ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะเป็น “จุดเริ่ม” ของการเปลี่ยนแปลง “ทิศทาง” ของภาวะตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศไทย ไม่ใช่เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ตกต่ำลงมาตั้งแต่ต้นปี เพราะดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นของไทยนั้นตกลงมาน้อยมาก แต่สิ่งที่ผมเห็นก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยรวมถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของไทยนั้นถดถอยลงต่อเนื่องมาหลายปีอย่างเห็นได้ชัดและผมก็ยังไม่เห็นว่าเราจะสามารถปรับตัวให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไร นอกจากนั้น ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเองก็มีราคาแพงกว่าที่ควรเป็นเมื่อเทียบกับอดีต สิ่งเดียวที่ผมเห็นว่ายังทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลก็คือการที่ทางเลือกอื่นนั้นก็ไม่ได้ดีกว่า เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นต่ำมากเป็นประวัติการณ์และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับทรัพย์สินอย่างอื่นเช่นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงลิ่วหรือการลงทุนในทองคำที่มีความเสี่ยงสูงและไม่จ่ายผลตอบแทนเป็นเงินสดเลย ด้วยเหตุดังกล่าว ผมเองจึง “คาดเดา” ว่า ดัชนีตลาดหุ้นนับจากนี้ไปอีกหลายปีนั้นน่าจะเป็นตลาดหุ้น “Sideways” หรือตลาดหุ้นที่ดัชนี “ไม่ไปไหน” อีกหลายปี แต่ในระหว่างนั้นก็จะปรับตัวขึ้นลงสลับกันไป

ถ้าดัชนีหุ้นเป็น “ไซ้ต์เวย์” ตามที่คาดเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยเป็นเวลานาน สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ เราควรที่จะ “ปรับใจ” เพื่อที่จะรับกับสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า วิธีคิดและกลยุทธ์ต่าง ๆ ของเราก็อาจจะต้องปรับตามเพื่อที่จะสอดรับกับสถานการณ์นั้นเพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถ “เอาตัวรอด” หรือยังสามารถสร้าง “ผลตอบแทนที่เหมาะสม” ได้ มาดูกันว่านักลงทุนแต่ละแนวน่าจะต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่นักลงทุนที่เลือกหุ้นไม่เป็นแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ซึ่งนิยมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ก่อนหน้านี้พวกเขาหวังว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 10-12% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เงินของเขาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก 6-7 ปี ผมคิดว่าเราควรปรับความคิดใหม่ว่านั่นคือเรื่องใน “อดีต” ที่อาจจะไม่หวนกลับมาอีกแล้ว การที่ตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 10% แบบทบต้นนั้นน่าจะหมายความว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วมาก เป็น “ดารา” ของโลก แต่นับจากนี้ไปในอนาคตเราคงทำไม่ได้แล้ว ดังนั้น ผมคิดว่าเราควรปรับใจว่าเราคงจะได้น้อยลง ถ้าจะมองแบบอนุรักษ์นิยมก็น่าจะคิดว่าเราได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5-7% แบบทบต้น ซึ่งก็หมายความว่าเงินของเราอาจจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัวในเวลาประมาณ 10-15 ปี “ความฝัน” ที่จะเกษียณและมีชีวิตที่จะอยู่อย่างสบายก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

คนที่เล่นหุ้นเป็น “งานอดิเรก” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนที่เล่นหุ้นที่มี Story น่าตื่นเต้น เล่นหุ้นที่มี “ข่าวดี” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หุ้นหรือข่าวตาม Social Media เล่นหุ้นที่มีนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปเล่น และเล่น “หุ้นปั่น” ที่มีราคาวิ่งขึ้นไปแรงมากโดยที่ “ไม่มีข่าวอะไรเลย” ยกเว้น “ข่าวลือ” และหุ้นทั้งหมดนั้นมักเป็นหุ้นตัวเล็กหรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ ผมก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับว่าการทำเงินจากการ “ตามแห่” หรือเล่นหุ้นตามกระแสนั้น ยากที่จะทำกำไรได้ การขาดทุนจะกลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนกำไรนั้นจะหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ และนี่จะเป็นงานอดิเรกที่มีต้นทุนสูงเกินไป

