ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
choosak
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1488
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Investor Station ฉบับที่ 69-78 ประจำวันที่ 16-27 กุมภาพันธ์ 2552

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ
วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

ในอดีตเขาก็เคยพ่ายแพ้ต่อภาวะที่ผันผวน ความเสี่ยงของตลาด รวมทั้งจิตใจของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับนักลงทุนหน้าใหม่ทั่วไปที่เพิ่งเข้ามาในตลาด แต่ทว่าหลังจากที่เขาได้ศึกษาแนวทางการลงทุนในหุ้นคุณค่าของผู้ประสบความสำเร็จอย่าง วอเรน บัฟเฟต, ปีเตอร์ ลินซ์, เบนจามีน เกรแฮม แล้ว เส้นทางแนวคิดและมิติการลงทุนของเขาก็ได้กลายเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ เพียงช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีเขาสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 1000 เปอร์เซ็นต์เพียงการถือหุ้นแค่ตัวเดียวในเกมการลงทุนที่ท้าทาย วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ คือประจักษ์พยานของความสำเร็จที่จะนำเสนอในวันนี้

คิดว่าเป็นเซียนหุ้น
จริงๆ ผมเข้าตลาดหุ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นดัชนี 1700 จุด แล้วก็ลงมาเหลือประมาณ 700 จุดประมาณปี 2541 ตอนนั้นไม่มีความรู้เลยนะ เพื่อนเป็นมาร์เก็ตติ้งชวนไปเล่นหุ้น และก็เลยไปเปิดพอร์ตและเล่นหุ้นกับเขา เอาเงินเก็บไปเล่นหุ้น..ไม่ใช่ลงทุนนะ ตอนนั้นคิดว่าตลาดมันลงมาแล้ว 50% อย่างน้อยลงมาขนาดนี้ก็ต้องซื้อ ที่เข้าไปซื้อ แรกๆ ก็ดีใจแล้วได้กำไร 2-3 บาท ดีใจมาก ซื้อมาขายไป มีกำไร 2-3 ครั้งติดต่อกัน ก็คิดว่าตัวเองเป็นเซียนแล้วล่ะ (หัวเราะ) เสร็จแล่วก็เจอของจริง ตอนนั้นพอเข้าครั้งสุดท้ายนั่นแล่ะ ค่อยๆ ไหล เหลือ 200-300 จุด

มือใหม่หัดขับ
การเลือกหุ้นในตอนนั้นไม่ได้มีการวิเคราะห์ ตัวไหนเขาซื้อเยอะๆ ก็ซื้อเลย ดูในหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นหุ้นแบงก์ค่อนข้างมาแรง ก็ซื้อหุ้นแบงก์ สุดท้ายก็เสร็จ จำได้ว่าซื้อแบงก์กรุงเทพ (BBL) หุ้นละ 120 บาท สุดท้ายก็ไปขายที่ 30 บาท ในตอนนั้นไม่ได้ตัดสินใจ cut loss เพราะตอนนั้นทำไม่เป็นไม่มีความรู้เลย ก็ถือมาเรื่อยๆ เพราะเล่นเงินสด และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องหุ้นเลย หลังจากนั้นก็เลิกเล่นหุ้นไปนานพอควร

กลับมารอบใหม่ด้วยความมั่นใจ
กลับมาลงทุนอีกรอบ เพราะไปอ่านเจอหนังสือเกี่ยวกับ วอร์เรนต์ บัฟเฟต์ ไปอ่านเจอว่าเขาเล่นหุ้น ตอนนั้นคิดว่าเขาเล่นหุ้นคือซื้อมาขายไป การเล่นหุ้นมีวิธีเดียวคือการซื้อมาขายไป ซื้อวันนี้อีก 2-3 วันก็ขายออกไป คิดว่าการเล่นหุ้นคืออย่างนั้น พอไปอ่านของวอร์เรนต์ บัฟเฟต์ มันไม่ใช่เค้าถือหุ้นเป็นปีๆ ไม่ได้เล่นหุ้น แต่เป็นการซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ ก็เลยสนใจเพราะมันเป็นวิธีการหนึ่งของการลงทุน ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าจะอ่านหนังสืออะไรเลย ต้องศึกษาด้วยตัวเอง หนังสือเมืองไทยไม่มี อยากอ่านก็สั่งซื้อมาจากอเมซอนดอทคอม มีแต่ภาษาอังกฤษก็ซื้อมาอ่าน จากนั้นก็เปลี่ยนมุมมอมงใหม่..ตลาดหุ้นเป็นการลงทุน ตลาดหุ้นไม่ใช่การพนันแล้ว จึงเปลี่ยนวิธี และเข้าไปศึกษาใหม่และกลับเข้ามาในตลาดใหม่ในปี 2545 จากที่เลิกไปประมาณ 2541

ซื้อหุ้น..เหมือนซื้อธุรกิจ
เงินที่เคยเริ่มต้นไม่กี่แสนบาท ก็ลดลงเหลือประมาณ 20% เข้ามารอบใหม่ก็ไม่กี่แสนบาทเหมือนกัน แต่ลงทุนแบบนี้ก็สามารถทำงานประจำไปด้วย เราพบว่าการลงทุนแบบ Value Investing เราไม่ต้องออกไปเฝ้าหุ้น เราซื้อหุ้น..เหมือนซื้อธุรกิจ ซึ่งธุรกิจก็ดำเนินกิจการไป เราทำงานไป มีเวลาเหลือก็เอาไปทำงานประจำด้วยก็ได้ เก็บเงินแล้วเอาไปลงทุนใหม่เป็น Reinvestment ไปเรื่อยๆ

