มหาเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

มหาเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ในเดือนมิถุนายนของทุกปี ดิฉันจะนำงานวิจัยของผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก ที่จัดทำโดย Capgemini มาเล่าให้ท่านอ่าน  ในปีนี้ก็เช่นกันค่ะ งานวิจัยเกี่ยวกับผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก ซึ่งรายงานเอาไว้ใน World Wealth Report 2015 เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา

    ในปีนี้ ทาง Capgemini และ RBC Wealth Management ได้ทำแบบสอบถามที่ได้คำตอบลึกขึ้น เกี่ยวกับ ความคาดหวังของผู้มีความมั่งคั่งสูงเหล่านี้ ต่อที่ปรึกษาและนักวางแผนการเงินผู้ดูแลบัญชีของตน

    ณ สิ้นปี 2014 ผู้มีความมั่งคั่งสูงซึ่งหมายถึงผู้มีสินทรัพย์เกินกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 33.5 ล้านบาท)ขึ้นไป ในโลกนี้ มีจำนวน 14.649 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ประมาณ 6.7% แบ่งเป็นผู้มีความมั่งคั่ง 1-5 ล้านเหรียญ 13.185 ล้านคน มีความมั่งคั่ง 5-30 ล้านเหรียญ 1.325 ล้านคน และมีความมั่งคั่งมากกว่า 30 ล้านเหรียญ 139,000 คน

    เมื่อแบ่งตามภูมิภาคที่อาศัย พบว่า เอเชียแปซิฟิกมีจำนวนมหาเศรษฐีแซงนำ ทวีปอเมริกาเหนือไปเล็กน้อย คือมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่ที่ 4.69 ล้านคน ในขณะที่อเมริกาเหนือมี 4.68 ล้านคน

    ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ทั่วโลก รวมกันเท่ากับ 56.4 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ประมาณ 7.2% ซึ่งนับเป็นอัตราการเพิ่มที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ  ดิฉันเห็นว่าน่าจะเป็นผลจากการที่อัตราดอกเบี้ยในโลกต่ำเตี้ยติดดิน แม้ตลาดหุ้นจะพอให้ผลตอบแทนบ้าง แต่ตลาดหุ้นโลกในปีที่แล้วก็ไม่ได้ผลตอนแทนมากเท่าปีก่อนหน้า

    ในด้านสัดส่วนของการลงทุนนั้น พบว่าผู้มีความมั่งคั่งสูงโดยรวม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน 2% และลดสัดส่วนการถือครองเงินสด 1% จากปี 2013  โดยการจัดสรรการลงทุนในปี 2014 ประกอบด้วย เงินสด/เงินฝากและการลงทุนในตลาดเงิน 25.6% ตราสารหนี้ (รวมพันธบัตร) 16.9% หุ้นทุน 26.8% อสังหาริมทรัพย์ 17.6% และการลงทุนทางเลือก 13%

    หากเปรียบเทียบการถือครองเงินสด/เงินฝากและตราสารในตลาดเงิน จะพบว่าผู้มีความมั่งคั่งสูงถือครองส่วนสภาพคล่องนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่าระดับ 15% ซึ่งเป็นระดับที่ ที่ปรึกษาหรือผู้จัดการความมั่งคั่งส่วนใหญ่แนะนำ และในการวิจัยครั้งนี้เขาได้สอบถามถึงสาเหตุด้วยค่ะ ว่าทำไมจึงมีสภาพคล่องในสัดส่วนที่สูง เพราะเท่ากับเสียโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ

    ถ้าถามดิฉันก็ตอบได้เลยว่า ในสภาวะที่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงแล้ว เขาไม่ต้องการที่จะเสี่ยงมาก เพราะกว่าจะสะสมความมั่งคั่งมาถึงระดับนี้ ย่อมใช้เวลา และเมื่อมีถึงระดับนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงมากมายเพื่อให้ทรัพย์สินโตขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างไรก็เหลือกินเหลือใช้ เกินพอแล้ว

    คำตอบของผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกก็คล้ายๆกันนี้คือ 36.1% ตอบว่าสำรองสภาพคล่องเอาไว้เพื่อเอาไว้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง  30.7% บอกว่า เพื่อความมั่งคง เผื่อความผันผวนของตลาด  14.7% บอกว่าเพื่อโอกาสในการลงทุนเฉพาะ ที่อาจมีขึ้น  และตอบว่าเตรียมสำรองเอาไว้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 6% เอาไว้ใช้ในธุรกิจของตนเอง 5.9% ส่วนอีก 5.5% ไม่เห็นว่า การมีเงินสดในสัดส่วนสูงจะเป็นเรื่องสำคัญอะไร 

    ก็จริงนะคะ อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะปานกลางทั่วโลกในปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ต่ำมากๆ เพิ่งจะมาขยับแรงๆในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การถือครองตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวจึงมีความแตกต่างในเรื่องของผลตอบแทนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการถือเงินสด/เงินฝากและลงทุนตลาดเงินที่มีสภาพคล่องสูงดีกว่า และสภาพคล่องสูงก็ทำให้มีเงินทำอะไรที่อยากทำหรืออยากลงทุนได้ทันที 

    สำหรับภูมิภาคที่ผู้ลงทุนเหล่านี้ลงทุน ตามที่ดิฉันเคยเขียนไปแล้วเรื่อง Home Bias หรือการให้น้ำหนักภูมิภาคที่ตนเองอยู่มากกว่าภูมิภาคอื่นนั้น พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2015 นี้ โดยเฉลี่ย ผู้มีความมั่งคั่งสูงจะลงทุนในภูมิภาคของตนเองเป็นสัดส่วน 64.2% โดยที่เหลือจะกระจายลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ

    เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปี 2015 กับไตรมาสแรกของปี 2014 ผู้ลงทุนเอเชียแปซิฟิก เพิ่มการลงทุนในภูมิภาคยุโรป และลดการลงทุนในอเมริกาเหนือ และภูมิภาคของตน ในขณะที่ผู้ลงทุนในอเมริกาเหนือ เพิ่มการลงทุนในภูมิภาคของตน 5.3% โดยลดการลงทุนในเอเชีย 1.9% และลดภูมิภาคอื่นๆทุกภูมิภาคอีก 3.4% 

    สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงชาวยุโรปได้เพิ่มการลงทุนในภูมิภาคของตัวเอง 1.2% โดยลดการลงทุนในละตินอเมริกาลงไป

    นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่คนกลุ่มนี้มีใจเผื่อแผ่ให้กับสังคมมากขึ้น โดยการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงมีความสนใจที่จะลงทุนเพื่อสังคม และส่วนใหญ่ไม่มีเป้าหมายแน่นอนว่า จะนำเงินไปช่วยด้านไหนของสังคม จึงเปิดรับความคิดจากคนรอบข้าง โดยบุคคลในครอบครัว ที่ปรึกษาหรือนักวางแผนการเงิน และเพื่อน จะมีอิทธิพลต่อแนวคิดมากที่สุด               

    สำหรับความคาดหวังต่อที่ปรึกษาหรือนักวางแผนการเงินผู้ดูแลบัญชีนั้น ผู้มีความมั่งคั่งสูงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อย มีความต้องการให้ที่ปรึกษาเหล่านี้ช่วยวางแผนการเงินอย่างมีเป้าหมาย และช่วยสนับสนุนหลายๆด้าน รวมถึงให้คำปรึกษาในการลงทุนเพื่อสังคม และช่วยจัดโครงสร้างจนกระทั่งสามารถดำเนินการได้ด้วยค่ะ 

    ได้ทราบข้อมูลการลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงอย่างนี้แล้ว ท่านผู้ลงทุนอาจจะเห็นแนวทางในการจัดพอร์ตการลงทุนของตัวท่านเองบ้าง และนักวางแผนการเงินคงเห็นแนวทางในการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนเองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นนะคะ
[/size]
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: มหาเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: มหาเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
lukton2000
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 352
ผู้ติดตาม: 0

Re: มหาเศรษฐีเอเชียแปซิฟิก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ผมคิดว่าตัวเลขผู้มีสินทรัพย์ มากกว่า 1 ล้านเหรียญ ทั่วโลก ตามผลรายงานนี้
น่าจะต่ำกว่าความจริงไปมาก
โพสต์โพสต์