 5 ต่อเดือนซึ่งถือว่าน้อยกว่าเจ้าอื่นๆมาก ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดเช่นนี้ทำให้ผู้กู้อยากจะมากู้จนต้องเข้าชื่อจองคิวไว้จกว่าเงินก้อนใหม่จะเข้ามาให้กู้ นอกเหนือจากนั้นการจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นภาระต่อผู้กู้น้อยลงจึงมีหนี้เสียเกิดขึ้นน้อยมาก พัลลภทำธุรกิจนี้มาได้สักปีสองปีแล้วและกำลังไปได้ด้วยดี
ถ้าเขาสามารถทำเช่นนี้ไปได้อีกสักสิบปี โอกาสที่เขาจะมีเงินเป็นสิบๆล้านไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ดังนั้นการที่เขามีความคิดเช่นนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจถ้าเขาจะกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในหมู่บ้านของเขาอย่างแน่นอนในอนาคต