โค้ด: เลือกทั้งหมด
เรากำลังคาดหวังกันว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ก็ถูกเตือนว่าการฟื้นตัวนั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะว่าเศรษฐกิจโลกเองก็พยายามฟื้นตัวมา 6 ปีแล้ว ก็ยังขยายตัวอย่างกระท่อนกระแท่น โดยสหรัฐต้องใช้มาตรการคิวอีคือ การพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมหาศาล 3 ระลอกเพื่อซื้อพันธบัตร (กดดอกเบี้ยระยะยาว) ตามด้วยคิวอีของญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งประสบผลสำเร็จในการทำให้ค่าเงินของตนอ่อนลง 30%
นอกจากนั้น ยังมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศทยอยลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้เงินสกุลของตนอ่อนค่าลง จนมีการกล่าวถึงสงครามค่าเงิน (currency war) แต่ผมคิดว่าการลดค่าเงินนั้น น่าจะมองว่าเป็นการแก่งแย่งอุปสงค์ที่มีจำกัดในขณะนี้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การส่งออกภาวะเงินฝืดไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่มิได้ดำเนินมาตรการเพื่อให้ค่าเงินของตนอ่อนลงนั่นเอง
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นห่วงว่าประเทศต่างๆ กำลังหาทางออกแบบง่ายๆ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน กล่าวคือ แทนที่จะช่วยกันกระตุ้นอุปสงค์โดยรวมจากการลงทุนเพิ่มขึ้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรงและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ก็หันมาแย่งกันขอส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น
1.ประเทศพัฒนาแล้วยังมีหนี้สินคงค้างสูงมาก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างเชื่องช้า
2.วามขัดแย้งรุนแรง ระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ทำให้สหรัฐไม่สามารถคลอดมาตรการทางการคลังได้ ในส่วนของยุโรปก็ยังอยู่ในช่วงรัดเข็มขัดทางการคลัง และพยายามแก้ปัญหากรีซ ส่วนหนี้สาธารณะญี่ปุ่นก็สูงถึง 240% ของจีดีพีแล้ว
3.การแก่ตัวของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้อุปสงค์ลดลง
4.พัฒนาการทางเทคโนโลยี ในยุคหลังนี้มีผลต่อผลิตภาพไม่สูงเหมือนแต่ก่อน และการลงทุนก็ใช้ทรัพยากรน้อย ดังที่ผมเคยเปรียบเทียบบริษัทรถยนต์จีเอ็มกับเฟซบุ๊ค
สำหรับประเทศไทยนั้น จึงมีประเด็นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะสิ่งที่ท้าทายเราอยู่ในขณะนี้คือ
1.ภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคือการส่งออกสินค้า (60% ของจีดีพี) นั้นไม่ขยายตัวมา 3 ปีแล้ว มีที่ฟื้นตัวคือการส่งออกบริการ (การท่องเที่ยว) แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี
2.อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 55% ของจีดีพี แต่ ครัวเรือนไทยมีหนี้สินมากและเริ่มเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่ม ในขณะที่รายได้ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้การบริโภคไม่สามารถขยายตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
3.การลงทุนเอกชนคิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพี และภาครัฐคาดหวังว่าจะขยายตัวเพื่อร่วมลงทุนกับภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่โดยรวมแล้วการใช้กำลังการผลิตของไทยยังต่ำประมาณ 60% ดังนั้น จึงยังไม่ได้มีความจำเป็นที่จะเร่งรัดการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็อาจเป็นเหตุให้นักลงทุนรอจนกว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจนมากกว่านี้
4.หลังจากที่รัฐบาลใช้งบลงทุนไปเพียง 30% ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ (1 ต.ค.2014 ถึง 31 ม.ค.2015) รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า ในครึ่งหลังของปีงบประมาณจะมีการใช้เงินลงทุนอีก 50% ของงบลงทุน คือประมาณ 230,000 ล้านบาท บวกกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกในจำนวนเท่าๆ กันโดยประมาณ แต่ตัวเลขดังกล่าวรวมกันแล้วก็ยังคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของจีดีพี จึงจะยังมีผลจำกัดในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากปัจจัยอื่นๆ ไม่เอื้ออำนวย เช่น ปัญหาภัยแล้ง การตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น
ดังนั้น ความหวังทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของเศรษฐกิจไทย จึงน่าจะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ยาก เพราะอันที่จริงแล้ว สิ่งที่คนไทยจะต้องถามและหาคำตอบคือ ประเทศไทยและคนไทยจะ “หากิน” อะไรบนโลกใบนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นอาจต้องถามก่อนว่าปัจจุบันนี้เรา “หากิน” อย่างไร ซึ่งคำตอบอย่างไม่อ้อมค้อมคือ
1.เราเป็นฐานการผลิตให้บริษัทข้ามชาติผลิตและส่งออกรถยนต์ อิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ของบริษัทข้ามชาติที่ลงทุนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนพร้อมกันไปด้วย
2.ไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ก็เผชิญกับภาวะราคาตกต่ำและผลิตภาพโดยรวมก็ค่อนข้างต่ำ
3.อุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงานของคนไทย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ฯลฯ นั้น นับวันก็จะหดตัวลง เพราะค่าแรงที่สูงขึ้น จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมานั้น สามารถสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนหลัก กล่าวคือ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว (จริง) ประมาณ 7% ต่อปี ในขณะที่ภาคการเกษตรขยายตัว 2-3% ต่อปี พร้อมกันนี้ ภาคการส่งออกขยายตัวประมาณ 10% ต่อปีหรือ 2 เท่าของการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม แต่มาในระยะหลังนี้การส่งออกเกือบจะไม่ขยายตัวเลย จึงต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าการ “ทำมาหากิน” ของไทยที่เคยใช้มาด้วยดีตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีนั้น จะต้องทบทวนและปรับปรุงมากน้อยเพียงใดหรือจะต้องทำการปรับใหญ่ ซึ่งจะขอเขียนถึงในตอนต่อไปครับ