ศึกชิงนิ้ว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ศึกชิงนิ้ว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    “แจ็ค หม่าขายทุเรียน 80,000 ลูกในหนึ่งนาที”  นั่นเป็นข่าวที่พาดหัวหนังสือพิมพ์และในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ  เมื่อสัปดาห์ก่อนหลังจากที่แจ็ค หม่ามาพบนายกรัฐมนตรีและลงนามความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มของอาลีบาบา  เวบไซ้ต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน

    ปรากฏการณ์การขายทุเรียนครั้งนี้  แม้ว่าหลายคนจะพูดว่าเป็นเรื่องของการ “สร้างภาพ” ของใครต่อใครเพราะว่าการขายทุเรียนเพียง 80,000 ลูกภายใน 1 นาทีในวัน “เปิดตัว”  นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะขายได้แบบนี้ตลอดไป  นอกจากนั้น  ในแต่ละปีเรามีการขายทุเรียนเป็นล้าน ๆ  ลูกอยู่แล้วผ่านระบบการซื้อขายปกติ   อย่างไรก็ตาม  ผมเองมองเหตุการณ์ครั้งนี้ว่ามีนัยยะสำคัญยิ่งยวด  มันคล้าย ๆ  กับเป็นสัญญาณหรือหลักไมล์ที่บอกว่า  E-commerce และการทำธุรกรรมต่าง ๆ  ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของไทยอาจจะกำลัง  “Take off”  หรือออกตัวอย่างแรงหลังจากที่คนไทยเริ่มใช้มันอย่างกระท่อนกระแท่นมาหลายปี

    ในเวลาเดียวกัน  “สัญญาณการแข่งขัน”  ในเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตมาแทนที่ระบบดั้งเดิมก็เกิดขึ้นทั่วไปหมด  ธุรกิจต่างก็พยายามดึงคนเข้ามาใช้ระบบใหม่ด้วยกลยุทธ์ “ตัดราคา”  และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้บริการเพื่อดึงให้คนเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบของตนเองโดยที่ต่างก็ยอม “ขาดทุน”  ก่อนเพราะหวังว่าเมื่อจำนวนลูกค้ามีมากขึ้นแล้วก็จะสามารถหาทางทำเงินจากเครือข่ายที่ใหญ่โตนั้นได้ในภายหลัง

    สำหรับผมแล้ว  นี่คือสัญญาณว่า  “ศึกชิงนิ้ว”  กำลังเกิดขึ้น  ความหมายก็คือ   บริษัทต่าง ๆ  กำลังสร้าง Platform โดยเฉพาะในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่าง ๆ  โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ  คนเพียงแต่โหลดแอ็บของบริษัทผ่าน “ปลายนิ้ว”  ก็ใช้ได้แล้ว  และหลังจากนั้น  ถ้าลูกค้ายิ่งใช้นิ้วสัมผัสกับระบบของบริษัทมากเท่าไร  บริษัทก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น   อาลีบาบาเองคงไม่ต้องการแค่ให้ชาวสวนหรือผู้ค้ารายย่อยขายแค่ทุเรียน  เขาต้องการให้ขายส้มโอ  มะยงชิต และผลไม้ไทยทั้งหลายผ่านระบบของเขา  ว่าที่จริง  ผลไม้ก็เป็นแค่สินค้าอย่างหนึ่งเท่านั้น  สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ  ก็คือ  การค้าขายสินค้าแทบทุกอย่างผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของเขาโดยไม่มีข้อจำกัด  เขากำลังแสดงว่าถ้าเขาสามารถขายทุเรียนและผลไม้ที่มีอายุสั้นให้กับคนจีนที่อยู่ไกลเป็นพัน ๆ  กิโลเมตรได้  การค้าขายอย่างอื่นก็ง่ายและสะดวกแค่  “ปลายนิ้วสัมผัส”

