โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งที่แล้วผมสรุปว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มีข้อจำกัดอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายการคลัง (ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป) จึงคงต้องพึ่งพานโยบายการเงินเป็นหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประเทศอื่นๆ เช่น ผู้ส่งออกน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ เช่นตะวันออกกลางและออสเตรเลีย ก็ประสบปัญหากับรายได้ภาครัฐ ทำให้ต้องปรับลดรายจ่ายเช่นกัน ในกรณีของจีนนั้นเคยพยายามรักษาวินัยทางการเงินและใช้แต่นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในระยะหลังนี้ ก็ต้องเปลี่ยนท่าทีและใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงไม่หยุด และรัฐบาลท้องถิ่นกับภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ประสบปัญหาจากข้อจำกัดทางการเงินและสินเชื่ออย่างมาก แปลว่าเกือบทุกประเทศหลักของโลกต้องกลับมาใช้นโยบายการเงิน เพราะนโยบายการคลังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้
ครั้งที่แล้วผมให้คำนิยามนโยบายการเงินว่า โดยปกติแล้วหัวใจของนโยบาย คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำ และแม้จะมีภาระหน้าที่อื่นๆ เช่น การกำกับดูแลธนาคารและระบบการเงิน ตลอดจนเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็บอกว่าเรื่องดังกล่าวนั้นโดยปกติแล้วเป็นเรื่องรอง (แต่ไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ) ในเชิงที่ว่าหากควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะเอาไม่อยู่เช่นกัน แต่ในสภาวะปัจจุบันนั้น ปัจจัยที่เป็นห่วงกลับกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจไม่ฟื้นและกลัวเงินฝืด ทำให้ต้องกดดอกเบี้ยลงเหลือศูนย์ และพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งผมได้เคยเขียนอธิบายแล้วว่า เป็นมาตรการทางการเงินที่แหวกแนวนอกตำราเศรษฐศาสตร์อย่างมาก
กล่าวคือ มาตรการที่เรียกว่า “คิวอี” นั้นในกรณีของสหรัฐมุ่งเน้นให้ภาคเอกชนขายสินทรัพย์คุณภาพดีและนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยนักลงทุนเข้าใจว่าธนาคารกลางจะปิดความเสี่ยงขาลงให้ กล่าวคือราคาหุ้นจะมีแต่ปรับขึ้นไม่มีปรับตัวลง (หรือที่เรียกกันว่า Greenspan put และ Bernanke put ซึ่งอาจรวมถึง Yellen put ด้วย) ส่วนในกรณีของญี่ปุ่นและยุโรปนั้น ก็ใช้มาตรการคิวอีเหมือนกัน แต่หวังผลให้เงินอ่อนค่า (ซึ่งก็เกิดเช่นนั้นจริงๆ ทำให้คนไทยแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด) เพื่อฟื้นเศรษฐกิจและขจัดความเสี่ยงที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดภาวะเงินฝืดขึ้น
สภาวการณ์ที่กล่าวข้างต้นนั้นมองได้ว่า ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินปัจจุบันกลับหัวกลับหางกับทฤษฎีและสมมุติฐานดั้งเดิม กล่าวคือนโยบายการเงินนั้นวิวัฒนาการมาจากอดีตกาล ที่กษัตริย์จะมีอำนาจเต็ม และบางครั้งจึงอาศัยอำนาจดังกล่าวเรียกคืนทองคำและเงิน (gold and silver) ที่ใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม (เช่นที่เราใช้ธนบัตรซื้อสินค้าในปัจจุบัน) และอ้างว่าจะนำมาผลิตเหรียญใหม่ แต่มักจะแยกเอาส่วนที่เป็นทองคำและเงินออกมา โดยผสมโลหะที่มีค่าน้อยกว่าลงไป ทำให้กษัตริย์มีกำไรเกิดขึ้นจากการผลิตเหรียญใหม่เพื่อนำไปใช้จ่ายได้ ซึ่งเป็นเสมือนกับการเพิ่มปริมาณเงินในระบบและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในบางกรณี
เช่น การที่สเปนขนเอาทรัพย์สมบัติเงินทองมากมายมาจากการค้นพบทวีปอเมริกานั้น กลับมิได้ทำให้ประเทศสเปนร่ำรวยมากขึ้น แต่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง หลายครั้งในกรณีที่เกิดสงครามหรือหลังสงครามรัฐบาลก็มักจะพิมพ์เงินออกมาในปริมาณมากๆ เพื่อใช้จ่าย แต่ก็เป็นการสร้างเงินเฟ้อ ที่บางครั้งควบคุมไม่ได้ เช่นกรณีของประเทศเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งความเสียหายที่ตามมาจากการเกิดเงินเฟ้อเป็นพันเปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์ได้รับความนิยมและยึดอำนาจได้สำเร็จ เป็นต้น
ที่เขียนมาอย่างยืดยาว ก็เพราะอยากให้เห็นถึงภูมิหลังที่มาและความสำคัญ ของการที่จะต้องมีวินัยทางการเงิน และการดำเนินนโยบายทางการเงินจึงต้องแบ่งแยกออกมาให้ชัดเจน จากการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยให้การดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพียงวัตถุประสงค์เดียว คือ การควบคุมเงินเฟ้อ
ซึ่งในอดีตหลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมานั้น หากไม่ระมัดระวังก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาได้โดยตลอด เพราะหากผู้ที่มีอำนาจในการพิมพ์เงินมีความต้องการและภาระหน้าที่ที่จะต้องใช้เงิน (เช่น รัฐบาลมีรายจ่ายมากมาย) ก็จะเป็นการเสี่ยงที่จะให้อำนาจพิมพ์เงินนี้รวมศูนย์อยู่ที่เดียวกัน จึงต้องกำหนดให้มีธนาคารกลางแยกออกมาทำหน้าที่พิมพ์เงินในจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปจนทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางย่อมจะต้องไม่มีพันธกิจอันใดที่จะต้องใช้จ่ายเงิน เช่น จะต้องไม่มีหน้าที่ไปพัฒนาอุตสาหกรรมหรือสร้างถนน แต่จะต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการทำให้เงินเสื่อมค่าน้อยที่สุด (เงินเฟ้อต่ำที่สุด) นั่นเอง
แต่คำถาม คือ โลกที่เศรษฐกิจมีแต่ความร้อนแรงและเงินเฟ้อมีแต่มากไปไม่เคยน้อยไปนั้น เป็นเรื่องของอดีต แต่ปัจจุบันและอนาคตนั้น กำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ที่เศรษฐกิจมีแต่ความเปราะบาง และปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาเงินฝืดจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่กำลังมีการถกเถียงกันอยู่ และย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเป็นกรอบนโยบายที่พยายามคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูง ซึ่งอาจไม่เหมาะสมและไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในกรณีที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อต่ำเรื้อรัง (disinflation) หรือเงินฝืด (deflation) ซึ่งจะต้องถามต่อไปว่า ปัจจัยอะไรทำให้เชื่อได้ว่าโลกในอนาคตจะโตช้าและประสบปัญหาเงินเฟ้อต่ำ ไม่ใช่เงินเฟ้อสูงดังที่เคยเผชิญ มาบ่อยครั้งในอดีต
ผู้ที่ให้คำตอบในเชิงกลัวความตกต่ำอย่างยืดเยื้อ (secular stagnation) นั้น จะอ้างสาเหตุ ดังนี้
1. การแก่ตัวอย่างรวดเร็วของประชากรโลก
2. วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่จะชะลอตัวลงในอนาคตและเทคโนโลยีที่ใช้เงินลงทุนต่ำ
3. หนี้สินจำนวนมากที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขยายการบริโภคและลงทุน
4. ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่กำลังซื้อน้อยลง ในขณะที่คนรวยมีจำนวนน้อยแต่ร่ำรวยยิ่งขึ้น มักจะไม่บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะบริโภคจนอิ่มตัวแล้ว
ผมจะขอขยายความต่อไปในตอนหน้าครับ