แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    หลังจากการเริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงกลางปี 2557 หรือเป็นเวลาประมาณ 1 ปี กับอีก 9 เดือน ผมก็มี  “การประเมินสถานการณ์” เพื่อที่จะดูว่าผลการลงทุนเป็นอย่างไรบ้างและน่าจะทำอะไรต่อไป  แต่นี่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นการประเมินครั้งแรก  ว่าที่จริงผมประเมินมาตลอด  ดูว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่คาดหวังไว้ก่อนเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนาม  และผมควรที่จะปรับตัวหรือปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อที่จะทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น  หรือเพื่อที่จะ “ถอย” เพื่อที่จะลดความสูญเสียให้น้อยลงในกรณีที่เห็นว่าตนเองจะ  “พ่ายแพ้”  ดูไปแล้วผมคิดเหมือนกับเป็นเสนาธิการหรือแม่ทัพที่ส่งกองทัพออกไปสู้รบกับฝ่ายตรงข้ามในสงครามซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ  การประเมินว่าเราน่าจะมีโอกาสชนะหรือไม่มากน้อยแค่ไหนถ้าเราเข้าไปรุกรบในสมรภูมินั้น  ประเด็นต่อมาก็คือการวางยุทธวิธีที่จะรบให้ได้ชัยชนะโดยคำนึงถึงศักยภาพของทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และการส่งกำลังบำรุงเป็นต้น  หลังจากนั้นเราก็ต้องประเมินผลการรบต่อเนื่องเป็นระยะเพื่อที่จะดูว่าจะต้องปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้บรรลุภารกิจที่วางไว้และในเวลาแค่ไหน

    ตลาดหุ้นเวียตนามนั้น  สำหรับผมแล้ว  มันก็คือการ “รบ” หรือการลงทุนในอีกสมรภูมิหนึ่งหรือในอีกตลาดหนึ่งที่ผมเพิ่งจะเริ่มวางแผนและลงมือปฏิบัติเมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว  ถ้าจะใช้คำศัพท์เพื่อที่จะล้อไปกับเรื่องของสงคราม  ผมจะเรียกว่านี่คือ  “แนวรบด้านตะวันออก”  เลียนแบบการรุกรบของเยอรมันต่อรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่เยอรมันชนะฝรั่งเศสใน  “แนวรบด้านตะวันตก” เรียบร้อยแล้ว  เนื่องจากเวียตนามนั้นก็อยู่ทางฝั่งตะวันออกของไทย

    วันที่ผมตัดสินใจเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามนั้น  ผมประเมินหรือวิเคราะห์ดูแล้วก็พบว่าโอกาสที่จะ  “ชนะ”  ในการลงทุนโดยเฉพาะในระยะยาวน่าจะสูงพอสมควร  เหตุผลสำคัญก็คือ  ข้อแรกเศรษฐกิจของเวียตนามกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าจะโตอย่าง  “ยั่งยืน” หรือเติบโตต่อเนื่องไปอีกนานเนื่องจากนโยบายต่าง ๆ  ของรัฐบาลที่เน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นมาก  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ประชากรของเวียตนามนั้นมีจำนวนมาก  มีคุณภาพสูงและยังมีอายุไม่มาก  สองสิ่งนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจเวียตนามโตเร็วไปอีกนานคล้าย ๆ กับไทยเมื่อ 20 ปีก่อนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลก  ผมคาดว่าในที่สุดเวียตนามก็จะโตทันและอาจจะ  “แซง” ไทยที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงอย่างมากด้วยเหตุผลสำคัญหลายอย่างรวมถึงการที่ประชากรแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

    ในแง่ของตลาดหุ้นเวียตนามเองนั้น  ผมก็ดูว่าน่าสนใจมาก  เนื่องจากตลาดหุ้นเวียตนามซึ่งเปิดในปี 2000 นั้นยังค่อนข้างใหม่และเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้วดัชนีตลาดหุ้นเคยขึ้นไปสูงถึงประมาณ 1200 จุด  แต่หลังจากนั้นตลาดก็เกิดวิกฤติ  ดัชนีลดลงมาเหลือเพียง 200 กว่าจุดในเวลาอันสั้นเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงหนักและค่าเงินด่องลดลงมหาศาล  แต่หลังจากนั้น  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมั่นคง  ค่าเงินด่องมีเสถียรภาพ  การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดและเวียตนามกลายเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม  ดัชนีตลาดหุ้นและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลับไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศ  ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 5-600 จุด และอยู่ในระดับนั้นมาเป็นเวลานาน  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันแค่ประมาณ 3-4000 ล้านบาทต่อวัน  เช่นเดียวกับที่มูลค่าตลาดหุ้นหรือ Market Cap ของทั้งตลาดก็ต่ำมากคิดเป็นประมาณไม่เกิน 20% ของ GDP ในขณะที่ของไทยนั้นอยู่ในหลัก 100% ของ GDP  และราคาหุ้นเวียตนามก็ค่อนข้างถูก  หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจนั้นมีราคาถูกมาก  ค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่า  ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่า  และอัตราปันผลเทียบกับราคาหุ้นนั้นมักจะสูงกว่า 5% และจำนวนไม่น้อยสูงถึง 10% ต่อปี

