Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ช่วงโควิดผมได้อ่านหนังสือที่ได้รับจากเพื่อน VI ที่ส่งมาให้หลายเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้มีเวลาอ่านเล่มหนึ่งชื่อ “Upheaval” เขียนโดย Jared Diamond นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ “Guns Germs And Steal” ที่โด่งดังหลายปีก่อน หนังสือเล่มนี้พูดถึง “วิกฤติ” โดยเฉพาะของประเทศต่าง ๆ และจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาติพ้นจากวิกฤติ

ตัวอย่างของประเทศที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในหนังสือรวมถึง การสงครามระหว่างฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียตในช่วงก่อนและต่อไปจนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ในสมัยเมจิจนกลายเป็นมหาอำนาจและแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและการรวมชาติเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกภายหลังสงครามเย็น อเมริกาในประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคและปัญหาเรื่องชนชั้นในสังคม แต่ประเทศที่ผมสนใจมากกว่าก็คือวิกฤติของประเทศกำลังพัฒนาที่มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านของการเมืองที่มักจะเกิดการรัฐประหารและการปกครองในระบบเผด็จการยาวนานซึ่งนำประเทศไปสู่วิกฤติและหนทางที่ประเทศเหล่านั้นออกจากวิกฤติและก้าวหน้าต่อไปในปัจจุบัน โดยตัวอย่างก็คือ ประเทศชิลีและอินโดนีเซียในยุคนายพลปิโนเชต์และซูฮาร์โตตามลำดับ



คำว่า “Upheaval” นั้น หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและอย่างกะทันหัน เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายก่อให้เกิดปัญหา ความยากลำบาก เกิดทุกข์เข็น ความสับสนโกลาหลและความกังวลในวงกว้างและมักจะต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ตัวอย่างเช่นในตอนนี้ ในระดับโลก การเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ต้องถือว่าเป็น Upheaval ที่ “โลก” ต้องต่อสู้แก้ไขให้โรคนี้สงบลง เช่นเดียวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนขึ้นก็ถือว่าเป็น Upheaval เช่นเดียวกันและเป็นเรื่องของ “โลก” ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง ทั้งโลกต้องร่วมมือกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ “ยากและท้าทาย” แต่ก็ต้องทำให้ได้ ในระดับภูมิภาคหรือประเทศเองนั้น ตัวอย่างของ Upheaval เร็ว ๆ นี้ที่ชัดเจนก็คือในกรณีของเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เกิดการ “ปฎิวัติของประชาชน” ล้มระบบการปกครองแบบเก่าที่เป็นเผด็จการและ “กดขี่” ประชาชนโดยผู้ปกครองหรือชนชั้นนำในกลุ่มประเทศอาหรับตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบียและเยเมน และยังก่อให้เกิดกระแสการต่อสู้ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในย่านนั้นจนถึงปัจจุบัน

มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุของการเกิดอาหรับสปริงนั้น มาจากประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่รุนแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นานเท่าไรก็คงจะบอกได้ยาก พูดแบบชาวบ้านหน่อยก็อาจจะบอกว่า “สุกงอม” โดย “รายการ” ที่น่าจะมีผลที่สุดที่ปรากฏในวิกิพีเดียน่าจะรวมถึงเรื่องของ อำนาจนิยมหรือระบบที่เป็นเผด็จการ โครงสร้างประชากรที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น การทุจริตทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะเงินเฟ้อและความยากจน และการแบ่งแยกนิกายทางศาสนา เป็นต้น ส่วนเป้าหมายของ “ผู้ก่อการ” ก็คือการล้มลัทธิอิสลามนิยม การทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพทางการค้าและมีสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยวิธีการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนนั้นก็เริ่มต้นจากการ “ดื้อแพ่ง” การเดินขบวนประท้วง การเผาตัวเอง การจลาจล การเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตและออนไลน์ในสื่อสังคม การนัดหยุดงาน และการทำสงครามกลางเมือง เป็นต้น

