ชะตากรรมของหุ้นเล็กแสนล้าน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1827
ผู้ติดตาม: 1

ชะตากรรมของหุ้นเล็กแสนล้าน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันที่ 25 มีนาคม 2560 หรือเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้วในคอลัมน์ “โลกในมุมมองของ Value Investor” หัวข้อเรื่อง “หุ้นเล็กแสนล้าน” ผมเขียนว่า “เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Trinh Van Quyet ประธานบริษัท FLC Group และเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท Faros Construction ในตลาดหุ้นเวียตนาม วัย 41 ปี ได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในตลาดหุ้นเวียตนามด้วยมูลค่าหุ้นรวมกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก การที่เขากลายเป็นบุคคลที่ “มั่งคั่งที่สุด” ใน “ชั่วข้ามคืน” นั้น เป็นเพราะหุ้นบริษัทก่อสร้าง Faros ที่มีชื่อย่อของหุ้นว่า ROS ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2016 มีราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่าเป็นประมาณ 170 บาทต่อหุ้นภายในเวลา 3 เดือน หุ้น ROS ยัง “ร้อนแรง” ต่อมาจนถึงวันนี้และมีราคาประมาณ 240 บาทต่อหุ้น Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้น ROS สูงถึงประมาณหนึ่งแสนล้านบาทไทยและมีส่วนที่มีนัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นโฮจิมินเพิ่มขึ้นมากและเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วย หุ้น ROS ใหญ่โตติดอันดับ 1 ใน 10 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดของตลาดและมี Market Cap. ประมาณ 4-5% ของตลาด การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมีส่วนต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดที่ทุกคนต้องจับตามอง

แต่ใน “โลกของความจริง” ที่อิงอยู่กับพื้นฐานทางธุรกิจนั้น หุ้น ROS ณ. ปัจจุบันก็ยังเป็น “หุ้นเล็ก” ที่มียอดขายปีที่แล้วเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาท และถ้ามองย้อนหลังไปอีกปีหนึ่งคือปี 2015 บริษัทมียอดขายเพียง 750 ล้านบาท กำไรของปี 2015 อยู่ที่ประมาณ 130 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2016 กำไรกระโดดขึ้นมา “หลายเท่าตัว” เป็นประมาณ 640 ล้านบาท และถ้าคิดเปรียบเทียบกับบริษัทหรือหุ้นก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปในตลาดหุ้นเวียตนามที่มักจะมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่าแล้ว Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของ ROS ก็ไม่น่าจะเกิน 6,400 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง ค่า PE ของ ROS กลับสูงถึง 160 เท่า ค่า PB สูงถึง 15 เท่า ดูเหมือนว่า “นักเก็งกำไร” ชาวเวียตนามเองจะไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะแพงแค่ไหน เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนี้คึกคักติดอันดับต้น ๆ ทุกวัน

ก่อนหน้าการปรากฏตัวของหุ้น ROS นั้น ถ้าพูดถึงหุ้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับ “ยักษ์” ของเวียตนาม ทุกคนก็จะต้องพูดถึงหุ้น Vingroup หรือหุ้น VIC ที่เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทตั้งแต่ช็อปปิงมอลขนาดใหญ่ คอนโดและบ้านเพื่อขาย อาคารสำนักงาน และอื่น ๆ อีกมาก ที่มีเจ้าของเป็นคนรวยอันดับหนึ่งของประเทศ หุ้น VIC เองนั้นต้องถือว่าเป็น “เจ้าพ่อ” ทางด้านอสังหาริมทรัพย์เพราะยอดขายของบริษัทปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท หรือประมาณ 18 เท่าของ ROS แต่มี Market Cap. เพียง 170,000 ใหญกว่า ROS เพียง 70% …”

