ปัญหาการอ่านของสังคมไทย

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Baby Genius
Verified User
โพสต์: 220
ผู้ติดตาม: 0

ปัญหาการอ่านของสังคมไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

+++ อ่านสามก๊ก ถกบริหาร ผ่านคมคิดเจ้าสัว CP ALL + ปัญหาการอ่านของสังคมไทย +++

เพิ่งอ่านจบเมื่อคืนครับ ขอออกตัวล้อฟรีแต่ต้นก่อนเลยว่า ตัวผมเองนั้นไม่เคยอ่านสามก๊กอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อน (แม้จะมีทุกสำนวน รวมถึงที่เป็นประวัติศาสตร์ของสามก๊กจริงๆอยู่บนหิ้งดองไว้ที่บ้านก็ตาม) รู้แบบงูๆปลาๆ จากที่เคยผ่านหูผ่านตาตอนเรียนมาบ้าง ทำให้อ่อนด้อยในด้านเนื้อหาของสามก๊กยิ่งนัก..


" ความเขลาเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในโลก มีเพียงการสร้างปัญญา และความรอบคอบ แยกแยะผิดถูกอย่างมีเหตุผล จึงจะสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีงามให้สามารถต่อยอดสู่รุ่นต่อไป ...พิจารณาหลากหลายมิติ ยึดถือสิ่งดี ละทิ้งส่วนด้อย " ลีกาซิง เจ้าสัวที่ถูกจัดให้รวยเป็นอันดับที่ 11 ของโลก


ผมได้รับการแนะนำหนังสือเล่มนี้อย่างบังเอิญ จากพี่เจริญชัย SIU ที่เป็นผู้สนใจในเรื่องสามก๊กอย่างลึกซึ้งคนหนึ่ง แกถึงกับการันตีว่า " เป็นหนังสือวิเคราะห์สามก๊กที่ชื่นชอบที่สุด " แต่จะดีที่สุดหรือไม่นั้น ผมมิอาจทราบได้..

ผมได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้น ก่อนอ่านรวดเดียวจบภายในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ความรู้สึกหลังจากหน้าสุดท้ายจบลง ความคิดในสมองน้อยๆของผมผสมปนเปกันไปหมด จะว่ากึ่มๆด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็ไม่น่าใช่ (แม้จะจิบไปไม่น้อยก็ตาม) แต่เป็นความรู้สึกที่แบบกำกึ่ง จะว่าดีธรรมดาก็ได้ หรือจะบอกว่าเยี่ยม ก็ไม่ผิด ..เหมือนความคิดผมยังไม่ตกตะกอนดีพอ...แต่ถ้าตอบตามความรู้สึก ผมชอบนะ (ถ้าได้อ่านอีกรอบ คงจะชอบ และเข้าใจลึกซึ้งมากกว่านี้)

คือ ถ้าพูดในแง่การบริหาร ลักษณะที่คุณก่อฯ บอกไว้มันก็เป็นหลักพื้นฐาน ที่มีหนังสือเล่มอื่นเขียนเอาไว้มากมายอยู่แล้ว เช่น เรื่องคุณธรรมน้ำมิตร การซื้อใจลูกน้อง ภาวะความเป็นผู้นำ การกล้าตัดสินใจ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ แต่การมีBackground เป็นเรื่องราวตัวละครของสามก๊ก ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่ตามมาจากการบริหารลักษณะต่างๆนั้น ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ข้อดีของเล่มนี้ที่ผมชอบคือ อ่านง่าย ลื่นดี ใช้ภาษาเป็นกันเอง เหมือนมีคุณก่อฯมาเล่าเรื่องเทคนิคการบริหารของแต่ตัวละครในสามก๊กให้ฟังเป็นการส่วนตัว ที่สำคัญคือ การมองตัวละครแบบ Optimistic perspective ดึงเอาข้อดีของตัวละครแต่ละตัวออกมา อีกทั้ง(ไม่รู้แกตั้งใจรึป่าว?) ยังไม่ได้พยายามป้อนผู้อ่านว่า คุณจะต้องทำอย่างไร เหมือนดังเช่นหนังสือ How to ทั่วๆไป

