โค้ด: เลือกทั้งหมด
หลังการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และพรรคเสรนิยมประชาธิปไตย หรือ LDP ของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้รับเสียงเพิ่มขึ้นกลายเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในวุฒิสภา เงินเยนของญี่ปุ่นก็อ่อนค่าลง 7% และตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ภายในสิบวัน รับความคาดหวังว่า นายกอาเบะ จะสามารถนำพาประเทศผ่านพ้นมาสุมเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ลงประชามติ
เงินเยนเป็นสกุลเงินของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในการซื้อขายเป็นอันดับสามของโลก รองจาก ดอลลาร์สหรัฐ และยูโร และเป็นอันดับที่สี่ ของสกุลเงินที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆนิยมมีไว้เป็นเงินทุนสำรอง รองจาก ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และปอนด์สเตอริง และดิฉันคาดว่าในอนาคตอาจจะแซงเงินปอนด์ขึ้นไปอยู่อันดับที่สามได้
หลังจากมีการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกจากสมาชิกกลุ่มอียู ในปลายเดือนมิถุนายน ทั้งเงินปอนด์และเงินยูโรก็กอดคอกันอ่อนค่าทั้งคู่ ในขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว (ระหว่างรอผลประชามติ เงินเยนวิ่งขึ้นลงถึง 7.3%ในวันเดียว) สวนทางกับความประสงค์ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้เงินเยนอ่อนค่า เพื่อให้สินค้าของญี่ปุ่นขายดีในโลก จะได้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีกำลังซื้ออ่อนแอ เนื่องจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง
เยน เป็นสกุลเงินที่ตราขึ้น ในปี 1871 ในสมัยรัฐบาลเมจิ เพื่อใช้เป็นสกุลเดียวทั่วประเทศญี่ปุ่น จากเดิมที่เจ้าผู้ครองนครต่างๆสามารถตราเงินออกใช้ได้เอง
หลังจากนั้นในปี 1882 จึงมีการก่อตั้ง ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Bank of Japan เพื่อเป็นธนาคารกลางของ ประเทศ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เงินเยนอ่อนค่าลงมาก ตามสถานะการเป็นผู้แพ้สงคราม และถูกตรึงไว้ที่ 360 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐในระบบ Bretton Woods ซึ่งเป็นระบบที่ผูกค่าเงินไว้กับทองคำและความสามารถขององค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ในการจัดการกับสภาพที่ไม่สมดุลย์ของระบบการชำระเงิน
เมื่อยกเลิกระบบ Bretton Woods ในปี 1971 เงินเยนมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่สามารถลอยตัวได้ จึงแข็งค่าขึ้นเป็น 271 เยน ในปี 1973 และอ่อนค่าลงจนประเทศอื่นๆค้าขายสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ จึงโทษว่าญี่ปุ่นจงใจทำให้เยนอ่อนเพื่อเอาเปรียบดุลการค้าของโลก
ในเดือนกันยายน ปี 1985 จึงมีการเซ็น Plaza Accord ซึ่งเป็นสัญญาระหว่าง ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาขึ้น เพื่อทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ เงินเยน ของญี่ปุ่น และเงินมาร์คของเยอรมนี โดยการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ภายในสองปี (1985-1987) เงินเยนแข็งค่าขึ้นเกินเท่าตัว จาก 263.12 เยนต่อดอลล่าร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1985 ที่คนเริ่มมองว่าต้องมีการแทรกแซง ไปถึงสิ้นปี 1987 ที่อัตรา 121.42 เยนต่อดอลลาร์ และแข็งค่าเรื่อยมา แม้จะมีการอ่อนไปบ้างหลังจากเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก จนแข็งที่สุดที่ 73.29 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ปี 2011 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบริษัทประกันของญี่ปุ่นต้องนำเงินลงทุนในต่างประเทศกลับญี่ปุ่นจำนวนมาก
ตอนนี้อ่านใจธนาคารของญี่ปุ่นได้ไม่ยากนัก หากเงินเยนแข็งค่าเกินไป ก็จะอัดฉีดสภาพคล่องให้เงินเยนอ่อนลง และใช้เงินดำเนินการตรงนี้จำนวนมาก แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว เนื่องจากในปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่ผู้ลงทุนตระหนักว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆในโลกนี้ราคาแพงแล้ว แต่ที่ยังคงอยู่ได้เพราะเงินไม่มีที่ลงทุน สภาพคล่องที่ล้นเหลือจึงพยุงราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆให้คงอยู่ในระดับสูงนี้ได้ ที่ดิฉันเคยเขียนไปเมื่อต้นปีว่า ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนที่ต้องการ (required rate of return) ลดลง เมื่อเห็นว่าทิศทางราคาจะเปลี่ยนไป คนพร้อมที่จะกระโดเข้าหาสินทัพย์ปลอดภัย และการพักไว้ในเงินเยนเป็นที่นิยมมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลหรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะพยายามเพียงใด ค่าเงินเยนก็จะกลับไปแข็งค่าอยู่ดี
ลองจับตาดูดีๆนะคะ ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าได้นานเพียงใด