ในบทความนั้นผมบอกว่าหุ้น ROS มีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการคือ 1) กำไรก่อนหุ้นวิ่งโตขึ้นแบบก้าวกระโดด 2) หุ้นมี “Story” คือมีแผนสร้างรีสอร์ทขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะที่เกาะฟูก๊วกและ 3) หุ้นอยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่สูงมากเรียกว่าหุ้นถูก “คอร์เนอร์” ซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นได้แทบไม่จำกัดถ้ารายใหญ่ไม่ขายแต่มีคนมาซื้อหุ้นเพื่อปั่นหรือเก็งกำไร และสุดท้ายผมเขียนว่า “คำทำนายของผมในกรณีหุ้น ROS ก็คือ มันก็จะถอยกลับไปอยู่ในที่ที่มันควรจะเป็น-ไม่ช้าก็เร็ว ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อที่จะเตือนสตินักลงทุนรายย่อยของไทยเองที่มักจะเจอหุ้นแบบ ROS ว่าที่จริงเรามีมากกว่ามากในตลาดหุ้นไทย”

เวลาผ่านไป 5 ปี ถึงวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผมคิดว่าเรื่องราวแบบหุ้น ROS กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย เพราะมี “หุ้นเล็ก” อย่างน้อย 2 ตัวที่กลายเป็นหุ้น “แสนล้านบาท” คิดจาก Market Cap. ของแต่ละตัวที่สูงใกล้หรือมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาททั้ง ๆ ที่มีขนาดของธุรกิจเล็กมากมีรายได้ระดับ 100 หรือ 2,000 ล้านบาท และกำไรระดับไม่เกิน 200 ล้านบาทหรือต่ำกว่านั้น

ข้อมูลของหุ้น 2 ตัวประมาณคร่าว ๆ ก็คือ มีรายได้เฉลี่ย 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2564 ที่ ประมาณ 700 ล้านบาท มีกำไรเฉลี่ยประมาณ 50 ล้านบาท Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นเฉลี่ยของ 2 ตัวคือตัวละประมาณ 140,000 ล้านบาท ถ้าคิดค่า PE อย่างหยาบ ๆ ก็น่าจะประมาณ 2,000 เท่า

สิ่งที่ทำให้หุ้นขึ้นนั้น นอกจากกำไรที่เพิ่มขึ้นแรงเพราะกำไรในปี 2563 นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น ก็คือการที่บริษัทมี “Story” ที่ “น่าตื่นเต้น” ที่อาจจะสามารถทำเงินมหาศาล เช่น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อนาคตของโลกยุคใหม่” เช่น คริปโตเคอเรนซี่และคลาวด์เป็นต้น แต่ที่ผมคิดว่าเป็น “ตัวจริง” ที่ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไป “ทะลุโลก” ก็คือการที่หุ้นถูก “Corner” อย่างรุนแรงโดยเฉพาะจากนักเล่นหุ้นรายใหญ่ที่โหมกันเข้ามาเล่นหรือปั่นหุ้นในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “หุ้นอภินิหาร” ที่มีราคาขึ้นมาหลาย ๆ เท่าตัว บางตัวใหญ่ขนาดที่สามารถท้าทายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้

ผมไม่ได้ติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ของหุ้น ROS เลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ข้อมูลล่าสุดถึงวันนี้ก็คือ รายได้ของบริษัท 3 ไตรมาสของปี 2564 ที่ผ่านมาเท่ากับ 2,640 ล้านบาท ถ้าคิดทั้งปีก็น่าจะประมาณ 3,500 ล้านบาทซึ่งน้อยกว่าตัวเลขเมื่อ 5 ปีที่แล้วมาก กำไรอยู่ที่ 48 ล้านบาท ทั้งปีอาจจะ 64 ล้านบาท เท่ากับประมาณ 10% ของกำไรเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ที่เป็น “หายนะ” จริง ๆ ของนักเล่นหุ้นก็คือ มูลค่าหุ้นหรือ Market Cap. ของ ROS นั้น ตกดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วจากที่เคยมีราคา 240 บาทเหลือเพียง 60 บาทในเวลา 1 ปี และตกต่อเนื่องมาอีก 4 ปี เหลือเพียง 11.30 บาทในวันนี้ซึ่งทำให้ Market Cap. เหลือเพียง 6,400 ล้านบาทเท่า ๆ กับราคาหุ้นก่อนที่จะขึ้นไปเป็นแสนล้านบาทเมื่อ 5 ปีก่อน คนที่เข้าไปซื้อที่ราคาพีคและถือจนถึงวันนี้จะขาดทุนไปกว่า 90% บวกกับเวลาที่เสียไป 5 ปีโดยไม่ได้อะไรเลย