ซึ่งตอนแรกที่อ่านจบ ก็มานั่งคิดว่า ทำไม ทุกตัวมันก็มีข้อดีหมด ขนาดเล่าเสี้ยน (บุตรของเล่าปี่) ที่มีแต่คนค่อนขอดว่าไม่ค่อยเอาไหน คุณก่อฯก็ยังดึงเอาจุดดีออกมาให้ได้เห็นสรุป อ่าว! แล้วจะให้ทำอย่างไร โจโฉก็ดี ขงเบ้งก็เก่ง เล่าปี่ก็เลิศ สุมาอี้ก็เยี่ยม.. ???

คิดไปคิดมา คุณก่อฯอาจจะตั้งใจบอกแบบเซ็นก็ได้ สอนเหมือนไม่สอน บอกเหมือนไม่ได้บอก ฮ่าๆ (อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับ) คือ ไม่ได้ไป judge ว่า คุณควรจะต้องทำอย่างไร แต่บอกเหตุและผลที่จะตามมาในการกระทำของแต่ละตัวละคร เช่น ถ้าคุณบริหารแบบโจโฉ ที่ยึดหลัก "แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" คุณก็ต้องยอมรับว่า ระยะสั้นอาจได้ผลดี มีการแข่งขันกันในองค์กร เพราะวัดคนที่ผลงาน แต่ในระยะยาวอาจเสียหายได้ เพราะแต่ละคนจะเน้นเป้าหมายระยะสั้น ลูกน้องไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์การอย่างแท้จริง ยึดเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเราเห็นข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละตัวละครแล้ว (ซึ่งตรงนี้เราจะค่อยๆซึมซับมุมมองของแต่ละตัวละครเอง เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีพื้นจากการอ่านสามก๊กมาก่อนเช่นผมก็ตาม) เราก็สามารถนำเอาวิธีบริหารนั้นๆมาปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้..

อ่านจบแล้วหนังสือเปรอะไปด้วยเลือด โดนประโยคคมๆบาด เต็มไปหมด..แต่ถึงอย่างนั้น คุณก่อฯก็ได้เตือนไว้ว่า อ่านสามก๊ก ให้ศึกษาเรื่องของการอ่านใจคน วิธีการบริหารคน อย่าได้หลงนำเอา กลยุทธ์ ที่ใช้ในสามก๊ก ไปใช้วางแผนจริง เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่งขึ้นทั้งสิ้น เช่น อุบายเมืองร้าง ใครขืนเอาไปใช้จริงนี่เจ๊ง ครับเจ๊ง!!..




------------------------------




พอดีวันนี้ได้นัดคุยกับพี่(ผู้กว้างขวางในยุทธจักร)ท่านหนึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งได้คุยกันถึงเรื่อง วัฒธนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทย กับ ปัญหาการอ่านของสังคมไทย คือ ผมก็จำไม่ได้แน่ชัดว่า มันเริ่มต้นจากตรงไหน ถึงได้วกเข้ามาสู่ประเด็นนี้

อันที่จริงตอนคุยกันมันก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไร (และพี่เค้าอาจจะไม่คิดว่ามันเป็นpointนี้ก็ได้) แต่หลังจากที่แยกกันแล้ว ประเด็นนี้มันก็แว๊ปเข้ามาในหัว ผมจึงเก็บเอามาคิดต่อเองคนเดียวถึงปัญหาข้อนี้ ( จะเรียกว่าเป็น interior monologue ก็ได้มั้ง... ฮ่าๆๆ)