    สถานการณ์ของเวียตนามดังกล่าวนั้น ผมมองดูแล้วคล้ายคลึงกับของไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาก  ดังนั้นผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าไปลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังแย่อยู่ทั้ง ๆ  ที่เศรษฐกิจนั้นฟื้นตัวและกำลังเติบโตอย่างแรง  โอกาสที่เราจะได้กำไรหรือผลตอบแทนที่สูงจากตลาดหุ้นก็น่าจะมีมาก—อย่างน้อยถ้าเราถือหุ้นไว้ อาจจะซัก 3-5 ปีที่คนเวียตนามจะกลับมาสนใจตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่อคนเวียตนามรวยขึ้นและมีเงินสดเหลือที่จะลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

    กลยุทธ์การลงทุนในเวียตนามของผมนั้น  เนื่องจากผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับตัวกิจการแต่ละบริษัทเลย  ดังนั้นผมจึงใช้วิธีซื้อหุ้นโดยใช้แต่ข้อมูลที่เป็นตัวเลข 2 ชุด  นั่นคือ  ข้อมูลทางด้านพื้นฐานเช่น  กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  และข้อมูลด้านความถูกความแพงของหุ้น เช่น ค่า PE และ PB เป็นต้น มาเป็นตัวคัดกรองหุ้นที่จะลงทุน  หลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้สำหรับการคัดกรองบางส่วนผมก็ใช้สูตร  Magic Formula ของ Joel Greenblatt และสูตรที่ผมเองเคยศึกษากับข้อมูลอดีตแล้วได้ผลดีมาใช้ในการเลือกหุ้นที่จะลงทุน  ผลก็คือ  ผมลงทุนในหุ้นถึงประมาณ 60 ตัว โดยที่ไม่รู้เลยว่าแต่ละบริษัททำหรือขายอะไร  หลังจากที่ซื้อหุ้นครบซึ่งกินเวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน  ผมก็ถือหุ้นไว้เฉย ๆ ไม่เคยขายหุ้นเลยแต่มีการซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นบ้างเนื่องจากมีเงินสดเพิ่มขึ้นจากปันผล ผมคิดว่าถ้าสิ่งที่ผมคาดไว้ถูกต้อง  ในที่สุดหุ้นราคาถูกที่ผมซื้อไว้น่าจะปรับตัวขึ้น  โอกาสที่เงินจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในเวลา 5 ปี  หรือทำผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 15% น่าจะเป็นไปได้  โอกาสที่จะขาดทุนน่าจะน้อย

    ผมติดตามผลการดำเนินงานของพอร์ตโฟลิโอเป็นระยะ ๆ  บ่อย ๆ  ในช่วงแรก  ภายในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีแรก  สิ่งที่ผมพบก็คือ  ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามไม่ไปไหน  และแม้จนถึงวันนี้  ดัชนีตลาดเวียตนามก็ยังอยู่ที่เดิมคือประมาณ 580 จุด พอ ๆ  กับวันที่ผมเริ่มลงทุนเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่าน  อย่างไรก็ตาม เงินปันผลเริ่มจะ “ไหลเข้ามา”  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากเกือบทุกบริษัท  เวลาผ่านไป 1 ปี  พอร์ตไม่ได้กำไรเลยจากราคาหุ้นแต่เงินจากปันผลทำให้พอร์ตโดยรวมโตขึ้นประมาณเกือบ 10%  ซึ่งทำให้ผม “สรุป”  ในเบื้องต้นว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ “หว่านแห”  นั้น  ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรแต่ผมก็ยังค่อนข้างพอใจที่ได้ผลตอบแทนประมาณ 10%  ต่อปี  อย่างไรก็ตาม  ผมคงไม่ลงทุนเพิ่มเนื่องจากผมคงไม่สามารถเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้นจนมีนัยสำคัญด้วยวิธีนี้ซึ่งเป็นวิธีที่มักจะได้แต่หุ้นตัวเล็กที่เข้าเกณฑ์ตามสูตรการลงทุนที่ใช้