กลับมาที่ประเทศไทย ผมลองนึกย้อนหลังดูก็พบว่าเราน่าจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็น Upheaval ในช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 ที่ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย นำโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งและมีจำนวนน้อยนิดที่มีความไม่พอใจในระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศที่เป็นระบบอภิสิทธิชนและมีการกดขี่ไม่เป็นประชาธิปไตยและยังไม่มีแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ถูก “ฉีกไป” ในการรัฐประหารก่อนหน้านั้น

ผมยังจำได้ว่ามีเหตุการณ์ “ทางการเมือง” ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นวัน มีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น มีการเปิดโปงการทำผิดกฎเกณฑ์และกฎหมายของผู้มีอำนาจระดับสูงมาก เช่น เรื่องการเข้าป่าล่าสัตว์ มีการประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นเรื่องการฆ่าแล้วเผาในถังแดง และสุดท้ายมีการ “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดกรณี 14 ตุลา 16 และตามมาด้วย 6 ตุลาคม 19 ซึ่งหลังจากเป็น “Upheaval” มาหลายปี เราก็ “ผ่านมาได้” ด้วยการแก้ไขที่ถูกต้อง ประเทศไทยกลับมาเจริญงอกงามต่อมาจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าจะยังมีปัญหามาเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังห่างไกลจากวิกฤติในระดับหายนะ



ปรากฏการณ์ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาของไทยนั้น ดูเหมือนว่าเราจะเริ่มประสบปัญหารุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝ่ายคือฝ่ายที่เป็นชนชั้นนำ-สูงอายุกับคน “ชั้นล่าง” และคนหนุ่มสาว กลุ่มคนอนุรักษ์กับเสรีนิยม ความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจกับคนที่ยากไร้ ระบบการเมืองที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ระบบความยุติธรรมที่ “ลำเอียง” ไม่เป็นกลาง การกระจายของข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้มีความเห็นที่รุนแรงและแตกแยกมากขึ้น มีการรัฐประหารและมีการ “ต่อสู้” โดยการประท้วงและการอดอาหาร มีการปิดกั้น “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการละเมิด “สิทธิมนุษยชน” ในด้านต่าง ๆ มีการ “คอร์รัปชั่น” ของผู้มีอำนาจที่ไม่สามารถเอาผิดได้ ถ้าจะพูดไปเรื่อย ๆ ก็น่าจะยังมีประเด็นที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างกระทันหันทำให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ยากสับสนเป็นระยะ ๆ และแน่นอนว่าประเด็น “ล่าสุด” ก็คือ การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ที่เข้ามา “ซ้ำเติม” จนสังคมไทยแทบจะ “ทนไม่ไหว”

ผมเองคิดว่าประเทศไทย ณ.ขณะนี้อาจจะเข้าข่ายเป็น “Upheaval” ไปแล้ว อาจจะไม่ใช่สาเหตุเรื่องของโควิดเท่านั้น แต่เป็นภาพโดยรวมของประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว โควิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาซ้ำและน่าจะรุนแรงที่สุด ทางออกของประเทศไทยคืออะไร? คำตอบจาก Jared Diamond ก็คือ

1) คนในชาติจะต้องมีความเห็นพ้องร่วมกันว่าประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ผมเองคิดว่าตั้งแต่เกิดโควิด-19 คนไทยก็มีความเห็นพ้องร่วมกันมากขึ้นว่าเรามีปัญหาจริง ๆ จากที่ก่อนหน้านี้หลายคนคิดว่าไทยไม่มีปัญหา เป็นปัญหาของคนบางกลุ่มที่....เท่านั้น
2) ต้องยอมรับว่าเป็นภาระรับผิดชอบของประเทศที่ต้องลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
3) ล้อมรั้ว กำหนดขอบเขตปัญหาของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข เรื่องนี้ผมนึกถึงการแก้ปัญหาทางสังคมของคนที่ถูกกระทบจากโควิดหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นต้น
4) หาความช่วยเหลือทางวัตถุและทางการเงินจากต่างประเทศ ผมคิดว่าเรามีเงินพอ แต่ทางวัตถุก็อาจจะเป็นวัคซีนโควิดที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