พกความรู้มาเต็มเปี่ยม
การกลับมารอบนี้ไม่กลัวเลย เพราะกลับมาด้วยความรู้ เข้ามาใหม่ครั้งหลังนี้ผมคิดว่าความรู้ที่เรามีช่วยได้ ช่วยลดความเสี่ยงที่เรามีได้ ซึ่ง PTTEP ถือมาตลอดไม่เคยขายเลยจน 4-5 ปี จนกระทั่งน้ำมันพุ่งขึ้นไปถึง 140 เหรียญ/บาร์เรล และราคาหุ้นหลังแตกพาร์ขึ้นไปแตะประมาณ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เราคิดไว้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ตลอดระยเวลาที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรเลย มันมาถึง Value ที่มันควรจะเป็นแล้ว อีกอย่างโครงการใหม่ๆ ที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีจากนี้ไม่มี ฉะนั้นรายได้ใหม่ๆ 3-4 ข้างหน้ายังไม่เกิด เลยคิดว่ามันจะมาถึงจุด peek ของธุรกิจแล้ว

เลือกหุ้นที่เป็น growth stock
กลับมามารอบที่ 2 นี้ก็ซื้อไป 3-4 ตัว ซื้อ CPF, EGCOMP, PTTEP จากนั้นก็ปรับพอร์ตใหม่ เปลี่ยนมาถือ PTTEP เลย ตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 120 บาท/หุ้น ยังไม่แตกพาร์นะ ถ้าเทียบกับปัจจุบัน (แตกพาร์แล้ว) ก็ประมาณ 24 บาท สำหรับ CPF ตอนนั้นมองว่าสถานะทุกอย่างดีหมดแต่เป็น คอมมูดิตี้โปรดักส์ เป็ด-ไก่ซื้อที่ไหน หรือขายที่ไหนก็ได้ เพราะไม่มีแบรนด์ ส่วน EGCOMP เป็นธุรกิจโรงไฟฟ้า ถ้าจะขยายกิจการก็ต้องเใช้เงินทุนมหาศาลจึงมองว่าเป็น Devidend Stock มากกว่าที่จะเป็น Growth Stock ผมมองธุรกิจและมองว่าจะเติบโตในอนาคต จึงมาถือ

PTTEP โดนใจอย่างจัง (ในอดีต)
ที่ตัดสินใจลงทุนใน PTTEP ตัวเดียว..เพราะมองว่ามีสินทรัพย์ซ่อนอยู่เยอะ ที่ลงทุนในตอนนั้นยังไม่รวมโครงการต่างๆ ที่ลงทุนไว้ ที่เราคาดว่าจะออกดอกผลในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจึงลงทุน ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องน้ำมันเลยนะ..ไม่ได้ประเมินเอาไว้ใน และมองพื้นฐานกิจการว่ามีการเจริญเติบโตแต่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนการเติบโตในอนาคต ตอนนั้นราคาหุ้น PTTEP พีอีประมาณ 7 เท่า value ที่ผมมองอนาคตตอนนั้นคือได้ถึงประมาณ 750-1000 บาท/หุ้น ถ้ารวมเอาโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เข้าถึง-เข้าใจ
ในเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้น ผมคำนวณเอง ก็จากที่เราศึกษามา value ในอนาคตเราไม่รู้เป็นตัวเลขที่แน่ชัด เป็นตัวเลขโดยประมาณ ซึ่งคำนวนโดยดูจากอนาคตจากโครงการต่างๆ เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจนี้ทำรายได้มาจากไหน ต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่ มีความเสี่ยงอะไรบ้างในอนาคต มีคู่แข่งมั๊ย การกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ เป็นอย่างไร การควบคุมต้นทุน หรือการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร ผู้ถือหุ้นคือใคร ผู้บริหารเป็นอย่างไร อะไรประมาณนี้ เราต้องเข้าใจอย่างละเอียดเพราะ การซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ

คัดเอาเฉพาะหัวกระทิ
ก่อนจะลงทุน เราต้องดูว่า 1.เป็นธุรกิจที่เราเข้าใจรึเปล่า เพราะเราคงไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจทั้ง 400 บริษัทได้ 2.ต้องมองเห็นอนาคตได้ ว่าจะไปอย่างไร เติบโตแค่ไหนมีคู่แข่งมาตัดราคาหรือเปล่า และ 3.ต้องประเมินหามูลค่าที่เหมาะสมของมันให้ได้ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ เป็นตัวเลขโดยประมาณนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่คนที่อยู่ในสายธุรกิจโดยตรงแต่ก็สามารถเข้าใจได้ อาทิ ธุรกิจโรงพยาบาล ถึงแม้ไม่ได้จบหมอแต่สามารถลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล โดยการสังเกตได้ โดยดูจากแนวโน้มบริษัทเป็นอย่างไร เติบโตดีหรือไม่ ลูกค้ามาใช้บริการ พนักงานบริการดีหรือไม่ นี่คือส่วนนี้ต้องรู้จักค้นหาข้อมูลของบริษัทนั้นๆ ทั้งหมดให้รอบด้าน