อ๋อ! จำได้หละ(โทษทีครับพิมพ์สด..ไม่ได้ร่างไว้ก่อน) ประเด็นคือ เรื่องของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทย นอกจากคนที่มีความสามารถพอจะเป็น Critic จริงๆจะหายากแล้ว พอจะยกตัวอย่างได้ก็เช่น อ.นพพร ประชากุล(ซึ่งท่านก็ได้เสียไปแล้ว) อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์.. อีกทั้งยังมีรูปแบบของวัฒนธรรมการวิจารณ์งานที่แบบสุภาพ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ต่องานเขียนของนักเขียนไทย เอาง่ายๆ ถ้าเกิดมีนักวิจารณ์คนหนึ่ง อยู่ดีๆลุกขึ้นมาวิจารณ์ว่า งานของ ศรีบูรพา ยาขอบ มนัส จรรยงค์ ห่วย! ไม่ได้เรื่อง! ดีแล้วที่ตายไปจะได้ทำให้วงวรรณกรรมบ้านเราสูงขึ้น โดยให้เหตุผล1-2-3-4 ลองสมมุติเล่นๆนะครับ ว่าจะเกิดเป็น Talk of the town ในวงการวรรณกรรมบ้านเราแค่ไหน(อย่างเช่นที่อ๊องเดร เบรอตง กับ หลุยส์ อารากง ได้สาบส่งสามนักเขียนผู้รุ่นใหญ่ของฝรั่งเศสในสมัยนั้นหลังจากที่ตายไปได้ไม่นาน ก่อนทั้ง2จะเป็นหัวขบวนก่อตั้งแนวคิดแบบ เซอร์เรียลิสต์ขึ้น-อ้างจาก Underground Buleteen#14)

ด้วยความที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ขี้เกรงใจ เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการวิจารณ์ที่หลากหลายได้ยาก เมื่อไม่เกิดการวิจารณ์ ก็ไม่เกิดองค์ความรู้ เพราะความรู้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวิพากษ์ วิจารณ์ถึงข้อดี ข้อด้อย วิเคราะห์จนตกผลึกทางความคิด หาได้มาจากการยกยอปอปั้นไม่ ... สังเกตหรือไม่ว่าทำไมประเทศฝรั่งเศส ถึงมีนักคิด นักเขียน เป็นศูนย์กลางของความคิดต่างๆมากมาย ก็เนื่องจากว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมของการวิพากษ์ วิจารณ์สูงมาก คนฝรั่งเศสวิจารณ์ตั้งแต่ตื่นยันหลับ มีCritical thinking อยู่ตลอดเวลา(เสียอย่างเดียวขี้เกียจ) ดังนั้นจึงก่อให้เกิดเป็นสังคม Cultural intelligence ขึ้นมา

ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้วงการวรรณกรรมบ้านเราพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหน(แน่นอนว่ายังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากเช่น การเมือง ฯลฯ ฯลฯ) เพราะต้องยอมรับว่า คำวิจารณ์ โดยเฉพาะจากผู้ที่เป็น Critic นั้นมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้อ่านอย่างยิ่ง ถ้ามีการวิจารณ์ที่หลากหลาย ก็น่าจะช่วยยกระดับของคนอ่านทั่วไปให้มีมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เท่าที่เห็นตอนนี้ก็มีเจ๊แขก คำ ผกา พาตัวเองแหวกขึ้นมาจากวังวนเดิมๆ แม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแกทั้งหมด แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ที่ดีของการ กล้า ที่จะวิจารณ์


ส่วนเรื่อง ปัญหาการอ่านของสังคมไทยนั้น ส่วนตัวผมมองว่า ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย อย่างที่ชอบอ้างกันหรอกครับ แต่ประเด็นมันคือ รสนิยมการเสพของคนไทยมันย่ำอยู่กับที่ต่างหาก

แม้มหาวิทยาลัยจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คนจบปริญญาตรีเป็นว่าเล่น หรืออย่างน้อยก็ต้องจบม.ปลายในหลักสูตรบังคับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วุฒิการศึกษาก็ไม่ได้ช่วยยกระดับของการเสพขึ้นเลย

ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ ยามที่คอนโดผม ก็เป็นนักอ่านตัวยง เขาอ่านสตาร์ซอกเกอร์ทั้งวัน หรือยามอีกคนก็อ่านแต่หนังสือมวย กับ หนังสือพระ ถามว่า นี่เรียกว่าเป็นนักอ่านได้มั๊ย? ได้สิ ทำไมจะไม่ได้ แต่คือ เขาก็จะอ่านอยู่แค่นั้น กี่วันๆผมก็เห็นเขาอ่านอยู่แค่นั้น... หรือไม่ว่าจะเป็นเจ้านายที่จบตรี โท เอก กับคนใช้ ที่จบป.4 ต่างก็เสพหนังสือนิยายรักหวานแหวว พ่อแง่แม่งอนเหมือนกัน เสพข่าวฉาวดารา ลิงโผล่ นมหลุด เล่มเดียวกัน อ่านขวัญเรือน คู่สร้างคู่สม เหมือนกัน ดูนางเอก โดนนางร้ายตบช่องเดียวกัน...ซึ่งถามว่าผิดมั๊ย? บอกได้เลยว่า ไม่ผิดแน่นอนครับ

แต่เป็นปัญหาที่ความบกพร่องอย่างยิ่งยวดของระบบการศึกษาไทย เพราะแทนที่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัย จะเป็นตัวเปิดโลก ช่วยยกระดับของการอ่านให้สูงขึ้น หลากหลายแนวขึ้น ลึกขึ้น แต่เปล่าเลย..รสนิยมของคนส่วนใหญ่ยังคงย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม

แล้วจะไปหวังอะไรกับการเสพวรรณกรรมชั้นยอด ที่เรียกร้องให้คุณต้องขบคิดทุกแง่ทุกมุม เรียกร้องให้คุณต้องมีความรู้อย่างสหสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ ดนตรีคลาสสิก ปรัชญา โครงสร้างภาษา ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้คุณตั้งคำถามกับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม อาจรวมถึงความเชื่อที่คุณยึดมั่นถือมั่นมาตลอดด้วย ...


ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปรึป่าว? คนส่วนใหญ่จึงหันไปเสพนิยายเกาหลีกันหมด ... ตอนนี้รู้แค่ว่า ง่วงสุดๆเลยค๊าบ



ปล. ถึงคุณพี่grappa ..กลับมาที่บ้านเปิดดูเพิ่งสังเกตเห็น ความหนากว่า 700 หน้าที่ว่าน่ากลัวแล้ว เจอตัวหนังสือเล็กๆจำนวนมหาศาลในแต่ละหน้ายิ่งกว่ากลัวกว่าหลายเท่านักครับพี่.. แล้วทำไมมติชนใจร้ายจัง ไม่ใส่ชื่อพี่ หรือเวลาเป็นบก.พี่ใช้นามปากกา???

อีกนิด..มีใครรู้ข่าวคราวงานขายหนังสือของ ห้องสมุด Nelson Hays บ้างครับ ปกติเขาจัดต้นปีกับ กลางปีไม่ใช่เหรอ... หรือมีไปแล้ว ผมตกข่าว???

รูปภาพ

อ่านสามก๊ก ถกบริหาร โดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

คัดลอกจาก blog คุณ Tentty
linqinfa
Verified User
โพสต์: 112
ผู้ติดตาม: 0

ปัญหาการอ่านของสังคมไทย

โพสต์ที่ 2

โพสต์

รู้สึกจริงๆเหมือนกันครับ ว่าคนไทยก็ไม่ได้อ่านน้อยขนาดนั้น

แต่ไอ้ที่อ่านน่ะ ส่วนมากจะเป็นซุบซิบดารา นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์บอล ดูดวง ทำนายฝันอะไรประมาณนั้นครับ

ส่วนที่เป็นหนังสือที่อ่านแล้วสามารถยกระดับความคิดและคุณธรรมของคน ผมว่าในบ้านเรามีคนอ่านน้อยมาก
โพสต์โพสต์