เช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นขาใหญ่หรืออาจจะไม่ได้ใหญ่นักแต่ก็มีเงินส่วนตัวและวงเงินมาร์จินมากพอที่จะ “ไล่ราคา” หุ้นตัวเล็ก ๆ หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำและขายทำกำไรได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่ “ไม่เคยพลาด” และทำให้หลายคนร่ำรวยมีเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทจากเงินต้นไม่มากนัก แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าวิธีการแบบนี้ก็น่าจะได้ผลน้อยลง หลายครั้งแทนที่จะกำไรก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้โดยเฉพาะถ้าตลาดหุ้นไม่เป็นใจซึ่งจะทำให้คนทำต้อง “ติดหุ้น” หรือในกรณีเลวร้ายต้องถูกโบรกเกอร์ฟอร์สเซลหรือบังคับขายหุ้นเพื่อลดมาร์จินซึ่งมักจะทำให้กลายเป็น “หายนะ” ของการเล่นหุ้นของ “เจ้ามือ” ในท้ายที่สุด

คนที่เล่นหุ้น Growth หรือหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือ “ผู้ชนะ” หรือประสบความสำเร็จสูงมากกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้น ลักษณะของหุ้นที่พวกเขาเล่นนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตของกำไรสูงมาระยะหนึ่งหรือไม่ก็เริ่มมีกำไรเติบโตสูงขึ้นมาอย่างเด่นชัดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมหรือตัวบริษัทที่เอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรได้ดีขึ้นมากจากอดีตที่ “เซื่องซึม” หรือ “ธรรมดา” คนที่เล่นหุ้นเหล่านี้ก็คือคนที่สามารถมองเห็นแนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงก่อนคนอื่นและเข้าไปลงทุน หลังจากนั้นพวกเขาก็จะช่วยกันเผยแพร่หรือกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นสนใจผ่านสื่อต่าง ๆ จนเกิดเป็น “กระแส” ของหุ้นว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและมีศักยภาพสูง ผลต่อมาก็คือการที่คน “แห่” กันเข้าไปซื้อหุ้นและดันราคาให้ขึ้นไปสูงลิ่วอย่าง “ไม่น่าเชื่อ” ส่วนหนึ่งเนื่องจาก Free Float ของหุ้นที่มักจะต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณของคนที่เข้าไปซื้อหุ้น ราคาของหุ้นเติบโตเร็วเหล่านั้นสูงจนค่า PE หลาย ๆ ตัวนั้นเกินกว่า 40-50 เท่า ค่า PB ก็สูงบางทีเป็น 10 เท่าโดยที่ปันผลตอบแทนนั้นต่ำกว่า 1% ต่อปี แต่นับจากวันนี้ผมก็คิดว่าสถานการณ์แบบนี้ก็จะเกิดยากขึ้นมาก

เหตุผลก็คือ ด้วยสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย ผลประกอบการของหุ้น Growth ก็เริ่มปรากฏให้เห็นว่ามันไม่สามารถที่จะโตได้แบบนั้นในระยะยาว ประเด็นสำคัญก็คือ ตัวบริษัทเองนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพหรือความสามารถพอที่จะ “ฝ่า” กระแสของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงไปได้มากนัก และนั่นทำให้นักลงทุนเริ่ม “ขาดความมั่นใจ” ต่ออนาคตของบริษัทที่ถูกวาดภาพไว้อย่างสวยหรู ผลก็คือ พวกเขาบางคนจะเริ่มขายหุ้นทำให้ราคาหุ้นตกลงมาทำให้ค่า PE ลดลง ในเวลาเดียวกัน กำไรที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากพอที่จะสนับสนุนค่า PE ที่สูงได้ บางกรณีที่เลวร้าย กำไรของบริษัทกลับลดลง และนี่ทำให้หุ้นกลายเป็น “หายนะ” ดังนั้น ผมเองคิดว่าคนที่เล่นหุ้น Growth จะต้อง “ปรับใจ” ให้เข้ากับความเป็นจริงที่ว่า หุ้นนั้นไม่สามารถที่จะโตได้เร็วและยาวนานมากหากมันไม่ใช่ซุปเปอร์สต็อก ดังนั้น ค่า PE ของหุ้นนั้นไม่อาจจะสูงมากอย่างที่เคยเป็นได้

