โค้ด: เลือกทั้งหมด
จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของประเทศกรีซทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนเป็นอย่างมาก ในช่วงที่รัฐบาลกรีซประกาศทำประชามติในเรื่องของการโหวตว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มยูโรหรือไม่ ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างตกต่ำกันถ้วนหน้าทั้งยุโรป อเมริกาและเอเชีย โดยเฉพาะที่จีนทำให้ตลาดหุ้นจีนตกลงต่อเนื่องกว่า 20 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย ตลาดหุ้นก็ตกลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก
แต่หลังจากที่ทำประชามติแล้วผลออกมาว่าประชาชนกรีซส่วนใหญ่โหวต”โน”หรือไม่เห็นด้วย ผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์รัฐบาลกรีซกลับยอมกับข้อตกลงของเจ้าหนี้จากกลุ่มยูโร กลายเป็นมวยล้มต้มคนดูไป หลังจากที่ตลาดรับรู้ถึงผลที่ออกมาในรูปแบบที่กรีซยังคงอยู่กับยูโรโซนต่อไปทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
จะเห็นว่า ตลาดหุ้นมีความอ่อนไหวกับเรื่องของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆในโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับราคาหุ้นที่ตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่มักตกใจและกังวลว่าราคาหุ้นจะตกลงไปเรื่อยๆและจะขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว แม้แต่นักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าวีไอจำนวนมากก็ยังหวั่นไหวไปกับราคาหุ้นที่ผันผวนไปมาในแต่ละวันโดยเฉพาะกับวีไอหน้าใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาในตลาดหุ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นในช่วงที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนควรทำอย่างไร มีข้อแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากที่ยังไม่เคยผ่านเหตุการณ์ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรงเช่น วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 หรือวิกฤติซัพไพร์มปี 51 คร่าวๆดังนี้
หนึ่ง ตั้งสติ
นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนใหญ่จะเฝ้าดูตลาดหุ้นทุกวันโดยเฉพาะดูราคาหุ้นที่ตนเองถืออยู่ เมื่อตลาดหุ้นตกต่ำและราคาหุ้นลดลงจะรู้สึกตื่นเต้นและคิดว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับหุ้นที่เราถืออยู่ การที่ดูราคาหุ้นบ่อยๆจะทำให้เรารู้สึกยึดติดกับราคาหุ้น เมื่อหุ้นราคาที่ซื้อมาราคาขึ้นก็รู้สึกดี ถ้าราคาหุ้นที่ถืออยู่ตกลงจะรู้สึกแย่ ถ้ายังมีความรู้สึกเช่นนี้อยู่ถือว่าเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ายังไม่เต็มปากนัก ยิ่งเมื่อราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วจะเกิดความรู้สึกกลัวว่ากำไรที่ได้มาจะหดหายไปรวมทั้งกลัวว่าจะขาดทุน ยิ่งถ้าคิดว่าบริษัทที่ถืออยู่ไม่ดีแน่เพราะราคาหุ้นลดลงอาจจะทำให้ตัดสินใจขายหุ้นออกไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ดังนั้นอันดับแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติให้มั่นคงแล้วค่อยๆตรวจสอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบอะไรบ้าง
สอง ตรวจสอบบริษัทที่ถือ
หลังจากที่ตั้งสติแล้ว สิ่งที่ต้องทำลำดับถัดไปคือตรวจสอบบริษัทที่เราลงทุนว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ไฟแนนซ์จำนวนมากถูกปิดทำให้ธุรกิจที่กู้เงินจากไฟแนนซ์เหล่านี้มีปัญหาสภาพคล่อง นอกเหนือจากนั้นการที่ประเทศไทยทำข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟในเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินบาท ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นอีกมาก เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในช่วงนั้น นอกเหนือจากนั้นค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากจาก 25 บาทเป็น 50 บาทต่อดอลล่าร์ ทำให้บริษัทที่ยังมีสภาพคล่องแต่กู้เงินมาเป็นดอลล่าร์ต้องประสบภาวะขาดทุนในทันทีเป็นจำนวนมากอย่างเช่นบริษัทปูนซีเมนต์หรือบริษัททีพีไอเป็นต้น ในกรณีต้มยำกุ้งนี้ สถาบันการเงินในประเทศได้รับผลกระทบและพ่วงกันเป็นลูกโซ่ถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนั้นไม่แปลกใจที่ตลาดหุ้นไทยจะลดลงอย่างมากจาก 1,700 จุดเหลือเพียง 200 จุดในเวลาไม่กี่ปี
แต่เมื่อเทียบวิกฤติกรีซที่เกิดขึ้นแล้วถือว่าผลกระทบกับบริษัทในประเทศไทยนั้นน้อยกว่ามาก เพราะการค้าขายของไทยกับกรีซนั้นอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ผลกระทบของกรีซจะทำให้กลุ่มยูโรโซนแย่ไปด้วย แต่อุตสาหกรรมบางอย่างของไทยไม่ได้ขึ้นกับเศรษฐกิจของยูโรโซนในทางตรง ยกเว้นการส่งออกของบางบริษัทที่เน้นฐานตลาดลูกค้ายุโรป ดังนั้นเวลาเกิดเหตุการณ์ผิดปกติและตลาดหุ้นตกลงอย่างมาก ไม่ควรตกใจ ควรจะตั้งสติและพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทที่ถือลงทุนอยู่อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