โค้ด: เลือกทั้งหมด
รถ Tesla ที่กำลังท้าทายรถยนต์ชั้นนำยี่ห้ออื่นๆ อยู่ในขณะนี้นั้น ขับเคลื่อนโดยเครื่องไฟฟ้าขนาดไม่ใหญ่กว่ากระเป๋าที่สามารถหิ้วขึ้นห้องโดยสารเครื่องบินมากนัก แต่แบตเตอรี่ที่บรรจุไฟฟ้านั้นมีน้ำหนักมากถึง 500 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถบรรจุไฟฟ้าได้ 60 ถึง 80 kWh เพื่อวิ่งได้ 300-350 กม.ต่อการบรรจุไฟหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ประเมินว่าต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ Lithium ion (Li) ดังกล่าวนั้นประมาณ 250 ดอลลาร์ต่อ 1 kWh กล่าวคือ Li ในรถ Tesla ราคาประมาณ 15,000-20,000 ดอลลาร์ ในขณะที่รถ Tesla Model S นั้นราคาเริ่มต้นประมาณ 70,000 ดอลลาร์ ตรงนี้อาจผิดพลาดไปบ้าง เพราะบริษัทปกปิดข้อมูลตรงนี้ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าแบตเตอรี่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญมากของรถไฟฟ้า
บทวิเคราะห์ของ CLSA ชื่อว่า Autocalypse เมื่อ ต้นปีอ้างว่าผู้บริหาร Tesla มั่นใจว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิต Li ลงเหลือ 100 ดอลลาร์ต่อ 1 kWh ภายในปี 2020 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ต้นทุน Li จะลดลงเหลือ 6,000-8,000 ดอลลาร์ต่อรถ 1 คัน ทำให้ราคารถ Tesla Model 3 ที่กำลังจะผลิตออกมาขายในปี 2018 ที่ราคาเริ่มต้น 35,000 ดอลลาร์ จะสามารถปรับลดลงไปอีก 10,000 ดอลลาร์ต่อคันภายใน 5 ปีข้างหน้า กล่าวคือเหลือราคาคันละ 875,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของรถยนต์ที่คนอเมริกันซื้อใช้อยู่ในขณะนี้และน่าจะ เป็นราคาที่ขายแข่งขันได้ทั่วโลกที่เก็บภาษีสรรพสามิตจากมลพิษของรถยนต์ แต่รถไฟฟ้าจะได้ยกเว้นภาษีดังกล่าวเพราะไม่ก่อให้เกิดมลพิษและในหลายประเทศยังได้รับเงินอุดหนุนหลายพันดอลลาร์ต่อคันอีกด้วย
รถ Tesla จึงอาจสามารถตีตลาดรถยนต์ได้ในทันทีทันใด เพราะรถไฟฟ้านั้นมีข้อได้เปรียบรถยนต์ปัจจุบันอยู่แล้ว คือไม่สร้างมลภาวะและหากราคาถูกกว่ารถยนต์ปัจจุบันก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้อง เลือกใช้รถยนต์ต่อไป เพราะรถไฟฟ้ามีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำกว่า เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่สึกหรอได้เพียง 18-20 ชิ้น เทียบกับรถยนต์ที่มีชิ้นส่วนที่สึกหรอได้ 2,000 ชิ้น ทำให้ Tesla สามารถประกันซ่อมฟรีรถไฟฟ้าของตนได้นานถึง 8 ปี โดยไม่จำกัดกิโลเมตรที่วิ่ง เมื่อไม่นานมานี้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยออกมาคัดค้านการนำ รถไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทย หากไม่มีการวางแผนระยะยาวที่ชัดเจน เพราะเกรงว่าหากมีการใช้รถไฟฟ้าอย่างแพร่หลายจะกระทบกับอุตสาหกรรมของตนที่ มีการจ้างงานมากกว่า 6 แสนคนและมียอดขายเป็นแสนล้านบาทต่อปี
แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมให้นำรถไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยอย่างเร่งรีบหรือจำกัดปริมาณนำเข้าเพียง 5,000 คันต่อปี แต่ หาก Disruptive Technology นี้ แพร่ขยายอย่างรวดเร็วในต่างประเทศ ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไทยมีกำลังผลิตรถยนต์เกือบ 3 ล้านคัน ปัจจุบันผลิต 2 ล้านคันเพื่อส่งออก 1.2 ล้านคัน และใช้ในประเทศ 8 แสนคัน ทั้งนี้รถไฟฟ้านั้นใช้ชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างเพื่อขับเคลื่อนรถน้อย มาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ปัจจุบัน กล่าวคือรถไฟฟ้าไม่มี
1)หม้อน้ำและระบบทำความเย็นของเครื่องยนต์
2) เกียร์ น้ำมันเกียร์และน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์
3) ระบบท่อไปเสียและระบบจ่ายน้ำมัน
4) เครื่องกรองมลพิษ (catalytic converter)
5) ถังน้ำมัน
6) ระบบจุดระเบิดและแบตเตอรี่เพื่อสตาร์ทรถ
7) ความจำเป็นต้องมีปั๊มน้ำมัน แต่ต้องมีที่บรรจุไฟตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ตและสถานที่ทำงาน เพราะรถไฟฟ้าต้องใช้เวลาบรรจุไฟนานอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป
บางคนบอกว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะใช้รถไฟฟ้า เพราะแม้ผู้ผลิตจะบอกว่าเครื่องไฟฟ้าขับเคลื่อนรถ Hybrid ปัจจุบันได้ 30-35 กม. ต่อการบรรจุไฟหนึ่งครั้ง แต่เมื่อเจอรถติดอย่างกรุงเทพฯ อาจขับไปได้เพียง 10 กม.ก็ไฟหมดแล้ว ดังนั้นหากเป็นรถไฟฟ้าที่อ้างว่าใช้ได้ 300-350 กม. ก็อาจใช้ได้จริงเพียง 100-150 กม.ก็ได้ แต่หากเป็นเช่นนั้นก็ยังเพียงพอที่จะใช้ประจำวัน เพราะส่วนใหญ่จะใช้รถไม่เกิน 100 กม.ต่อวันอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือรถยนต์นั้นปกติจอด 90% และใช้เพียง 10% ต่อวัน ดัง นั้นการบรรจุไฟในช่วงที่เรานั่งทำงานจึงจะมีความสำคัญมาก และน่าจะเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมากนักและเป็นการลงทุนที่ถูกกว่าการสร้าง สถานีบริการน้ำมันอย่างแน่นอน (กล่าวคือหากมีการใช้รถไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ปั๊มน้ำมันก็คงต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)
ครั้งหน้าผมจะเขียนต่อว่าแบตเตอรี่นั้นอาจเป็น Disruptive Technology ที่กระทบต่อภาคอื่นๆ ของเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างกว้างขวางใน 20-30 ปีข้างหน้า และจะเป็นการตอบคำถามอีกด้วยว่ารถไฟฟ้าจะเอาไฟฟ้าจากที่ใดมาใช้ครับ