ดิฉันเคยเขียนเรื่องเงินบาทแข็งไปแล้วสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2547 ซึ่งดิฉันเขียนว่าความเป็นจริงคือ เงินดอลลาร์อ่อน และครั้งที่สองเมื่อเดือน สิงหาคม 2552 เมื่อเอเชียผงาดขึ้น และเงินดอลลาร์ทยอยลดความสำคัญลง ผู้ลงทุนจึงกระจายการลงทุนมาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น
ขออนุญาตนำส่วนที่เขียนอธิบายเรื่องการแข็งหรืออ่อนของค่าเงินว่าขึ้นอยู่กับอะไร ในบทความครั้งก่อนมาลง เพื่อปูพื้นสำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยอ่าน หรืออ่านแต่ลืมไปแล้วนะคะ
“การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินสกุลต่างๆ ตามทฤษฎีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายประการ คือ อัตราเงินเฟ้อ ดุลการชำระเงิน และดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ย ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการเมือง นโยบายการเงินของรัฐ รายได้ประชาชาติ ธุรกรรมในตลาด และปัจจัยตลาดหรือความคาดหวังของผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้องกับตลาด
เงินเฟ้อทำให้ค่าของเงินลดลง ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า จึงมีแนวโน้มที่ค่าของเงินจะอ่อนกว่าประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า แต่เงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยในตอนนี้
ดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่การส่งออกเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ จีดีพี ค่าของเงินจะมีโอกาสแกว่งตัวได้มากกว่า เช่น ประเทศไทยของเรา
นอกจากนี้ ถ้ามีเงินไหลเข้ามาก ในระยะเวลาอันสั้น ก็จะทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น ซึ่งหากไหลเข้ามากเกินไปอย่างต่อเนื่องในเวลาอันสั้น ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าหรือบริการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อได้
ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง จะดึงดูดเงินเข้ามาฝาก หรือมาลงทุน ซึ่งก็จะทำให้เงินแข็งค่า ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็จะทำให้เงินไหลออก ค่าของเงินก็จะอ่อน”
สำหรับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและการเมือง หรือ การเก็งกำไรค่าเงิน รวมถึงการพักเงินในที่ปลอดภัย หรือการหนีจากที่ไม่ปลอดภัย ก็เป็นสาเหตุให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งขึ้น หรืออ่อนลงได้ค่ะ
เงินบาทแข็งค่าในครั้งนี้ เกิดจากสองปัจจัยหลักคือ ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของเรา ที่ดิฉันกล่าวไว้ด้านบน ไม่ว่าจะเป็นดุลการชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ดี ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกันแล้ว ถือว่าอยู่ในแนวหน้าของตลาดเกิดใหม่เลยทีเดียว ดิฉันคิดว่าประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ และปัจจัยที่สอง คือ การที่เงินบาทมีเสถียรภาพ โดยเห็นชัดในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุน และผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ มีลักษณะการเข้ามาถือครองเงินบาท เพื่อเป็นที่หลบภัย หรือ Safe Haven จึงดึงดูดให้เงินทุนให้ไหลเข้ามาซื้อหุ้น พันธบัตร และตราสารต่างๆในประเทศไทยอย่างมากมาย
ปกติ เวลาเงินสกุลใดแข็งค่า จะเป็นโอกาสของคนสี่กลุ่มดังต่อไปนี้
กลุ่มแรก คือ ผู้นำเข้าสินค้าและบริการ จะได้โอกาสในการชำระค่าสินค้าและบริการทีาเป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ ด้วยการใช้เงินสกุลในประเทศน้อยลง ในกรณีของบ้านเราก็คือ ใช้เงินบาทน้อยลง
กลุ่มที่สอง คือ ผู้มีภาระหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ด้วยจำนวนเงินบาทที่น้อยลง หรือหากยังไม่พร้อมหรือยังไม่ถึงเวลาจ่ายคืน ก็สามารถทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้ หรือซื้อออพชั่น(สิทธิ์)แลกเงินในอัตราที่กำหนดได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมเป็นการแลกเปลี่ยน
กลุ่มที่สาม คือ ผู้จะมีภาระชำระเงิน ในเร็วๆนี้ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ อาจจะแลกไว้เตรียมชำระ
กลุ่มที่สี่ คือ ผู้ที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ก็สามารถแลกและส่งไปลงทุนได้ หากในอนาคตค่าเงินของเราอ่อนตัวลง เงินที่ลงทุนก็สามารถแลกกลับคืนเป็นบาทได้ ที่อัตราเพิ่มขึ้น ถือเป็นได้กำไรจากค่าเงิน
แต่ก็สามารถกลับเป็นด้านตรงกันข้ามได้นะคะ คือ ถ้าหากค่าเงินแข็งค่าขึ้น เมื่อแลกกลับคืน ก็จะได้เงินบาทจำนวนที่น้อยลง กลายเป็นขาดทุนจากค่าเงิน ดังนั้น ในการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ จึงต้องดูจังหวะด้วย หากเห็นแนวโน้มว่าค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น ควรทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ
นอกจากนี้ การลงทุนต้องมีจังหวะ ไม่ใช่เห็นว่าเงินบาทเราแข็งค่า จึงอยากแลกไปลงทุนอย่างเดียว หากโอกาสลงทุนในต่างประเทศไม่เป็นใจ แม้มีโอกาสแลกเงินได้ในอัตราที่ดี แต่ก็มีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้ค่ะ
ช่วงที่เงินบาทแข็งที่มีสาเหตุจากเงินทุนไหลเข้านั้น ส่วนใหญ่เป็นช่วงที่โอกาสในการลงทุนอยู่ในบ้านเรา จึงทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลมาลงทุน และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเงินทุนไหลเข้า
ตอนนี้ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกส่วนใหญ่ อยู่ในวัฏจักรสุดท้ายของเศรษฐกิจขาขึ้น (Late Cycle) พูดง่ายๆคือ การเติบโตกำลังจะลดลงแล้ว แต่จะค่อยๆ ลด หรือจะลดฮวบฮาบ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ว่าผูกพันกับปัจจัยใดมากกว่ากัน
ประเทศจีน ที่ผูกพันกับการส่งออก ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าโดยอาศัยค่าแรงที่ต่ำ และปัจจัยการผลิตที่แม้แต่ผู้ผลิตเองก็ยังตีมูลค่าไม่ถูก และมีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อยู่ในอัตราต่ำ เมื่อการส่งออกมีข้อติดขัด จึงรับผลกระทบมากเป็นธรรมดา
ทุกประเทศจึงหันมาทำการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในกันอย่างเต็มที่
ขอให้ทุกท่านวางแผนลงทุนด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และใช้โอกาสต่างๆให้เป็นประโยชน์นะคะ
เงินบาทแข็ง ภาคสาม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1827
- ผู้ติดตาม: 1