คนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพราะได้ยินและเชื่อว่าตลาดหุ้นสามารถทำเงินให้งอกเงยขึ้นเร็วและง่ายกว่าหนทางอื่น หลายคนอาจจะหวังร่ำรวยและมี “เสรีภาพทางการเงิน” ในเวลาไม่นานนักจากการลงทุนในตลาด บางคนก็แค่หวังว่าจะสามารถเกษียณได้อย่างมีเงินเพียงพอโดยการลงทุนในตลาดหุ้น คนที่คิดว่าตนเองมีความสามารถสูงในการที่จะวิเคราะห์หรือมีกลยุทธ์การลงทุนที่ดีก็มักที่จะมีความทะเยอทะยานสูง พวกเขาหวังที่จะ “รวย” จากตลาดหุ้นอย่างเต็มเปี่ยม ตลาดหุ้นมีความน่าท้าทายและไม่น่าเบื่อหน่ายเทียบกับงานอย่างอื่น การลงทุนนั้นไม่ต้องถูกใครสั่ง ไม่มีนาย ไม่ต้องเอาใจใคร ว่าที่จริงการลงทุนนั้นถ้าจะมีก็คือมีคนที่จะเอาใจเรา เช่น โบรกเกอร์อยากชักชวนให้เราซื้อขาย นักวิเคราะห์มาเสนอข้อมูลให้เราฟัง แม้แต่ผู้บริหารบริษัทเองบางทีก็มาบรรยายคุณสมบัติของกิจการให้เราฟังอย่างกับว่าเราเป็นเพื่อนหรือคนที่มีอุปการคุณ การวิเคราะห์ศึกษาและการตัดสินใจทำในเรื่องของการลงทุนเองนั้นก็ดูเหมือนว่าจะสนุกสนานน่าตื่นเต้น จะทำแค่ไหนก็ได้ตราบที่เรายังรู้สึกสนุก ไม่มีคำว่าต้องทำให้เสร็จ ว่าที่จริงมันไม่มีจุดว่าเราต้องทำแค่ไหนด้วยซ้ำ ดังนั้น กระบวนการลงทุนซื้อขายหุ้นจึงเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ กับการ “เล่น” มากกว่าที่จะเป็นงาน และนี่ก็เป็นเครื่องดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้ามาเล่นหรือลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งในความคิดก็คือ “ทั้งสนุกและได้เงิน” และนี่ก็อาจจะเป็นความฝันของคนหลาย ๆ คนที่เบื่องานประจำที่ขาดอิสระทั้งหลาย
แต่ก่อนที่เราจะเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหุ้นลงทุนเองหรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมทั้งที่เป็นกองทุนปกติและกองทุนอิงดัชนี เราก็ควรจะรู้ว่า “สถิติ” ในการลงทุนที่ผ่านมาของคนแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร เพราะความจริงข้อนี้จะทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่ากิจกรรมที่สนุก ท้าทาย น่าตื่นเต้นที่เรียกว่าการ “เล่นหุ้น” นี้จะช่วยทำเงินให้เราเป็นอย่างดี หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราเสียเงินหรือได้เงินไม่คุ้มค่ากันแน่ในระยะยาว นอกจากนั้น ความรู้ในข้อมูลเหล่านั้นก็ยังอาจจะช่วยให้เราเลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้องในการลงทุนด้วย
เริ่มที่ผลการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยโดยเฉลี่ยที่เลือกหุ้นลงทุนเองก่อนเพราะนี่เป็นกลยุทธ์ที่คนไทยใช้มากที่สุด ข้อมูลหรือการศึกษาต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากตลาดหุ้นสหรัฐที่มีการศึกษามายาวนาน ผมจะเลือกเฉพาะที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
เรื่องแรกก็คือ นักลงทุนส่วนบุคคลทั้งหญิงและชายต่างก็ลงทุนหรือเล่นหุ้นได้ “เก่ง” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ “แย่” พอ ๆ กันนั่นก็คือ ได้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำกว่าดัชนีหุ้น (ที่มีการปรับค่าความเสี่ยงแล้ว) ในระยะยาว
ข้อสองก็คือ ในช่วงสั้น ๆ นั้น เวลาที่พวกเขาเข้าซื้อหุ้นตัวไหน หลังจากนั้นมันจะเริ่มแย่ลงหรือ Underferform แต่เวลาที่เขาขายหุ้นตัวไหน หลังจากนั้นหุ้นตัวนั้นก็จะขึ้นหรือ Outperform พูดง่าย ๆ มักจะซื้อขายหุ้นผิดเวลา
โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนชายกับนักลงทุนหญิงจะได้ผลตอบแทนจากการเลือกหุ้นพอ ๆ กัน แต่เมื่อคิดผลตอบแทนสุทธิหรือผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายในการซื้อขายเช่นค่าคอมมิชชั่นแล้ว ผลตอบแทนของผู้หญิงจะสูงกว่าเนื่องจากว่าผู้ชายมักจะซื้อขายหุ้นบ่อยกว่าผู้หญิง ว่าที่จริง คนที่เทรดหุ้นมากที่สุดนั้นมักทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุด
ยิ่งนักลงทุนมีความมั่นใจสูงว่าตนเองมีความสามารถในการเลือกหุ้น เช่นสามารถคิดคำนวณว่าหุ้นตัวไหนราคาถูกหรือแพงได้เก่งกว่าคนอื่น หรือเป็นคนที่คิดว่าสามารถจับจังหวะในการซื้อขายหุ้นได้ดีกว่าคนอื่น ผลตอบแทนของเขาก็จะแย่ลงเท่านั้น
ผู้หญิงที่เป็นโสดนั้นสามารถทำผลตอบแทนสุทธิได้ดีกว่าหญิงที่แต่งงานแล้ว โดยที่นักวิจัยเชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะพวกหล่อนไม่ถูกชักจูงหรือแนะนำโดยสามีที่มีความมั่นใจเกินไป