    อาลีบาบาไม่ใช่บริษัทเดียวที่กำลังเข้าทำศึกชิงนิ้วในตลาดไทย   E-commerce ในไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ  กับการแข่งขันจากผู้เล่น  “ระดับโลก”  ที่พร้อมจะยอมขาดทุนจำนวนมากเพื่อชิง “นิ้ว”  ของผู้บริโภคหรือผู้ขายรายย่อยไว้ก่อน   ลาซาด้าที่เข้ามาในตลาดไทยหลายปีนั้นผมคิดว่ากำลังสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ชอบปี้เองก็กำลังเข้ามาแข่งขันอย่างหนักเห็นได้จากการโหมโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ   โดยเฉพาะทางทีวี   ในทางตรงกันข้าม  บริษัทไทยหลาย ๆ  แห่งที่เริ่มทำอีคอมเมิร์ซมาก่อนกลับไม่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ  เหตุผลนั้นน่าจะอยู่ที่ว่าพวกเขามักจะเป็นคนที่ขายผ่านร้านค้าดั้งเดิมอยู่แล้ว  การทำอีคอมเมิร์ซมักจะเป็นแค่ช่องทางเสริมเพื่อเอาไว้ “ป้องกันตัว” จากคู่แข่งที่ทำอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก  ดังนั้น  พวกเขาก็ไม่ทุ่มเท  เขาไม่อยาก  “ฆ่า”  ร้านค้าของตนเองด้วยอีคอมเมิร์ซของเขา    นอกจากนั้น  เนื่องจากในช่วงแรก  อาจจะหลาย ๆ  ปี  บริษัทจะต้องขาดทุนอย่างหนักซึ่ง “บริษัทแบบดั้งเดิม”  รับไม่ได้  ถ้าทำไปราคาหุ้นจะตกหนัก  ดังนั้นพวกเขาก็มักจะทำไปอย่างช้า ๆ  และไม่ลงทุนมากเกินไป    ซึ่งตรงกันข้ามกับบริษัทไฮเท็คดิจิตอลที่คนพร้อมที่จะซื้อหุ้นในราคาแพงลิ่วแม้ว่าบริษัทจะขาดทุนหนัก  ขอแต่เพียงให้เห็นว่าลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็พอ

    นอกจากเรื่องของอีคอมเมิร์ซแล้ว  เราก็เริ่มเห็น “ศึกชิงนิ้ว”  ในด้านของการให้บริการ  เฉพาะอย่างยิ่งด้านฟินเทคซึ่งเป็นเรื่องของการเงินการลงทุน  ผมรู้สึกทึ่งมากกับความรวดเร็วของการใช้แอ็บการโอนเงินของแบ้งค์  ก่อนหน้านี้คนก็ยังไม่ได้สนใจที่จะใช้มือถือทำธุรกรรมการเงินมากนัก  แต่เมื่อมีแบ้งค์บางแห่งตัดสินใจ  “ชิงนิ้ว” ของลูกค้าโดยการเสนอ  “ฟรีค่าธรรมเนียม”  ทุกแบ้งค์ต่างก็ต้องเข้ามาแข่งขัน  ดังนั้น  การเติบโตของธุรกิจทางการเงินต่าง ๆ  ผ่านมือถือด้วย “ปลายนิ้ว”  ก็จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

    ผลกระทบที่ตามมาจาก “ศึกชิงนิ้ว”  ผมคิดว่ามีมากมาย  ธุรกิจที่จะได้ผลดีอย่างเห็นได้ชัดก็คือ Logistic หรือระบบการจัดส่งและการกระจายสินค้า  การเติบโตของบริษัทผู้นำอย่าง Kerry Express ที่เน้นการส่งสินค้าถึงบ้านคนซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซนั้นน่าจะมหาศาล  อย่างไรก็ตาม  ผมก็เชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่เข้ามาทำธุรกิจนี้รองรับกับธุรกิจการขายของตนเองด้วยโดยเฉพาะเมื่อเขาเห็นว่าปริมาณการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายของเขามีมากพอ

    ธุรกิจที่จะถูกกระทบหนักก็น่าจะเป็นร้านค้าและผู้ขายสินค้าแบบดั้งเดิมที่อาจจะถูกอีคอมเมิร์ซแย่งลูกค้า  โดยปกติ  สินค้าที่จะถูกกระทบนั้นน่าจะอยู่ในกลุ่มราคาระดับกลางและมีมาตรฐานหรือรูปแบบที่แน่นอนมีความหลากหลายน้อย   เหตุผลที่สินค้าราคาถูกมากและลูกค้าซื้อแต่ละครั้งอาจจะไม่เกิน 100-200 บาท นั้นจะไม่ถูกกระทบก็เพราะมันไม่คุ้มค่าส่ง  ในขณะที่สินค้าแพงมากเป็นหลาย ๆ หมื่นหรือเป็นแสนบาทนั้น  ลูกค้ามักจะต้องการตรวจรายละเอียดสินค้าก่อนซื้อ  ในด้านของมาตรฐานหรือแบบของสินค้าเองนั้น  สินค้าที่มีความหลากหลายและมาตรฐานแต่ละชิ้นแตกต่างกันมากนั้น  ลูกค้าก็มักจะต้องไปตรวจสอบด้วยตนเองก่อนซื้อ  เป็นต้น