อุตฯส่งออก-นิคมฯน่าเป็นห่วง
ในสายตาของผมตอนนี้ ธุรกิจที่แย่คือส่งออกจะมีปัญหา และนิคมอุตสาหกรรมก็น่าเป็นห่วง ธุรกิจที่ไปได้ต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศ พวกของกินของใช้ของจำเป็น อาหารที่ไม่ใช่ส่งออกก็พออยู่ได้ และเราต้องมองไปข้างหน้าอย่ามองถอยหลัง คนส่วนใหญ่ดูพีอี เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งทีเกิดขึ้นแล้ว ให้มองไปข้างหน้า ข้อมูลพวกนี้เราสามารถหามาได้ด้วยตัวของเราเอง

ต้องดูกันนานหน่อย..เพื่อความชัวร์
ก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันในการอ่านติดตามข่าวและงบรายไตรมาสมาเรื่อยๆ อย่างพวกโรงพยาบาลผมก็ดูมาหลายปี แต่ไม่ถึงกับขนาดชัวร์ราคา หุ้นมันลงมาถึงระดับที่เราสนใจ แต่จุดที่สำคัญคือต้องประเมินให้ออกว่ามูลค่าของธุรกิจนั้นๆ ที่จริงแล้วราคาเท่าไหร่ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ
1) Re-production cost คือเป็นการบอกว่าหากเราจะสร้างธุรกิจแบบเดียวกันนี้ขึ้นมาใหม่ จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลหนึ่งถ้าเราจะสร้างตึกหรือซื้ออุปกรณ์จ้างบุคลากรทั้งหมดต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ แล้วก็ไปคิดเป็นราคาต่อหุ้นเทียบกับราคาในกระดาน
2) Earning Power เป็นการบอกว่าถ้าเราไม่ลงทุนในธุรกิจนี้แต่เอาไปลงทุนอื่นๆ ที่สามารถทำได้ จะได้ผลตอบแทนเป็นเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเทียบกับหุ้นกู้ เล่นแชร์ หรือพันธบัตรก็ได้
3) Discount Cash Flow ซึ่งก็คือกระแสเงินสดในอนาคตคิดกลับเข้ามาในมูลค่าปัจจุบันเป็นเท่าไหร่

3 ประสาน
ผมก็ใช้ทั้ง 3 วิธีประกอบกัน โดยแวลูเอชั่นมันก็ไม่จำเป็นที่ต้องออกมาเป็นตัวเลขแน่นอนตายตัว อาจจะออกมาเป็นช่วงราคาก็ได้ เพราะใช้แต่ละวิธีผลลัพท์ก็อาจได้ไม่เท่ากัน และโดยปกติแล้วก็มักจะประเมินระยะเวลาล่วงหน้าไม่เกิน 5 ปี แต่อย่าง บัฟเฟต์ เขามองเป็น 10 ปี แต่ความสามารถอย่างเรา 5 ปีก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าหากภายใต้สมมุติฐานของผมตลาดผิดจากคาดการณ์ไป 3 ปี ผมก็เฉยๆ นะไม่เป็นไร ถือต่อไปได้เรื่อยๆ

ใจเย็น..อย่าทุ่มลงไปครั้งเดียว
ผมจะใช้วิธีทยอยซื้อและแบ่งเป็น 3-4 ครั้ง อย่างถ้าตั้งใจจะซื้อสัก 100 หุ้นก็ทยอยซื้อทีละ 25 หุ้น และถ้าหุ้นมันขึ้นก่อนที่จะซื้อครบส่วนใหญ่ผมก็จะไม่ค่อยตามไปเก็บนะ มันต้องอยู่ในช่วงที่เรากำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งมันก็อาจเป็นข้อเสียอย่างหนึ่งเพราะบางทีมันไปแล้วก็ไม่กลับมา แต่อย่างปลายปีที่แล้วที่ลงมาหนักๆ มันก็กลับมาที่เดิมหมดเลย กลับมาจุดที่เราอยากจะซื้อนั่นแหละ แปลว่าซื้อหุ้นตอนนี้ก็ถือเป็นโอกาส แต่ก็ต้องเลือกที่มีธุรกิจดีๆ อยู่รอดได้ใน 3-5 ปีข้างหน้าและจะเติบโตขึ้น เพราะในวิกฤตอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อได้ทุกหุ้น

บอกยาก..หุ้นราคาไหนดีที่สุด
ราคาไหนคือราคาที่ดีที่สุดที่ควรจะเข้าไปซื้อ..อันนี้ผมว่าตอบยากเหมือนกัน ก็มีบางบริษัทที่ผมรอแล้วมันก็ไม่กลับมาเลย หรือ มีบางบริษัทที่ผมซื้อไปแล้วราคาก็ลงมากกว่าที่ซื้อมา และ ก็มีบางบริษัทที่เราซื้อได้ในราคาที่เราต้องการ อันนี้มันก็คือศิลปะเลย...ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าซื้อไปแล้วราคาจะลงหรือจะขึ้น

นักวิเคราะห์..มองสั้นไป
ในส่วนของบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ก็ดูบ้าง แต่ก็เอามาเป็นข้อมูลเฉยๆ เพราะนักวิเคราะห์เขาจะมองสั้น เขามองแค่รายไตรมาสหรือรายปีเท่านั้น ขณะที่เรามอง 3-5 ปี ใน 100 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุมาผมจะเชื่อแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 80 เป็นการตัดสินใจเอง...ข้อมูลที่นักวิเคราะห์ให้ได้คือข้อมูลที่เขาเข้าไปคุยกับผู้บริหาร

