โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งก่อนหน้าผมเขียนถึงรถ Tesla ที่กำลังท้าทายบริษัทรถยนต์ยักษ์ทั่วโลกที่มียอดจองรถ Tesla model 3 เกือบ 400,000 คัน nและคาดการณ์ว่าจะขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ปีละ 500,000 คัน ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป Tesla ผลิตรถยนต์มาประมาณ 12 ปี แต่ราคาหุ้นนั้นแพงกว่าราคาหุ้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เช่น Benz, BMW, Volkswagen และ GM ซึ่งผลิตรถยนต์มานานเป็นร้อยปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Tesla จะเริ่มทำกำไร (ที่ผ่านมาขาดทุนตลอด) ในปี 2018 ซึ่งหากเป็นจริง (คือสามารถผลิตรถยนต์มอบให้ลูกค้าได้ 500,000 คัน ในปีนี้ตามคาด) ก็จะทำให้หุ้น Tesla มี P/E ประมาณ 63 เท่า แพงกว่า P/E ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 10 เท่า เพราะบริษัทดังกล่าวนั้นหุ้น P/E ประมาณ 6-7 เท่าสรุปคือ Tesla เป็นบริษัทรถยนต์ที่ขายฝัน ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและรถยนต์นาย James Quinn หนังสือพิมพ์ The Telegraph ยกตัวอย่างว่า Tesla นั้นใน 4 ปีที่ผ่านมาจากกลางปี 2012 ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น S และ X ให้ลูกค้าได้เพียง 109,000 คัน เท่ากับจำนวนรถยนต์ที่ Ford ผลิตภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่เมื่อ Tesla เริ่มส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าได้ ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไป 10 เท่าตัวแล้ว (จาก 20 ดอลลาร์เป็น 200 ดอลลาร์) นาย Quinn สรุปว่า Tesla นั้นสร้างฝัน แต่มีผลงานจริงไม่มากนัก จึงมีความเสี่ยงที่จะพลาดพลั้งได้อีกในอนาคตและราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงมาจน อาจถูกควบรวมโดยบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ก็ได้ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนความเสี่ยงของบริษัทที่เป็นผู้บุกเบิก (pioneer) แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีที่ Tesla กำลังพัฒนาอยู่นั้นมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวไปพร้อมกับบริษัท Tesla กล่าวคือเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะพัฒนาต่อไปได้ ไม่ว่าจะโดยการบุกเบิกของ Tesla หรือการพัฒนารถยนต์ประเภทนี้โดยบริษัทอื่นที่อาจเข้ามาฮุบกิจการของ Tesla ในอนาคตก็ได้
จึงมาถึงประเด็นสำคัญว่าปัจจัยอะไรที่จะ “ชี้เป็นชี้ตาย” กับความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้า คำตอบคือแบตเตอรี่ โดย ในปัจจุบันหมายถึงแบตเตอรี่แบบ Lithium lon (Li) กล่าวคือปัจจัยไม่ได้อยู่ที่มอเตอร์ไฟฟ้า เพราะเทคโนโลยีนี้พัฒนามานานกว่า 150 ปีแล้ว และมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานหมุนล้อที่ 90% อยู่แล้ว ในขณะที่เครื่องยนต์นั้นมีประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานเพื่อหมุนล้อเพียง 20% (อีก 80% ส่วนใหญ่เป็นพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากการสันดาป)
แต่แบตเตอรี่นั้นยังล้าหลังอยู่มาก และเป็นต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า กล่าวคือแบตเตอรี่ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้านั้นมี น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม (หนักเท่ากับคน 7-8 คน) และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1/3 ของราคารถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น การลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะของรถไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด จะต้องมาจาก 1. การพัฒนาแบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้มากขึ้น (จากปัจจุบันชาร์จไฟหนึ่งครั้งขับได้ไกล 300-350 ก.ม.) 2. น้ำหนักลดลง และ 3. ราคาถูกลง หากทำได้ก็รับรองว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะขายดีจนรถยนต์ขายไม่ได้อย่างแน่นอน
แบตเตอรี่ที่ใช้กันในปัจจุบันและในอดีตนั้นคือประเภทตะกั่วกับน้ำกรด (Lead-acid battery) ซึ่งยังใช้อยู่ในรถยนต์ส่วนใหญ่ในขณะนี้เพื่อเก็บไฟเอาไว้ใช้สตาร์ทเครื่อง ยนต์ และเพื่อใช้อุปกรณ์ในรถในเวลาเพียงสั้นๆ รถปัจจุบันต้องมีเครื่องปั่นไฟไปด้วยระหว่างขับเคลื่อน ต่อมาได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่แบบ Nickel Cadmium ซึ่งใช้กันแพร่หลายในเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา โทรศัพท์มือถือ ในช่วงหนึ่ง แต่มีความเสี่ยงเรื่องมลพิษสูง จึงถูกทดแทนโดย Lithium ion ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนทุกวันนี้
Lithium ion นั้นอันที่จริงแล้วเป็นเทคโนโลยีที่เก่า แก่มานานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยมีจุดริเริ่มจากการค้นพบว่า Lithium นั้นใช้เก็บไฟฟ้าได้ดีมาก แต่ไวไฟและระเบิดได้ง่าย จึงต้องนำไปเจือปนกับ graphite ให้เป็น Lithium ion ที่เสถียรมากขึ้นแม้ประสิทธิภาพจะลดลงบ้าง แบตเตอรี่แบบ Lithium ion นั้นกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1980 แล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อเพื่อใช้งานทางพาณิชย์ จนกระทั่ง 10 ปีให้หลังที่บริษัทโซนี่ของญี่ปุ่นนำเอา Li มาพัฒนาเพื่อใช้ในกล้องถ่ายหนังแบบพกพาคือ SONY Beta Cam ในปี 1991
แต่แบตเตอรี่ Li นั้นประสิทธิภาพมิได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 20 ปีให้หลัง ระหว่างปี 1991-2010 แม้ว่า Li ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอุปกรณ์ที่สำคัญในการดำรงชีวิตสมัยใหม่คือ คอมพิวเตอร์พกพา เครื่อง ipad และ smart phone ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น กล่าวคือนับจากวันแรกที่ Apple ผลิต iphone 1 ออกมาขายในปี 2007 จนถึงวันนี้ iphone 7 นั้นมีศักยภาพสูงขึ้น (และต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น) ประมาณ 16 เท่าตัว แต่ Li นั้นประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% ดังนั้นบริษัทรถยนต์ บริษัทมือถือและบริษัทพลังงานจึงจะเร่งลงทุนค้นคว้าวิจัยและพัฒนา Li หรือทางเลือกอื่นๆ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด โดยยึดกับ Li อยู่เช่นปัจจุบัน (Tesla จึงลงทุนสร้างโรงงานผลิต Li ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) หรืออาจพัฒนาวัสดุอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า Li ก็เป็นได้
ผมได้ไปอ่านดูว่าปัจจุบันว่ามีการค้นคว้าด้านแบตเตอรี่ในทิศทางใดบ้าง และพบแนวทางวิจัยที่แตกต่างกันกว่า 20 แนวทาง เช่น Magnesium batteries, solid state lithium ion, sodium ion batteries, aluminum-air batteries และ gold nano wire batteries เป็นต้น