สุดท้ายสำหรับ VI “พันธุ์แท้” ทั้งหลายที่ก็ทำผลงานการลงทุนได้ประทับใจมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนหลายคนคิดว่าตนเองนั้นจะยังคงทำผลตอบแทนต่อปีเฉลี่ยอย่างน้อยก็ปีละ 20-30% ในระยะยาวได้จากการลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ที่แท้จริงมากพอ มี Margin of Safety สูง ผมเองคิดว่า VI จำนวนมากนั้น “Over Rated” หรือให้คะแนนความสามารถของตนเองเกินความเป็นจริงเนื่องจากสถิติที่โดดเด่นเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดมากในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุนั้นผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นที่เรียกว่า “VI” นั้นได้รับความนิยมสูงและราคาปรับตัวขึ้นไปมากประกอบกับการที่ VI นั้นมักจะมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นสูงเป็นแนว “เทรดหุ้น VI” คือเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อย ๆ ขายหุ้น VI ที่ปรับตัวขึ้นเร็วและเข้าไปจับหุ้น VI ตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น ผลจากการนี้ทำให้หุ้น “VI” เกือบทุกตัวมีราคาแพงขึ้นมากจนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้น VI ต่อไปแล้ว ดังนั้น ในอนาคต VI เองก็จะต้องปรับใจยอมรับว่าการหาหุ้น VI ที่มีราคาถูกจะยากขึ้นเรื่อย ๆ และการที่จะทำผลตอบแทนปีละ 20-30% นั้นยากมาก ควรจะหวังว่าถ้าทำได้ปีละ 12-15% ก็สุดยอดแล้ว

และทั้งหมดนั้นก็คือสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไปอาจจะอีกหลายปี แน่นอน มีโอกาสที่จะผิด หุ้นยังอาจจะดีต่อไปอีกหลายปี บางทีอาจจะดีมาก “หักปากกา” ของคนที่มองตลาดใน “ภาพลบ” หลาย ๆ คน เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอาจจะกลับมา “วิ่งฉิว” อย่าง “คาดไม่ถึง” ซึ่งผมเองก็คงจะ “เงิบ” ไป แต่นั่นคงไม่ปัญหา เพราะจริง ๆ แล้วผมเองก็อยากที่จะ “คาดผิด” เพราะนั่นคงจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของผมเองดีขึ้นมาก
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
Verified User
โพสต์: 14944
ผู้ติดตาม: 2

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ฟังย้อนหลัง ดร. พูดถึงบทความครับ.
(30/พย/58)
รายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน
"เคล็ดลับการลงทุนในเรื่องปรับใจสู่ความเป็นจริง"
http://goo.gl/jwAV60
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับผม
ภาพประจำตัวสมาชิก
neuhiran
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 817
ผู้ติดตาม: 1

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ

แต่ในความเห็นของผม ผมคิดว่าหุ้นบางตัวยังเติบโตได้นะครับ คือหุ้นที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และที่อื่นๆ
เรียกว่าโตนอกบ้าน เพราะเศรษฐกิจเพื่อนบ้านเรานั้นเติบโตทุกประเทศเลย
ส่วนกลุ่มที่โตในบ้าน ผมเห็นพวกสินเชื่อ SAWAD MTLS ก็ยังโตได้ เพราะมันมีช่องว่างให้โต ตรงที่เดิมชาวบ้านต้องกู้เงินนอกระบบ
ดอกเบี้ยแพงๆ (จำชุมแพเงินด่วน ได้มั๊ยครับ) มากู้กับ SAWAD MTLS พวกนี้แทน
SAWAD MTLS ก็จะไปกินมาร์เก็ตแชร์ของ เงินกู้นอกระบบ
แต่เงินกู้นอกระบบ ก็จะไม่หมดไป แต่เสียส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะลูกค้าที่คุณภาพดีๆให้กับ SAWAD MTLS