อย่าซื้อหุ้นตามคนอื่น
ก็ต้องกลับไปที่คำถามแรกคือ ต้องเข้าใจธุรกิจก่อน อย่าซื้อตามคนอื่นหรือซื้อตามผม เพราะผมอาจจะขายเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างตอนที่ผมขาย PTTEP ไปก็ไม่มีใครรู้นะ แล้วคนที่ซื้อตามก็ยังติดแหง็กอยู่ทุกวันนี้ กลับมาที่ 90 บาท ผมอาจจะเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ได้นะ มันไปพีค 224 แล้วพอลงมาที่ 216 มาร์เก็ตติ้งโทรมา ผมก็สั่งขายเลย ถึงแม้ราคาหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกก็ไม่เป็นไร เพราะเราพอใจแล้วหลังจากได้กำไรมา 10 เท่าและก็รู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงมันอยู่ประมาณนี้

ดูราคาคู่กิจการ
เราไม่ได้ซื้อหุ้นแต่เราซื้อธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าธุรกิจยังไปได้อีก 3-5 ปีข้างหน้า เราก็ไม่ต้องกังวล เราไม่ได้ดูราคาหุ้นอย่างเดียว แต่เราดูกิจการด้วย ถ้ากิจการมันเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ราคาหุ้นเท่าเดิมก็แสดงว่าหุ้นมันถูกลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นผมก็จะถือไปเรื่อยๆ เพราะไทม์มิ่งตลาดไม่เป็น แต่ถ้ามันมีผิดปกติเราก็ต้องมาดูว่ามันมีความสำคัญแค่ไหน ถ้ามันมีความสำคัญมากก็ต้องออก อย่างผลการดำเนินงานของธุรกิจ ดูว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนั้นหรือเปล่า มีคู่แข่งเข้ามาใหม่หรือไม่ ส่วนแบ่งตลาดลดลงหรือเปล่า กำไรมันลดลงหรือเปล่า มีคนมาตัดราคาไหม เป็นการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของธุรกิจ ซึ่งการติดตามงบทุกไตรมาสก็อาจจะดูได้แต่ก็คงไม่ใช่ตัวตัดสิน อย่างผมเคยลงทุนหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง พอดีว่ามันไม่ดีอยู่ไตรมาสหนึ่ง ผมก็เลยขาย แต่หลังจากนั้นมันก็กลับมาดีทุกไตรมาส ก็เลยทำให้เสียโอกาสไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องมองทุกไตรมาสหรอก มองไปยาวๆ แต่ละไตรมาสอาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้างไม่เป็นไร

วันนั้นถึงวันนี้พอร์ตโตขึ้น 10 เท่า
ทั้งๆ ที่ SET Index วันนี้เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2545 แล้วอยู่เท่ากัน แต่พอร์ตของผมโตขึ้นมา 10 กว่าเท่า คือต้องบอกว่าในเงินลงทุนของผมมันมีส่วนที่เป็นเงินเก็บแล้วก็เอาเข้ามาลงทุนด้วยเป็น Re-investment ตลอดเวลา แต่ก็ต้องบอกว่าช่วงแรกๆ มันก็ต้องทำใจหน่อยเพราะมันก็ไม่ค่อยขึ้น ที่เราลงทุนแรกๆ จะไม่ค่อยเห็นผล แต่จะเห็นผลก็ต่อเมื่อมันได้ผ่านไปแล้ว ลงทุนแบบนี้ต้องใจเย็น อย่างเพื่อนผมที่ซื้อ PTTEP ด้วยกันนะซื้อ 100 ขาย 120 แล้วก็ซื้อ 120 ขาย 140 เป็นขยักๆ ไป พอขึ้นไป 160 ก็ไม่ซื้อเลย พอสุดท้ายแล้วก็จะหลุดไป เขาบอกว่า 160 แพงไม่กล้าซื้อแล้ว ส่วนผมไม่ได้ทำอะไรเลยมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ  แล้วระหว่างทางก็กินปันผลไปเรื่อยๆ ด้วย

เลือกหุ้นดูปันผล?
คือเรื่องเงินปันผลเนี่ยมันมองได้ 2 แง่ อย่างบริษัทของ บัฟเฟต์ จะไม่จ่ายปันผล เพราะเขาถือว่าเอาเงินก้อนเดียวกันนี้ไปลงทุนต่อแล้วจะได้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นมากกว่า แต่ในเมืองไทยมักจะมองกันว่าบริษัทไหนไม่จ่ายปันผลจะไม่ดี มันมองคนละแบบ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าบริษัทเอาเงินไปลงทุนแล้ว สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเงินฝาก ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ต้องจ่ายปันผลก็ได้ ให้มันเป็นGrowth Stock ไปเรื่อยๆ แต่มีหลายบริษัทที่จ่ายปันผลออกมาแล้วก็ไปกู้ หรือ ออกหุ้นกู้ ซึ่งในแง่ของ Business Sense แล้วมันไม่ถูก แต่ถ้ามองตลาดหุ้นเมืองไทยหุ้นจ่ายปันผลมันก็โอเค...เป็นเหมือนตัวป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่งในกรณีที่ราคาหุ้นมันไม่ไปไหนก็ยังมีปันผลมาเป็นผลตอบแทน