ตรงกันข้าม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามอยู่ที่ประมาณ 700 จุด ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,500 จุด หรือเพิ่มขึ้น 114% คิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นถึงปีละ 16.5% แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือหุ้น VIC “เจ้าพ่อหุ้นอสังหาริมทรัพย์” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ก็ยังเป็น “เจ้าพ่อ” อยู่ หรือจะบอกว่ากลายเป็น “เจ้าพ่อของตลาดหุ้น” ไปแล้วก็ได้ กลับมี Market Cap. เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 454,933 ล้านบาท และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งในตลาดหุ้นเวียตนาม เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละเกือบ 20% แบบทบต้น และนั่นก็ทำให้เจ้าของหุ้น VIC กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในตลาดหุ้นและประเทศเวียตนามอย่างที่ไม่มีใครมาท้าทายได้ในขณะนี้

“ชะตากรรม” ของหุ้น ROS นั้น ผมคิดว่าชัดเจนมาตั้งแต่ต้น นักวิเคราะห์ทุกคนต่างก็สรุปว่าราคาหุ้นที่ขึ้นไปนั้น “เป็นไปไม่ได้” แต่ก็ได้แต่เฝ้าดู ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครรวมถึงผู้กำกับตลาดหลักทรัพย์เช่น ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์เวียตนามได้เตือนนักลงทุนหรือไม่ แต่ดูเหมือนคนเล่นหุ้นจะไม่กลัว ผมเองคิดว่าพวกเขาจำนวนมากก็น่าจะรู้ว่าราคามันผิดธรรมชาติไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางธุรกิจอย่างสิ้นเชิง แต่ก็อาจจะไม่สนใจ เขาสนใจแค่ว่าเล่นหุ้นตัวนี้แล้วอาจทำกำไรได้ง่าย ๆ เพราะมันปรับตัวขึ้นเป็นว่าเล่นแถมมีปริมาณการซื้อขายต่อวันมากมาย ดังนั้น พวกเขาเข้าไป “เก็งกำไร” ไม่ได้ตั้งใจที่จะถือหุ้นนานโดยเฉพาะเป็นปี ไม่ต้องพูดถึงเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและเป็น “บทเรียน” ให้นักลงทุนก็คือ นักเล่นหุ้นแทบทั้งหมดที่เข้าไปเล่นหุ้น ROS ที่มี Market Cap. เป็นแสนล้านบาทต่างก็ขาดทุน โดยคนที่น่าจะกำไรก็คือคนที่ “ลากหุ้น ROS” ด้วยการ “ทำ Corner” น่าจะรวยโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ บางทีทางการก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นฝีมือใคร

ถ้าจะถามผมว่า “หุ้นเล็กแสนล้าน” บาทของไทยที่เกิดขึ้นในช่วงการเก็งกำไรมหาศาลของช่วงโควิด-19 นี้ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร คำตอบของผมก็คือ มันก็คงคล้าย ๆ กับหุ้น ROS เพราะผมดูแล้วทุกอย่างก็ใกล้เคียงกันเพียงแต่ว่าของไทยอาจจะ “แรงกว่า” มีตัวเล่นมากตัวกว่า นอกจากนั้น นักเล่นหรือ “เซียน” รายใหม่ ๆ ก็อาจจะเห็นว่าวิธีทำหุ้นแบบนี้ได้ผลดีมากและไม่มีใครทำอะไรได้ “คำเตือน” ของใครต่อใครโดยเฉพาะจากทางการนั้นดูเหมือนว่านอกจากจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นการ “ส่งเสริม” หรือประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าตอนนี้เขาจะ “เล่นตัวไหน” เพื่อที่จะได้เข้าไปเล่นกัน ในความคิดของพวกเขานั้น เขาไม่ใช่ “เหยื่อ” แต่เป็น “นักล่า” ที่อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองกำลัง “ถูกล่า” โดยนักล่าตัวที่ใหญ่กว่ามาก จะทำยังไงดีครับ?
ภาพประจำตัวสมาชิก
ดำ
Verified User
โพสต์: 4366
ผู้ติดตาม: 1

Re: ชะตากรรมของหุ้นเล็กแสนล้าน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมครับ ดร. :mrgreen:
โพสต์โพสต์