    ห้างร้านและช็อบปิ้งมอลเองก็เป็นธุรกิจที่น่าจะถูกกระทบพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ   จริงอยู่  มีความเชื่อในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนและรถติดว่า  ยังไงคนก็ยังอยาก “เดินห้าง”  แต่ก็เป็นไปได้ว่าคนอาจจะยังเดินห้างอยู่แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าก็อาจจะลดลง   และเมื่อร้านค้าในห้างไม่สามารถขายสินค้าได้มากพอห้างก็ไม่สามารถคิดค่าเช่ากับร้านแพงเกินไป  ผลก็คือ  กำไรของคนที่ทำห้างร้านก็จะลดลง  จากการสังเกตในฐานะ “คนเดินห้าง”  ในระยะหลัง ๆ ช็อบปิงมอลหันมาทำร้านอาหารมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าอาหารยังเป็นสิ่งที่ขายได้ดี   อย่างไรก็ตาม  ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าในที่สุดแม้แต่อาหารก็อาจจะถูกกระทบ  เหตุผลก็คือ  ดูเหมือนว่าคนจะเริ่มสั่งอาหารส่งถึงบ้านผ่านอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ข้อจำกัดว่าร้านดังอาจจะอยู่ไกลและที่จอดรถไม่สะดวกนั้นเริ่มจะหมดไปเมื่อระบบการส่งนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก

    ประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าน่าจับตามองก็คือ  เรื่องของความเกี่ยวโยงกันของเทคโนโลยีดิจิตอลทั้งหลาย  การที่การพัฒนาหรือการ “ปฏิวัติ” การทำธุรกิจหรือธุรกรรมบางอย่างในอดีตเกิดขึ้นช้านั้น  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าองค์ประกอบบางอย่างไม่พร้อม  แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว  การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเร็วมาก  ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่องของระบบการโอนเงินที่มีโอกาสที่จะถูก  “ปลดล็อก” ให้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่น ๆ  ตามมามหาศาล  เป็นต้น
[/size]
syj
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4254
ผู้ติดตาม: 1

Re: ศึกชิงนิ้ว/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จากประสบการณ์ การช๊อป กับ ลาซาด้า

1. ก่อนที่ Alibaba จะมาเทคโอเวอร์ นั้น
ช่วงนั้น ลาซาด้า มี Code ลดราคาใน
เปอร์เซ็นต์และส่วนลดที่สูงกว่าหลังจาก
ที่ Alibaba มาเทคฯ

2. เคยมีความพยายามเก็บค่าขนส่ง
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยกลับ
มาเป็น นโยบายส่งฟรี เหมือนเดิม
(ตั้งแต่ … บาท เช่น 99.~ บางเจ้า
เช่น Lotus Tesco ที่เปิดร้านในลาซาด้า
ตอนนี้โปร ส่งฟรีตั้งแต่ 59.~)

3. เมื่อก่อนจะมี Kerry Express เป็นขนส่งหลักๆ
แต่หลังๆ ก็มี Lazada Express มาแข่งแล้ว แต่
ว่า Kerry ยังคงเป็นทางเลือกที่มีจุดรับสินค้าเยอะกว่า
SCG Express ที่ทาง ปูนใหญ่ฯ ไปจับมือกับ “แมวดำ”
ของญี่ปุ่น ยังลงมาไม่ถึงลาซาด้า (ตั้งแต่ซื้อของมา
ไม่เคยได้รับบริการของ SCG Express เลย)

4. ลาซาด้า ทำ App ได้ดีกว่า Shopee มาก
(ของ Shopee ไม่มี App บน iPad ด้วยซ้ำ)

5. บางร้านค้า ในลาซาด้า ไม่สามารถออก
ใบกำกับภาษี ได้ (ของชิ้นใหญ่ มีแบรนด์
ระดับโลก ราคาหลักหมื่นด้วย) น่าจะเป็น
ของหิ้วมาเอง !!!
// Stay Hungry, Stay Foolish.
// Stay Calm, Stay Invest.
// Price is what you pay, Value is what you get.
โพสต์โพสต์