หุ้นในมือต้องแกร่งทั้งการเงิน-การตลาด
คือผมเลือกถือหุ้นที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน หรือทางด้านการตลาด เพราะฉะนั้นจะหุ้นใหญ่หรือหุ้นเล็กไม่เป็นไร แต่ส่วนใหญ่หุ้นที่มันแข็งแกร่งจะเป็นหุ้นใหญ่มากกว่าหุ้นเล็ก เพราะว่าหุ้นเล็กเป็นธุรกิจเล็กทำให้คู่แข่งเข้ามาได้ง่าย ทำให้มันไม่ค่อยยั่งยืนเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นหุ้นเล็กที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินและก็การตลาดก็น่าสน

VI กับการ Cut loss
ก็ต้อง cut loss ให้เป็นเหมือนกัน...แต่การคัทลอสก็ต้องมาจาก 2 เหตุผลด้วยกันคือ อันแรกคือ การดำเนินงานของธุรกิจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด อย่างเช่นบริษัทประกาศว่าจะไปลงทุนใน 5 โปรเจ็ก แต่ผลปรากฏว่าทั้งหมดล้มเหลวไม่เป็นตามที่เราคาดว่าจะทำรายได้ให้เข้ามาเป็นเท่านั้นเท่านี้ แม้ว่าตอนนั้นราคาก็อาจจะลดลงมาแล้วก็ตามแต่ ส่วนประการที่ 2 คือ มองผิดซื้อผิดตัว ยกตัวอย่างเช่น พื้นฐานธุรกิจมันไม่ได้เรื่องเลยหรือมีผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้เข้ามา

กลยุทธ์รับมือเมื่อตลาดดิ่ง
มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินหรือเปล่า ถ้ามีก็ไม่ต้องขาย แต่ผมก็ไม่ได้ทำ ใช้วิธีถือไปเรื่อยๆ คือผมมองว่าถ้าการซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ วิธีการนี้ถูกต้อง แต่ถ้าเราซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไร วิธีการแบบนี้อาจจะผิดเพราะว่าระยะสั้นมันขึ้นๆ ลงๆ ได้ คือสำหรับนักเก็งกำไรตลาดหุ้นปิดไป 2 วันก็ลงแดงแล้ว แต่ถ้าลงทุนวิธีนี้ตลาดหุ้นปิดไป 3 ปีก็ยังเฉยๆ

ปรับพอร์ตต้องใช้เวลา
ก็ใช้เวลาพอสมควรนะ เพราะบางทีจังหวะมันไม่ใช่ เราอาจจะขายไปก่อนเพราะ Over Value แล้วก็ถือเงินสดไว้ก็ได้ และถ้ามีจังหวะเราก็ค่อยเข้าไปซื้อ คือไม่ใช่แบบพอร์ต 100% ตลอดเวลา ผมรอได้เรื่อยๆ นะไม่กังวลเพราะบางคนกังวลว่าถือเงินสดแล้วจะเสียโอกาส แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น คิดว่าถือเงินสดคือโอกาส

นาทีทองของการเก็บหุ้น
ช่วงนี้ก็ซื้อได้นะ แต่ก็ต้องเผื่อเงินไว้ถ้ามันจะลงมาอีก โอกาสตอนนี้มันก็ 50:50 ขึ้นลงมีโอกาสเท่ากัน แต่ถ้าสังเกตดูโวลุ่มตลาดตอนนี้จะค่อยๆ ซึมลงเรื่อยๆ ซึ่งเหมือนช่วงหลังลอยตัวค่าเงิน ตลาดก็จะตกจากนั้นก็จะซึมไปอีกปีสองปีก่อนที่จะกลับมา จริงๆ ก็ต้องถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากของ VI (Value Investing) เพราะไม่มีคนมาแย่งซื้อ ไม่มีคนมาไล่หุ้น และพอหุ้นไม่ไปไหนเราก็มีเวลาศึกษาเยอะถือเป็นช่วงเวลาสะสมหุ้น

ถอดรหัส CPALL
มันเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวที่ราคาไม่ลงนะ เพราะตอนต้นปี 2551 ราคาอยู่ที่ 10 บาท แต่ตอนนี้มันอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งก็คือราคาเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นบางตัวราคาลดลง 40-50 เปอร์เซ็นต์ ผมว่ามันไม่ใช่ของถูกซึ่งก็หมายความว่า Margin of safety มันต่ำ เพราะมูลค่าที่แท้จริงมันอยู่ที่ 15-20 บาท แต่ถ้าเรานำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่ราคาลงมาเยอะๆ เราก็จะได้ส่วนต่างมากกว่า แต่อาจจะต้องรอนาน

อัตตาหิ อัตโนนาโถ
ส่วนใหญ่ผมจะศึกษาหุ้นด้วยตัวเองก่อนแล้วค่อยมาลองถามๆ ดูอีกที ว่าธุรกิจนี้ดูแล้วเป็นอย่างไร มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมไหม ซึ่งผมศึกษาข้อมูลแบบปฐมภูมิหมด หุ้นทุกตัวที่ซื้อมาผมไม่เคยเข้าไปคุยกับผู้บริหารเลย