ปล. ผมไม่มีหุ้น SAWAD MTLS นะครับ :D
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 428
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ดร.นิเวศน์ เชียร์ TPP สุดตัว ผมฟังจาก คลิฟเสียง
ความเห็นของ ดร.นิเวศน์ ถ้าไม่เข้า TPP การลงทุนจาก ญี่ปุ่น จะไปที่อื่นหมด
คนที่มีเงินมากๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองใหญ่ๆ ส่วนมากคิดเหมือนๆกัน
เช่น เชียร์ เข้า TPP,อนุญาติ GMOs,เร่งให้สัมประทานพลังและทรัพยากร
ทุกเรื่องที่ทำจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้น แต่คนส่วนมากแย่ลง
คนรวยในอดีตร ของไทย คือ พวกได้สัมประทาน และพวกที่ได้สิทธิพิเศษต่างๆ
ปัจจุบันและอนาคตก็ยังเหมือนเดิม
เราจึงเห็น คนหนุ่ม การศึกษาดีๆ ฉลาดๆ พวกนี้จะก้าวหน้า ได้ ต้องวิ่งเต้นเก่งๆ
ส่วนคนที่เอาแต่ทำงาน ไปไม่ถึงไหนหรอก
TPP ตั้งขึ้นมาเพื่อกรีดกันจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ เชียร์สุดตัว เพราะ จีน เป็นภัยคุกคามทั้งทาง ศก. และทหาร
ทศพร29
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิเวศน์ครับ
yoko
Verified User
โพสต์: 4395
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ความจริงผมเชียร์ให้ท่านเงิบ555
I_Jay
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

neuhiran เขียน:ขอบคุณครับ

แต่ในความเห็นของผม ผมคิดว่าหุ้นบางตัวยังเติบโตได้นะครับ คือหุ้นที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และที่อื่นๆ
เรียกว่าโตนอกบ้าน เพราะเศรษฐกิจเพื่อนบ้านเรานั้นเติบโตทุกประเทศเลย
ส่วนกลุ่มที่โตในบ้าน ผมเห็นพวกสินเชื่อ SAWAD MTLS ก็ยังโตได้ เพราะมันมีช่องว่างให้โต ตรงที่เดิมชาวบ้านต้องกู้เงินนอกระบบ
ดอกเบี้ยแพงๆ (จำชุมแพเงินด่วน ได้มั๊ยครับ) มากู้กับ SAWAD MTLS พวกนี้แทน
SAWAD MTLS ก็จะไปกินมาร์เก็ตแชร์ของ เงินกู้นอกระบบ
แต่เงินกู้นอกระบบ ก็จะไม่หมดไป แต่เสียส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะลูกค้าที่คุณภาพดีๆให้กับ SAWAD MTLS

ปล. ผมไม่มีหุ้น SAWAD MTLS นะครับ :D
ผมเห็นด้วยครับ ผมว่าดร.พูดเป็นภาพรวมเกินไป ถ้ามองหุ้นรายตัวจะเห็นว่าบางตัวเติบโตได้ดีทีเดียว ปีนี้ผลตอบแทนส่วนตัวก็ดีมาก ในวิกฤตมีโอกาส
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ปีแห่งความยุ่งยาก โดย วีรพงษ์ รามางกูร
updated: 30 พ.ย. 2558 เวลา 18:11:09 น.
http://m.prachachat.net/news_detail.php ... 1448881916
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee

FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 428
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับใจสู่ความเป็นจริง/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 10

โพสต์

16.TPP คือข้อตกลงที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 2 คนออกมาเตือนภัย คนแรกคือ Joseph Stiglitz ที่บอกว่า TPP จะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น เขาใช้คำว่า Grave Risk คือความเสี่ยงระดับสูงถึงขั้นชีวิต และพิจารณาว่า TPP จะส่งผลดีเฉพาะกับคนร่ำรวยเท่านั้น (ที่มา: http://opinionator.blogs.nytimes.com/20 ... alization/) ในขณะที่ Paul Krugman กล่าวว่า ผมจะรู้สึกโล่งใจอย่างมากหากข้อตกลง TPP ถูกยกเลิกไป (ที่มา: http://www.nytimes.com/2014/02/28/opini ... -deal.html)
โพสต์โพสต์