การลงทุนโดยการ “เล่นกันเป็นกลุ่ม” เช่นการลงทุนของชมรมนักลงทุนหรือ Investment Club นั้น พบว่า “แย่มาก” และแย่กว่าดัชนีตลาดถึง 4% ต่อปี แถมมีความเสี่ยงสูงกว่า นี่อาจจะเป็นการแสดงว่าในการลงทุนนั้น “หัวเดียวอาจจะดีกว่าหลายหัว”
เช่นเดียวกัน IQ อาจจะไม่ได้ช่วยให้ลงทุนได้เก่ง เพราะชมรมการลงทุนชื่อ Mensa ซึ่งสมาชิกเป็นกลุ่มคนมี IQ สูง แต่กลับทำผลตอบแทนได้แย่มาก ผลตอบแทนแพ้ดัชนี S&P 500 ถึงปีละ 13% เป็นเวลา 15 ปี
ประเด็นที่แย่ยิ่งกว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยก็คือ พวกเขาไม่รู้ว่าตนเองทำผลงานที่แย่แค่ไหน ผลการศึกษาพบว่านักลงทุนประเมินผลตอบแทนของตนเองสูงกว่าความเป็นจริงถึงปีละ 11.5% โดยเฉลี่ย ยิ่งคนที่ผลตอบแทนแย่มากแค่ไหน เขาก็ยิ่งประเมินผลตอบแทนตัวเองเกินไปมากแค่นั้น เช่น มีคนเพียง 5% ที่บอกว่าลงทุนแล้วขาดทุนทั้ง ๆ ที่ความจริงก็คือ นักลงทุนที่ขาดทุนนั้นมีถึง 25% ของนักลงทุนทั้งหมด และคนส่วนใหญ่ถึง 75% นั้น ทำผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีตลาดที่ใช้อ้างอิง
ทีนี้ลองมาดูผลงานของ Fund Manager ของกองทุนรวมบ้าง ดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ดีไปกว่านักลงทุนรายย่อยเท่าไรนัก สถิติบอกว่าพวกเขาไม่สามารถทำผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดอย่างต่อเนื่อง การเลือกหุ้นของพวกเขานั้นไม่ช่วยให้ทำเงินเพิ่มได้เลย และคนที่ทำผลงานดีในงวดที่ผ่านมาก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะทำได้ดีในงวดต่อไป ตรงตามคำเตือนในโฆษณาที่ว่า “ผลงานที่ดีในอดีตไม่ได้รับประกันว่าจะทำได้ดีในอนาคต”
ข้อที่สองที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการบริหารกองทุนรวมนั้น เป็นตัวที่ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนรวมลดลงและต่ำกว่าดัชนีเท่า ๆ กับค่าใช้จ่ายนั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้ว ผู้จัดการกองทุนไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้กับกองทุนจากการเลือกหุ้นของตนเลย แต่คิดค่าบริหารกองทุนทุกปีในอัตราที่กำหนด ซึ่งทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีอ้างอิงเท่า ๆ กับค่าบริหารกองทุน
จากเหตุผลดังกล่าว ในระยะยาวแล้วจึงพบว่ากองทุนที่มีผลงานดีได้ดาวสูง ๆ จาก Morningstar ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับนั้นก็คือกองทุนที่มีค่าบริหารและจัดการต่ำกว่ากองทุนที่มีค่าธรรมเนียมสูง
ข้อสรุปจากการศึกษากองทุนรวมก็คือ ดูเหมือนว่าผลงานการลงทุนของผู้จัดการนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือเลย แต่ขึ้นอยู่กับโชคที่บางกองทุนก็ “โชคดี” ทำผลตอบแทนได้สูงในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งบางครั้งก็หลายปีติดต่อกัน แต่หลังจากนั้นโชคก็อาจจะไม่ดีซึ่งทำให้ผลตอบแทนตกต่ำลงแล้วก็อาจจะมีกองทุนใหม่ที่ “โชคดี” ขึ้นมาแทน ไม่มีใคร “เก่งจริง” และเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน และนั่นนำมาซึ่งคำแนะนำสุดท้ายสำหรับคนที่ต้องการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั่นก็คือ ลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดที่มีค่าบริหารที่ต่ำที่สุดอย่างต่อเนื่องยาวนานซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั่นก็คือปีละประมาณเกือบ 10% ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ดี
สำหรับนักลงทุนส่วนบุคคลที่เลือกหุ้นลงทุนเองนั้น ผมคิดว่าสถิติในตลาดหุ้นอเมริกาจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราระมัดระวังว่า การลงทุนมันอาจจะสนุก แต่ถ้าเราไม่เก่งจริง โอกาสที่เราจะเสียเงิน บางทีโดยไม่รู้ตัวก็อาจจะมีสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราศึกษาและประเมินตนเองดีแล้ว การเลือกหุ้นลงทุนเองก็เป็นสิ่งที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตเราได้อย่างมโหฬาร แต่ในกรณีนี้ผมคิดว่าคนที่มีคุณสมบัติและทำได้แบบนี้ก็น่าจะมีน้อย คนส่วนใหญ่เองนั้นผมคิดว่าจะดีกว่าถ้าจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีในตลาดหุ้นที่มีอนาคตที่ดีไปอีกนานซึ่งรวมถึงตลาดในต่างประเทศด้วย
ความจริงที่ควรรู้ก่อนเข้าตลาดหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1