ส่องฐานะการเงิน
ก็ดู Balance Sheet ว่าทรัพย์สินของเขาอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งถ้ามีเงินสดหรือสินทรัพย์หมุนเวียนเยอะๆ ก็จะดี แต่ถ้าเป็นโรงงานหรือสินค้าที่ตกรุ่นไปแล้วก็อาจขายไม่ได้ราคา คนที่เล่นหุ้นก็ควรจะดูงบการเงินบ้างว่ามีหนี้มากแค่ไหน ถ้าเราไปซื้อธุรกิจหนึ่งที่คิดว่าดีมากเลยแต่ดันมีหนี้บานเบอะอย่างนี้ พอดอกเบี้ยขึ้น หรือเงินสดเค้าฟุบก็อาจล้มละลายได้ คือต้องดูให้ออก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าไปดูธุรกิจยิบๆ ย่อยๆ มันไม่จำเป็น เราไม่ใช่ผู้ตรวจสอบบัญชี แค่ดูออกว่าฐานะการเงินของบริษัทนั้นเป็นยังไง ตัวหลักๆ มีอะไรบ้าง ทรัพย์สินมันอยู่ที่ตรงไหนมันอยู่ที่เงินสดหรืออยู่ที่โรงงาน หนี้สินมันเป็นหนี้สินระยะสั้นหรือหนี้สินระยะยาวมันเยอะแค่ไหน ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยเป็นอย่างไรเวลามีงบออกมาก็ต้องดูว่ามีอะไรผิดปกติรึเปล่า ถ้ามัน Inline กับที่เราคาดการณ์ไว้ก็โอเค แต่ถ้ามันผิดปกติอย่างเช่น รายได้ลดลงไปเยอะ หรือว่าหนี้เพิ่มขึ้นมาเยอะๆ ก็ต้องรีบไปดูว่ามันมาจากไหน

กำลังดูอยู่แล้วหุ้นวิ่ง..ไม่เสียดาย
ไม่เสียดาย...โอกาสมันเกิดอยู่เสมอ และหุ้นที่เราสนใจคงไม่ได้มีตัวเดียว

เริ่มดัง
ตอนนั้นมีเว็บ www.thaivi.com ซึ่งก็เป็นสังคมของคน VI ตอนแรกก็มีคนไม่เยอะ ดร.นิเวศน์ ก็เป็นที่ปรึกษาอยู่ ส่วนผมก็มีเพื่อนชวนเข้าไป แล้วก็มีคนถามผมในกระทู้ตะแกรงร่อนและผมก็เขียนต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีคนเข้ามาแล้ว 7 แสนคนในกระทู้นี้ พอกรุงเทพธุรกิจเปิดตัวหนังสือบิซวีครายสัปดาห์เขาก็ติดต่อมาทางเว็บไซต์ให้ช่วยเขียน (คอลัมน์ Value way ทุกวันจันทร์) ซึ่งผมก็เขียนกับคุณมนตรี ซึ่งก็เขียนคู่กันมาตลอดแล้วก็เอาข้อเขียนนั้นมารวมเล่ม ตอนนี้ก็ได้ 2 เล่มแล้ว คือผมมองว่าตรงนี้ใช้เวลาไม่เยอะ อาทิตย์ละชั่วโมงก็ไม่ได้กินเวลามาก ซึ่งก็เหมือนการโปรโมทเว็บด้วย โปรโมทการลงทุนแบบนี้ด้วย ผมมองในแง่นั้น ส่วนสมาชิกเว็บล่าสุดก็ประมาณ 2 หมื่นกว่าคน

อย่าเพิ่งท้อ..ถือยาวหน่อยแต่เห็นผลคุ้มค่า
อย่างรายย่อยในเมืองไทยก็คงเห็นความสำเร็จของหลายๆ คนที่ลงทุนแนว VI ก็เลยเดินตามบ้าง แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้ามาแล้วเจอวิกฤต ราคาหุ้นลดลง 40-50% เขาก็เริ่มสงสัยว่าวิธีนี้ถูกหรือเปล่า ทำไมเขาถือหุ้นแล้วราคามันลง แต่ถ้ามองกันยาวๆ แล้วจะพบว่า หลักการนี้ผ่านมาแล้ว 70-80 ปี มันได้พิสูจน์แล้วว่ามันใช้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเลือกหุ้นที่ดีแล้วถือได้นานๆ ราคาหุ้นลงก็ไม่ต้องกังวล ถ้าธุรกิจไม่เจ๊งเดี๋ยวมันก็กลับมา เว้นแต่ธุรกิจมันเจ๊งนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราต้องมีความมั่นใจในหุ้นที่เราถือ แต่คนที่เข้ามาใหม่ๆ ก็มักจะยังกังวลอยู่ คือจริงๆ แล้ว VI ก็ไม่ต้องไปสนใจตลาดหรอกแค่ดูราคากับมูลค่าที่แท้จริงก็พอ

รักเก่าไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับในพอร์ตของผมตอนนี้ก็มีหุ้นอยู่ 3 ตัว ซึ่งก็ถือมาหลายปีแล้วซึ่งก็มีการสลับตัวบ้าง และมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นโดยตลอด ยกเว้นปีที่แล้วที่มีมูลค่าลดลง ซึ่งตัวที่ซื้อใหม่ๆ ไม่ถึงปีก็ขาดทุน แต่ตัวที่ซื้อไว้มากกว่า 2 ปีก็ยังมีกำไรอยู่ ที่ผ่านมาก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ซื้อเข้าหรือขายออก ตอนนี้ก็ถือเงินสดอยู่ประมาณ 20% คือถ้ามันลงมาต่ำกว่า 400 จุดก็จัดว่าอยู่ในโซนที่น่าซื้อและก็จะซื้อเพิ่มอีก โดยจะเป็นการซื้อตัวเดิมที่มีอยู่สะสมเพิ่มขึ้นอีก

