กุหลาบงาม ย่อมมีหนามแหลมคม / คนขายของ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
คนขายของ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 792
ผู้ติดตาม: 0

กุหลาบงาม ย่อมมีหนามแหลมคม / คนขายของ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กุหลาบงาม ย่อมมีหนามแหลมคม / โดย คนขายของ

ธุรกิจที่มีแววรุ่งโรจน์ ย่อมเป็นที่สนใจของนักธุรกิจและนักลงทุน ยิ่งมีเรื่องราวและเหตุผลที่น่าสนใจประกอบด้วย ยิ่งทำให้เกิดเป็นกระแสในวงสังคม ทำให้มีคนสนใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “อุตสาหกรรมดาวรุ่ง” เป็นจำนวนมาก เมื่อความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมดาวรุ่งนี้ถูกกล่าวถึงจนเป็นกระแส อาจทำให้นักธุรกิจหรือนักลงทุนบางคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าใจในธุรกิจอย่างถ่องแท้ ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการ “ขุดทอง” ครั้งสำคัญนี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเล็งผลเลิศแต่ด้านเดียว และมองข้ามความเสี่ยงที่ ซ่อนตัวอยู่ ดั่งเช่นนักเขียนชาวอเมริกัน Jessica Livington ได้เคยกล่าวไว้ว่า “นักลงทุนส่วนใหญ่ มักมีพฤติกรรมตามแห่ พวกเขาต้องการที่จะลงทุนเพราะเห็นคนอื่นๆกำลังลงทุนอยู่” ในบทความนี้เราจะ มาดูกรณีศึกษาของอุตสาหกรรมดาวรุ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อที่จะได้เห็นว่า ในอุตสาหกรรมที่ คนส่วนใหญ่มองว่าจะกลายเป็นดาวรุ่งนั้น ก็มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระมัดระวังไม่น้อยเหมือนกัน

การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์นับตั้งแต่ Karl Benz เริ่มต้นการผลิตในช่วงปี 1888 ในประเทศเยอรมันนี ห้าปีหลังจากนั้น บริษัทรถยนต์แห่งแรกของสหรัฐอเมริกาชื่อ Duryea Wagon Company ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น แต่เมื่อดูจากข้อมูลการผลิตรถยนต์ของอเมริกาในปี 1899-1901 เรากลับไม่พบว่า Duryea ติดหนึ่งใน TOP 5 ของผู้ผลิต อันดับหนึ่งกลายมาเป็นของแบรนด์ Columbia ด้วยยอดผลิตถึง 1,500 คัน กินส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ต่อจากนั้นอีก 10 ปี ตลาดรถยนต์ในอเมริกาโตขึ้นจาก ยอดขายปีละราว 2,000 คัน กลายมาเป็น 160,000 คันในปี 1911 แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า แบรนด์ที่เป็น ระดับ TOP 5 ของตลาดเมื่อสิบปีก่อนหน้านั้น ไม่มีใครเหลืออยู่เลย

ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 1929 ยอดการผลิตรถยนต์สูงถึงราวสี่ล้านคัน มากกว่าช่วงปี 1911 ถึง 25 เท่าตัว ข้อมูลจากหนังสือ Hi-Tech: Auto Makers’ History Revisited ระบุว่า ในช่วงปี 1922-1925 จำนวนผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาลดลงจาก 175 ราย เหลือเพียง 70 ราย Wikipedia ได้ประเมินว่าในช่วงปี 1894-1930 จำนวนผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 1,800 ราย กลับมาดูในปัจจุบัน พบว่าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันเหลือเพียงสามบริษัทคือ GM FORD และ TESLA เท่านั้น

จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นว่า ในช่วงที่อุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างมหาศาล จะก่อให้เกิดแรงดึงดูดผู้เล่นรายใหม่มากมายเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย ผู้เริ่มก่อนไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ชนะเสมอไป แม้แต่ผู้มีนวัตกรรมการผลิตที่โดดเด่นอย่าง FORD ที่สร้างส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 54% ในปี 1925 เพราะความสำเร็จของ รถยนต์รุ่น Model T แต่ในอีกสามปีต่อมา FORD กลับเหลือส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 25% เพราะผลิตภัณฑ์ของ GM เป็นที่นิยมของตลาดมากกว่า นอกจากนั้นในช่วงตลาดเติบโตก้าวกระโดด ผู้ผลิตมักมองตลาดในแง่ดีมากเกินไป ในช่วงทศวรรษ 1920 ผู้ผลิตรถยนต์ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ในสหรัฐจะโตจากราว 3 ล้านคันในปี 1925 ไปเป็น 6 ล้านคันในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงตัวเลขผลิต 6 ล้านคันต่อปีเกิดขึ้นไนปี 1955 หรืออีก 30 ปีต่อมา

กลับมาในยุคปัจจุบัน ตอนนี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ทั้งภาครัฐในหลายประเทศ และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ล้วนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกทั้งสิ้น ความนิยมของ EV ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่หลายคนคิดว่าอาจจะมาแทนปั๊มน้ำมันในอนาคต นั่นก็คือ “สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า” Navigant Research ได้ทำการรวบรวมรายชื่อผู้เล่นหลักของโลกในอุตสาหกรรมนี้ พบว่ามีอยู่ 12 บริษัท มีผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ The New Motion ซึ่งบริษัทน้ำมันเชลล์ได้ซื้อกิจการไปเมื่อ เร็วๆนี้ The New Motion ก่อตั้งมาราว 7 ปี มีเครือข่ายที่กว้างขวางในยุโรป มีจุดชาร์จไฟฟ้ามากกว่า 30,000 จุด ใน 22 ประเทศ ในส่วนตัวเลขทางการเงินของบริษัท พบว่าบริษัทมีรายได้เพียง 15 ล้านเหรีญ และยัง ขาดทุนถึงเกือบ 5 ล้านเหรียญในปี 2016

ผมเชื่อว่า ด้วยความนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากของ EV จะทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดสถานี ชาร์จประจุไฟฟ้าอย่างแน่นอน ใครจะเป็นผู้ชนะยังคงยากที่จะตัดสิน เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้จะเปลี่ยนไปอีกไหม? ผมก็ยังไม่แน่ใจ เมื่อก่อนแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถืออยู่ได้ราว 6 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้อยู่ได้เป็นวัน เราคงได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปอีกมากในอุตสาหกรรมนี้ เท่าที่ผมสังเกตุ Warren Buffett มักไม่ค่อยซื้อหุ้นของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้น เขาจะรอจนอุตสาหกรรมนั้นๆ มีเสถียรภาพพอสมควรค่อยเข้าไปลงทุน อย่างเมื่อเร็วๆนี้เขาลงทุนในธุรกิจสายการบินของสหรัฐ เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ลดลงอย่างมาก เหลือสายการบินหลักๆแค่ 3 บริษัท อุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วในอัตราเร่งแบบ S-Curve อาจจะมียอดขายโตขึ้นได้มหาศาล แต่บริษัทจะทำกำไรได้แค่ไหน? จะยืนสู้จนครองตลาดได้หรือไม่? คงต้องรอให้เวลาเป็นคนตอบคำถามที่สำคัญเหล่านี้
อดทนไว้ กำไรยั่งยืน
โพสต์โพสต์