5) ถือประเทศอื่นเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหา ข้อนี้ผมคิดว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดของคนว่าที่เราเจริญมาตลอดในประวัติศาสตร์นั้น ก็อยู่ที่การเลียนแบบมาจากคนอื่นที่เจริญกว่า ไม่มีอะไรน่าอาย
6) อัตลักษณ์แห่งชาติ ข้อนี้ก็คือต้องดูว่าคนไทยมีนิสัยหรือคุณสมบัติแบบใด การแก้ปัญหาก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย
7) ประเมินจุดอ่อนจุดแข็งประเทศของตนอย่างซื่อตรง
8) ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับวิกฤติชาติครั้งก่อนหน้านั้น นั่นก็คือกรณีวิกฤติเดือนตุลาคมปี 2516 และ 2519 ที่เราต้องศึกษา

9) แก้ปัญหาความล้มเหลวของประเทศ
10) ความยืดหยุ่นในสถานการณ์เฉพาะของประเทศ
11) ค่านิยมหลักของประเทศ
12) การเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์

ทั้งหมดนั้นก็คือ ความพยายามที่จะ “ปรองดอง” ไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายจนเกิด “ต้นทุน” มหาศาลจนรับไม่ไหว เป็นทางเลือกที่จะออกจากวิกฤติโดยที่จะเกิดผลดีต่อการก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งในอนาคต แน่นอนว่าต้องมีคนที่ต้อง “เสียสละ” เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้
ZVI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 424
ผู้ติดตาม: 0

Re: Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ฉบับแปลไทยก็มีครับ เผื่อใครสนใจ

www.gypsygroup.net/product/842/upheaval
แนบไฟล์

ภาพประจำตัวสมาชิก
Tanukicho
Verified User
โพสต์: 215
ผู้ติดตาม: 0

Re: Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

หนังสือปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้ากับชะตากรรมของสังคมนุษย์ (Guns, Germs and Steel: The Fates of Human Societies)

หนังสือเล่มนี้มีแปลไทยอยู่ครับ หนังสือเล่มนี้เขียนดีมากครับ สมกับที่ได้รับรางวัล ด้วยผู้เขียนเชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์
หนังสือจะบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษย์ วิวัฒนาการที่ส่งผลให้ประเทศต่างๆกลายเป็นมหาอำนาจ
มันจะทำให้เราเข้าใจระบบมากขึ้น ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผล ทำให้เกิดเทคโนโลยี การยึดครองทวีปต่างๆ
ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร ระบบการผลิตอาหาร พืช สัตว์ เชื้อโรค การสร้างเทคโนโลยี การพิม การเขียน จากจดบันทึก
การสร้างสังคมที่มีความซับซ้อน ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ สภาพแวดล้อม โครงสร้างทวีป ความหลากหลายของทวีป
ความฉลาดของผู้คนส่งผลอะไรบ้าง การยอมรับการเปลี่ยน การดื้อดึง
“ กำไรเมื่อซื้อ ไม่ใช่เมื่อขาย ”
Cr.Richdad
Peter1011
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 262
ผู้ติดตาม: 1

Re: Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

13) มีสติในการรับข่าวสารต่างๆ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ มองหาความเป็นจริง ไม่ใช่ความจริงเสมือน
ภาพประจำตัวสมาชิก
ส.สลึง
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3750
ผู้ติดตาม: 1

Re: Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ถ้าปรองดองกันได้
ปรองดองกันไปนานแล้วล่ะครับ อ.
โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม :'O

ประสบการณ์ในที่ทำงาน
เวลาเกิดความขัดแย้ง
ที่ผมใช้บ่อยคือการหาจุดร่วม
แต่มันไม่มีประโยชน์

เพราะมีแต่คนพูด

ไม่มีคนฟังนะครับผม :wall:
"วิถีรักษ์โลก บ้าน 1 หลัง รถ 1 คัน สาว 1 คน กางเกงใน 1 ตัว" <⁠(⁠ ̄⁠︶⁠ ̄⁠)⁠> ...
amornkowa
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2576
ผู้ติดตาม: 1

Re: Upheaval : วิกฤติชาติและทางออก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

Linkฟัง ดร พูดหัวข้อนี้ครับ

https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... 806265352/

สัปดาห์งดหนึ่งสัปดาห์
แนบไฟล์

โพสต์โพสต์