    ผมคิดว่ากลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนที่ผมใช้อาจจะไม่ถูกต้อง  ผม “ไม่ชนะสงคราม” ในแนวรบด้านตะวันออกแต่ก็ “ไม่แพ้” หลังจากลงทุนได้ปีเศษ ๆ   ผมเริ่มลดระดับความสนใจติดตามหุ้นที่เวียตนาม  หลายเดือนที่ผ่านมาไม่เคยดูพอร์ตเลย  แต่แล้ว  เมื่อสัปดาห์ก่อนผมก็อยากจะดูว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้างเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเร็ว  ผมคิดว่าพอร์ตน่าจะกำไรน้อยลง  แต่ผิดคาด!  พอร์ตที่เคยนิ่งมานานกลับโตขึ้นเป็นประมาณ 26% ในเวลา 1 ปี 9 เดือน   หุ้นหลายตัวกำไรกว่า 100%  ผมเองยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดและก็ไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีเวลาศึกษามากน้อยแค่ไหน  แต่ความรู้สึกก็คือ  บางทีสิ่งที่เราเคยคิดไว้อาจจะถูกต้อง  และหุ้นของเราก็จะโตต่อไปและได้ “ชัยชนะ” การที่มันนิ่งมานานก่อนหน้านี้อาจจะเป็นแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น  และตราบใดที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียตนามยังดีเยี่ยมและหุ้นที่เราถืออยู่ยังมีราคาถูกมาก  ในที่สุดแล้วสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีก็จะต้องเกิดขึ้น  ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดว่าผมอาจจะต้องเปิด  “แนวรบด้านตะวันตก”  หรือการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วแทนที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย  แต่ก็มักจะหยุดทุกครั้งเนื่องจากผมยังไม่มั่นใจในชัยชนะ  ณ. เวลานี้ผมอาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าผมจะ “เพิ่มกำลัง” ในแนวรบด้านตะวันออกดีไหม  เวลาและสถานการณ์จะเป็นสิ่งที่บอก
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
Vi IMrovised
ทศพร29
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับพี่
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
Hopezz
Verified User
โพสต์: 175
ผู้ติดตาม: 0

Re: แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

เปรียบเทียบแบบนี้ น่าสนุกดีครับ
A tool that will help you to invest easier ---> http://stocks.ilovecalculus.net
miracle
Verified User
โพสต์: 18364
ผู้ติดตาม: 1

Re: แนวรบด้านตะวันออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นแนวทางด้านตะวันออกนั้น
เยอรมันนีชนะรัสเซียในช่วงตอนต้น จนกระทั่งบุกถึงเลนินกราดได้ แต่ทว่าเข้าช่วงฤดูหนาว
ที่นี้แหละ ที่รัสเซียตีโต้กลับจนกระทั่งเยอรมันนีถอยรน
สิ่งที่ทำให้พลาดคือ ทหารเยอรมันนีไม่มีนำชุดพรางสีขาวที่ใช้ในฤดูหนาวไปด้วย
,เครื่องกันหนาวก็ไม่มี ,การส่งยุทธปัจจัยจัดส่งไม่ได้

แต่อย่างไรเสีย สงครามแนวตะวันออกนี้ รัสเซียก็บอบช้ำอย่างมากสูญเสียทหารในสงครามมากที่สุด
เพราะทหารส่วนใหญ่ของรัสเซียนั้นทหารที่ไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเท่าไร
ผิดกับเยอรมันนีที่ได้รับการฝึกมาระดับหนึ่ง

อีกประเด็นคือเรื่องขอรถถังที่รัสเซียใช้นั้น ตอนแรกต่อสู้กับรถถังเพนเซอร์ 3 ไม่ได้เลย เรียกได้ล้าสม้ย
แต่ด้วยเหตุการณ์บีบบังคับทำให้รัสเซียผลิตรถถังที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกมาใช้งานได้
จนได้สมญานามว่า ผู้พิชิตแพรนเซอร์ นั้นเอง

:)
:)
โพสต์โพสต์