หุ้นมีเยอะ..แต่เลือกน้อย
แม้จะมีหุ้นดีๆ ในตลาดอยู่มากมายแต่ผมก็เลือกถืออยู่ไม่กี่ตัว เพราะถือว่าผมเลือกตัวที่ผมเข้าใจและก็มีอนาคต จึงไม่จำเป็นที่จะต้องถือเยอะๆ แต่จะเป็น Focus Investment บางคนเขาอาจจะถือ 10-20 ตัว แต่ผมมองว่าถือ 3 ตัวก็พอแล้ว

ถ้าไม่เจ๋งจริง ป่านนี้เสร็จไปแล้ว
ถ้าเทียบกับเมื่อสิบปีก่อนก็ต้องถือว่าดีกว่าเยอะ และถ้าไม่มีความรู้แล้วเจอกับภาวะแบบปลายปีที่ผ่านมาก็คงเสร็จไปแล้วหละ การมีความรู้จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้เยอะมาก

แนะมือใหม่หัดเทรด
เขาควรจะศึกษาก่อนว่าการลงทุนมันคืออะไร ตอนนี้หนังสือก็ออกมาเยอะแยะเต็มไปหมด ควรศึกษาให้มีทัศนคติที่ถูกต้องก่อนว่าตลาดหุ้นคืออะไร ทัศนคติมันต้องถูกต้องก่อน ตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่งพนัน ตลาดหุ้นคือการลงทุน แล้วการลงทุนมันทำอย่างไร จากนั้นค่อยไปศึกษาว่าอยากจะลงทุนแนวไหน แบบไหน

VI ยุคดิจิตอล
ผมว่าหลักการ..ก็หลักการเดิมๆ นะ ไม่ว่าจะเป็น VI ยุคก่อนหรือ VI ยุคนี้มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลยคือ  1. ซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ 2. ต้องเข้าใจธุรกิจ 3. ประเมินมูลค่าธุรกิจออกมาได้แล้วก็เทียบกับราคาว่ามี Margin of Safety เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต่างคือการเข้าใจธุรกิจ เพราะมันมีธุรกิจใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ 20 ปีที่แล้วไม่มี กูเกิ้ล ไม่มี ยาฮู เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น แม้ว่าเดี๋ยวนี้ตลาดจะเคลื่อนไหวรุนแรงไม่เหมือนแต่ก่อนเพราะมีผู้เล่นมากขึ้น เงินมากขึ้น แต่ถ้ามองในตัวธุรกิจแล้วมันไม่ใช่ เพราะธุรกิจมันก็มีประเภทที่แข็งแกร่งแล้วก็มีประเภทที่เกิดมาแล้วก็ตายไป ถ้ามองที่การดำเนินงานของตัวธุรกิจก็จะเป็นอีกภาพหนึ่ง มันไม่มีเฮดจ์ฟันด์

ไปถูกทางเดี๋ยวก็โตได้เอง
ส่วนเงินที่จะนำมาลงทุน ถ้าเราไม่มีก็ค่อยๆ เริ่มเก็บเงินจากการทำงานแล้วเอามาลงทุน เงินมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่าที่ว่าหลักการจะถูกต้องหรือเปล่า ถ้าถูกต้องเดี๋ยวก็จะเติบโตขึ้นไปเอง สตาร์ทน้อยๆ ก่อนก็ดีเพราะจะได้ลองผิดลองถูกได้ ถ้าลงมาเยอะๆ ทีเดียวเลยก็อาจจะหมดตัวได้เหมือนกัน ถ้าเราพลาดก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าพลาดเพราะอะไรแล้วจะได้ไม่ไปทำซ้ำเดิมอีก เพราะการลงทุนมันไม่ใช่ครั้งเดียวจบ มันเหมือนกับการเดินทางที่จะพาเราไปเรื่อยๆ

สไตล์วิบูลย์ VS สไตล์นิเวศน์
ก็คล้ายๆ กัน คือหลักการเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการที่อาจจะไม่เหมือนกัน อย่าง ดร.นิเวศน์ จะลงทุนในหุ้น 100% ไม่ถือเงินสดเลย แต่ของผมมองว่าถือเงินสดก็ถือเป็นโอกาส ถ้าเราขายหุ้นที่โอเวอร์แวลูไปก็ไม่เป็นไร แล้วก็เปลี่ยนเป็นถือเงินสดรอโอกาสซื้อใหม่ได้อีก

ชีวิตคือการลงทุน
ผมคิดว่ามีคนมากมายที่เป็นลูกจ้างแล้วอยากจะลาออกไปทำกิจการของตัวเอง แต่การเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองมันจะเจ๊งในปีแรก แล้วผ่านไปอีก10 ปีก็จะเหลือแค่ 10% การทำธุรกิจของตัวเองมันก็ไม่ง่าย เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะเอาเงินที่มีมาทำธุรกิจของตัวเอง เราก็เอาเงินก้อนนั้นมาลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งก็เหมือนเราซื้อธุรกิจ เหมือนเราเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นมันมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราคงไม่ได้ไปบริหาร ถามว่าจะเลิกเล่นหุ้นไหม ถ้ามีโอกาสผมก็ยังจะลงทุนไปเรื่อยๆ นะ ไม่ได้คิดว่ามีเงินถึงแค่นั้นแค่นี้แล้วจะเลิกหรือออกจากตลาดหุ้นไปซื้อพันธบัตรเลย...มันไม่ใช่

วิบูลย์ พึงประเสริฐ คือ เสือ อีกตัวที่ถูกทีมงานแกะรอย และก็ถือว่าคุ้มค่าจริงๆ เพราะเนื้อหาที่นำมาเสนอให้ผู้ลงทุนรับทราบคุ้มค่าอย่างยิ่ง..มีเงินก็ใช่ว่าจะงอกเงยขึ้นมาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องมีความรู้ด้วย ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้นยังต้องมีความใจเย็นให้มาก เพราะการลงทุนในรูปแบบของ VI ..เชื่อเถอะใช้เวลาหน่อยแต่คุ้มค่าที่จะรอคอย
ภาพประจำตัวสมาชิก
sorawut
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2494
ผู้ติดตาม: 2

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณที่ช่วยรวบรวมมาครับ :bow:  :bow:  :bow:

ผมเปิดอ่าน PDF ทีละวัน ลำบากน่าดู
ตัดสินใจว่า ธุรกิจไหนที่คุณต้องการจะเป็นเจ้าของ
และซื้อเมื่อราคาสามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ในอัตราที่เข้าท่าสำหรับการร่วมทำธุรกิจเท่านั้น
VIB007
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 2035
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอขโมยไปใส่กระทู้ข้างบนนะ
Jimmy
Verified User
โพสต์: 772
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

VIB007 เขียน:ขอขโมยไปใส่กระทู้ข้างบนนะ
เจ้าของมาขอลิขสิทธิ์ อิ อิ
ร็อคกี้ บัลโบว : ชีวิตไม่สำคัญว่าจะต่อยได้หนักแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเรารับการโดนต่อยได้แค่ไหน (ชีวิตจุดสำคัญอยู่ที่การทนทุกข์ มากกว่าการประสบสุข)
VIB007
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 2035
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

รอบต่อไปของสถานีนักลงทุน
คงถึงตาอาจารย์มนตรีของเวปเรา
โปรดเตรียมติดตามรับชมต่อไป ฮุ ฮุ
ภาพประจำตัวสมาชิก
naris
Verified User
โพสต์: 6726
ผู้ติดตาม: 1

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

:cool:  ได้ข้อคิดที่ดีมากๆครับ :bow:

มาต่อคิวรอฟังพี่มนต่อครับ
ราคาระยะสั้นตามข่าว--ราคาระยะยาวตามผลกำไร
ภาพประจำตัวสมาชิก
dome@perth
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 4741
ผู้ติดตาม: 1

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

เข้ามาขอบคุณครับ
"ไม่มีสุตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด ไม่ใช่แค่โชค
หนทางจะได้มาซึ่ง อิสระภาพทางการเงิน
มันมาจาก ความขยัน การไขว่คว้า หาความรู้
เชื่อและตั้งมั้นในหลักการลงทุนที่ถูกต้อง
"
beammy
Verified User
โพสต์: 3345
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

พี่วิบูลย์เยี่ยมเลยครับ  :8)
ศิษย์เซียน007
Verified User
โพสต์: 1252
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ว่าแล้วคุ้นๆครับ เห็นเฮียเสือนาเนีย โอ้ไม่ช่ายๆครับ เห็นเฮียเสือวิบูลย์โพสให้ได้ศึกษากัน โอ้ช่างดีจริงๆเลยครับ ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร...(คุ้นไหม ถ้าคุ้นก็ๆๆๆๆๆ ถูกต้องนะครับ  :lol: ผมจำเพลงกีฬาสีได้ขึ้นใจเลยครับ)
lin
Verified User
โพสต์: 98
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอบคุณคะ ได้ประโยชน์มากมาย

    ความรู้ ประเมินค่ามิได้

    ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ :bow:
noooon010
Verified User
โพสต์: 2712
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ขอบคุณสำหรับบทความนะครับผม :D
อย่าลืมให้เวลากับครอบครัว และสังคมรอบๆข้างของคุณนะครับ

มีสติ และมีความสุขกับการลงทุนนะครับผม


นักลงทุนที่เก่งที่สุดมิใช่คนที่ซื้อขายไวที่สุด
แต่คือคนที่นำสติกลับมาได้เร็วที่สุด
หลายครั้งส่งคำสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ผลตอบแทนมากกว่าซื้อผ่านnetหากเราขาดสติ
VIB007
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 2035
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 12

โพสต์

VIB007 เขียน:รอบต่อไปของสถานีนักลงทุน
คงถึงตาอาจารย์มนตรีของเวปเรา
โปรดเตรียมติดตามรับชมต่อไป ฮุ ฮุ
มาแว้วอาจารย์มนhttp://www.efinancethai.com/investor_station/f ... 020309.pdf
VIB007
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 2035
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 13

โพสต์

VIB007 เขียน: มาแว้วอาจารย์มนhttp://www.efinancethai.com/investor_station/f ... 020309.pdf
http://www.efinancethai.com/investor_st ... 020309.pdf
ภาพประจำตัวสมาชิก
holidaytours
Verified User
โพสต์: 349
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 14

โพสต์

ปี 2007 - พอร์ตโตขึ้น 10 เท่า
ตอนนี้จะโตเท่าไหร่แล้วน้า  :shock:
neo_potato_Th
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1588
ผู้ติดตาม: 0

ซื้อหุ้น..คือการซื้อธุรกิจ วิบูลย์ พึ่งประเสริฐ

โพสต์ที่ 15

โพสต์

ขอบคุณครับ :D
คนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้
โพสต์โพสต์